xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มาเคียเวลลี-คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง”(ตอนหนึ่ง)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพเหมือน Machiavelli จากหนังสือIl Principe ของห้องสมุด Peace Palace ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2312
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

เรื่องของ “นิกโกโล มาเคียเวลลี” ผู้เกิดในยุค “เรอเนซองส์” เป็นนักปรัชญา นักดนตรี นักเขียนบทละคร นักปรัชญาทางการเมืองการปกครอง ฯลฯ ซึ่งมีผู้มีชื่อเสียงนามก้องโลกหลายคน อาทิ “เลโอนาร์โด ดา วินชี” “วิลเลียม เชกสเปียร์” “กาลิเลโอ กาลิเลอี“ ฯลฯ โดย “มาเคียเวลลี” ได้เขียนหนังสืออันระบือลือลั่น เรื่อง“เดอะ ปริ๊นซ”(THE PRINCE)

“มาเคียเวลลี” เกิดวันที่ 3พฤษภาคม ปี ค.ศ.1469 ณ หมู่บ้านซาน กัสชีอาโน อิน วัล ดี เปชา รัฐฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เขาเป็นบุตรคนที่สามของนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียง “แบร์นาร์โด ดี นิกโกโล มาเคียเวลลี” กับ “บาร์โตโลเมีย ดี สเตฟาโน เนลลี” ทั้งคู่เป็นสมาชิกครอบครัวของขุนนางเก่าแห่งทัสกานี ดังนั้น ตั้งแต่เยาว์วัย “มาเคียเวลลี” จึงได้ร่ำเรียนกับ “มาร์เชลโล วีร์จีดีโอ อาดรียานี” ปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น “มาเคียเวลลี” ได้รับการถ่ายทอดความรู้ยอดเยี่ยมด้านปรัชญามานุษยนิยม อันเฟื่องฟูอย่างยิ่งในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป

ประวัติช่วงต้นของ “มาเคียเวลลี” เป็นที่รู้จักกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้มีชื่อเสียงหลายๆคนในยุคเดียวกัน มีบันทึกเพียงว่า เขารับราชการ ในช่วงต้นทศวรรษ 1490 นับจากนั้น “มาเคียเวลลี” จึงเริ่มตกเป็นที่จับตาเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการโท แห่งสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 1498
“มาเคียเวลลี” ได้ปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตให้แก่ฟลอเรนซ์ต่อเนื่องนานถึง 14 ปี ในช่วงเวลาอันยาวนานนั้น “มาเคียเวลลี” ได้เดินทางไปยังหลายรัฐในอิตาลี นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปราชสำนักฝรั่งเศส และราชสำนักแห่งอาณาจักรแมกซีมีเลียมอีกด้วย
เขาได้พบบุคคลสำคัญสูงสุดของประเทศต่างๆมากมาย เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่12 ซึ่ง “มาเคียเวลลี” ได้เข้าพบถึงสี่ครั้ง อีกทั้งยังได้เข้าพบกับจักรพรรดิแมกซีมีเลียน พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 และ “เซซาร์ บอร์จา” ผู้ที่ “มาเคียเวลลี” มีความประทับใจมากเป็นพิเศษ

ระหว่างอยู่ในตำแหน่งตัวแทนทางการทูต ปรากฎบันทึกอันมีคุณค่ามากมายของ “มาเคียเวลลี” เช่นรายงานที่เขาต้องเขียนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย บันทึกหนังสือราชการ รวมถึงบันทึกและจดหมายอื่นๆ ในบางครั้งบางคราว ซึ่งมักประกอบด้วยการวิเคราะห์อันหลักแหลมของเขา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “มาเคียเวลลี” สนใจการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง

ในยุค “มาเคียเวลลี” แม้จะเป็นยุคทองของการฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่ก็เป็นยุคของสงครามช่วงชิงการปกครองฟลอเรนซ์ดินแดนอิตาลีจากต่างชาติ รวมทั้งการแย่งชิงอำนาจเหนือรัฐ และนครรัฐต่างๆของอาณาจักรอิตาลี

การแย่งชิงอำนาจนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของ “มาเคียเวลลี” เป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้าเขาจะได้รับตำแหน่งเลขานุการโทแห่งรัฐฟลอเรนซ์ การปกครองของฟลอเรนซ์ถูกครอบงำโดยนักบวชชื่อ “จีโรลาโม ซาโวนาโรลา” ในยุคของนักบวชผู้นี้ “มาเคียเวลลี” เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งนี้แล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก
จนเมื่อ “จีโรลาโม ซาโวนาโรลา” ถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ.1498 และเมื่อตระกูล “เมดาซี” กลับมามีอำนาจในฟลอเรนซ์อีกครั้ง “มาเคียเวลลี” จึงถูกคัดเลือกให้เข้ารับตำแหน่งเลขานุการโทแห่งรัฐฟลอเรนซ์

ซึ่งหน้าที่ของตำแหน่งนี้ เขาต้องเป็นตัวแทนเจรจาทางการเมือง เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ ทำให้ “มาเคียเวลลี” ได้เห็น และเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และด้วยความสามารถเฉพาะตัวที่เป็นคนช่างสังเกต อีกทั้งเป็นคนช่างวิเคราะห์ “มาเคียเวลลี” จึงมีข้อคิดเห็นทางการเมืองการปกครอง มาพูดคุยอภิปรายกับเหล่ามิตรสหายคอการเมืองอยู่เสมอ
ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่ “มาเคียเวลลี” เขียนถึงมิตรสหายเหล่านั้น บางครั้งเขาเล่าถึงเจ้าผู้ครองนครที่เขาชื่นชมนิยมชมชอบ ว่ามีวิธีการปกครองอย่างไร และบางครั้งก็เล่าถึงวิธีการปกครองอันโหดเหี้ยมของเจ้าผู้ครองนครบางคนที่ประสบความสำเร็จ เช่น วิธีการที่ดยุกวาเลนติโนใช้สังหาร วีเตลอซโซ วีเตลลี, โอลีเวรอตโต แห่งแฟร์โม, ซินญอร์ปาโกโล, และดยุกแห่งกราวีนา ออร์ซีนี

เดอะ ปริ๊นซ หน้าปกของฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 1550
  

นอกจากนี้ ยังมีจดหมายที่บันทึกถึงประวัติชีวิต กัสตรุซโซ กัสตรากานี แห่งลูกา ซึ่ง “นิกโกโล มาเคียเวลลี” ส่งถึงสหายชื่อ ซาโนบี โบนเดลโมนดี และลุยจี อาลามันนี

“มาเคียเวลลี” เป็นบุคคลที่มากความสามารถ มีความตั้งใจทำงานเป็นอย่างยิ่ง เขาใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ดังจะเห็นได้จากรายงานแต่ละฉบับของเขา ที่มีความละเอียดถี่ถ้วน ผ่านการกลั่นกรองและไตร่ตรอง วิเคราะห์ปัญหา และเสนอวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง

ทว่า.. ตลอดชีวิตรับราชการของเขา ผลงานจากการทุ่มเทพลังกายพลังใจและพลังสมองของเขา กลับไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด “มาเคียเวลลี” ไม่เคยได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐฟลอเรนซ์

และแล้วโอกาสทองของ “มาเคียเวลลี” ก็มาถึง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัฐฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ.1502 ตระกูลเมดาซีหมดอำนาจลง “ปีเอโร ดี ตอมมาโซ โซเดรีนี” ผู้ชื่นชอบและพอใจการทำงานของ “มาเคียเวลลี” ได้รับเลือกตั้งเป็นอัศวินผู้ครองนคร ผู้ครองนครคนใหม่ได้นำข้อเสนอในการก่อตั้งกองกำลังประชาชน ที่ “มาเคียเวลลี” เสนอมาช้านานมาพิจารณา ซึ่งได้รับการจัดตั้งในปี ค.ศ. 1506 โดย “มาเคียเวลลี” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เลขานุการกองทหารแห่งชาติ อันเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่ง ด้วยภาระหน้าที่อันยากเย็นแสนเข็ญ ต้องแก้ปัญหาอันเกิดจากความแตกต่างของประชาชนและผู้นำแต่ละเมือง โดยมีงบประมาณที่จำกัด

แต่ด้วยการทำงานอย่างอุตสาหะ มุ่งมั่นต่อความสำเร็จ และความสามารถของเขา ในปี ค.ศ. 1509 กองกำลังประชาชนที่ “มาเคียเวลลี” จัดตั้งและเป็นผู้วางแผนในการทำศึก ออกรบเป็นครั้งแรกกับ “ปิชา” และเป็นฝ่ายชนะสงคราม “ปิชา” ต้องตกอยู่ภายใต้รัฐฟลอเรนซ์ ทำให้ชื่อเสียง “มาเคียเวลลี” เป็นรู้จักขึ้นมาในยุคนั้น

ทว่า..ชื่อเสียงทางราชการของ “มาเคียเวลลี” ก็ไม่ได้รุ่งโรจน์ไปมากกว่านี้

ค.ศ.1510 ฟลอเรนซ์ต้องเลือกเข้าข้างฝรั่งเศส ในสงครามแย่งเวนิส ระหว่างฝรั่งเศสกับศาสนจักร ซึ่งมีพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 เป็นผู้นำ ทั้งสองฝ่ายเคยเป็นพันธมิตรของฟลอเรนซ์ แต่ฟลอเรนซ์จำต้องเลือกข้าง ซึ่งฝรั่งเศสได้รับชัยชนะ

แต่ชัยชนะไม่จีรัง ต่อมาในปี ค.ศ.1512 ฝ่ายศาสนจักรได้ร่วมกับชาวเวนิสและสเปน ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากอิตาลีได้สำเร็จ พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 จึงเข้าโจมตีฟลอเรนซ์

ครั้งนั้น กองกำลังของประชาชนฟลอเรนซ์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 คืนอำนาจให้แก่ตระกูลเมดาซี “ปีเอโร ดี ตอมมาโซ โซเดรีนี” จึงเนรเทศตัวเองไปจากฟลอเรนซ์ และ “มาเคียเวลลี” ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งในต้นปี ค.ศ.1513

นั่นคือ “วิถีชีวิตรับราชการ” บ่งบอกว่า “มาเคียเวลลี” ในวันนั้น.. ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ..จริงไหม?

แต่วันนี้ “มาเคียเวลลี” กลับมาดังระเบิดในฐานะผู้เขียน “คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง”!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น