xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชดเชยที่ดินอัลไพน์ 7.7 พันล้าน “หญิงอ้อ ลูกโอ๊ค-เอม” ควรได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในขณะนี้ หลังจากที่ “นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์” ลงนามคำสั่งเพิกถอนกรรมสิทธิ์ “ที่ดินอัลไพน์ 924 ไร่” ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 20 ปีให้กับไปเป็น “ธรณีสงฆ์” ว่า “บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด” สมควรที่จะได้รับ “ค่าชดเชย” หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ให้สัมภาษณ์เอาไว้ชัดเจนว่า “หากมีการถอนสิทธิ์จริงก็ไม่เป็นไรเพราะหลักการคือถ้าเป็นของกรมที่ดิน ก็ต้องชดเชยความเสียหาย ที่รับโอนอย่างไม่ถูกต้อง หรือหากเป็นของวัดต้องถามว่าวัดจะชดเชยค่าเสียหายหรือให้เช่าต่อ คนเราถ้ารักษากติกาและไม่ยึดติดอะไร” 

เป็นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ที่ก่อนหน้านี้มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นผู้ถือหุ้น ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดไปให้ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” ผู้เป็นมารดาทั้งหมด

และ ณ ปัจจุบัน บริษัทนี้มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 1.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 7,470,000 หุ้น และ 22,410,000 หุ้น รวม 29,880,000 หุ้น (40%), 2.พานทองแท้ ชินวัตร 22,410,000 หุ้น ( 30%) และ 3.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 22,410,000 หุ้น (30%)

อย่างไรก็ดี นอกจากตัวสนามกอล์ฟ ซึ่งมีบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด เป็นเจ้าของแล้ว ปัจจุบัน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์ มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย โดยขณะนี้กรมที่ดินได้ทำหนังสือแจ้งให้ให้นำโฉนดมาคืน รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงิน ในฐานะเจ้าหนี้เพื่อให้ทราบ และหยุดการผ่อนชำระ

สำหรับการชดเชย ก่อนหน้านี้ “กรมที่ดิน” ได้ประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณและทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาท และทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาท

ในประเด็นเรื่อง “ค่าชดเชย” สังคมไม่ติดใจเจ้าของกรรมสิทธิ์รายอื่น เพราะเป็นการซื้อโดยสุจริต หากแต่มีคำถามถึงบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ว่า สมควรจะได้รับหรือไม่ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ก่อนที่จะตกมาอยู่ในครอบครองของ “ครอบครัวทักษิณ” นั้น การซื้อขายที่ดินผืนนี้เต็มไปด้วยข้อครหา กล่าวคือนายทักษิณซื้อที่ดินมาปี 2540 ในราคาประมาณ 500 ล้านบาท ต่อจาก นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งซื้อมา 130 ล้านบาท จากวัดธรรมิการามวรวิหาร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ใดจะถือครองที่ดินของวัดเกิน 50 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องอนุมัติก่อน ซึ่ง นายเสนาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้อนุมัติที่ดินแปลงดังกล่าว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมการศาสนาได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายและได้ข้อสรุปว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา33 (2) (13) แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34(14) แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่สามารถดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินได้

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกของ “นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” จึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ให้ตกแก่วัดธรรมิการามวรวิหารเท่านั้น ซึ่งจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม และโฉนดที่ดินดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ประชาชนเจ้าของบ้านจัดสรรในสนามกอล์ฟอัลไพน์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งคือ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ในเวลานั้น “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ”รองปลัดมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทย กลับมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน (ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดิน) จนมาถูกรื้อฟื้นเมื่อเดือนธันวาคม 2551 เมื่อมีการสั่งให้กรมที่ดินตรวจสอบใหม่

ต่อมา “ยงยุทธ” ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และตามด้วยคำพิพากษาศาลจำคุก 2 ปี หลังจากนั้นส่งสำนวนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยมีการพิจารณาถึงชั้นฎีกา พิพากษาจำคุกยงยุทธ 2 ปีไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ “นายถาวร เสนเนียม” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อครั้งที่นายเสนาะ เทียนทอง และพวกได้เอาที่ดินของวัดมาทำเช่นนี้ พวกเขามีวัตถุประสงค์ทำนิติกรรมที่มีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น กรณีนี้นายทักษิณไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่วัดต่างหากที่ต้องเรียกค่าหาย เพราะนายทักษิณนำพื้นที่ของวัดไปแสวงหาผลประโยชน์ที่เรียกว่าลาภมิควรได้

“บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ และบริษัท อัลไพน์ เรียล เอสเตท จำกัด ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยสมคบกัน ร่วมกัน รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินวัดซื้อขายไม่ได้ นิติกรรมซื้อขายมีวัตถุประสงค์ขัดต่อหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน การซื้อขายครั้งนั้นเป็นโมฆะ บริษัทจะเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินไม่ได้ครับ”

“ถ้าอธิบดี(กรมที่ดิน)คนใดจ่าย ก็ติดคุก อยู่ๆ มีอำนาจจ่ายได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเอาเงินหลวงไปจ่าย ก็ติดคุกเอง เข้าตามมาตรา 150 ถ้าจะเล่นบทมวยล้มต้มคนดู เขาเรียกร้องมา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐนำเงินไปจ่าย ถามว่าเอาเงินจากไหน ถ้าตั้งงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายเรื่องนี้ ก็ติดคุกกันทั้งสภาฯ” นายถาวรว่าไว้อย่างนั้น

ด้าน **“รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง”** นักวิชาการอิสระ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นถึงกรณีที่นายทักษิณออกมาพูดว่า จะทำอย่างไร ก็ทำให้เรื่องจะได้จบๆ รำคาญและต้องเยียวยาผู้เสียหายนั้น เรื่องนี้จะต้องมีการพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ใจ เพราะทักษิณซื้อทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า กลุ่มคนที่ตนเองไปซื้อที่ต่อมานั้นเล่นแร่แปรธาตุอย่างไร

“จะชดเชยความเสียหายก็ต้องไปฟ้องคนที่แร่แปรธาตุเอามาขาย ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐจะเอาเงินไปเยียวยา แต่ต้องไปไล่ฟ้องที่มาของต้นตอปัญหา คนทำผิดต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่เอาเงินของรัฐไปจ่าย ในส่วนของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติตามกฎหมายเป็นผู้ที่ดูแลทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศควรจะต้องออกมาส่งเสียงหากจะกลัวทักษิณเช่นนี้บ้านเมืองไปไม่รอด ถ้าหากมัวแต่กลัวคนไม่ชอบธรรมมีอำนาจ ถึงท่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้มันอยู่กันยาก” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ


ส่วน นายสมชาย แสวงการ” อดีต สว.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีแนวทางเยียวยา ใน3ประเด็น ดังนี้

1.ตามกฎหมาย คำพิพากษา ความเห็นที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา

ที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตั้งแต่วันที่นางเนื่อมถึงแก่กรรม โดยวัดธรรมมิการามได้หาประโยชน์ให้เช่าทำนาต่อเนื่องมา ไม่ได้มีการคัดค้านการรับมรดกที่ดินดังกล่าว ดังนั้นการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน 924 ไร่ที่นางเนื่อมทำพินัยกรรมมอบให้วัดเพื่อใช้หาประโยชน์ในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนขาย เพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟอัลไพน์ จึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น

ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2497 ระบุว่าที่ธรณีสงฆ์นั้น แม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ตามกฎหมายท ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7 ระบุไว้ ว่า ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกทรงปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้” และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546 เจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา

“แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย เมื่อมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” นายสมชาย ระบุ

2.แนวทางเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ซื้อบ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟให้เช่าได้หรือไม่ 

เมื่อกรมที่ดินดำเนินการให้ที่ดินคืนเป็นของวัดธรรมมิการามและตกเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว วัดสามารถหารายได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยการทำสัญญาให้เช่าที่ดินแก่ชาวบ้านหมู่บ้านราชธานีที่ได้รับผลกระทบเพื่ออยู่อาศัย ย่อมทำได้อย่างถูกกฎหมาย ตามมติมหาเถรสมาคม ส่วนการพิจารณาให้ เช่าเพื่อทำสนามกอล์ฟต่อไปได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่วัดธรรมิการามวรวิหาร สำนักพุทธศาสนา ที่ต้องเป็นไปตามมติมหาเถระสมาคมเรื่องการให้เช่าที่ดินของวัดต่างๆ ด้วย

“ผู้เกี่ยวข้องอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า การให้เช่าที่ดินเพื่อทำสนามกอล์ฟ เป็นสถานที่เพื่อการกีฬา สถานที่เพื่อความสนุกสนานบันเทิงหรือเข้าข่ายเล่นพนัน เป็นอบายมุขหรือไม่ หรือเป็นกิจต้องห้ามของพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ ดังนั้น การให้เช่าที่ดินวัดทำสนามกอล์ฟต่อ จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง” นายสมชาย ระบุ

3.ตั้งงบประมาณรัฐชดเชยเยียวยา7,700ล้าน ได้หรือไม่ 

เป็นเรื่องที่นายกฯ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นเรื่องที่ประชาชนผู้เสียหายที่เป็นผู้ซื้อโดยสุจริต ต้องเป็นผู้ฟ้องไล่เบี้ยจากผู้ขายที่ดินเดิมหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ห้ามสิทธิที่จะฟ้องฟ้องกรมที่ดินที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐคือกรมที่ดินจะต้องให้อัยการสู้คดีอย่างเต็มที่พิสูจน์ว่า ขบวนการซื้อขายที่ดินนั้นไม่สุจริต เจ้าหน้าที่รัฐทำตามกฎหมาย และหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จ่ายเยียวยา ก็จะเป็นความรับผิดเฉพาะส่วน

“หลักสำคัญต้องพิจารณาว่า การซื้อขายนั้นสุจริตและสำคัญผิดหรือไม่ นายกฯ ต้องระมัดระวังในเรื่องอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือฝ่าฝืนผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประมวลจริยธรรมนักการเมือง ด้วยเหตุที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารบริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ แม้จะมีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นให้กับครอบครัวหลังเป็นนายกฯแล้วก็ตาม”นายสมชาย ระบุ

ขณะที่ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีแนวคำวินิจฉัยมาตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือ ที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำตามที่เจ้าของมรดกกำหนด เมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องตกแก่วัด ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบว่า มีการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว ต้องเสียเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริต ต้องไปดูว่าคำสั่งทางปกครองออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ

นายปกรณ์กล่าวถึงงบประมาณที่จะนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ว่า ยังไม่ทราบว่าจะนำมาจากส่วนใด แต่หากจำเป็นจะต้องแก้ไขเยียวยาก็สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้ อย่างไรก็ดี คงต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมที่ดินมาแนะนำว่า จะหาทางแก้อย่างไร

“ปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่า ถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสียและหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากัน ในทางกฎหมายมีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน”นายปกรณ์กล่าว

ฟังความจากผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็พอจะสรุปได้ว่า เรื่องนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะสังคมกำลังเฝ้าจับตาว่า กรมที่ดินจะดำเนินการอย่างไร ยิ่งในยุคที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้การกำกับของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ผู้นำคนสำคัญกำลังเผชิญปัญหา “ที่ดินเขากระโดง” ด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่า จบแบบไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น