xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีใจมั้ย! ไทยจะมี “แพนด้า” (อีกแล้ว) คุ้มมั้ย! กับ “ราคาที่ต้องจ่าย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  สัญญาณชัดเจน หลังจาก “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” สั่งการก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 5/2568 ให้เตรียมรับ “แพนด้ายักษ์คู่ใหม่” ในฐานะ “ทูตสันถวไมตรี” เชื่อมสัมพันธ์ไทย - จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ภายในปี 2568 นี้ 

โดยก่อนหน้านี้   น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยหารือกับ   นายหาน จื้อ เฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในประเด็นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนครบรอบ 50 ปี ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยทางจีน ยืนยันว่าจะนำ  “แพนด้ายักษ์คู่ใหม่”  มาไทย เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์อีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของ   “การทูตแพนด้า” หรือ “Panda Diplomacy”  เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2484 โดยทางการจีนใช้เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ โดยส่งแพนด้าไปให้เป็นของขวัญเนื่องจากเป็นสัตว์หายาก พบในป่าทางตอนกลางของประเทศจีนเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการจีนส่งแพนด้ามายังประเทศไทย ในฐานะ  “ทูตสันถวไมตรี”  ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีก่อน ทางการจีนเคยส่งแพนด้ายักษ์คู่แรกมายังไทย ทั้งนี้ ในปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มเจรจาขอแพนด้าคู่แรกจากจีนมาอยู่ไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่าง 2 ประเทศ

จากนั้นแพนด้ายักษ์ 2 ตัว คือ  “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” จึงได้มาอยู่ไทยในช่วงเดือน ต.ค. 2546 โดยสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นผู้ดูแล จนเกิดแสแพนด้าฟีเวอร์อยู่พักใหญ่ และต่อมา “หลินฮุ่ย” คลอดลูกแพนดาเพศเมียชื่อ  “หลินปิง”  ในเดือน 2552 ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการผสมพันธุ์เทียม ซึ่ง “หลินปิง” ถูกส่งกลับไปยังเมืองจีนในเวลาต่อมา

สุดท้าย ฑูตแพนด้า “ช่วงช่วง” ได้จากไปเมื่อปี 2562 ส่วน “หลินฮุ่ย” จากไปเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2566 ทำให้ในปัจจุบันไม่มีแพนด้าที่อยู่ในประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมา กระทั่งมีคำยืนยันจากจีนว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีนักการฑูตขนฟู “แพนด้ายักษ์คู่ใหม่”  ประจำอยู่การอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่อีกครั้ง

 นายจตุพร บุรุษพัฒน์  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ว่า องค์การสวนสัตว์ได้ออกแบบสถานให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านความเป็นอยู่ รวมทั้งในส่วนของการจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าชมแพนด้ายักษ์ โดยจะการออกแบบจะต้องมีความสอดคล้อง และเป็นไปตามหลักการของทางจีน ส่วนข้อสัญญาต่างๆ ยังต้องติดตามว่าจะมีรายละเอียดอย่างเช่นไร

สำหรับ “การทูตแพนด้า” หรือ “Panda Diplomacy” นับจากปี 2527 เป็นต้นมา ทางการจีนจึงเปลี่ยนแนวทางเป็นการส่งแพ้นดาไปอยู่ในประเทศต่างๆ ในลักษณะสัญญาเช่าเพื่อการอนุรักษ์แทน ซึ่งในสัญญาเช่าระบุว่า ประเทศคู่สัญญาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานรายปี

และมีข้อกำหนดว่า “ลูกของแพนด้าที่เกิดระหว่างสัญญาให้ถือเป็นทรัพย์สินของประเทศจีน” โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าลูกแพนด้าเพิ่มเติมในแต่ละปีอีกด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่ายขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศ ปัจจุบันแพนด้ายักษ์ของจีนอยู่ประจำอยู่ ณ สวนสัตว์ 22 แห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่ ปี 2545 - ปี 2565 รัฐบาลไทยจัดสรรงบมากกว่า 98 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการวิจัยและส่วนจัดแสดงแพนดาในสวนสัตว์เชียงใหม่ ขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานของไทยก็มีโครงการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแพนด้าอย่างน้อย 16 โครงการ งบรวมกันกว่า 130 ล้านบาท

สำหรับสัญญาทูตแพนด้า “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ระหว่างอยู่ไทยในช่วง 10 ปีแรก ระหว่างเดือนต.ค. 2546 ถึง ต.ค. 2556 ทางการไทยส่งเงินสนับสนุนเข้าโครงการอนุรักษ์แพนด้า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CWCA ปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้น “หลินปิง” ถือกำเนิดในปี 2552 ทางการไทยส่งเงินเพิ่มเติมอีกปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปอีก 4 ปี จนกระทั่ง “หลินปิง” ถูกส่งตัวกลับไปหาคู่ที่ประเทศจีน

ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มิ.ย. 2558 เห็นชอบให้ไทยต่อสัญญารอบที่ 2 ระหว่างเดือนต.ค. 2556 ถึง ต.ค. 2566 โดยทางการไทยเพิ่มเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA เป็น 2 เท่าสำหรับ “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” คือ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่หลังจาก “ช่วงช่วง” ตายจากไปในปี 2562 ไทยลดเงินสนับสนุนลงเหลือเพียงปีละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงเดือน ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสัญญาระยะที่ 2

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์แพนด้าของ CWCA ได้เงินสนับสนุนจากไทยไปทั้งหมด 6.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 230.49 ล้านบาท สำหรับสัญญาทั้ง 2 ระยะรวมกัน ซึ่งหากรวมกับงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ เบิกใช้ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าไทยใช้เงินไปอย่างน้อย 360.59 ล้านบาท กับนโยบายการทูตแพนด้า

นอกจากนี้ ในข้อตกลงที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ยังระบุเพิ่มเติมว่า กรณีที่แพนด้าตายในประเทศไทยด้วยเหตุประมาทของฝ่ายไทย ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นลูกหมีแพนด้าอายุเกิน 12 เดือน ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าหากมีการขนย้ายแพนด้ากลับประเทศจีน ฝ่ายไทยต้องจัดทำประกันภัยการขนย้าย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับแพนด้าแต่ละตัว รวมทั้งลูกแพนด้าที่มีอายุเกิน 12 เดือน ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผลประโยชน์สำหรับการประกันภัย

ต่อมา เดือน ก.ย. 2562 ฑูตแพนด้า “ช่วงช่วง” ตายจากสภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ทำให้ทางการไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาให้โครงการอนุรักษ์แพนด้า โดยบริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในวงเงิน 15 ล้านบาท และในปี 2566 “หลินฮุ่ย” ได้ป่วยและเสียชีวิตลงด้วยอายุ 21 ปี ทำให้ประเทศไทยไม่มีหมีแพนด้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง “การทูตแพนด้า” หรือ “Panda Diplomacy” ถูกตั้งคำถามและเผชิญปัญหาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ปี 2563 สวนสัตว์ในประเทศแคนาดา ต้องส่งแพนด้าคู่หนึ่งกลับจีน จากปัญหาขาดแคลนไผ่ซึ่งเป็นอาหารหลักของแพนด้าในช่วงการระบาดของโรคระบาดโควิด-19, ปี 2567 สวนสัตว์ฟินแลนด์ส่งแพนด้ายักษ์กลับประเทศจีน เหตุแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เป็นต้น

อีกทั้ง ในเมืองไทยมีกระแสเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณดูแลสัตว์ อย่าง  “ช้างไทย”  อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติซอฟท์เพาเวอร์ของประเทศดีกว่าแทนที่จะเทงบไปกับฑูตขนฟู “หมีแพนด้า” Soft Power ของจีน

บทความเรื่อง  “การทูตแพนด้า พลังขนฟูสีขาวดำที่ช่วยสานสัมพันธ์จีนกับคนทั่วโลก”  โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เปิยว่าพัฒนาการของการทูตแพนด้า ได้สะท้อนถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงสำคัญของจีน 5 ช่วง อย่างช่วงคอมมิวนิสต์ ช่วงการกระชับมิตร ช่วงทุนนิยม ช่วงอนุรักษ์ และช่วงอำนาจอ่อน (Soft Power) ซึ่งจีนเลือกใช้การทูตแพนด้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน จีนก็ยังคงใช้การทูตแพนด้าในการกระชับความสัมพันธ์และขยายอิทธิพลอยู่ผ่านกระบวนการเผยแพร่ Soft Power

 โจเซฟ เนย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยอธิบายไว้ว่า อำนาจอ่อนนั้นจะอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 อย่าง ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ในการขยายอิทธิพลทางความคิด เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางมายาวนานหลายศตวรรษ และคลื่นลูกใหม่อย่างเกาหลีใต้สามารถส่งออกวัฒนธรรมบันเทิงไปเคาะประตูผู้คนทั่วโลกให้เปิดต้อนรับ

ขณะที่สื่อทางการของจีนก็เคยระบุว่า “แพนด้าเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด”   ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในการสร้างความรู้สึกเป็นมิตร นุ่มนวล และน่ากอดให้กับประเทศจีนเหมือนที่ผู้คนรู้สึกกับแพนด้า

ผลกระเชิงบวกของการทูตแพนด้า นอกจากส่งจีนเข้าไปในใจของผู้คนแล้วทูตแพนด้ายังสามารถสร้างรายได้ให้กับทางการจีน เพราะประเทศพันธมิตรจะต้องจ่าย “ค่าเช่า” รวมถึงต้องตกลงรับเงื่อนไขการดูแลแพนด้าที่มีรายละเอียดและค่าใช่จ่ายจำนวนมาก ขณะที่กรรมสิทธิ์ในแพนด้าและลูกของแพนด้าเหล่านั้นยังคงเป็นของจีน

อ้างอิงรายงานจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในปี 2556 ระบุว่า การทูตแพนด้าสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับ “ข้อตกลงทางการค้า” กับประเทศที่จีนส่งแพนด้าไปสานสัมพันธ์ อย่างเช่นประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และแคนาดาได้รับแพนด้า หลังจากตกลงขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์และยูเรเนียมให้กับจีน หรือเนเธอร์แลนด์ได้รับแพนด้าหลังตกลงจัดหาบริการด้านสุขภาพขั้นสูงให้กับจีน เป็นต้น

สุดท้าย “แพนด้ายักษ์” ฑูตขนฟูสีขาวดำดูน่ารักไร้เสียงสา ไม่เป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงออกถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีที่ทางการจีนมีต่อประเทศต่างๆ แต่ยังแฝงด้วยอำนาจทางการเมือง โดยปราศจากการใช้กำลังขู่เข็ญ

 อย่างไรก็ตาม สิ่งรัฐบาลไทยกำลังถูกจับจ้องจากประชาชนคนไทย คือเรื่องของงบประมาณดูแลสัตว์ "แพนด้ายักษ์คู่ใหม่” จากจีน เพราะต้องหั่นงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลไปดูแลท่านฑูตขนฟู

แลกกับราคาที่ต้องจ่ายคุ้มค่าหรือไม่? 

 


กำลังโหลดความคิดเห็น