ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเทศไทยจมฝุ่นพิษเป็นวังวนไม่รู้จบสิ้น PM 2.5 ค่าเกินมาตรฐานหลายพื้นที่อยู่ในระดับ “สีแดง - สีส้ม” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ 2568 ย้ำเตือนความล้มเหลวไม่ว่าจะ กี่รัฐบาล กี่นายกฯ กี่ผู้ว่าฯ ก็ไม่สามารถจัดการปัญหา PM 2.5 ได้
เปิดศักราชปี 2568 มาได้ไม่นาน สถานการณ์ฝุ่นพิษก็สำแดงเดชให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากปัจจัยลบตั้งแต่สภาพอากาศปิด มลภาวะจากสภาพการจราจรและการก่อสร้าง ตลอดจนจุดความร้อน (hotspot) เพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยกระดับการควบคุม PM2.5 เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ประกาศปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. 103 แห่ง 23 -24 ม.ค 2568 โดยให้ทางโรงเรียนกำหนดจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Online, On Hand และจัดการเรียนชดเชยในภายหลังตามบริบทของแต่ละโรงเรียน, ประกาศขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนที่สะดวกทำงานที่บ้าน ร่วม WORK FROM HOME (WFH) ในวันจันทร์และอังคารที่ 20-24 ม.ค. 2568 และประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าในพื้นที่เขตควบคุมฝุ่น กทม. โดยเฉพาะรถบรรทุก 6 ข้อ ที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีสีเขียว ห้ามเข้าในเขตถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้น รถอีวี รถเอ็นจีวี รถยูโร 5-6 วันที่ 23 ม.ค. เวลา 00.01 น. - 23.59 น. ของวันที่ 24 ม.ค.2568 เป็นต้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังจากตรวจติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ล่าสุดใน กทม. พบว่ายังรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะวันที่ 23 - 24 ม.ค. 2568 โดยเฉพาะบริเวณ กทม. รอบนอก มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง ทั้งที่ ไม่มีการจราจรหนาแน่น ส่วนกรุงเทพฯชั้นในยังอยู่ในระดับสีส้ม
ทั้งนี้ มาตรการใดที่ กทม. สามารถดำเนินการได้ก็ทำเต็มที่ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในปีก่อน โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์จำแนกพบว่าช่วงฤดูหนาวฝุ่นที่สร้างปัญหามาจากการเผา เพราะพบก๊าซคาร์บอน ไม่ใช่ฝุ่นควันจากรถยนต์ ซึ่งจะปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกมา และไม่ใช่ฝุ่นควันจากการก่อสร้าง ซึ่งในส่วนข้อเสนอให้สั่งหยุดการทำงานไซต์ก่อสร้างในพื้นที่ กทม. เพื่อลดฝุ่น ที่ผ่านมาไม่เคยมีการสั่งปิดไซส์ก่อสร้าง เพียงแค่ออกหนังสือขอความร่วมมือเท่านั้น
สำหรับการรับมือของรัฐบาลต่อสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานในห้วงเวลาที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่มีการเผา สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ดำเนินมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า, เผาตอซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย ฯลฯ ประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ
กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำชับไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / ผู้ว่าราชการจังหวัด / และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมการป้องกันกรณีที่มีการลักลอบเผาและเกิดไฟไหม้ลุกลามในวงกว้างและเป็นต้นเหตุของ PM2.5
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ที่ผ่านการเผา ตลอดจนกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิด ตามแนวชายแดนต่างๆ อย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ มีข้อสั่งการไปยังส่วนราชการอื่นๆ ที่จะสามารถลด ค่า PM 2.5 ในภาคอื่นๆ ได้ อาทิ กระทรวงคมนาคม และ สตช. ดำเนินการตรวจสอบและห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิคอัพ / รถโดยสาร / รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำรวมทั้งรถขนส่งมวลชนของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้ง กำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM2.5 จากสถานที่ก่อสร้างรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้กับผู้ประกอบการซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง
กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการดำเนินแนวทางป้องกันมิให้เกิดการปล่อย PM2.5 ในโครงการก่อสร้างของรัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐนำไปกำหนดใน TOR ของการจ้างก่อสร้างต่อไป เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา และกระทรวงทรัพยากรฯ พัฒนา platform ฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับ hotspot และ ventilation โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ low cost sensors เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM2.5 อย่างบูรณาการ
และกระทรวงต่างประเทศ ให้ดำเนินการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อสั่งการนายกฯ ให้ทุกภาคส่วนบูรณการแก้ปัญหา PM 2.5 แต่บทสรุป ณ วันนี้ ค่า PM 2.5 ยังอยู่ในระดับเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง กระทั่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะกับตัว “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเกิดวิวาทะที่ตอบโต้กันอย่างดุเดือดระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ภายหลังผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรคือ “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ออกมาระบุว่า “ในขณะที่ท่านนายกรัฐมนตรีกำลังสูดอากาศดีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่างเต็มปอด ระหว่างเดินทางเชิญชวนนักลงทุนเพื่อหวังให้ปี 2568 เป็นปีแห่งโอกาสของประเทศ แต่คนไทยจำนวนหลายล้านคนก็กำลังหายใจรับอากาศพิษขั้นวิกฤตรุนแรงเข้าสู่ปอด”
เพียงไม่กี่ประโยคที่ออกมา ปรากฎว่าบรรดาคนในรัฐบาลและส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบโต้หัวหน้าพรรคประชาชน อย่าง “จิรายุ ห่วงทรัพย์” โฆษกรัฐบาล แย้งว่า “นายณัฐพงษ์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน รู้ทั้งรู้ว่านายกฯ เดินทางไปทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยในการประชุมสำคัญระดับโลก และยังใช้เวลาก่อนการประชุมเดินสายพบปะหารือกับนักธุรกิจระดับโลกเพื่อเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทย ก็ยังไม่วาย ผมจึงขอเรียกร้องให้นายณัฐพงษ์ต้องเรียนรู้ อยู่ให้ได้ว่าหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านที่มีคุณภาพและเป็นสุภาพบุรุษทางการเมืองเป็นอย่างไร”
เป็นสงครามวิวาทะที่มิได้เกิดประโยชน์อะไรกับชาติบ้านเมืองและการแก้ปัญหาฝุ่นนรกเลยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า PM2.5 นับเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีทุกปี ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนไทย รัฐบาลเคยมีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ทว่า นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สถานการณ์ก็มิได้ดีขึ้น แถมยังหนักหน่วงกว่าเดิมเสียอีก
ผลกระทบมาจากการเผาในที่โล่งก็ยังคงสามารถพบเห็นอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีน้ำยาที่จะจัดการได้แต่อย่างใด อันสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามิได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย พอเกิดปัญหาก็ตื่นตูมกันที พอสถานการณ์บรรเทา ทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนเดิม
ดังนั้น บทสรุปของเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า ประชาชนยังคงหายใจสูดเอาฝุ่นพิษเข้าไปในร่างกายต่อไป และวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ “สวมหน้ากากอนามัย” จากนั้นก็ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามยถากรรม ด้วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “จะกี่นายกฯ จะกี่รัฐบาล หรือกี่ผู้ว่าฯ กทม.” ก็ช่วยอะไรไม่ได้