ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การร่วมมือเป็นพันธมิตรของ “ฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ” อาจจะเป็นข่าวฮอตรับปลายปีสำหรับโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งเวลาผ่านไป หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นแล้วว่า การร่วมมือกันของทั้ง 3 ฝ่ายอาจจะไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดนัก
และยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้นมิตซูบิชิที่ในตอนแรกประกาศแบ่งรับแบ่งสู้ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร และจะให้คำตอบอีกครั้งช่วงต้นปี 2025 ว่าจะเซย์เยส หรือเซย์โนนั้น แหล่งข่าวยืนยันออกมาแล้วว่า มีโอกาสที่จะเป็นคำกล่าวข้อหลังสูงมาก เหลือเพียงแค่การประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง
ขณะที่ความร่วมมือกับนิสสันเองก็ดูเหมือนจะมีปัญหาหนักเสียยิ่งกว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น Asahi Shimbun ระบุ ฮอนด้าและนิสสัน อาจปิดการเจรจาการควบรวมกิจการ เพราะอนาคตที่ทั้งสองเห็นไม่ตรงกัน
ในการแถลงข่าวเมื่อปลายปี 2024 นั้น ดูเหมือนว่าสปอตไลท์จะจับจ้องเฉพาะฮอนด้าและนิสสัน โดยที่มิตซูบิชิเป็นส่วนประกอบของความร่วมมือครั้งนี้ และพวกเขาเองก็ประกาศชัดเจนว่าจะขอดูความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งอีกทีในภายหลัง
และเมื่อปลายเดือนมกราคม แหล่งข่าวภายในของมิตซูบิชิ ได้กล่าวกับ Reuter ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่มิตซูบิชิ อาจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนี้ โดยมิตซูบิชิวางแผนที่จะยังคงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ขณะที่ยังคงมีความสัมพันธ์ความร่วมมือกับทั้ง 2 บริษัทในด้านต่างๆ ที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันมาก่อน
แม้ว่าฮอนด้าและนิสสัน ประกาศว่า การร่วมมือในการเป็นพันธมิตรครั้งนี้อาจก่อให้เกิดกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมียอดผลิตประจำปี 7.4 ล้านคัน แต่สุดท้ายแล้ว กลับไม่ส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะยาวได้เลย และเมื่อเข้าสู่ช่วงปีใหม่หุ้นมิตซูบิชิลดลง 3.9% ช่วงพักเที่ยง หลังจากร่วงลงกว่า 6% ในการซื้อขายช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนหุ้นนิสสันลดลง 0.7% และหุ้นฮอนด้าลดลง 0.1%
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผลในเรื่องการปฏิเสธเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้ แต่เชื่อว่า การที่มิตซูบิชิเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นเล็ก และไม่ได้มีอิทธิพลในการกำหนดแนวทางและทิศทางในเชิงนโยบายที่ชัดเจนของกลุ่มพันธมิตร น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอ
ข่าวที่ยังไม่เป็นทางการในการไม่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรของมิตซูบิชิ นั้น ยิ่งทำให้ความเห็นของ Carlos Ghosn อดีตนายใหญ่หนีคดีของนิสสัน มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยในช่วงที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรเมื่อปลายปี 2024 นั้น Ghosn ได้ให้ความเห็นว่า ‘เป็นการจับมือที่สูญเปล่า’
“จากมุมมองด้านอุตสาหกรรม มีความซ้ำซ้อนในทุกที่ระหว่างทั้ง 2 บริษัท’ Ghosn กล่าว โดยยืนยันว่าการเสริมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นในการควบรวมกิจการ แต่ระหว่าง ฮอนด้าและนิสสันไม่มีเลย “หากการควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น ... ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ” เขากล่าวเสริมทางออนไลน์จากเลบานอน ซึ่งเป็นที่ที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน
ที่สำคัญ คือ ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้มีศักยภาพในการส่งเสริมซึ่งกันและกันในการทำงานเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นแค่ผู้เล่นในตลาดระดับกลางๆ ที่จับมือกันเพื่อความหวังที่จะสร้างความได้เปรียบ
ทั้ง 2 บริษัทมีเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (191 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และมีการประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานอาจจะมีมากกว่า 3 ล้านล้านเยนผ่านการควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฮบริด (HV) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากสำหรับนิสสันที่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจตกต่ำอย่างมากเนื่องมาจากไม่สามารถนำรถไฮบริดเข้ามาจำหน่ายในอเมริกาเหนือได้
จากรายงานล่าสุดมการระบุว่า ช่วง 12 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทขายรถยนต์ได้ 2 ล้านคันในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นรองเพียงยอดขายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังน้อยกว่ายอดขายเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 1 ใน 3 ทั้งที่ตลาดรถยนต์ในจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อดูจากตัวเลขรายได้แล้ว พบว่า ปี 2023 บริษัทร่วมทุนระหว่าง นิสสัน และ Dongfeng Motor มีรายได้ลดลง 95% เหลือ 447 ล้านหยวน (61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ฮอนด้า ซึ่งเปิดบริษัทร่วมทุนกับ Dongfeng Motor เช่นกัน ก็ลดลงถึง 90% เลยทีเดียว
การดำเนินการในจีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจช่วยให้ ฮอนด้าและ นิสสัน พยายามไล่ตามบรรดาคู่แข่งที่ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าออกมาขายให้ได้ โดยทั้ง 2 บริษัทกำลังพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 10 รุ่นเพื่อขายในจีน แต่เนื่องจากพวกเขามีฐานลูกค้าที่คล้ายคลึงกัน ตรงนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ แม้ว่าการเป็นพันธมิตรจะช่วยให้เอื้อต่อเรื่องของการลดต้นทุนทั้งเวลาและเงินในการพัฒนารถยนต์ได้ก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่าพันธมิตรร่วมทุนอาจกลายเป็นอุปสรรคได้ง่ายเช่นกัน เพราะเงื่อนไขความร่วมมือนั้นไม่ชัดเจน ทำให้ยากต่อการตัดสินว่าการปรับโครงสร้างนั้นเหมาะสมกับสภาพการณ์ของตลาดหรือไม่
เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรในจีน แม้ว่า Dongfeng และ GAC จะเต็มใจในการเดินหน้าทำงานร่วมกับทั้งนิสสันและฮอนด้าต่อไปก็ตาม แต่กระบวนการนี้ก็ยังคงยุ่งยากและใช้เวลานาน จนทำให้อาจจะสายเกินไปในการกลับเข้ามาสู่ตลาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี “สัญญาณร้าย” ของการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่าง “ฮอนด้าและนิสสัน” ก็ปรากฏขึ้นเมื่อรอยเตอร์สรายงานอ้างอิงหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น Asahi Shimbun ระบุ ฮอนด้าและนิสสัน อาจปิดการเจรจาการควบรวมกิจการ
พร้อมกับคาดว่าสาเหตุสำคัญมาจาก ฮอนด้าได้ยื่นเงื่อนไขให้นิสสันเป็นบริษัทย่อย ซึ่งเป็นแนวคิดที่นิสสันคัดค้านอย่างรุนแรง
ผู้บริหารระดับสูงของนิสสันกล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุเงื่อนไขที่ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ การควบรวมธุรกิจอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป”
ขณะที่แหล่งข่าวจากฮอนด้ากล่าวอีกว่า “นิสสันไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนพอ ฮอนด้าไม่สามารถรับมือกับพวกเขาได้อีกต่อไปแล้ว”
ทันทีที่มีข่าวหลุดว่าทั้งสองแบรนด์อาจจะยุติการควบรวมกิจการส่งผลให้ราคาหุ้นของทั้งสองปรับตัวสูงขึ้น (5 กุมภาพันธ์ 2568) โดยฮอนด้าเพิ่มขึ้นกว่า 2% และนิสสันเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6% เทียบกับดัชนี Nikkei 225 ของโตเกียว
และสุดท้ายทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้น เมื่อรอยเตอร์ (Reuters) รายงานเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยอ้างอิงหนังสือพิมพ์นิกเคอิ (Nikkei) ว่า นิสสันยกเลิกการเจรจาควบรวมกิจการกับคู่แข่งอย่างฮอนด้า โดยยกเลิกความร่วมมือที่อาจทำให้ฮอนด้ากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของโลก และทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการฝ่าวิกฤตด้วยตัวเองของนิสสันตามมา
ทั้งนี้ นิกเคอิได้รับรายงานว่า นิสสันระงับการเจรจาควบรวมกิจการกับฮอนด้า เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทั้งสองรายไม่สามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับเงื่อนไขของข้อตกลงได้ โดยนิสสันจะถอนตัวจากบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเจรจาการควบรวมกิจการ (MOU) ซึ่งลงนามเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากทั้งสองบริษัทไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าของแต่ละฝ่ายภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) นอกจากนี้ นิสสันยังปฏิเสธข้อเสนอของฮอนด้าที่จะให้นิสสันเป็นบริษัทลูก (Subsidiary) อีกด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเสนอให้นิสสันเป็นบริษัทในเครือถือเป็นการละเมิดจิตวิญญาณของการหารือตามกรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ระบุไว้ว่าเป็นการควบรวมกิจการในรูปแบบของบริษัทที่เท่าเทียมกัน
โฆษกนิสสันกล่าวว่ารายงานข่าวของนิกเคอิไม่ได้อิงตามข้อมูลที่นิสสันประกาศ เและว่าบริษัทมุ่งหวังที่จะสรุปทิศทางภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์และจะประกาศให้ทราบในตอนนั้น
โฆษกฮอนด้ากล่าวว่าบริษัทไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากนิสสันเกี่ยวกับการตัดสินใจถอนตัวจากบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือกัน (MOU)
ทั้งนี้ ในตอนแรก บริษัททั้งสองวางแผนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางของการควบรวมกิจการภายในสิ้นเดือนมกราคม แต่ต่อมามีการเลื่อนออกไปเป็นกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
ความคืบหน้าดังกล่าวทำให้เกิดคำถามใหม่ว่านิสสันซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตล่าสุดนี้ไปได้อย่างไร หากไม่มีความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งขณะนี้นิสสันกำลังอยู่ในช่วงกลางตามแผนฟื้นฟู โดยมีเป้าหมายที่จะเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คนและลดกำลังการผลิตทั่วโลก 20%
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า โรงงานประกอบรถยนต์ทั้งสองแห่งในสหรัฐฯ ของนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) เตรียมลดเวลางานเหลือกะเดียว และเตรียมลดจำนวนลูกจ้างรายชั่วโมงลงผ่านการสมัครใจลาออก เพื่อปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับยอดขายที่ต่ำลง
ความพยายามดังกล่าวสะท้อนได้จากผลกำไรที่ลดลง และการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายรถยักษ์ใหญ่ ซึ่งหุ้นของนิสสันร่วงลง 26.55% ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา
ที่สำคัญคือ ท่ามกลางอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังถูกทำให้หยุดชะงักงันจากผู้ผลิตรถอีวีที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่อย่างนิสสันที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าบริษัทอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่หลังจากเผชิญวิกฤตหลายปีที่เกิดจากการจับกุมและปลดนายคาร์ลอส กอส์น อดีตประธานนิสสัน เมื่อปี 2018