คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอการอธิบายการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ค.ศ. 1680 ในรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละย่างก้าวและขั้นตอนที่นำไปสู่การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน
นโยบาย “การเวนคืนครั้งใหญ่” (the Great Reduction) ในปี ค.ศ. 1680 ทำให้อภิชนเจ้าที่ดินดั้งเดิม (ancient landed nobility) ต้องสูญเสียฐานอำนาจจากการที่ส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ยึดคืนที่ดินที่เคยพระราชทานให้แก่พวกอภิชนคืน หรือที่เรียกว่า “fiefs”หรือ “ศักดินา”
สำหรับการเวนคืนศักดินานี้ ได้เริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสามจนกระทั่งถึงนโยบายการเวนคืนครั้งใหญ่ ค.ศ. 1680 การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเวนคืนนี้เพื่อลดทอนอำนาจของตระกูลอภิชนที่ยิ่งใหญ่ และนำทรัพย์สินที่เวนคืนไปใช้ชำระหนี้สินของรัฐ
ก่อนหน้านี้ ในรัชสมัยของ พระเจ้าชาร์ลส กุสตาฟที่สิบ (Charles X Gustav) ในปี ค.ศ. 1655 มีการริเริ่มการเวนคืนที่หนึ่งในสี่ส่วนของที่ดินพระราชทานศักดินา (donations) ที่เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1632 แต่การเกิด สงครามทางเหนือครั้งที่สอง (the Second Northern War) ทำให้ไม่สามารถเวนคืนได้
แต่หลังจากที่ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ได้ทรงบรรลุพระชันษาในปี ค.ศ. 1672 ได้มีการเริ่มนำนโยบายเวนคืนมาปฏิบัติและพยายามทำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การคลังของประเทศได้งบดุล ขณะเดียวกัน ไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ได้จากการเวนคืนครั้งใหญ่นั้นเป็นจำนวนเท่าไร แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด สามารถประมาณมูลค่าการเวนคือได้ในราว 1,950,000 ดาเลอร์
ในทางการคลัง การเวนคืนในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพิ่มพูนอย่างยิ่ง ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่เพิ่มพูนขึ้นมากมายนี้ได้ถูกใช้ไปในการพัฒนาองค์กรทางการคลังและการปกครองของแผ่นดินให้เข้มแข็งและสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน การเวนคืนยังช่วยพัฒนาสถานะของฐานันดรชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินด้วย โดยเฉพาะการขายที่ดินศักดินาที่ได้จากการเวนคืน (recovered fiefs) ให้แก่ชาวนาในรัชสมัยของ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสอง (Charles XII) ขณะเดียวกัน มีการอ้างว่า การเวนคืนได้ช่วยรักษาความเป็นอิสระของฐานันดรชาวนา แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวนี้
สำหรับพวกอภิชน การเวนคืนส่งผลกระทบต่อสถาะทางสังคมและทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วคน การลดทอนศักดินาที่ดินอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง การเวนคืนจึงลงเอยไม่เพียงแต่การเสียสภาพศักดินา แต่หมายถึงการยกเลิกการส่งต่อมรดกจากอดีต ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องของการเป็นเจ้าของที่ดินและความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจในหมู่ตระกูลอภิชน
ในทางการเมือง การเวนคืนหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะอำนาจการปกครองของพวกอภิชน เพราะทำให้พวกอภิชนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินต้องสูญเสียฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นฐานให้พวกเขาสามารถยืนหยัดความเป็นอิสระและต่อรองกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ และพวกอภิชนดั้งเดิมนี้ก็เริ่มถูกแทนที่โดยอภิชนรุ่นใหม่ที่เข้ามารับราชการโดยรับเงินเดือนจากรัฐ ทำให้อภิชนที่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่นี้ต้องขึ้นกับรัฐ ไม่สามารถมีความเป็นอิสระได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างระหว่างฐานันดรและอภิสิทธิ์ต่างๆอยู่ เช่น ที่ดินของพวกอภิชนจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินของชาวนา
นโยบาย “การเวนคืน” (reduction) เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน เมื่อพิจารณาถึงฐานันดรต่างๆ ชาวนาซึ่งเป็นสามัญชนพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เหมือนพวกอภิชนที่ได้รับพระราชทานทรัพย์สินที่ดินจากพระมหากษัตริย์และคาดหวังที่จะได้ลดภาษี อภิชนมีปัญหาต้องขบคิดมาก เพราะมีการพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากให้แก่ตระกูลอภิชน
ส่วนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในระดับล่างลงมาก็ได้รับพระราชทานแต่ในปริมาณที่น้อยกว่า อีกทั้งอภิชนชั้นสูงยังจะต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาอีก นั่นคือ ไม่มีใครรู้ได้แน่นอนว่าทรัพย์สินใดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของพระมหากษัตริย์ที่พวกเขาได้รับสืบทอดมาจะถูกเวนคืนเมื่อไร ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของพวกอภิชนอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง และไม่เฉพาะแต่อภิชนที่ร่ำรวย แต่รวมถึงอภิชนที่ยากจนด้วย
ในอีกแง่หนึ่ง อภิชนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการรับใช้พระมหากษัตริย์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพ และคนเหล่านี้อาจจะคาดหวังว่าอนาคตการงานของพวกเขาจะดีขึ้นจากการเวนคืน นั่นคือ ได้รับเดือนประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่ก็เป็นเหตุผลที่อภิชนจำนวนมากจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับฐานันดรสามัญชนในที่ประชุมสภาฐานันดร ในการผลักดันให้มีการขยายขอบเขตของนโยบายการเวนคืน (reducktion) ออกไป
ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1680 ได้มีการยื่นข้อเสนอต่างๆที่ทำให้กระบวนการผลักดันนโยบายเวนคืนเริ่มต้นขึ้น โดยประธานสภาฐานันดรอภิชนได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฐานันดรอภิชน (Riddarhus) ถึงพื้นฐานของโครงการนโยบายการเวนคืนว่า “เราจะต้องคิดถึงแหล่งทุนที่จะทำให้ราชอาณาจักรอยู่ในสถานะที่ดูแลตัวเองได้อย่างพอเพียง และหาความมั่นคงจากภายในมากกว่าที่จะอาศัยทุนจากภายนอก”
ข้อความนี้ถือเป็นใจความสำคัญที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงต้องการที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงหลังปี ค.ศ. 1679 Hans Wachtmeister คนสนิทของพระองค์เป็นผู้คุมการอภิปรายในกรณีคณะตุลาการ (Tribunal) ที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินการทุจริตคอร์รัปชั่นของกลุ่มอภิชนที่ทำหน้าที่เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และยืนยันว่า การเวนคืนจะเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยฟื้นฟูความมั่งคั่ง และหลังจากนั้นก็จะมี “การเก็บภาษีเล็กน้อยที่จำเป็นต่อไปภายหลัง” ซึ่งต่อมา ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีการเวนคืนและเก็บภาษีเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ต่อมา คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นโดยสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1675 ได้ส่งผลรายงานที่ทำการศึกษาตรวจสอบไปยังคณะกรรมาธิการลับ ฐานันดรอื่นๆ ต่างเห็นด้วยโดยทันทีที่จะให้มีกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะตุลาการขึ้น อันทำให้เกิดการถกเถียงในสภาฐานันดรอภิชน (Riddarhus)
โดย Wachmeister -----ผู้ซึ่งพวกอภิชนให้ความสนใจรับฟังความเห็นของเขาเพราะรู้ว่าเขามีความใกล้ชิดพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด----ให้ความเห็นว่า หน้าที่ของคณะตุลาการคือการประเมินโทษของบุคคลที่พบว่ามีความผิด
แต่ P. Sparre ผู้นำของกลุ่มอภิชนชั้นสูงเห็นว่า ควรมีกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถแก้ต่างข้อกล่าวหาของตนได้ ทำให้เกิดการประท้วงเกิดขึ้น และผู้สนับสนุน P. Sparre ได้อ้างว่ามีการขู่และคุกคามบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมโดยจะมีการส่งชื่อผู้ประท้วงไปยัง Wachmeister และพระมหากษัตริย์
ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1680 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงส่งหนังสือไปยังฐานันดรต่างๆ แจ้งว่าพระองค์ได้ทรงอนุมัติให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการขึ้น และให้แต่ละฐานันดรแต่งตั้งสมาชิกของตนเข้าไปเป็นกรรมการในคณะตุลาการดังกล่าว
สภาพการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่ออภิชนจำนวนหนึ่งในฐานันดรอภิชน (Riddarhus) ส่วนอภิชนที่มีความเห็นพ้องกับสามัญชนส่วนใหญ่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการและทรงรับผิดชอบต่อการลงโทษตระกูลอภิชนที่ยิ่งใหญ่ๆบางตระกูลของสวีเดน แต่พระมหากษัตริย์ทรงต้องการที่จะให้ตัวแทนของชุมชนทั้งหมด---นั่นคือ ฐานันดรทั้งสี่---เข้ามามีส่วนในกระบวนการดังกล่าวนี้
ส่วน P. Sparre พยายามที่จะตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมขึ้นอีกครั้ง แต่ประธานสภาฐานันดรอภิชนยืนยันว่า สภาฐานันดรอภิชนไม่สามารถลงคะแนนเสียงอะไรอีกได้ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทรงตัดสินพระทัยไปแล้ว และได้ตอบต่อ Sparre ว่า “เราจะลงคะแนนเสียงในสิ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการแล้วได้อย่างไร”
ตรงจุดนี้เองที่เป็นนัยสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นของพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ของสวีเดน นั่นคือ พระบรมราชโองการที่ออกมาจากพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถถูกตั้งคำถามทักท้วงได้ ไม่ว่าจะโดยบุคคลใดหรือสถาบันทางการเมืองใดๆ จะเห็นได้ว่า การสถาปนาพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดในปี ค.ศ. 1680 ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังความรุนแรงในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและร่างรัฐธรมนูญใหม่ แต่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่นำไปสู่การเกิดเจตจำนงร่วมกันของทุกฝ่ายในการหาทางออกผ่านนโยบายการเวนคืนที่เริ่มต้นจากการยึดทรัพย์สินกลุ่มอภิชนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงที่ครองอำนาจในฐานะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังทรงพระเยาว์ และเจตจำนงร่วมที่ว่านี้ได้ยินยอมให้พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมายที่ตัดสินชี้ขาดสุดท้าย
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอการอธิบายการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ค.ศ. 1680 ในรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละย่างก้าวและขั้นตอนที่นำไปสู่การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน
นโยบาย “การเวนคืนครั้งใหญ่” (the Great Reduction) ในปี ค.ศ. 1680 ทำให้อภิชนเจ้าที่ดินดั้งเดิม (ancient landed nobility) ต้องสูญเสียฐานอำนาจจากการที่ส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ยึดคืนที่ดินที่เคยพระราชทานให้แก่พวกอภิชนคืน หรือที่เรียกว่า “fiefs”หรือ “ศักดินา”
สำหรับการเวนคืนศักดินานี้ ได้เริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสามจนกระทั่งถึงนโยบายการเวนคืนครั้งใหญ่ ค.ศ. 1680 การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเวนคืนนี้เพื่อลดทอนอำนาจของตระกูลอภิชนที่ยิ่งใหญ่ และนำทรัพย์สินที่เวนคืนไปใช้ชำระหนี้สินของรัฐ
ก่อนหน้านี้ ในรัชสมัยของ พระเจ้าชาร์ลส กุสตาฟที่สิบ (Charles X Gustav) ในปี ค.ศ. 1655 มีการริเริ่มการเวนคืนที่หนึ่งในสี่ส่วนของที่ดินพระราชทานศักดินา (donations) ที่เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1632 แต่การเกิด สงครามทางเหนือครั้งที่สอง (the Second Northern War) ทำให้ไม่สามารถเวนคืนได้
แต่หลังจากที่ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ได้ทรงบรรลุพระชันษาในปี ค.ศ. 1672 ได้มีการเริ่มนำนโยบายเวนคืนมาปฏิบัติและพยายามทำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การคลังของประเทศได้งบดุล ขณะเดียวกัน ไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ได้จากการเวนคืนครั้งใหญ่นั้นเป็นจำนวนเท่าไร แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด สามารถประมาณมูลค่าการเวนคือได้ในราว 1,950,000 ดาเลอร์
ในทางการคลัง การเวนคืนในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพิ่มพูนอย่างยิ่ง ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่เพิ่มพูนขึ้นมากมายนี้ได้ถูกใช้ไปในการพัฒนาองค์กรทางการคลังและการปกครองของแผ่นดินให้เข้มแข็งและสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน การเวนคืนยังช่วยพัฒนาสถานะของฐานันดรชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินด้วย โดยเฉพาะการขายที่ดินศักดินาที่ได้จากการเวนคืน (recovered fiefs) ให้แก่ชาวนาในรัชสมัยของ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสอง (Charles XII) ขณะเดียวกัน มีการอ้างว่า การเวนคืนได้ช่วยรักษาความเป็นอิสระของฐานันดรชาวนา แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวนี้
สำหรับพวกอภิชน การเวนคืนส่งผลกระทบต่อสถาะทางสังคมและทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วคน การลดทอนศักดินาที่ดินอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง การเวนคืนจึงลงเอยไม่เพียงแต่การเสียสภาพศักดินา แต่หมายถึงการยกเลิกการส่งต่อมรดกจากอดีต ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องของการเป็นเจ้าของที่ดินและความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจในหมู่ตระกูลอภิชน
ในทางการเมือง การเวนคืนหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะอำนาจการปกครองของพวกอภิชน เพราะทำให้พวกอภิชนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินต้องสูญเสียฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นฐานให้พวกเขาสามารถยืนหยัดความเป็นอิสระและต่อรองกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ และพวกอภิชนดั้งเดิมนี้ก็เริ่มถูกแทนที่โดยอภิชนรุ่นใหม่ที่เข้ามารับราชการโดยรับเงินเดือนจากรัฐ ทำให้อภิชนที่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่นี้ต้องขึ้นกับรัฐ ไม่สามารถมีความเป็นอิสระได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างระหว่างฐานันดรและอภิสิทธิ์ต่างๆอยู่ เช่น ที่ดินของพวกอภิชนจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินของชาวนา
นโยบาย “การเวนคืน” (reduction) เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน เมื่อพิจารณาถึงฐานันดรต่างๆ ชาวนาซึ่งเป็นสามัญชนพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เหมือนพวกอภิชนที่ได้รับพระราชทานทรัพย์สินที่ดินจากพระมหากษัตริย์และคาดหวังที่จะได้ลดภาษี อภิชนมีปัญหาต้องขบคิดมาก เพราะมีการพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากให้แก่ตระกูลอภิชน
ส่วนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในระดับล่างลงมาก็ได้รับพระราชทานแต่ในปริมาณที่น้อยกว่า อีกทั้งอภิชนชั้นสูงยังจะต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาอีก นั่นคือ ไม่มีใครรู้ได้แน่นอนว่าทรัพย์สินใดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของพระมหากษัตริย์ที่พวกเขาได้รับสืบทอดมาจะถูกเวนคืนเมื่อไร ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของพวกอภิชนอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง และไม่เฉพาะแต่อภิชนที่ร่ำรวย แต่รวมถึงอภิชนที่ยากจนด้วย
ในอีกแง่หนึ่ง อภิชนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการรับใช้พระมหากษัตริย์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพ และคนเหล่านี้อาจจะคาดหวังว่าอนาคตการงานของพวกเขาจะดีขึ้นจากการเวนคืน นั่นคือ ได้รับเดือนประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่ก็เป็นเหตุผลที่อภิชนจำนวนมากจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับฐานันดรสามัญชนในที่ประชุมสภาฐานันดร ในการผลักดันให้มีการขยายขอบเขตของนโยบายการเวนคืน (reducktion) ออกไป
ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1680 ได้มีการยื่นข้อเสนอต่างๆที่ทำให้กระบวนการผลักดันนโยบายเวนคืนเริ่มต้นขึ้น โดยประธานสภาฐานันดรอภิชนได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฐานันดรอภิชน (Riddarhus) ถึงพื้นฐานของโครงการนโยบายการเวนคืนว่า “เราจะต้องคิดถึงแหล่งทุนที่จะทำให้ราชอาณาจักรอยู่ในสถานะที่ดูแลตัวเองได้อย่างพอเพียง และหาความมั่นคงจากภายในมากกว่าที่จะอาศัยทุนจากภายนอก”
ข้อความนี้ถือเป็นใจความสำคัญที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงต้องการที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงหลังปี ค.ศ. 1679 Hans Wachtmeister คนสนิทของพระองค์เป็นผู้คุมการอภิปรายในกรณีคณะตุลาการ (Tribunal) ที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินการทุจริตคอร์รัปชั่นของกลุ่มอภิชนที่ทำหน้าที่เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และยืนยันว่า การเวนคืนจะเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยฟื้นฟูความมั่งคั่ง และหลังจากนั้นก็จะมี “การเก็บภาษีเล็กน้อยที่จำเป็นต่อไปภายหลัง” ซึ่งต่อมา ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีการเวนคืนและเก็บภาษีเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ต่อมา คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นโดยสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1675 ได้ส่งผลรายงานที่ทำการศึกษาตรวจสอบไปยังคณะกรรมาธิการลับ ฐานันดรอื่นๆ ต่างเห็นด้วยโดยทันทีที่จะให้มีกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะตุลาการขึ้น อันทำให้เกิดการถกเถียงในสภาฐานันดรอภิชน (Riddarhus)
โดย Wachmeister -----ผู้ซึ่งพวกอภิชนให้ความสนใจรับฟังความเห็นของเขาเพราะรู้ว่าเขามีความใกล้ชิดพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด----ให้ความเห็นว่า หน้าที่ของคณะตุลาการคือการประเมินโทษของบุคคลที่พบว่ามีความผิด
แต่ P. Sparre ผู้นำของกลุ่มอภิชนชั้นสูงเห็นว่า ควรมีกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถแก้ต่างข้อกล่าวหาของตนได้ ทำให้เกิดการประท้วงเกิดขึ้น และผู้สนับสนุน P. Sparre ได้อ้างว่ามีการขู่และคุกคามบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมโดยจะมีการส่งชื่อผู้ประท้วงไปยัง Wachmeister และพระมหากษัตริย์
ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1680 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงส่งหนังสือไปยังฐานันดรต่างๆ แจ้งว่าพระองค์ได้ทรงอนุมัติให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการขึ้น และให้แต่ละฐานันดรแต่งตั้งสมาชิกของตนเข้าไปเป็นกรรมการในคณะตุลาการดังกล่าว
สภาพการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่ออภิชนจำนวนหนึ่งในฐานันดรอภิชน (Riddarhus) ส่วนอภิชนที่มีความเห็นพ้องกับสามัญชนส่วนใหญ่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการและทรงรับผิดชอบต่อการลงโทษตระกูลอภิชนที่ยิ่งใหญ่ๆบางตระกูลของสวีเดน แต่พระมหากษัตริย์ทรงต้องการที่จะให้ตัวแทนของชุมชนทั้งหมด---นั่นคือ ฐานันดรทั้งสี่---เข้ามามีส่วนในกระบวนการดังกล่าวนี้
ส่วน P. Sparre พยายามที่จะตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมขึ้นอีกครั้ง แต่ประธานสภาฐานันดรอภิชนยืนยันว่า สภาฐานันดรอภิชนไม่สามารถลงคะแนนเสียงอะไรอีกได้ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทรงตัดสินพระทัยไปแล้ว และได้ตอบต่อ Sparre ว่า “เราจะลงคะแนนเสียงในสิ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการแล้วได้อย่างไร”
ตรงจุดนี้เองที่เป็นนัยสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นของพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ของสวีเดน นั่นคือ พระบรมราชโองการที่ออกมาจากพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถถูกตั้งคำถามทักท้วงได้ ไม่ว่าจะโดยบุคคลใดหรือสถาบันทางการเมืองใดๆ จะเห็นได้ว่า การสถาปนาพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดในปี ค.ศ. 1680 ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังความรุนแรงในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองและร่างรัฐธรมนูญใหม่ แต่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่นำไปสู่การเกิดเจตจำนงร่วมกันของทุกฝ่ายในการหาทางออกผ่านนโยบายการเวนคืนที่เริ่มต้นจากการยึดทรัพย์สินกลุ่มอภิชนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงที่ครองอำนาจในฐานะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังทรงพระเยาว์ และเจตจำนงร่วมที่ว่านี้ได้ยินยอมให้พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมายที่ตัดสินชี้ขาดสุดท้าย