xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คดีแตงโม” ยุติธรรม(อำพราง)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีคำถามเกิดขึ้นมากมายสำหรับความพยายามใน “รื้อคดีการเสียชีวิตของแตงโม” นางสาวนิดา พัชระวีรพงษ์ ว่า สุดท้ายแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร เพราะเห็นได้ชัดว่า มีอะไรบางอย่างคอยขัดขวางจนเป็นที่ผิดสังเกต

แน่นอน แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง โดยเฉพาะหลังจากที่ “นายยุทธนา แพรดำ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตน้องแตงโมที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยและมีเงื่อนงำ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

นั่นแสดงให้เห็นว่าหนังสือข้อร้องเรียนนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์และคณะ รวมถึงการจำลองสถานการณ์การทดสอบการปัสสาวะและการตกเรือนั้น ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ใช่เรื่องบันเทิงการละครดังที่มีคนบางกลุ่มพยายามด้อยค่า

อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “คดีหลัก” ของแตงโมนั้น เป็นคดีที่ดำเนินการฟ้องโดย “นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน” ผู้เป็นแม่และอัยการ ซึ่งข้อหาหลักก็คือกระทำการอันประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ดังนั้น ถ้าจะรื้อฟื้นจึงถือเป็น “ทางตรงที่สุด” แต่ความยากอยู่ตรงที่ผู้ที่จะสั่งให้รื้อคดีมีเพียงคนเดียวเท่านั้น “อัยการสูงสุด”

คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษา “จำเลย” ไปแล้ว 3 คน คือ “ปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และ โรเบิร์ต-ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์” โดนทั้ง 3 คนให้การรับสารภาพทุกข้อหา

ส่วนอีก 3 คนคือ “แซน-วิศาพัช มโนมัยรัตน์ จ๊อบ-นิทัศน์ กีรติสุทธิสาธรและกระติก-อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์” นั้น ศาลจังหวัดนนทบุรีจะไต่สวนพยานจำเลย 2 ปากสุดท้ายในวันที่ 29 มกราคม 2568 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษา

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขสำคัญในการ “รื้อฟื้นคดีอาญา” ก็คือ 1.จะต้องเป็นคดีอันที่สุดแล้วเท่านั้น และ 2.จะต้องมีพยานบุคคล หรือพยานหลักฐาน หรือพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง

คดีที่สิ้นสุดไปแล้วคือ คดีปอและโรเบิร์ตดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนคดีของ “แซน กระติกและจ๊อบ” นั้นยังไม่ถึงที่สุด หากไม่สามารถแก้ไขข้อหาได้ ก็ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน จึงจะรื้อฟื้นได้ ซึ่งในประเด็นการแก้ไขข้อหานั้น นายอัจฉริยะได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ


ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการที่ “กลุ่มนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาการการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต นายณวัฒน์ อิสรไกรศีลและคณะ ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชระวีรพงษ์ มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัยมีเหตุให้เชื่อได้ว่า อาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลงหรือไม่
คดีนี้เป็นผลมาจากการ “คดีย่อย” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 21 คนซึ่งเป็นผู้ทำคดีแตงโม ฟ้องหมิ่นประมาทนายอัจฉริยะ และศาลตัดสิน “ยกฟ้อง”

ในคำตัดสิน ศาลใช้คำว่า “แม้ผู้เสียหายทั้ง 21 คน จะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเพียงใด แต่พยานหลักฐานต่างๆ ของผู้ตายล้วนมีพิรุธ เงื่อนงำ ดังนั้นพฤติกรรมต่างๆ อาจจะทำให้นายอัจฉริยะเชื่อโดยสุจริตว่าผู้ตายถูกฆาตกรรม” อันทำให้นายอัจฉริยะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นกระบวนการ “ทางอ้อม”

จากนั้นจึงนำไปสู่การจำลองเหตุการณ์การเสียชีวิตของแตงโม รวมทั้งรวบรวมหลักฐานอื่นๆ เพื่อนำไปมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตน้องแตงโมที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยและมีเงื่อนงำ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนคดีโดยมีกฎหมายรองรับ มีอำนาจเรียกพยานและหลักฐานได้เพื่อประโยชน์ในการสืบคดี

“พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า เป็นการอนุมัติให้มีการสืบสวนเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเบื้องต้นเพื่อที่จะทราบรายละเอียดว่าคำร้องที่ร้องขอมามีเนื้อหาอย่างไรมีข้อเท็จจริงอย่างไร ถ้าทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้ว ถ้าเป็นบุคคลเดิมที่มีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาแล้ว ก็มีเงื่อนไขของกฎหมายว่าสามารถทำได้แค่ไหน ถ้าเป็นบุคคลใหม่เป็นตัวละครใหม่ที่มีการกล่าวหาขึ้นก็ต้องดูว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการกล่าวหา ไม่ต้องนำเข้าคณะกรรมการคดีพิเศษ

สำหรับระยะเวลาสืบสวนกฎหมายกำหนดให้เวลาไว้สูงสุด 6 เดือน แต่ก็สามารถขยายเวลาได้ โดยมีการนัดประชุมคดีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ดีเอสไอจะอนุมัติให้การสืบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตน้องแตงโมที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยและมีเงื่อนงำ “พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งเเวดล้อม ในฐานะหัวหน้าทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีการเสียชีวิตของแตงโม ได้เรียก “นายเอกราช นามโภคิน” โปรแกรมเมอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และวิเคราะห์ระบบ GPS เข้าพบเพื่อวิเคราะห์แผนที่ของเรือสปีดโบ๊ตวันเกิดเหตุ ประกอบสำนวนคดี

พ.ต.ต.ณฐพลเปิดเผยว่า ในส่วนของดีเอสไอเองก็มีระบบเเผนที่ “DSI Crime Map” เพื่อทดสอบเส้นทางการเดินเรือ รวมทั้งตรวจสอบกับข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อมวลชนและภาพถ่ายต่างๆ ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อสรุปข้อเท็จจริงในสำนวน

สำหรับระบบ DSI Crime Map นั้นจะมีข้อมูลการเดินเรือทั้งความเร็วในแต่ละช่วง ความลึกของเรือ ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิค โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญทาง GPS , เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือและระบบแผนที่ มาร่วมประชุมด้วย

ด้านนายเอกราชกล่าวว่า มาพบดีเอสไอเป็นครั้งที่ 2 เพราะครั้งแรกมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งพบข้อพิรุธ GPS ที่วิเคราะห์และรวบรวมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมนำข้อมูลมาให้ดีเอสไอเพื่อใช้โปรแกรมของดีเอสไอวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยตนเองไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เห็นข้อพิรุธ 20-30 จุดดังกล่าว แต่ดีเอสไอก็พบเช่นกัน

ทั้งนี้ ถ้าโฟกัสจริงๆ จะพบประมาณ 7-8 จุด ส่วนที่เหลือจะนำมาประกอบส่วนที่สงสัยให้มีน้ำหนัก เช่น วัดค้างคาว เพราะจุดนี้มีคำถามว่าใครเป็นคนขับเรือและขับมาทำไม ซึ่งยังมีพิรุธอีกว่าจากการให้สัมภาษณ์คนบนเรือไม่สอดคล้องกับตำแหน่งรูปถ่าย 2-3 รูป และกล้องวงจรปิดเวลามีการเปลี่ยนไปด้วย ยืนยันว่า GPS ไม่ได้ถูกแก้ไขแต่สิ่งที่มาประกอบกับ GPS มีการแก้ไขและไม่ตรงกัน

สำหรับ GPS ของตนกับดีเอสไอแตกต่างกันแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ไฟล์ Raw Data หรือไฟล์ดิบที่ดึงมาจาก GPS บนเรือลำเกิดเหตุ ซึ่งเป็นไฟล์เดียวกันที่ส่งให้กับทางตำรวจ เราก็ได้ชุดนั้นมาเพราะ นายอัจฉริยะ เป็นคนขอมาในคดีหมิ่นประมาท และของดีเอสไอก็เป็นชุดเดียวกัน ส่วนที่แตกต่างกันเป็นซอฟต์แวร์ที่จะนำข้อมูลมาใส่ดูว่าเส้นทางเดินเรือไปทางไหนอย่างไร ดังนั้น ซอฟต์แวร์ดีเอสไอจะดูข้อมูลได้ลึกกว่านั้น หากนำมาประกอบกับทั้งหมดจะได้ข้อเท็จจริงแบบ 100% แบบที่ไม่ต้องมาโต้แย้งกันว่าอันไหนถูกอันไหนผิด

“ซอฟต์แวร์ของผมจะเน้นการดูเวลา สถานที่ ความลึกเรือ ส่วนของดีเอสไอจะเน้นการดูภูมิประเทศที่ได้มากกว่านั้น อาจเป็นจุดที่ลึกกว่า แต่เราโฟกัสที่ตำแหน่งกับเวลาเป็นหลัก โดยโฟกัสตั้งแต่ต้นยันจบ คือ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จนถึง 03.03 น. ณ วันเกิดเหตุ แต่ในตอนแถลงข่าวเหมือนจะสิ้นสุดแค่ตอนเอาเรือไปเก็บประมาณเวลา 01.00 น. แต่เมื่อเราได้ข้อมูลจริงมาจึงเห็นว่ามันมีการเดินเรือหลังเวลา 01.00 น. ไปยังสถานที่แห่งหนึ่งด้วยความเร็วเรือ 38 นอต แล้วก็ยังไปที่วัดศาลาลี วัดค้างคาวอีก 1 ชม. ก่อนจะเอาเรือเข้าเก็บ แล้วสิ้นสุดการเดินเรือ ดังนั้น มันน่าสงสัยตั้งแต่มีการให้ข่าวว่าหลังจากเก็บเรือไปแล้ว ไม่มีใครเอาเรือออกมาอีกเลย มันผิดสังเกต เราเลยอยากรู้ว่ามันมีอะไรหลังจากนั้นหรือไม่”นายเอกราชให้ข้อมูล

ด้าน “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” กล่าวถึงความสำคัญดังกล่าวว่า ถ้าผลสอบสวนออกมาโดยปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รัฐ คนบนเรือ หรือคนนอกเรือ ร่วมกันกระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในกระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโม บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลงแล้ว และ “คณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.)” มีมติเสียงเกิน 2 ใน 3 เห็นด้วย ก็จะมีผลตามมาในทางคดี โดยมีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือ

แนวทางที่หนึ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นำผู้กระทำความผิดและความเกี่ยวข้องทั้งหมดมาลงโทษ

แนวทางที่สอง ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อรื้อฟื้นคดีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526

ส่วนผลลัพธ์จะลงเอยอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระหว่างที่มีความพยายามที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับแตงโม ก็เกิดเหตุการณ์อัน “ไม่ปกติ” อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ด้วยกัน

ความไม่ปกติประการแรก ก็คือ การที่ “นายซูควาเนียน ไฮเดอร์ราจา” หรือ “บังแจ็ค” ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือของแตงโมอยู่ในครอบครองถูกตีที่หัวและแย่งโทรศัพท์มือถือไป พร้อมกับเงิน 800-900 เหรียญสหรัฐฯ

“บังแจ็ค” บอกว่า ผู้ก่อเหตุมากัน 2 คน ตอนตีหัวล้มบังแจ็คได้ยินคนหนึ่งพูดกับอีกคนว่า “ไปเอาโทรศัพท์มันมา” และไม่เอาเครื่องอื่น ซึ่งบังแจ็คมีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Samsung ด้วย แต่ผู้ก่อเหตุยืนยันว่าจะเอา iPhone 13 ซึ่งเป็นโทรศัพท์ iPhone รุ่นเก่าที่คาดว่าเชื่อมกับคดีแตงโม นิดา

ทั้งนี้ บังแจ๊คยืนยันว่า โทรศัพท์ของแตงโมอยู่ในที่ที่ปลอดภัย พร้อมกับฝากถึงนพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์, อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ให้ระวังตัวด้วยอย่าประมาท

ความไม่ปกติอย่างที่สองคือ ความเคลื่อนไหวของ “นายพรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ หรือทนายตุ๋ย” ที่ว่าความให้กับ นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน หนึ่งในจำเลยร่วมในคดีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา โพสต์ข้อความระบุว่า จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาการละเมิดอำนาจศาลจากกรณีการจำลองคดีแตงโม เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสืบพยาน โดยนัดสืบพยานสุดท้ายวันที่ 29 มกราคม ก่อนจะพิจารณาคดีในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ทนายตุ๋ยระบุชัดว่า บุคคลที่เข้าข่ายความผิดในครั้งนี้ เริ่มจากกลุ่มพยานผู้เชี่ยวชาญก่อน จากนั้นจะเป็นทีมงานที่จัดจำลองเหตุการณ์ รวมถึงจะยื่นให้ศาลพิจารณาการละเมิดอำนาจศาลของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ เพจดัง รวมถึงผู้ประกาศข่าว และผู้รายงานข่าวด้วย

“งานนี้มีคนติดคุกแน่”ทนายตุ๋ยว่าไว้อย่างนั้น

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การที่สองพี่น้องอาสากู้ภัยคนดัง “เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ และบิณฑ์ บันลือฤทธิ์” ให้สัมภาษณ์อย่างที่ไม่อาจมองข้ามได้เกี่ยวกับ “บาดแผลของแตงโม”

เพราะที่ต้องไม่ลืมคือเอกพันธ์คือคนที่พบศพแตงโมคนแรก

เอกพันธ์บอกว่า “ตอนที่ผมเห็นบาดแผลเราคิดว่ามันไม่ใช่ใบพัดเรือแน่นอน เลยบอกพี่ๆ น้องๆ นักข่าวไปว่าสิ่งที่ผมเห็นแผลยาวประมาณหนึ่งคืบ และลึกมาก ตรงโคนขาด้านในข้างขวา ก็เลยต้องเล่นประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เลยทำให้เรื่องไม่จบ ต้องมีการพิสูจน์กันจนปัจจุบันนี้”

ที่เด็ดก็คือ เอกพันธ์เปิดเผยด้วยว่า “ขนาดผมจะเอาน้องไปไปส่งที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต คือต้องในพื้นที่ แต่อยู่ๆ มีโทรศัพท์มา ยศใหญ่เลยแหละ คุณไทด์ครับขอให้เอาน้องแตงโมไปโรงพยาบาลตำรวจ ผมเถียง ร้อยเวรให้มาที่นี่นะ ผมจะถึงแล้ว คือกลับรถตอนนี้เลยครับ คุณฟังผมคนเดียวครับ”

ขณะที่ “บิณฑ์” เสริมว่า “เอกพันธ์เขาอยู่ในเหตุการณ์ตลอด เขาไปเจอมาแล้วเขาก็ส่งให้ผมเห็นภาพ พอผมเห็น เห้ย! ผมบอกคำเดียวไม่ใช่อุบัติเหตุแล้ว ไม่ใช่แล้วต้องมีอะไรสักอย่าง คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่าไม่น่าใช่อุบัติเหตุ”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจาก “ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา” นักอาชญาวิทยาด้านจิตวิทยาพฤติกรรม ม.มหิดล ที่เห็นว่ามีข้อพิรุธทางคดีเกิดขึ้นในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องบาดแผลขณะเรือวิ่งโดนใบพัดเรือปั่น ศพจะเป็นชิ้นๆเหมือนฆ่าหั่นศพ และต้องอ้าขากว้างสุดถึงจะเกิดบาดแผลด้านในได้ ที่น่าตลกสุดๆ ทุกคนปฏิเสธไม่เห็น ‘แตงโม’ ตกเรือ ให้ ‘แซน’ เป็นคนเดียวที่เห็นเพื่อประโยชน์ของรูปคดี เป็นต้น

จากเหตุการณ์ สถานการณ์ ตลอดรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับ “คดีแตงโม” ที่ถูกเปิดเผยออกมา จนนำไปสู่การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตน้องแตงโมที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยและมีเงื่อนงำนั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพิสูจน์ความจริงว่า ความยุติธรรมดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือเป็นความยุติธรรมที่มีการ “อำพราง” ไว้

อีกไม่นานคงรู้กัน เพราะ “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว”





กำลังโหลดความคิดเห็น