xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีนยกทัพบี้ไทยปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ “เสี่ยหนู--บิ๊กอ้วน” โยกโย้ตัดไฟ “ทุนเทาเมียวดี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หมดเวลาอุ้มแก๊งสแกมเมอร์เมียวดีกันแล้ว เมื่อรัฐบาลจีนเอาจริง ส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงฯ กระทุ้งรัฐไทยลุยปราบเด็ดขาด ส่วนการตัดไฟฟ้าที่ กฟภ.ขายให้กลุ่มทุนจีนเทา ก็คงต้องจบเวลากอบโกยแล้วเช่นกัน 

ทั้งที่รู้ว่าถ้าขืนชักช้าโบ้ยบ้ายไม่เลิก มีแต่เสียกับเสีย แต่ท่าทีของ  “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่คุมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ  “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง ยังโยนกันมั่ว เป็นที่น่าอิดหนาระอาใจเป็นที่สุด

อย่างที่รู้กันดีว่าแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดี เป็นขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่เกี่ยวพันโยงใยหลายฝ่าย หลายชาติ ทั้งจีน ไทย เมียนมา ครั้นเมื่อปัญหาที่ต่างพากันกลบเกลื่อนระเบิดขึ้น ทางฝั่งรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ฉวยจังหวะโจมตีรัฐไทยโดยออกตัวว่ารัฐบาลพม่ามีความยากลำบากในการควบคุมพื้นที่ เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ อยู่ที่นั่น ทั้งที่แท้จริงแล้วพื้นที่นี้มีการคุ้มครองจาก  กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF)  ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา (ทัตมาดอ) นั่นเอง

หนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ในสังกัดกระทรวงข้อมูล ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารเมียนมา ยังเผยแพร่บทความตีแสกหน้ารัฐไทยว่า ไฟฟ้าและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานและจำเป็นสำหรับการหลอกลวงทางออนไลน์ในพื้นที่เมียวดี-ชเวก๊กโก และเคเคพาร์ค รัฐกะเหรี่ยง ไม่ได้มาจากเมียนมาร์แต่มาจากประเทศอื่น เจ้าของธุรกิจหลอกลวงทางออนไลน์ เป็นชาวต่างชาติที่เข้าประเทศเมียนมาอย่างผิดกฎหมาย ผ่านเส้นทางที่ผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศไทย

กระบอกเสียงของรัฐบาลเมียนมาที่ชี้เป้ามายังรัฐไทย บวกกับแรงกดดันของสังคม และฝ่ายค้าน ทำให้นายอนุทิน ถึงกับ “ของขึ้น” เมื่อถูกจี้ถามว่าจะจัดการตัดไฟฟ้าที่ กฟภ. ขายให้กลุ่มอาชญากรรมเมืองเมียวดีได้เมื่อไหร่

นายอนุทิน ตอบคำถามว่า เรื่อง กฟภ.ขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ตรวจอนุมัติให้ กฟภ.ขายได้ ถือว่าจบ จากนั้นเขาจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา ไม่ใช่หน้าที่ของตน หรือ กฟภ. ที่จะต้องติดตาม ส่วนการยอมรับของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของมหาดไทย

 “นี่คือกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่มหาดพม่า” นายอนุทิน กล่าวอย่างมีอารมณ์ 

ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตกันว่า ทางการไทยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า นายอนุทิน ตอบว่า จะไปตรวจสอบลิงที่ไหน รัฐบาลเมียนมายืนยันมาแล้ว เราต้องเชื่อการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา บริษัทก็ได้รับการตรวจสอบประวัติ เราก็ขายตามข้อตกลงที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าพบมีปัญหา กต. ก็ต้องแจ้งกลับไปว่าบริษัทที่รับรองทำสแกมเมอร์ ให้กลับไปดูให้ดี ทำได้แค่นี้

ส่วนท่าทีของ “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย ตอกกลับมหาดไทย และ กฟภ.ว่า  “...ถ้าคุณขายไฟแล้วพบว่ามีปัญหา คุณก็ควรต้องจัดการ เท่านั้นเอง” ไม่ใช่ปฏิเสธไม่รู้ว่ามีปัญหาเรื่องความมั่นคง และถ้าเป็นเรื่องระดับนโยบาย นายอนุทินก็อยู่ในที่ประชุม สมช.อยู่แล้ว ก็รับรู้ร่วมกัน ก็ต้องไปดำเนินการ

แต่เมื่อ   “หัวไม่ส่าย”  หางก็  “ไม่กระดิก ” ถ้อยแถลงของ  นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ในฐานะโฆษก กฟภ. พร้อมด้วย  นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์  รองผู้ว่า กฟภ. กรณีขายไฟให้เมืองเมียวดี เมียนมา จึงออกมาในทำนองที่ว่าไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบผู้ซื้อไฟ สอดรับกับท่าของ “เสี่ยหนู” ผู้เป็นนาย

นายประดิษฐ์ ชี้แจงว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2539 เห็นชอบหลักการให้ PEA ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ปัจจุบัน PEA มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้เมียนมา เฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท จากยอดขายไฟต่อปีทั้งหมด 6 แสนล้านบาท โดยการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมามี 5 จุด ดังนี้

 1.บ้านเจดีย์สามองค์ - เมืองพญาตองซู รัฐมอญ มีบริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited เป็นคู่สัญญา 2.บ้านเหมืองแดง - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) 3.สะพานมิตรภาพไทย – พม่า - เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด 4.สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited และ 5.บ้านห้วยม่วง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) 

โฆษก กฟภ. แจกแจงว่า บริษัทคู่สัญญาทั้งหมด เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ PEA ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา การจะงดจ่ายไฟหรือบอกเลิกสัญญา ทำได้ 2 กรณี คือ คู่สัญญาผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้า และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

เรื่องนี้ PEA ต้องมีหนังสือไปยังหน่วยงานความมั่นคง และ กต. ก่อน หากตรวจสอบแล้วพบว่าการไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ก็แจ้งให้ PEA ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป หากเป็นเรื่องนโยบายก็ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้ กต.แจ้ง PEA ระงับการจำหน่ายไฟฟ้า 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด - บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง - อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ส่วนอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน - เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว

นายประดิษฐ์ ยังยืนยันว่า PEA ไม่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบในประเทศคู่สัญญา ต้องให้ฝั่งรัฐบาลคู่สัญญาเป็นผู้แจ้งมาว่ามีบริษัทสีเทาจริง เพราะหากต้องตัดไฟจะกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะรอยต่อการค้าขายระหว่างประเทศด้วย จึงต้องมีความชัดเจนรอบคอบและรัดกุม คาดว่าจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.พ. 2568

หลังจาก กฟภ.แถลง นายอนุทิน ก็ออกมาสำทับว่า เราไม่รู้ว่าหน่วยงานความมั่นคง หรือกระทรวงการต่างประเทศ ไปตกลงอะไรกับประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หากเขายืนยันให้ขาย เราก็ยินดีที่จะขาย เพราะมีคำว่ามนุษยธรรมอยู่ แต่หากมีการแจ้งให้ตัดไฟฟ้า เราก็พร้อมตัดวินาทีนี้เลย

 “แจ้งปุ๊บเราหยุดเลย มันหยุดง่ายมากนะ กดปุ่มปุ๊บก็หยุดเลย เราพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องสั่งมา” นายอนุทิน กล่าว 

ความจริงเรื่องการขายไฟฟ้าให้เมียนมา ต้องฟังจากนักวิชาการที่เกาะติดเรื่องนี้ โดย ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ กฟภ. ขายไฟฟ้าไปยังฝั่งเมียวดีว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องรัฐต่อรัฐ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเมียนมามีเรื่องพื้นที่การปกครองเป็นลักษณะรัฐซ้อนรัฐ รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้ามาปกครองในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยอย่างรัฐกะเหรี่ยงได้ จึงไม่สามารถทำเป็นแบบรัฐต่อรัฐได้

 ดังนั้น รูปแบบการขายไฟจึงเป็นการทำสัญญาผ่านตัวแทนหรือนอมินีหรือบริษัทของกะเหรี่ยง BGF คือ Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited หรือ SMTY ไปขอสัมปทานจากรัฐบาลกลางเมียนมาแล้วมาเซ้งที่ และขาย license ให้กับนอมินีฝั่งไทย กลุ่มนอมินีไทยเป็นฝ่ายที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ BGF สร้างระบบไฟฟ้า บริหารจัดการเรื่องไฟในเมืองสแกมเมอร์ทั้งหมด เช่น ติดตั้งเสา และอุปกรณ์สำหรับจ่ายไฟ ดูแลเมื่อระบบไฟมีปัญหา ฯลฯ ตลอดจนตามเก็บค่าไฟแล้วนำมาส่งให้กับ กฟภ. รัฐบาลกลางเมียนมาได้ค่าสัมปทานบริษัทของ BGF ได้ค่าเซ้งที่ บริษัทนอมินีไทยค้ากำไรจากการชาร์จค่าไฟที่สูงลิ่วจากพวกอาชญากรจีน 

ส่วน กฟภ. เป็นเสือนอนกิน ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น รอรับค่าไฟจำนวนมหาศาลในแต่ละเดือนอย่างเดียว KK Park ใช้ไฟมากกว่า 10 เมกกะวัตต์ ชเวโก๊กโกะ 8 เมกกะวัตต์ ก่อนจะถูกตัดไฟในเดือน มิ.ย. 2567 เฉพาะรายได้ค่าไฟจาก KK Park แห่งเดียวเดือน พ.ค. 2567 สูงถึง 30 ล้านบาท เหตุใดการค้าขายไฟกับเมืองสแกมเมอร์จึงเป็นเรื่องหอมหวานสำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างระบบไฟฟ้าในเมืองสแกมเมอร์ที่รัฐบาลเมียนมาทำกับบริษัทของ BGF และ BGF เอามาเซ้งต่อให้นอมินีไทยเป็นสัญญาปีต่อปี และเป็นสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐบาลเมียนมากับ SMTY เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับไทย โปรดอย่าหลงประเด็น

กลางปีที่แล้วหลังจากโดนกดดันจากรัฐบาลจีนในการสกัดอาชญากรรมสแกมเมอร์ รัฐบาลทหารเมียนมาเคยไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับ SMTY ไปรอบหนึ่ง ทำให้ กฟภ. ต้องยุติการจ่ายไฟไปยังจุดที่ตั้งของเมืองชเวโก๊กโกะ (บ้านวังผา) และเมือง KK Park (บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง) แต่ กฟภ. ไม่ได้ตัดไฟในพื้นที่อื่น ๆ อีกสองแห่งในเมียวดี

หลังการตัดไฟในรอบนั้นทำเมืองสแกมเมอร์ทั้งสองซบเซาไปชั่วขณะ ขณะที่เสียงเครื่องปั่นไฟดังกระหึ่มข้ามมาฝั่งไทย เอกชนที่ขายเครื่องปั่นไฟในเมืองแม่สอดต่างล่ำซำจากการขายเครื่องปั่นไฟ ไม่นานหลังจากนั้นทั้งเมืองชเวโก๊กโกะ และเมือง KK Park กลับมาสว่างไสวอีกครั้ง เช่นเดียวกับธุรกิจอาชญากรรมสแกมเมอร์ข้ามชาติที่ขยายตัว และหนักหน่วงมากขึ้นกว่าเดิม

นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บินเข้าแม่สอด ส่องกาสิโน-โครงการลงทุนจีนเทาชเวโก๊กโก่
คำถามสำคัญคือปัจจุบันเมืองสแกมเมอร์ทั้งสองใช้ไฟจากไหน หากไม่ใช่จาก กฟภ. เพราะพื้นที่ชายแดนตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ล้วนพึ่งพาไฟฟ้าจากไทยทั้งสิ้น การที่รัฐมนตรีบางคนออกมาพูดว่า ขายไฟฟ้าให้เมียนมาไปแล้ว ส่วนเขาจะไปขายต่อให้ใครเป็นเรื่องของเขา ถือเป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบ และเห็นแก่ได้ ไม่ควรที่จะมาบริหาร และดูแลเรื่องความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุขของประชาชน ตลอดจนการสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ชายแดน

นอกจากนี้ การปล่อยปละละเลยให้สาธารณูปโภคของประเทศกลายเป็นทรัพยากรที่อาชญากรข้ามชาตินำไปใช้ โดยที่รัฐ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไร ถือเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง และที่น่าละอายยิ่งกว่าเป็นเรื่องกำไร และรายได้มหาศาลจากการค้าไฟฟ้าให้อาชญากรข้ามชาติ ล้วนมาจากเงินเก็บ และทรัพยากรของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรมสส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ชี้ว่า การตัดไฟ กฟภ.สามารถตัดได้และดำเนินการได้ทันที แต่การที่ยังไม่ดำเนินการอาจมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ที่ผ่านมา กฟภ. อ้างว่าการจะขายไฟฟ้าจะต้องไปถามหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ และจะตัดไฟฟ้าก็ต้องถามหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ดังนั้นการที่ประเทศไทยยังต้องอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และยาเสพติด โดยมี กฟภ. ขายไฟให้ คิดว่า กฟภ. ควรจะรับผิดชอบในเรื่องนี้

นายรังสิมันต์ โรม ยังโพสต์ภาพและข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) @RangsimanRome ถึงการพบข้อมูลใหม่ของบริษัท SMTY คู่สัญญา กฟภ. ที่อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการค้ายาเสพติด ว่า บริษัท SMTY เป็นบริษัทของ พันตรี ติ่งวิน ซึ่งเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในกองกำลัง BGF ในเมืองเมียวดี โดยแกนนำคนสำคัญชื่อ พันโท หม่องชิตตู คงนับได้ว่าพันตรีติ่งวิน เป็นลูกน้องของหม่องชิตตู่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้รัฐไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เพราะรัฐบาลจีน ได้ส่ง Mr.Liu Zhongyi ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงของจีน พร้อมคณะชุดใหญ่ มาประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ในการจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่เมืองเมียวดี เมียนมา เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา


หลังการประชุมหารือ  พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ  ผบช.สอท. เปิดเผยว่า ทางการจีนได้เสนอข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ ได้แก่ ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียวดี โดยส่งมอบข้อมูลนายทุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และขอให้ไทยจับกุมหัวหน้าแก๊งที่อยู่ในประเทศไทยโดยเร็ว, ติดตามคดีหวังซิง โดยขอให้จับกุมผู้ต้องหาในขบวนการที่เหลืออีกกว่า 20 ราย และส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่จีน, ขอให้ บช.สอท. ใช้การสืบสวนทางเทคนิคเพื่อพิสูจน์ทราบผู้ถูกกักตัวในพื้นที่ 3 จังหวัดของเมียนมา และกดดันให้ปล่อยตัวโดยเร็ว

นอกจากนั้น ทางการจีน ยังเสนอปิดช่องทางลำเลียงคนและสินค้า เพื่อป้องกันกลุ่มคนร้ายจากการใช้ช่องทางในการกระทำผิดและลดพื้นที่และทรัพยากรที่กลุ่มคนร้ายสามารถใช้ได้, เพิ่มความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่สืบสวนจากทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน และเสริมประสิทธิภาพจับกุมคนร้ายในไทย แก้ปัญหาความกังวลของหลายประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยในไทย

นายหลิว จงอีและคณะขณะเข้าหารือและประสานความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.)ในการจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา

.อนุทิน ชาญวีรกูล
ขณะที่ ทาง บช.สอท. เอง ได้เสนอข้อตกลงร่วมกันอีก 4 ข้อ โดยจัดตั้งชุดทำงานร่วมกัน ระหว่าง บช.สอท. และกระทรวงความมั่นคงของจีน พร้อมแลกเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการหลอกลวงของคนร้าย, ปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยขอความร่วมมือจากจีน โดยมุ่งเป้าที่กลุ่มบอสชาวจีนและผู้จัดการชาวไทยที่ทำงานร่วมกัน

ยังมีข้อเสนอควบคุมการไหลออกของทรัพย์สิน โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักแปลงเงินเป็นคริปโตเคอเรนซี่และกลับมาเป็นสกุลเงินหลัก และขอให้ไทยและจีนแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อป้องกันการไหลออกของเงินผู้เสียหาย และขอให้จีนเป็นผู้นำในการจัดประชุมแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาค โดยเชิญเมียนมา ลาว กัมพูชา และไทยเข้าร่วม

“เรื่องเกี่ยวกับการตัดสัญญาณ การตั้งศูนย์ช่วยเหลือ การตัดทรัพยากร ทางตำรวจไซเบอร์จะนำเสนอกับหน่วยเหนือเพื่อดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป” ผบช.สอท. กล่าว

ทางด้าน  Mr.Liu Zhongyi กล่าวว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียวดีได้ทำร้ายร่างกายคนจากหลายประเทศ ตอนนี้พบว่ามี 36 กลุ่มแก๊งคนจีนที่สำคัญ และมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 1 แสนคน ปัจจุบันมีประชาชนชาวจีนถูกหลอกไปทำงานจำนวนมาก ถูกทำร้ายร่างกาย และเสียชีวิต คดีของหวังซิง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีคำถามต่อความปลอดภัยของไทย หวังว่าความร่วมมือกันปราบปรามจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่สำคัญ โดยเริ่มจากจีนและไทยก่อนขยายไปยังเพื่อนบ้านและทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเกือบทั่วโลกได้รับผลกระทบจากคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์

ในวันที่ 29 ม.ค. 2568 Mr.Liu Zhongyi และคณะ ได้ประชุมร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ทางการของไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีรายงานว่า เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ.แม่สอด จ.ตาก จะมีปฏิบัติการเหมือนที่จีนเคยกวาดล้างที่เมืองเล่าก์ก่ายในรัฐฉานเหนือ เมื่อปลายปี 2566

ภูมิธรรม เวชชยชัย
 การมาของคณะผู้แทนรัฐบาลจีน ยังกดดันให้ สตช.สั่งเด้งกราวรูด 3 ผกก.โรงพักชายแดนตาก สังเวยต่างชาติถูกหลอกผ่านไทยเข้าเมียวดี โดย พล.ต.ท.กิตติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 มีคำสั่ง เลขที่ 10 / 2568 ย้าย 3 ผกก.อำเภอชายแดน จ.ตาก ประกอบด้วย พ.ต.อ.พิทยากร เพชรรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่สอด จ.ตาก, พ.ต.อ.ฉัตรชัย คำยิ่ง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพบพระ จ.ตาก และ พ.ต.อ.ฐมฌ์พงศ์ เพ็ชรพิรุณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด จ.ตาก 

หนังสือสั่งย้ายระบุเหตุผลว่าเนื่องมาจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบปัญหานักท่องเที่ยวถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมาในประเทศไทย แล้วหายตัวจากชายแดนไปยังเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา และมีการลักลอบข้ามแดน ผ่านช่องทางธรรมชาติ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่สอด ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพบพระ และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด จ.ตาก จึงให้นายตำรวจดังกล่าวไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่ 27 ม.ค. 2568 จนกว่ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 เมื่อรัฐบาลจีนเอาจริง ต้องรอติดตามว่าทั้งไทยและเมียนมาจะยังปล่อยให้แก๊งอาชญากรข้ามชาติ ลอยนวลต่อไปได้อีกหรือไม่ และการตัดไฟฟ้าของ กฟภ.คงหมดเวลาเล่นลิ้น รีรอไม่ได้อีกต่อไป 


กำลังโหลดความคิดเห็น