xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แพทย์แขวนป้าย” รายได้ฉ่ำ “แพทยสภา” ย้ำ! ต่อไปไม่เตือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  สถานการณ์ปัญหากรณี “แพทย์แขวนป้าย” กระพือความร้อนแรงหลังจาก “พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย” หรือ “สว.หมอเกศ” ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ต่อ ป.ป.ช. ว่า มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากแขวนป้ายแพทย์ 2.1 แสนบาทต่อปี ซึ่งผิดจรรยาบรรณผิดกฎหมาย ขณะที่ “แพทยสภา” ออกประกาศฉบับใหม่ กำหนดโทษหนัก “ไม่ตักเตือน” และ “พักใช้ใบอนุญาต 1 ปี ทันที” มีผลบังคับใช้ ก.พ. 2568


สืบเนื่องกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2568 ปรากฎชื่อ  “พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย” หรือ “สว.หมอเกศ”  ผู้ตำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 126 ล้านบาท หนี้สิน 43 ล้านบาท ที่น่าสนใจ “สว.หมอเกศ” ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ต่อ ป.ป.ช. ว่า มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจาก  “แพทย์แขวนป้าย”  โดยทำรายได้กว่า 210,000 บาท ต่อปี

ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของรายได้ “แพทย์แขวนป้าย” มีความเป็นมาอย่างไร เนื่องจาก  “ประกาศของแพทยสภากำหนดห้ามแพทย์ทำการแขวนป้าย โดยไม่ได้ทำการตรวจรักษาจริงเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525” 

ชัดเจนว่า แหล่งที่มาของรายได้ของแพทย์ไม่ควรมาจากการแขวนป้าย และควรมีรายได้จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมม ตามมาตรา 40 (6) ที่สำคัญ “แพทย์แขวนป้าย” ถือเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำและมีโทษรุนแรง ในกรณีของ “สว.หมอเกศ” คงต้องติดตามว่าจะมีการตรวจสอบนำสู่บทสรุปเช่นไร

สำหรับ  “แพทย์แขวนป้าย” คือการที่แพทย์ให้บุคคลอื่นนำชื่อตนไปเปิดสถานพยาบาล โดยเฉพาะจำพวกคลินิกเสริมความงาม แพทย์รับค่าจ้างฉ่ำเริ่มตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาทต่อเดือน โดยที่ตัวไม่ต้องสแตนบายและวาร์ปไปทำงานที่อื่นได้ตามปกติ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ สถานการณ์ “แพทย์แขวนป้าย” เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย ซึ่งประชาชนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ได้รับผลกระทบโดยตรง

 ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมาทาง สบส. มีการตรวจสอบคลินิกต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการเปิดสถานพยาบาลต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541

โดยสถานพยาบาลหรือคลินิกต้องดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. ผู้ประกอบกิจการหรือเจ้าของคลินิก 2. แพทย์ผู้ดำเนินการ โดยผู้ประกอบกิจการจะจ้างแพทย์เพื่อมาเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ และ 3. ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ให้บริการ ซึ่งแยกกันคนละส่วน

สำหรับประเด็น  “แพทย์ผู้ดำเนินการ” จะมีความรับผิดชอบสูง มีความสำคัญมากในคลินิก ทางฝั่งเจ้าของก็จะมีค่าตอบแทนให้กับแพทย์ จึงต้องควบคุมกิจการอย่างใกล้ชิด โดยคลินิกแต่ละแห่งต้องมีผู้ดำเนินการ 1 คน

กรณี “แพทย์แขวนป้าย” ไม่ได้ประจำการปฏิบัติงานจริง มีความผิดฐานละเลย ไม่ดูแลคลินิกให้เรียบร้อย โดยโทษส่วนใหญ่จะไปตกที่ผู้รับอนุญาตที่ไม่จัดหาผู้ดำเนินการ หรือผู้ประกอบกิจการที่ทำหน้าที่ดำเนินการ หากไม่ดูแลให้เรียบร้อยก็จะมีโทษ แต่โทษนั้นไม่ถึงขนาดปิดกิจการ

ทพ.อาคมยกตัวอย่างกรณีแพทย์ผู้ดำเนินการไม่อยู่ หรือคลินิกไม่มีผู้ดำเนินการ ทางผู้ประกอบกิจการก็จะมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท ส่วนผู้ดำเนินการไม่ดูแลอย่างใกล้ชิดก็จะมีโทษปล่อยปละละเลย ไม่ทำหน้าที่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งนี้ หากผู้ดำเนินการมีความผิด จะส่งเรื่องให้ทางแพทยสภาพิจารณาในเรื่องจรรยาบรรณต่อไป

ทั้งนี้ แพทยสภาได้ดำเนินการตรวจสอบปราบปรามกรณีปัญหาแพทย์แขวนป้ายอย่างเข้มข้น ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การกําหนดโทษทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับความผิด ในการเป็นผู้ดําเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา

เนื่องด้วยปัจจุบัน ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจํานวนหนึ่งมีการกระทําผิดจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ดําเนินการ สถานพยาบาลโดยผิดกฎหมาย หรือการให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปฏิบัติงานแทน รวมทั้งมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง ให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรือไม่เหมาะสม ตลอดจน มีการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณะในลักษณะที่ทําให้ทราบว่าตนเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีการใช้ชื่อทางการค้าหรือชื่ออื่นใดของผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด ในการให้ความรู้ในทํานองโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ ต่อประชาชนทั่วไป อันอาจส่งผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะได้เป็นวงกว้าง

โดยสาระสำคัญของ “ประกาศแพทยสภา ที่ 62/2567 เรื่อง เกณฑ์การกําหนดโทษ ทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับความผิดในการเป็นผู้ดําเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา” อาทิ

- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่กระทําผิดจริยธรรมเกี่ยวกับการเป็นผู้ดําเนินการสถานพยาบาล โดยไม่ได้ควบคุมกิจการของสถานพยาบาลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กําหนดโทษให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหนึ่งปี กรณีกระทําผิดซ้ำครั้งที่สอง ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมสองปี และกรณีกระทําผิดซ้ำตั้งแต่สามครั้งขึ้นไป ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่กระทําผิดจริยธรรมเกี่ยวกับการเป็นผู้ดําเนินการสถานพยาบาล โดยให้หรือยินยอมให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยผู้ที่มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต กําหนดโทษให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหนึ่งปี กรณีกระทําผิดซ้ำครั้งที่สอง ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมสองปี และกรณีกระทําผิดซ้ำตั้งแต่สามครั้งขึ้นไป ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

- ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งกระทําผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กําหนดโทษให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหกเดือน กรณีกระทําผิดซ้ำครั้งที่สอง ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมสองปี และกรณีกระทําผิดซ้ำตั้งแต่สามครั้งขึ้นไป ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นต้น

สำหรับกรณีแพทย์แขวนป้ายหรือการที่แพทย์นำชื่อตนเองไปให้ใช้เปิดคลินิก โดยที่ตัวเองไม่ได้เข้าไปควบคุมตามกฎหมาย  รศ. (พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่ากรณีแพทย์แขวนป้ายมีคดีที่รู้และแจ้งมาที่แพทยสภาทุกเดือน โดยในโซเซียลมีเดียช่องทางต่างๆ จะมีการประกาศรับแพทย์แขวนป้าย ซึ่งบางทีก็เหมือนเจตนาหลอกลวงแพทย์ที่ไม่รู้กฎหมาย เช่น รับให้แขวนป้ายจะได้เดือนละ 10,000 บาท ,30,000 บาท หรือ 50,000 บาท ก็ว่ากันไป และจะเซ็นสัญญาว่า ถ้ามีเรื่องเข้ามาที่แพทยสภาจะไม่ต้องรับผิด เพราะทางผู้จัดดำเนินการจะจัดการปัญหาให้เอง หรือบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม แพทยสภาชุดที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ในความผิด “แพทย์แขวนป้าย” จากเดิมจะมีว่ากล่าวตักเตือน หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 1 - 2 เดือน ทั้งนี้ ความผิดเรื่องของการแขวนป้ายตามประกาศแพทยสภาฉบับใหม่ จะเริ่มตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาตฯ 1 ปีทันที หากทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 หรือไปถึงครั้งที่ 3 จะเพิกถอนใบอนุญาตฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2568

 “เตือนน้องๆ แพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ที่มีปัญหานี้คือแพทย์ที่จบใหม่ ที่เขาจะบอกว่าไม่รู้กฎหมาย แต่นักกฎหมายบอกว่าจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกฎหมายเฉพาะของแพทย์ที่ต้องรู้ และแพทยสภาไม่อยากให้มีแพทย์โดนลงโทษในความผิดเช่นนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าแพทยสภาได้มีการปรับกฎและความผิดใหม่แล้ว” รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว 

พร้อมย้ำว่าแพทย์แขวนป้ายเป็นความผิดที่ถือว่ารุนแรงกว่าการโฆษณาเกินจริงของแพทย์ เนื่องจากเป็นต้นทางของการให้หมอเถื่อน เป็นเหมือนการเปิดประตูบ้านให้ข้าศึกเข้ามาในเมือง โดยการรับเงินเดือนละ 20,000 - 30,000 บาทแล้วให้ใครก็ได้เข้ามาทำอะไรก็ได้เข้ามาดำเนินการในคลินิก ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้ป่วยได้รับความเสียหาย โดยไม่รู้เลยว่าการรับบริการนั้นเป็นแพทย์จริงหรือปลอม ถ้ามีแพทย์จริงอยู่ตามกฎหมาย ก็จะคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยผิดกฎหมาย.

อย่างไรก็ดี แพทยสภาประเมินแนวโน้มว่าคดีเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แขวนป้ายจะลดลง หลังจากประกาศแพทยสภา ที่ 62/2567 เรื่อง เกณฑ์การกําหนดโทษ ทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับความผิดในการเป็นผู้ดําเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2568

 กรณีแพทย์แขวนป้ายโดยได้รับเงิน แต่ไม่ได้ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนถือเป็นความผิดทั้งทางจริยธรรมและอาญา ซึ่งทางแพทยสภามีพยามในการแก้ปัญหาออกกฎเกณฑ์เพิ่มอัตราโทษกรณีแพทย์แขวนป้ายแต่ไม่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์อย่างเต็มที่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น