xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทรัมป์ 2” ตอกฝาโลง 30 อุตสาหกรรมไทย สินค้า 29 กลุ่มจ่อเจอมหันตภัย “รีดภาษี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์  - เทรดวอร์ยกสองที่กำลังเริ่มขึ้นในยุค “ทรัมป์ 2.0” ส่งผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมของไทยสาหัสแน่ เพราะถูกรุมขนาบสองด้าน ทั้งสหรัฐฯที่จ่อรีดภาษี และเจอสินค้าจากจีนทุ่มตลาด การเดินหมากเจรจาเพื่อขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าของรัฐบาลไทย คำถามคือจะเอาอะไรไปแลกสหรัฐฯ ถึงจะยอมตามคำขอ


การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากได้ดุลการค้าสหรัฐฯมาต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องหาทางรับมือกับสงครามการค้าที่กำลังคุโชนขึ้น

จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์  นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า กลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2566)

กลุ่มสินค้าดังกล่าว ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ, ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่, หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็นตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้

ทั้งนี้ ต้องบอกว่า สหรัฐฯ นั้นถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่าส่งออก 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วน 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังจับตาประเทศที่กลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า และมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม (Greenfield FDI) มาก 10 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย เวียดนาม โมร็อกโก คาซัคสถาน อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และ เม็กซิโก

สำหรับไทยแม้ไม่ติดหนึ่งในสิบ แต่สถิติการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2566 ตัวเลขจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อันดับแรก คือ จีน 159,387 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐฯ 83,954 ล้านบาท

ส่วนปี 2567 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ 357,540 ล้านบาท 305 โครงการ ตามด้วย จีน 174,638 ล้านบาท 810 โครงการ และ ฮ่องกง 82,266 ล้านบาท 177 โครงการ ซึ่งการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นมากเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้นหลังการแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR เสร็จแล้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะออกมาตรการทางการค้าต่าง ๆ

เพื่อถอดสลักระเบิดเศรษฐกิจการค้าลูกใหญ่  นายพิชัย นริพทะพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะนำคณะไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ชุดใหม่ในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเจรจาขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าจากไทย ซึ่งก็คงต้องติดตามว่าจะ  “มีน้ำยา”  หรือไม่อย่างไร

สำหรับการเมินผลกระทบการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ “ทรัมป์ 2” มุ่งเน้นนโยบาย  “America First”  เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งด้านการค้า ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ลดภาษีนิติบุคคลดึงการลงทุนกลับสู่ถิ่นฐาน การส่งเสริมพลังงานฟอสซิล ขยายการขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน ยกเลิกการลงทุนในพลังงานสีเขียว

 นายพรชัย ฐีระเวช  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ประเมินว่า จะส่งผลกระทบของต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้ การค้าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ อาจลดลง และการกีดกันจีนทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทย ส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) จากสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากนโยบายสนับสนุนย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐ (Reshoring) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนวัตถุดิบสำหรับไทย

ส่วนมาตรการการเงิน มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้น ทำให้ทุนไหลออกจากไทย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อการนำเข้า ด้านตลาดทุน และสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อในไทยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่า โอกาสของเศรษฐกิจไทยยังมี โดยการดึงดูดการลงทุนที่ต้องการย้ายฐานผลิตเพื่อหลบกำแพงภาษีที่สูงขึ้น และการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองตลาดโลก อีกทั้งยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เนื่องจากการกีดกันสินค้าจีนอาจเพิ่มความต้องการสินค้าไทย เช่น อาหารแช่แข็ง

สศค.มีข้อเสนอแนวทางปรับตัวของไทยเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงของนโยบายสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และจีน หันไปขยายตลาดส่งออกในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งพัฒนาแรงงาน เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการชะลอตัวของจีน ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการสินค้าในภูมิภาค ค่าเงินบาทผันผวน เพิ่มต้นทุนการนำเข้า และลดความสามารถในการแข่งขัน

ด้าน  นายจุลพันธ์ อมรวิฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า รัฐบาลไทยจะมีการตั้งทีมเพื่อหารือกับสหรัฐฯ เพื่อเจรจาทางการค้าให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสินค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ที่จะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มจากสงครามการค้าครั้งนี้

ส่วนทางภาคเอกชนนั้น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ว่า เกือบทุกอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีที่จะเก็บเพิ่มขึ้นราว 10-20% จากประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าไทยจะได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ขยับมาอยู่ลำดับที่ 9 ในปี 2567 จากเดิมอยู่ที่ลำดับ 11 เนื่องไทยส่งออกสินค้าต่าง ๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จึงเสนอภาครัฐตั้งวอร์รูมร่วมกับเอกชนเพื่อลดผลกระทบต่อภาคส่งออก สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายตลาดกับสหรัฐฯ รวมทั้งหาตลาดใหม่เพื่อกระจายสินค้าส่งออก พร้อมรับมือจีนที่ถูกกีดกันการค้า ทำให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นตลาดใหญ่ที่จีนหันมาส่งออกเพิ่มมากขึ้น

อีกข้อเสนอคือ ภาครัฐต้องหาล็อบบี้ยิสต์เพื่อช่วยเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน และการเจรจาต่อรองควรเปลี่ยนเป็นแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี

ประธาน ส.อ.ท. ยังคาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด โดยเฉพาะสินค้าจากจีนเป็นเป้าหมายการตั้งกำแพงภาษี ที่ทะลักเข้ามายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน และทำให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในอาเซียน ส่งผลกระทบต่อ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมในไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้ เนื่องจากสินค้าไทยแข่งขันด้านราคาสู้จีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้ เช่น เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.มีข้อเสนอว่าในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐควรเพิ่มสัดส่วนสินค้าผลิตในไทยจาก 5% เป็น 15% เป็นการชั่วคราว รวมทั้งเร่งหาตลาดใหม่นอกเหนือจากอาเซียนด้วยการเร่งเจรจา FTA กับหลายประเทศ รวมถึงปฏิรูปกฎหมายด้านการค้าที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และหอการค้าไทย มองว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 จะมีทั้งผลบวกและลบที่จะเกิดขึ้นในไทย เบื้องต้นกลุ่มทุนจีนจะย้ายฐานการผลิตเพื่อหาตลาดทดแทนการส่งออก ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว แต่อีกด้านการขึ้นภาษีของทรัมป์ ไทยอาจเจอสองเด้ง ทั้งการขึ้นภาษีนำเข้าและอาจถูกบังคับให้นำเข้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมาตลอด โดยตั้งแต่ปี 2565 ไทยเกินดุลมากกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยตกเป็นเป้า แต่แท้ที่จริงแล้วที่เราเกินดุลส่วนหนึ่งมาจากบริษัทสหรัฐฯที่มาตั้งอยู่ในไทยด้วย ขณะที่เอกชนไทยเองก็มีการลงทุนในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ข้อเสนอของหอการค้าไทยคือให้ภาคเอกชนเป็นตัวแทนในทีมเจรจาที่รัฐบาลจัดตั้งเพื่อรับมือผลกระทบ เพราะเอกชนอยู่ในสนามการค้ามีข้อมูลเชิงลึก สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลวางแผนรับมือพร้อมเจรจาต่อรอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์และแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยตัวแทนภาคเอกชนที่อยู่ในทีมเจรจา ควรเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกหลัก เช่น อาหารและเกษตรกรรม อัญมณี ยางพารา อิเลกทรอนิกส์ และยานยนต์ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอมาตรการกีดกันทางการค้า






 นายพชรพจน์ นันทรามาศ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Cheif Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) มองว่า การที่ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐฯ อาจจะมีผลกระทบต่อไทยได้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่ง market fundamental ค่อนข้างสำคัญ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ราคาพลังงานได้ปรับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว จากความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง และแม้เหตุการณ์จะดูสงบลง แต่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับนโยบายกีดกันทางการค้า น่าจะใช้เวลาในการส่งผลกระทบกับประเทศไทย ในส่วนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ อย่างจีน เม็กซิโก และแคนาดา ที่ได้รับผลกระทบ อาจส่งผลทางอ้อมมายังไทยได้บ้าง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าผลกระทบจริง ๆ จะเกิดขึ้นต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเป็นต้นไป ผลกระทบต่อไทยทางตรงยังไม่เยอะ และยังเห็นไม่ชัดในเร็ววัน แต่ควรเตรียมตัวรับความเสี่ยง

เช่นเดียวกับ นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่บอกว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.4% จากผลกระทบการกีดกันการค้ารุนแรงขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0 เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน

นอกจากนี้ สงครามการค้ารอบใหม่จะทำให้ไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศจะมีปัจจัยกดดันมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไทยเติบโตชะลอลง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่นโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะเริ่มกระทบหลายประเทศ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่น่าจะฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ปีนี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีความเสี่ยงหลายด้าน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ยอมรับว่า การมาของทรัมป์ ทำให้ทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้น และการดำเนินนโยบายของทรัมป์ คาดเดายาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ อาจเห็นสินค้าจีนทะลักเข้ามาแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างมากต่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องเร่งปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายทรัมป์

นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ต้องใช้ฝีมือในการแก้ไข ไม่ใช่ใช้ฝีปากเล่นลิ้นเอาตัวรอดไปวัน ๆ แล้วปล่อยให้ “พ่อนายกฯ” โชว์กร่างทั่วบ้านทั่วเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น