"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
โดยทั่วไป การเลือกตั้งมักถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่อาศัยเหตุผล ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะประเมินนโยบาย ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และตัดสินใจอย่างมีข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงตรรกะ อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้อาจมองข้ามอิทธิพลเชิงลึกของอารมณ์ที่มีต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง
อารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความหวัง ความกลัว ความโกรธ และความภาคภูมิใจ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์ของการรณรงค์หาเสียง และเป็นกรอบแนวคิดสำหรับการสร้างเรื่องเล่าทางการเมือง ในภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ถูกกำหนดโดยโซเชียลมีเดียและการใช้กลยุทธ์ที่ดึงดูดอารมณ์มากขึ้น การทำความเข้าใจบทบาทของอารมณ์เป็นสิ่งจำเป็นในการวิเคราะห์พลวัตของการเลือกตั้งยุคใหม่
อารมณ์ไม่เพียงส่งผลต่อการรับรู้ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีต่อผู้สมัคร แต่ยังมีผลต่อการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นทางการเมืองและระดับการมีส่วนร่วมของพวกเขาในกระบวนการเลือกตั้งอีกด้วย
การรณรงค์หาเสียงมักใช้กลยุทธ์กระตุ้นอารมณ์เพื่อระดมการสนับสนุน สร้างภาพลักษณ์ให้กับฝ่ายตรงข้าม และสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อารมณ์เชิงบวก เช่น ความหวังและความภาคภูมิใจ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมความก้าวหน้าโดยรวม ขณะที่อารมณ์เชิงลบ เช่น ความกลัวและความโกรธ ถูกใช้เพื่อชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามหรือความไม่พอใจ กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางการเมืองที่เร่งด่วนและจริงจัง
ความสำคัญของอารมณ์ในการเลือกตั้งได้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ ผู้ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางอารมณ์ให้เหตุผลว่าอารมณ์มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับผู้สมัคร เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการมีส่วนร่วม และช่วยสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์ทางอารมณ์อาจบดบังการประเมินนโยบายอย่างมีเหตุผล ทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองรุนแรงขึ้น และเปิดช่องให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลและการปลุกปั่นความกลัว
ในบทความนี้จะเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจสอบบทบาทสองด้านของอารมณ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งอารมณ์สามารถเป็นได้ทั้งพลังที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระบวนการประชาธิปไตย การศึกษาว่าอารมณ์ เช่น ความหวังและความกลัว มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างไร กลยุทธ์ที่การรณรงค์หาเสียงใช้ในการกระตุ้นอารมณ์ และผลกระทบของการตัดสินใจทางการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ จะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และเหตุผลในการเมืองการเลือกตั้งได้ดียิ่งขึ้น
อิทธิพลของการดึงดูดอารมณ์
การใช้กลยุทธ์ดึงดูดอารมณ์เป็นหัวใจสำคัญของการหาเสียงทางการเมือง และถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการดึงดูดความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กำหนดการรับรู้ และกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชน นักการเมืองและนักกลยุทธ์การหาเสียงตระหนักดีว่า อารมณ์มักมีพลังในการโน้มน้าวใจมากกว่าข้อเท็จจริงและตรรกะเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์ทางการเมืองจึงมักสร้างข้อความที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น ความหวัง ความกลัว ความโกรธ และความภาคภูมิใจ เพื่อสร้างความรู้สึกเร่งด่วน ความเชื่อมโยง หรือแรงบันดาลใจ ซึ่งส่งผลต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระดับส่วนบุคคล
กลยุทธ์ที่พบได้บ่อยคือ การใช้ความกลัว (Fear-based Messaging) โดยเน้นให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือความเป็นปึกแผ่นของสังคม การใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการหาเสียงมักได้ผลดี เพราะมันกระตุ้นสัญชาตญาณการป้องกันตนเองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้พวกเขามุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ตัวอย่างเช่น ผู้สมัครอาจเน้นย้ำถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อัตราอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ภัยคุกคามจากต่างประเทศ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อชักจูงให้ประชาชนเชื่อว่าจำเป็นต้องมีมาตรการตอบสนองอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันหายนะทางสังคม
งานวิจัยระบุว่าข้อความที่สร้างความกลัวสามารถเพิ่มความตื่นตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้พวกเขาต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สมัครและนโยบาย และให้ความสำคัญกับผู้สมัครที่ถูกมองว่ามีความเข้มแข็งและสามารถแก้ไขภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์นี้มักมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษในช่วงเวลาวิกฤตหรือสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความวิตกกังวลอยู่แล้ว
ตัวอย่างของการใช้ความกลัวในการหาเสียง เห็นได้จากการปราศรัยหาเสียงทุกครั้งของของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ถึงมกราคม 2568 ซึ่งมีการใช้กลยุทธ์ความกลัวอยู่เสมอ
นายทักษิณ ชินวัตร ใช้กลยุทธ์การสร้างความกลัวอย่างเป็นระบบในการหาเสียง โดยใช้คำปราศรัยเพื่อสร้างแรงกระตุ้นและทำให้เกิดความรู้สึกฉุกเฉินในหมู่ประชาชนเพื่อให้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
กลยุทธ์นี้มีโครงสร้างหลัก 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสร้างความกลัวเกี่ยวกับภัยคุกคามทางสังคม (ยาเสพติดและอาชญากรรม) การทำให้ประชาชนกลัวปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ และการปลุกความกลัวเกี่ยวกับการทรยศ การสมรู้ร่วมคิด และศัตรูทางการเมือง
หนึ่งในประเด็นที่นายทักษิณกล่าวซ้ำ ๆ คือปัญหายาเสพติด ซึ่งเขานำเสนอว่าเป็น ภัยคุกคามที่อันตรายและต้องกำจัดให้หมดสิ้นภายในปีนี้ โดยใช้คำพูดที่หนักแน่นและสร้างภาพความรุนแรงของปัญหา เช่น
“ไปบอกว่าทักษิณกลับมาแล้ว ทักษิณเกลียดพ่อค้ายา ถ้ายังไม่เลิกตัวใครตัวมันละเว้ย”
“วันนี้ถ้าเราไม่จัดการเรื่องยาเสพติดให้เด็ดขาด ลูกหลานเราลำบาก ประชาชนอยู่กันลำบาก หวาดผวากลัวคนติดยามันหลอนประสาท มันไล่ฆ่าพี่ฆ่าน้องหมด”
“วันนั้นที่จัดการสามเดือนเกลี้ยงเลย”
นายทักษิณใช้ตัวอย่างของผู้ติดยาเสพติดที่กลายเป็นภัยคุกคามแก่สังคม เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกว่าปัญหานี้ใกล้ตัวและต้องการ “ผู้ปราบปรามที่เข้มแข็ง” และย้ำว่าตนเคย “กำจัดยาเสพติดหมดภายใน 3 เดือน” ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ว่าเขามีความสามารถในการแก้ปัญหา รวมทั้งการกำหนดเส้นตายในการแก้ปัญหา ดังคำว่า “สิ้นปีนี้ต้องจบ ยาเสพติดต้องหมด” เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่าปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไขทันที ไม่สามารถรอได้
การสร้างความหวาดกลัวมุ่งหวังเพื่อให้ประชาชนต้องการรัฐบาลที่แข็งแกร่ง และยังกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเชื่อว่าจะสามารถ “กวาดล้างยาเสพติด” ได้ อย่างไรก็ตามคนจำนวนไม่น้อยก็เกิดความกังวลว่าหากรัฐบาลนำแนวทางของนายทักษิณไปใช้อาจนำไปสู่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอีกครั้ง ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
นอกจากยาเสพติดแล้ว นายทักษิณยังเน้นย้ำว่าประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยกล่าวว่า
“วันนี้พี่น้องมีหนี้เยอะ รัฐบาลก็หนี้เยอะ”
“วันนี้รถก็ขายไม่ออก บ้านก็ขายไม่ออก แบบนี้ผิดหมด”
“ไฟฟ้าต้องลดให้ได้ 3.70 บาท ไม่งั้นประชาชนอยู่ไม่ได้”
รวมทั้งมีการใช้ภาษาที่กระตุ้นความรู้สึกสิ้นหวัง เช่นการกล่าวว่า “พี่น้องล้วงกระเป๋าแล้วเจอแต่ตั๋วจำนำ” เป็นการสร้างภาพให้ประชาชนรู้สึกถึงความลำบากของตัวเอง พร้อมกันนั้นก็โอ้อวดว่า ตัวเองเป็น “ทางรอดเดียว” โดยกล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยทำไม่ได้ คนอื่นก็ไม่มีปัญญาทำ” ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือก สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายลง
หากประชาชนหลงเชื่อคำกล่าวของนายทักษิณ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกว่าต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อ “ความอยู่รอด” ผลกระทบที่ตามมาของกลยุทธ์นี้การสร้างความตื่นตระหนกและความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ
นายทักษิณยังใช้กลยุทธ์ “สร้างศัตรูร่วม” เพื่อกระตุ้นความกลัวในหมู่ประชาชน โดยกล่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามและข้าราชการว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เช่น
“ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ”
“ถ้าข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง ตัวใครตัวมันนะ”
“ไอ้คนที่ร้องผม ร้องพรรค ร้องไม่สำเร็จ ก็เตรียมถูกเช็คบิลด้วยละกัน”
กลยุทธ์นี้ของนายทักษิณเป็นการสร้างศัตรูที่ชัดเจน ดังที่ระบุว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลที่ “แอบ” และ “หลบเลี่ยง” ความรับผิดชอบ เพื่อทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจพรรคร่วม อีกทั้งมีการใช้ภาษาที่รุนแรงและข่มขู่ เช่น การใช้คำว่า “ตัวใครตัวมัน” หรือ “เตรียมถูกเช็กบิล” เป็นการส่งสัญญาณข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามและข้าราชการที่ไม่สนับสนุนเขา ผลที่ตามมาของการใช้กลยุทธ์นี้คือการสร้างความแตกแยกและความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น
นอกเหนือจากการใช้กลยุทธ์ที่มีฐานจากความกลัวแล้ว อีกกลยุทธ์หนึ่งที่มักใช้กันคือ การใช้ความหวัง (Hope-based Messaging) ซึ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกมองโลกในแง่ดี ความเป็นไปได้ และความก้าวหน้า การรณรงค์ที่ใช้กลยุทธ์นี้พยายามสร้างปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เป็นบวก โดยเน้นที่การแก้ไขปัญหา ค่านิยมที่แบ่งปันกัน และวิสัยทัศน์ของอนาคตที่ดีขึ้น
กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยส่งเสริมความรู้สึกของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อมั่นว่าการลงคะแนนเสียงของตนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ การใช้ข้อความที่สร้างความหวังมักเชื่อมโยงกับอัตราการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ที่รู้สึกมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น
ในการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 พรรคประชาชนใช้กลยุทธ์ “การสร้างความหวัง” เป็นแนวทางหลักในการหาเสียง โดยมุ่งเน้นไปที่ “การเปลี่ยนแปลง” (Transformation) “ศักยภาพของประชาชน” (Empowerment) และ “อนาคตที่ดีกว่า” (A Better Future) เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของประชาชนว่าพรรคประชาชนสามารถนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสได้
หนึ่งในแกนสำคัญของพรรคประชาชนคือการนำเสนอว่าพวกเขาเป็นพรรคที่พร้อมในการสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” และ “ความก้าวหน้า” โดยมีคำปราศรัยที่กล่าวถึงสิ่งนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น
“ถึงเวลาต้องช่วยกันเปลี่ยน กำหนดอนาคตของจังหวัด มาช่วยกันทำให้มุกดาหารเป็นบ้านแห่งความสุขไปด้วยกัน”
“วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้นทวงคืนอำนาจกลับมาไว้ที่มุกดาหาร”
“ถึงเวลาที่การเมืองต้องเอาชนะใจประชาชนกันที่นโยบาย”
ในการเน้น “เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” พรรคประชาชนได้ใช้คำพูดที่เน้นว่า “ตอนนี้” เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลง เช่น “ถึงเวลา” และ “วันนี้เป็นโอกาส”
พรรคประชาชนยังสื่อสารว่าประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่นักการเมือง (ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ตอนเลือกตั้ง แต่ประชาชนสามารถตรวจสอบและถอดถอนได้) ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกมีพลังในหมู่ประชาชน และ มีการใช้ภาษาที่สร้างพลังบวก เช่น ใช้คำว่า ฟื้น, ก้าวหน้า, ศักยภาพ, อนาคตที่ดีกว่า ซึ่งเป็นคำที่กระตุ้นความหวัง การหาเสียงในลักษณะนี้สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง และลดทอนความหวาดกลัวเกี่ยวกับการเมืองแบบเดิม และเพิ่มความมั่นใจในทางเลือกใหม่
พรรคประชาชนยังมีการนำเสนอ “ศักยภาพของประชาชน” และการกระจายอำนาจ โดยเน้นแนวคิดว่าท้องถิ่นสามารถ “บริหารตนเอง” ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาส่วนกลางทั้งหมด เช่น
“อบจ. มุกดาหาร ไม่ใช่กระทรวงมุกดาหารของรัฐบาล”
“เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านท้องถิ่น ไม่ใช่การเมืองที่สืบทอดกันในครอบครัว”
กลยุทธ์นี้มุ่งเน้น การกระจายอำนาจและการตัดขาดจากการเมืองแบบเก่า หรือ “การเมืองแบบตระกูล” และเสนอว่า ประชาชนมีสิทธิ์กำหนดอนาคตของตัวเอง รวมทั้งมีการกระตุ้นความภาคภูมิใจในท้องถิ่น โดยเสนอว่านโยบายของ อบจ. จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นโดยตรง กลยุทธ์นี้ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ และมีสิทธิในการบริหารจังหวัด และลดความไว้วางใจต่อการเมืองแบบเดิมที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำท้องถิ่นหรือนักการเมืองบ้านใหญ่
พรรคประชาชนไม่เพียงแต่พูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” แต่ยังเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรกร “ลดแล้งด้วยบ่อทั้งร้อย” หรือสร้างบ่อบาดาลปีละ 100 บ่อ การพัฒนาระบบคมนาคมและระบบขนส่งมวลชนในจังหวัด โดยให้มีรถโดยสารสาธารณะเพื่อบริการประชาชนอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาสาธารณสุขโดยเติมบุคลากรให้ รพ.สต. ครบตามเกณฑ์ เพื่อให้บริการประชาชนได้เต็มที่ การปรับโครงสร้างสาธารณูปโภคให้มี น้ำประปาสะอาดดื่มได้ทั่วจังหวัด กลยุทธ์นี้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพรรคประชาชนมีแผนงานที่เป็นไปได้ และสร้างความเชื่อมั่นว่านโยบายจะทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง
พรรคประชาชนไม่ได้เน้นแค่ “นโยบาย” แต่ยังนำเสนอ “บุคคล” ที่เป็นตัวแทนของอนาคต โดยคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งที่พรรคส่งแข่งขัน
กล่าวได้ว่าพรรคประชาชนใช้บุคคลเป็น “สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง” สร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวของบุคคล เช่น หมอมุดสัง หรือ นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ผู้สมัครนายก อบจ. สุราษฎร์ธานี ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนาย อบจ. เชียงใหม่ นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ผู้สมัคร นายก อบจ. ตราด เป็นต้น
กล่าวโดยรวมพรรคประชาชนใช้กลยุทธ์การสร้างความหวัง โดยการระบุว่า “ตอนนี้คือเวลาที่เหมาะสมที่สุด” สำหรับการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นความรู้สึกของประชาชนว่าพวกเขามีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง นำเสนอนโยบายที่จับต้องได้และเป็นไปได้จริง และใช้บุคคลที่มีความสามารถเป็นสัญลักษณ์ของอนาคต
นอกเหนือจากความหวังและความกลัวแล้ว ความโกรธ (Anger-based Messaging) ยังเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่มีอิทธิพลสูงและถูกนำมาใช้บ่อยในการรณรงค์ทางการเมือง ข้อความที่กระตุ้นความโกรธมักใช้เพื่อปลุกระดมผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเน้นให้เห็นถึงความอยุติธรรม การทุจริต หรือความล้มเหลวของระบบเดิม โดยการกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรง แคมเปญสามารถกระตุ้นให้ผู้สนับสนุนต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลหรือผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความโกรธ เช่นเดียวกับความกลัว สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยสร้างความรู้สึกเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม มันสามารถทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงและขยายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน
ตัวอย่าง การใช้ “ความโกรธ” เพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามเห็นได้จากการปราศรัยหาเสียงของนายทักษิณ หลายครั้งหลายคราว เช่น “ฮาบ่ละมันไว้เป็นป้อ แม้ฮาจะเฒ่าแล้ว คิงซัดฮามา ฮาซัดคิงไป” (ผมไม่ปล่อยมันไว้หรอก ถึงผมจะแก่แล้ว ถ้าใครโจมตีผม ผมก็จะโจมตีกลับ) หรือ การกล่าวว่า “บางคนเราก็รู้พื้นเพกันอยู่ มันมาเห่าอยู่นั่น” และ “วันนี้เราเลี้ยงข้าวมันมื้อเดียว มันอิ่ม มันก็ขอบคุณเรา แต่มื้อหน้า มันหิว มันหาคนเลี้ยงข้าวใหม่ ถ้าเราไม่เลี้ยงมัน มันก็ขบเรา”
กลยุทธ์ทางอารมณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แตกต่างจากกลยุทธ์ที่อาศัยเหตุผลเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องใช้การพิจารณานโยบายและแพลตฟอร์มอย่างรอบคอบ กลยุทธ์ที่ดึงดูดอารมณ์ทำงานโดยการกระตุ้นจิตใต้สำนึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับผู้สมัครหรือประเด็นทางการเมืองในระดับส่วนตัว อารมณ์สามารถกำหนดลำดับความสำคัญของประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญ มีอิทธิพลต่อการประเมินผู้สมัคร และสุดท้าย กำหนดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงให้กับใคร
แม้ว่าการใช้กลยุทธ์ดึงดูดอารมณ์จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน การพึ่งพาความกลัวหรือความโกรธมากเกินไปอาจนำไปสู่ความเบื่อหน่ายทางการเมือง ความเหนื่อยล้าของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือทำให้ความแตกแยกในสังคมรุนแรงขึ้น ในทางกลับกัน การใช้ข้อความที่เต็มไปด้วยความหวังโดยไม่มีพื้นฐานนโยบายที่ชัดเจนอาจทำให้เกิดความผิดหวังและความสิ้นหวังหากความคาดหวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้รับการตอบสนอง ท้ายที่สุด อิทธิพลของการใช้กลยุทธ์ดึงดูดอารมณ์เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอารมณ์และเหตุผลในแวดวงการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่กำหนดผลการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวนการประชาธิปไตยโดยรวมอีกด้วย