xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (25): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 Hans Wachtmeister
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงความแตกแยกภายในฐานันดรอภิชนต่อนโยบายการเวนคืนและการชักใยโดย  Hans Wachtmeister ในที่ประชุมของฐานันดรอภิชน  P. Sparre และผู้สนับสนุน ได้กล่าวโทษอย่างรุนแรงต่อบรรดาสามัญชนที่มาโจมตีอภิสิทธิ์ในทรัพย์สินของพวกตน และโน้มน้าวให้ที่ประชุมอภิชนเริ่มต้นร่างหนังสือประท้วงต่อพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ

ดังนั้น พระราโชบายในการแก้ปัญหาการคลังแผ่นดินของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) จึงไม่สามารถเดินหน้าไปได้ตราบเท่าที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างฐานันดร (the Estates) ยังคงดำเนินอยู่

ในที่ประชุมสภาอภิชน (Riddarhus) ในวันที่ 29 ตุลาคม Hans Wachtmeister ได้อ้างว่าเขามีข้อเสนอใหม่ที่เขาได้หารือกับพระมหากษัตริย์แล้ว แต่ประธานที่ประชุมสภาอภิชนยังไม่ได้รับรู้เรื่องที่ Wachtmeister ได้ไปหารือกับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ทำให้เกิดปัญหาการไม่ประสานกันระหว่างประธานสภากับ Wachmeister ทำให้เกิดความสับสนปั่นป่วนขึ้นในที่ประชุมสภาอภิชน

พวกอภิชนได้เริ่มอภิปรายประท้วงอย่างเกลียดชังรุนแรงต่อพวกสามัญชน แต่ Wachmeister ได้กล่าวเตือนที่ประชุมสภาอภิชนว่า การกล่าวโจมตีเช่นนี้ต่อฐานันดรสามัญชนจะไม่ได้ผล เพราะสามัญชนมีความชอบธรรมในการอ้างว่าการตัดสินใจต่อนโยบายเวนคืนเต็มรูปแบบนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร

นั่นคือ เพื่อแก้ปัญหาการคลังของแผ่นดิน ดังนั้น สิ่งที่พวกอภิชนจะทำได้ในการขัดขวางข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการคลังแผ่นดินของฐานันดรสามัญชนก็คือ ฐานันดรอภิชนจะต้องมีข้อเสนออื่นในการแก้ไขปัญหาการคลัง

Wachmeister เสนอว่า ทางที่ดี อภิชนควรยอมรับนโยบายการเวนคืนในหลักการไปก่อน และให้ทำหนังสือร้องเรียนกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงพระกรุณามีพระบรมราชโองการผ่อนปรน (relief) สำหรับอภิชนที่ไม่ได้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

นั่นคือ   บรรดา “ผู้ที่ไม่ได้มีมากและบางทีอาจมีรายได้ 10 ถึง 20 หรือน้อยกว่าไม่กี่ร้อยดาเลอร์ (few hundred silver dalers/ dsm.) จะสามารถคงทรัพย์สินของตนไว้ได้” 
จะเห็นได้ว่า คำแนะนำดังกล่าวของ Wachmeister ถือเป็นการเปิดทางที่ชัดเจนให้กับอภิชนระดับล่าง (Class III) ที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว และแน่นอนการรับข้อเสนอดังกล่าวของอภิชนระดับล่างย่อมนำไปสู่การแตกแถวออกจากอภิชนระดับสูง โดยเฉพาะแตกออกจากกลุ่มอภิชนที่เป็นเครือข่ายของ Sparre

อย่างไรก็ตาม พวกอภิชนในเครือข่ายของ Sparre ยังคงเดินหน้ายืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องรักษาอภิสิทธิ์ของตนโดยอ้างว่า สิ่งที่สามัญชนเสนอมานั้นเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ (the royal prerogative) เพราะใน  “ข้อเสนอ (the Propositions)” จากสภาบริหารที่แจ้งให้สภาอภิชนรับทราบในวันที่ 5 ตุลาคม  “พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสอะไรเกี่ยวกับการเวนคืน (reduction) ดังนั้น จึงไม่สามารถมีข้อเสนอการเวนคืนได้ ยกเว้นจะมาจากพระมหากษัตริย์เอง” 

หลังจากนั้น ได้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในที่ประชุมสภาอภิชน อันแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ภายในพวกอภิชนด้วยกันเอง อภิชนกลุ่มหนึ่งตะโกนว่า “พวกคนจนทำงานมากที่สุดและพวกเขาต้องจ่ายภาษี (contributions) แต่คนที่มีอำนาจและร่ำรวย (the great and the rich) ผู้ซึ่งได้ทรัพย์สินของแผ่นดินไปเฉยๆโดยไม่ต้องทำอะไรเลย”  และ  Conrad Gyllenstierna   ยืนยันว่า  “ทุกคนทำงานรับใช้โดยไม่ได้รับเงิน แต่มีคนไม่กี่คนที่นั่งเฉยๆและมีความสุขจากการถือครองที่ดินของราชอาณาจักร”  

เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในที่ประชุมฐานันดรอภิชน จึงได้มีการอภิปรายว่า ควรมีการตัดสินหาข้อยุติโดยการลงคะแนนเสียงหรือไม่ และควรลงคะแนนเสียงด้วยวิธีการอย่างไร ?

Watchtmeister เสนอว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพของทั้งราชอาณาจักรโดยรวม ไม่ควรใช้วิธีลงคะแนนอื่น นอกจากใช้วิธีกล่าวออกเสียง (acclamation) ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ขอให้มีการลงคะแนนอย่างเป็นทางการโดยลงคะแนนของแต่ละระดับชั้น (Classes) ของฐานันดรอภิชน นั่นคือ ไม่ได้ลงคะแนนเป็นรายบุคคล แต่ให้ลงคะแนนเป็นกลุ่มชั้น (Classes) แต่บางคนก็แย้งว่า ควรลงคะแนนเป็นรายบุคคล
กระนั้น แม้แต่การจะลงหรือไม่ลงคะแนน และจะลงอย่างไร ก็ไม่สามารถได้ข้อยุติในที่ประชุมสภาอภิชน เพราะก่อนการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวนี้ ประธานสภาอภิชนยังไม่ได้ตั้งวาระขึ้นมา ส่งผลให้เสียการควบคุมการประชุม

ในที่สุด แต่ละกลุ่มหรือระดับชั้น (Classes) ของอภิชนขอประชุมอภิปรายแยกกัน และผลที่ได้คือ อภิชนระดับชั้นล่างสุด (Class III) มีมติสนับสนุนนโยบายการเวนคืนทั่วไป และ Axel Watchtmeister  อ้างว่ามติที่ประชุมของอภิชนระดับชั้นกลาง (Class II) ก็เห็นด้วย แม้ว่าจะมีสมาชิกในกลุ่มนี้อ้างว่า พวกเขาไม่ทราบถึงข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็ตาม
ส่วนอภิชนระดับสูงสุด (Class I) มีการจับกลุ่มแบ่งขั้วกันระหว่าง Sparre และ Watchmeister และในที่สุด Watchmeister ประกาศว่า ผู้ใดที่สนับสนุนเขาให้มารวมตัวกันและไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน Sparre ก็ประกาศเช่นเดียวกันและจะไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ด้วย และกลุ่มของเขาได้เดินออกจากที่ประชุมโดยทันที และไม่สนใจคำเรียกร้องให้กลับมาประชุมของประธานที่ประชุม

ต่อจากนั้น ประธานที่ประชุมสภาอภิชนได้สรุปว่า ที่ประชุมสภาอภิชนได้มีมติรับการเวนคืนทั่วไปในหลักการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการของพวกอภิชนเพื่อร่างข้อเสนอในรายละเอียด

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า  นโยบายการเวนคืน (reduktion)  ได้รับการยอมรับจากสภาอภิชนภายใต้เงื่อนไขข้างต้นที่ไม่ปกติและไร้ระเบียบ และกล่าวได้ว่าไม่ถูกต้อง เพราะในหมู่อภิชนเกิดเสียงแตกและไม่สามารถขัดขวางข้อเสนอของฐานันดรสามัญชนได้
ขณะเดียวกัน พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดก็ทรงสามารถวางพระองค์ให้อยู่เหนือสภาวะการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ และสิ่งที่ Sparre ได้กล่าวไว้ก็เป็นความจริง นั่นคือ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีข้อเสนอหรือพระราชดำริใดๆ พระองค์เพียงแต่ทรงยืนยันว่า ทุกฝ่ายจะต้องหาทางทำให้งบประมาณแผ่นดินได้ดุลให้ได้
ประธานสภาอภิชนได้กล่าวถึงการประชุมของพวกอภิชนในวันที่ 29 ตุลาคมว่า ไม่มีใครในฐานันดรอภิชนเสนอทางเลือกอื่นใดที่จะทำให้งบประมาณของประเทศได้ดุล

และเมื่อ Sparre และพวกได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด พวกเขาได้กราบบังคมทูลพระองค์ว่า พวกเขาคัดค้านการถูกบังคับโดยกลุ่มอภิชนระดับอื่นๆ เพราะพวกเขาได้เตรียมตัวที่จะสมัครใจยอมรับการเวนคืนทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาได้ยอมรับการเวนคืนไปแล้ว

พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจึงทรงรีบมีพระราชดำรัสตอบไปทันทีว่า พระองค์ทรงมั่นพระราชหฤทัยว่า ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดและพระองค์ได้ทรงขอให้พวกอภิชนรู้จักประมาณการและให้มีความสามัคคี (moderation and unity) “เพื่อที่จะไม่ทำให้พระองค์ต้องทรงยุ่งยากในการต้องตัดสินพระทัย” 

จะเห็นได้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงทำให้ดูเหมือนว่า นโยบายการเวนคืนไม่ได้เคยเป็นพระราโชบายหรือพระราชดำริของพระองค์ แต่เป็นการตัดสินใจอย่างอิสระของราษฎรทั้งหลายของพระองค์” 
เมื่อถึงจุดนี้ สภาอภิชนจึงดำเนินการตามระเบียบที่ผ่านมา โดยส่งข้อเสนอของตนไปยังสภาบริหารเพื่อถามความเห็นของสภาบริหารต่อข้อเสนอของพวกตน โดย Sparre ยังมีความหวังว่า สภาบริหารอาจจะมีข้อเสนออื่นๆ “ที่จะใช้ได้ดีกว่า และเพื่อสนองเจตนารมณ์ของพระมหากษัตริย์ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านงบประมาณแผ่นดิน และนี่เป็นโอกาสสุดท้ายของสภาบริหาร (Council) ด้วยที่จะหาทางขัดขวางนโยบายการเวนคืน

จริงๆ แล้ว สภาบริหารมีข้อเสนออื่นๆอยู่ แต่ตัดสินใจที่จะระงับไว้ไม่แจ้งต่อสภาอภิชน เพราะสภาบริหารเห็นว่า จะไม่เป็นการดีสำหรับตัวพวกเขากับองค์พระมหากษัตริย์ ถ้าพวกเขาสามารถทำให้พวกอภิชนต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น