ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จบลงไปแล้วสำหรับศึกเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ “อบจ.” (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ที่มีการเลือกตั้งในส่วนของนายก อบจ.ใน 47 จังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 ที่ผ่านมา
ผลที่ออกมาก็เป็นธรรมดาของการเลือกตั้งที่มีทั้งคนสมหวัง และคนผิดหวัง แต่คนสมหวังได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ก็ยังต้องลุ้นตุ่มๆ ต่อมๆ เพราะผลที่ออกมานั้นยังถือเป็นผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ต้องรอ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองอย่างเป็นทากงารอีกครั้งหนึ่ง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนประจักษ์พยาน ที่นำไปสู่การร้องเรียน ทั้งเรื่อง “ซื้อเสียง” ที่ว่ากันว่าบางจังหวัดสูงลิ่วไปถึงหัวละ 2 ใบเทา รวมทั้งเรื่อง “โปร่งใส-ยุติธรรม” โดยเฉพาะจำนวนบัตรเสีย และโหวตโนไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด สูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ โดยตามข้อมูลมีคำร้องเรื่องต่างๆ ไปถึงมือ กกต.มากกว่า 200 เรื่อง
จนเชื่อว่า งวดนี้ 47 ว่าที่นายก อบจ. และว่าที่ ส.อบจ. 76 จังหวัด คงไม่รอดปลอดภัยได้รับการประทับตรารับรองทั้งหมด ต้องมีสะดุด “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง” กันบ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งนายก และ ส.อบจ.ครั้งนี้ ก็ฉายภาพให้เห็น “ภูมิทัศน์การเมืองไทย” ที่ก้าวเข้าสู่ยุค “สามก๊ก สามสี” ภายใต้การดำรงอยู่ของ “บ้านใหญ่” ที่ยังคงเข้มขลังในระดับการเมืองท้องถิ่นที่แจ่มชัดมากขึ้น
โดย “สามก๊ก สามสี” ก็ประกอบไปด้วย 3 พรรคการเมือง ที่ออกตัวแรงในการเลือกตั้ง อบจ.หนนี้ ไล่ตั้งแต่ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ที่ไม่เพียงส่งผู้สมัครในนามพรรคเท่านั้น ยังวางคิวให้ “นายห้างใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ไปโอ้อวดอหังการ์ผ่านการปราศรัยหาเสียง ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงในหลายจังหวัด
“ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้า มี “เสี่ยเน” เนวิน ชิดชอบ เป็นกุนซือใหญ่ แม้จะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคแม้แต่คนเดียว อีกทั้งแทบไม่มีแกนนำพรรคไปช่วยลงพื้นที่หาเสียง แต่ก็เป็นที่รู้กันถึงยี่ห้อ “เครือข่ายสีน้ำเงิน” ที่ปูพรมลงสมัคร และคว้าชัยชนะมาในหลายจังหวัด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ในแบบที่ “นายห้างแม้ว” ยังไม่เคยทำได้
และสุดท้าย “ค่ายสีส้ม” พรรคประชาชน ที่หมายมั่นปั้นมือที่จะเจาะฐานการเมืองท้องถิ่นในระดับ อบจ.ให้ได้ในครั้งนี้ ระดมเซเลบบริตี้ ทั้ง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกกิจ-“เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปตระเวนสร้างกระแสส หลังเคยพังพาบในนาม “คณะก้าวหน้า” มาเมื่อสมัยที่แล้ว และเจาะได้เพียงระดับ อบต.บางแห่งเท่านั้น
ทั้งนี้ ภายหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมา ก็หนีไม่พ้นต้องมาวิเคราะห์เจาะลึกว่า พรรคไหน-สีไหน ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวในครั้งนี้
เมื่อจำแนกในส่วนของผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด พอสรุปโดยสังเขปได้ว่า พรรคเพื่อไทย ได้นายก อบจ. 10 จังหวัด คือที่ เชียงใหม่, ลำปาง, แพร่, น่าน, นครราชสีมา, สกลนคร, หนองคาย, มหาสารคาม, นครพนม และปราจีนบุรี
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย มีเครือข่ายคว้านายก อบจ. ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, บึงกาฬ, อำนาจเจริญ, ลพบุรี, พิจิตร, เชียงราย, กระบี่ และสตูล
ส่วนพรรคประชาชน กร่อยพอสมควร เพราะคาดหวังถึง 4-5 นายก อบจ. แต่สุดท้ายเข้าป้ายแค่ที่ จ.ลำพูน จังหวัดเดียว ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่ตัวความหวังเสียด้วย ก็ยังยกเป็นความสำเร็จก้าวแรกในสนาม อบจ. พร้อมคำประโลมตัวเองว่า “แพ้ศึก (รอ) ชนะสงคราม”
ที่เหลือเป็นเครือข่ายของพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ สุราษฎร์ธานี และพัทลุง, พรรคกล้าธรรม ที่ หนองบัวลำภู และสมุทรสงคราม, พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ สุพรรณบุรี และนครปฐม, พรรคประชาชาติ ที่ นราธิวาส และยะลา, พรรคประขาธิปัตย์ ที่ สงขลา จากอานิสงส์เครือข่ายบ้านใหญ่ทั้งจังหวัด รวมไปถึงภูเก็ต ที่ร่วมมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการสกัดกระแสพรรคประชาชนสำเร็จ และพรรคพลังประชารัฐ ที่เหลือรอดแค่มุกดาหารที่เดียว
ที่เหลือ 19 จังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็น “บ้านใหญ่” ที่อิงกับพรรคการเมือง แต่ก็ถือว่าเป็นเอกเทศมีความอิสระในตัวเอง ทั้งที่ ชลบุรี ของ “ตระกูลคุณปลื้ม”, ระยอง ของ “ตระกูลปิตุเตชะ”, ฉะเชิงเทรา ของ ”ตระกูลฉายแสง“ โดยความร่วมมือจากบ้านใหญ่ทั้งจังหวัด, สมุทรปราการ ของ “บ้านใหญ่อัศวเหม”, สมุทรสาคร ของ ”ตระกูลไกรวัตนุสสรณ์”
ไล่เรื่อยไปถึง แม่ฮ่องสอน, สิงห์บุรี, นนทบุรี, สระบุรี, จันทบุรี, ตราด, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, ปัตตานี และตรัง ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายก อบจ. แชมป์เก่า ที่สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ส่วนที่เซอร์ไพรซ์ที่สุดถูกยกให้เป็น นครนายก ที่ นิดา ขนายงาม สามารถล้มแชมป์เก่าที่งวดนี้ไปสังกัด พรรคประชาชน ได้อย่างเหนือความคาดหมาย
เมื่อนำมาประกอบรวมกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ ก็จะพบว่า พรรคเพื่อไทย ครอง อบจ.อยู่แล้ว 10 จังหวัด สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, กาญจนบุรี, ยโสธร, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, อุบลราชธานี, ขอนแก่น รวมเป็น 20 จังหวัด
พรรคภูมิใจไทย มีเครือข่ายครองอยู่แล้ว 11 จังหวัด ตาก, อุทัยธานี, นครสวรรค์, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, เลย, ชัยภูมิ, สุรินทร์, ระนอง, นครศรีธรรมราช รวมเป็น 20 จังหวัดเช่นกัน
ที่เหลือเป็นเครือข่ายพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ ครองอยู่แล้ว 3 จังหวัด ชัยนาท, ชุมพร, เพชรบุรี รวมเป็น 5 จังหวัด พรรคพลังประชารัฐ ครองอยู่แล้ว 3 จังหวัด สระแก้ว, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร รวมเป็น 4 จังหวัด และพรรคกล้าธรรม ครองอยู่แล้ว 2 จังหวัด ราชบุรี, พะเยา รวมเป็น 4 จังหวัด
ยิ่งเมื่อจำแนกแจกแจงสายสัมพันธ์พรรคการเมืองเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นว่า การเมืองท้องถิ่นภายใต้อิทธิพล “บ้านใหญ่” ยังคงยึดโยงกับการเมืองระดับประเทศอยู่
แต่ขณะเดียวกัน “กระแส” ในระดับประเทศ ก็ไม่ได้บ่งชี้ถึงชัยชนะของการเมืองระดับท้องถิ่น มิเช่นนั้น จังหวัดเป้าหมายของ พรรคประชาชน ทั้ง สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ระยอง, ตราด, นครนายก และอาจรวมไปถึง เชียงใหม่ และนนทบุรี ที่ “ค่ายสีส้ม” แลนด์สไลด์อยู่เต็มพื้นที่ ผลเลือกตั้ง อบจ.คงไม่ออกมาเช่นนี้
แน่นอนว่า “ค่ายสีส้ม” แม้จะเจ็บตัวเสียหน้าไปไม่น้อย แต่ก็ยังพอเข้าข้างตัวเองได้ว่า แม้ “คณะก้าวหน้า” ของ “เสี่ยเอก-ธนาธร” ผู้นำจิตวัญญาณของพวกเขา จะล้มเหลวในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ แต่เมื่อถึงการเลือกตั้ง สส. พรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ก็ยังสร้างกระแสจนได้ สส.มากที่สุดมาแล้ว แม้สุดท้ายจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม
และหากละไว้ในประเด็นกล่าวหาเรื่อง “ซื้อเสียง” หรือแท็กติกเรื่อง “บัตรเสีย” แล้ว คงต้องยกให้อิทธิพล “บ้านใหญ่” ที่ยังคงแข็งแกร่ง จนพรรคประชาชน ที่ประกาศท้ารบกับ “บ้านใหญ่” มาตลอด ต้องพังพาบซ้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี มาถึงวันนี้ “ค่ายสีส้ม” อาจโจมตีประเด็น ”บ้านใหญ่” ได้ไม่เต็มปาก เพราะ “เสี่ยเฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายก อบจ.ลำพูน ที่ล้ม “บ้านใหญ่วงศ์วรรณ” ได้ ก็มีเชื้อสายความเป็นบ้านใหญ่อยู่ไม่น้อย ด้วยเป็นทายาท “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน ซึ่งมีแผลฉกรรจ์เป็นผู้ต้องหาคดีทุจริตโครงการลำไยอบแห้งมาก่อน
แม้ “ธนาธร” จะออกมาพูดหล่อๆ ตามถนัดว่า บ้านใหญ่ไม่ใช่นามสกุล.. ต้องดูที่พฤติกรรม” เพื่อบล็อกข้อหา “บ้านใหญ่” ให้พ้นตัว “วีระเดช” แต่ในความเป็นจริงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่พ้น การที่พรรคประชาชน ที่พิถีพิถันในการเลือกผู้สมัครเลือกตั้งในนามพรรค ไปหยิบทายาทบ้านใหญ่มาสวมเสื้อสีส้ม รวมไปถึง “นายกจิม” จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ อดีตนายก อบจ.นครนายก ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาชนเช่นกัน
ก็คล้ายเป็นการประกาศกลายๆ ของ “ค่ายสีส้ม” กำลังยอมศิโรราบให้กับวัฒนธรรม “บ้านใหญ่” ที่ตัวเองรังเกียจมาตลอด
ทั้งยังมีกระแสข่าวหนาหูว่า “ผู้สมัครค่ายส้ม” บางพื้นที่ก็เริ่มงัดกลยุทธ์ “ยิง” แข่งกับคู่แข่งเหมือนกัน แต่ผิดที่ไม่มีเครือข่าย จึงทำให้เล็งเป้าไม่ถนัดถนี่นัก
ไม่เพียงแต่ปม “บ้านใหญ่” จะติดคอ “ค่ายส้ม” ผู้ทนงในหลักการเท่านั้น หากมีการงัด “กระสุน” ขึ้นมายิงจริง ก็ไม่พ้นเพราะทนกับความเย้ายวนของ “อำนาจ” ไม่ได้ จนกำลังถูกวัฒนธรรมการเมืองน้ำเน่ากลืนกินไปอีก
น่ากลัวว่า เลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า “ค่ายส้ม” อาจจะเปลี่ยนไป ไม่แค่ปั่น “กระแส” ตามถนัดเท่านั้น ยังอาจมีเรื่อง “กระสุน” เข้ามาพัวพันด้วย
ในทางกลับกันการครอบครองเก้าอี้นายก และ ส.อบจ. ลงไปถึงระดับเทศบาล และ อบต. ที่อาจเป็นฐานเสียง พื้นที่อิทธิพลของพรรคการเมือง ก็ไม่ได้หมายถึงชัยชนะในสนามเลือกตั้ง สส. เช่นกัน เรื่องนี้ พรรคเพื่อไทย ที่เสียที่มั่น สส.ไปเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งปี 66 น่าจะรู้ดี
แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่การเมืองภาพใหญ่ยังต้องพึ่งพาการเมืองท้องถิ่น ที่เป็นทั้งหัวคะแนน เป็นทั้งฐานเสียง และยังเป็นมือไม้ให้การเมืองระดับชาติ ชัดเจนจากพรรคการเมือง ไม่เพียงพรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย แต่สังเกตได้ว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ก็พยายาม “เคลม” ผลการเลือกตั้ง อบจ.เช่นกัน
มีการพูดกันว่า ผลการเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ยี่ห้อ “ทักษิณ” เสื่อมมนต์ขลังลงไปมาก ไม่เฉพาะความพ่ายแพ้ที่ “ลำพูน” ที่เคยเป็นของตาย หรือชัยชนะเฉียดฉิวที่ “เชียงใหม่
ยังมีการสรุปออกมาด้วยว่า พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครในนามพรรคลงชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ครั้งนี้ 16 จังหวัด แต่ปรากฎว่าพ่ายไปถึง 6 จังหวัด อีกทั้งเมื่อย้อนดูคิวเดินสายของ “ทักษิณ” ที่ช่วยหาเสียงรวมแล้ว 9 จังหวัด ปรากฎว่า ชนะแค่ 5 จังหวัด และแพ้ไป 4 จังหวัด ถือว่าครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นความพ่ายแพ้ที่ “เชียงราย-ศรีสะเกษ” ก็ยังเป็นความพ่ายแพ้ที่มีต่อ “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย ที่วันนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน รงมถึงอีกหลายจังหวัดที่เป็นคู่ต่อสู้กันโดยตรง แม้ผู้ใหญ่ของ 2 พรรคจะแก้เกี้ยวว่า ไม่มีความขัดแย้งใดๆ แต่ลึกๆ แล้วก็มีการกระทบกระทั่งกันโดยตลอด
โดยเฉพาะการที่ “ทักษิณ” ขุดเอาวาทกรรม “ไล่หนู ตีงูเห่า” ขึ้นมาใช้ในสนามเลือกตั้งที่แข่งกับ พรรคภูมิใจไทย ที่อาจจะไม่วิวาทะสวนกันไปมา แต่ก็มีการปั่นกระแส “#ไล่หนูกี่โมง” พร้อมภาพความสนิทสนมกันของ ”ทักษิณ-อนุทิน“ ขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งว่ากันว่า มีการเตรียมการไว้ตอบโต้ ”นายใหญ่เพื่อไทย“ เป็นการเฉพาะ
และในจำนวน 6 จังหวัดที่พรรคเพื่อไทยแพ้นั้น มีถึง 3 จังหวัด “เชียงราย-ศรีสะเกษ-บึงกาฬ” ที่แพ้ให้กับ พรรคภูมิใจไทย โดยตรง คล้ายเป็นการชี้เป้าว่า “คู่แข่ง-ศัตรู” ตัวจริงของพรรคเพื่อไทยคือใคร
ยิ่ง “ทักษิณ” ตั้งเป้าที่จะทวงคืนความนิยมให้เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย (ยุคยิ่งลักษณ์) กับเป้าหมาย 200 ที่นั่งในการเลือกตั้ง สส.ครั้งหน้า นอกเหนือจากการทวงคืนเก้าอี้จาก “ค่ายสีส้ม” แล้ว ก็ยังต้องขยานอาณาเขตเพื่อเพิ่มจำนวน สส. ทั้งในภาคอีสาน-เหนือ ที่หลายจุดก็มี “ค่ายสีน้ำเงิน” ยืนตระหง่านขวางอยู่
ความเสื่อมถอยของ “ทักษิณ” ที่สวนทางกับการแผ่ขยายอิทธิพลของ “ค่ายสีน้ำเงิน” ภายใต้การกำกับของ “ครูใหญ่เนวิน” นี่เอง ที่จะเข็นให้ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ต้องประจันหน้ากันในฐานะ “คู่แข่ง-ศัตรู” มากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะยิ่งนับวันอำนาจต่อรองของ “ค่ายสีน้ำเงิน” จะสยายความยิ่งใหญ่ ทั้งการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 จำนวน สส. 71 ที่นั่ง มีจำนวนนายก อบจ.ที่สูสีกันที่ 20 จังหวัดเท่ากับพรรคเพื่อไทย และสำคัญที่มี “สว.สีน้ำเงิน” เป็นเครือข่าย ไม่นับรวมข้าราชการ-องค์กรอิสระ ที่อยู่ในพิสัยกดปุ่มของ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ก็ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นบวกกับพรรคเพื่อไทย
จริงอยู่ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ถือเป็นคนคุ้นเคย มีดีเอ็นเอในทางการเมืองคล้ายกัน และพูดจาภาษาเดียวกัน แต่สถานะ “พระเอก-พระรอง” เช่นนี้คงไม่จีรัง เพราะคงไม่มีใครอยากเป็น “พระรอง” ไปตลอดกาล
มิเช่นนั้นคงไม่มีคำอวยพร “เสี่ยหนู” หลุดจากปาก “พี่เน” เมื่อช่วงวันคล้ายวันเกิดของฝ่ายหลัง ต้นเดือน ต.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดงานใหญ่ที่ จ.บุรีรัมย์ ในช่วงพิธีผูกข้อมือ “พี่เน” ได้สั่งให้หมอช้างผู้ทำพิธีผูกข้อมือให้ “น้องหนู” พร้อมอวยพรให้ได้เป็นนายกฯ ทั้งที่ตอนนั้น “ลูกอิ๊งค์” เพิ่งจะเถลิงเก้าอี้นายกฯ ได้ไม่นานหรอก
ก็เชื่อว่าหากกาวยี่ห้อ “ผลประโยชน์” ที่ยึดโยง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” อยู่ในตอนนี้เสื่อมเมื่อใด “ค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน” คงไม่เพียงประจันหน้ากัน แต่พร้อมจะเปิดศึกแตกหักกันในที่สุด.