xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชะตากรรม “EV” ยุค “ทรัมป์” ไม่ใยดี ทำลายล้าง “คู่แข่งเทสลา” ในสหรัฐฯ ตลาดไทยเตรียมรับมือเอฟเฟกต์ขั้นสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย ก็เป็นที่ชัดเจนว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 ไม่สนับสนุน “อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ทรัมป์ได้ “ยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหาร” ในยุคของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ลงนามในปี 2564 โดยรับประกันว่า ครึ่งหนึ่งของรถยนต์ใหม่ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในปี 2573 จะเป็นรถอีวี และได้รับเสียงสนับสนุนจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในสหรัฐฯ และต่างชาติ

ทรัมป์ระบุในคำสั่งฝ่ายบริหารว่า เขากำลังระงับการจัดสรรงบประมาณรัฐบาลที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายสำหรับการสร้าง “โครงข่ายสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้าวงเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์” พร้อมกับเรียกร้องให้ยกเลิกมอบสิทธิพิเศษแก่รัฐต่างๆ ที่ใช้กฎระเบียบยานยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2578

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ทรัมป์บอกว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณายุติ “โครงการเครดิตภาษีรถอีวี” เช่นกัน

ทรัมป์มีแผนสั่งการให้สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พิจารณาทบทวนกฎระเบียบต่าง ๆที่กำหนดกฎเกณฑ์การปล่อยมลพิษอย่างเข้มข้น ซึ่งบังคับให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต้องขายรถอีวีคิดเป็นสัดส่วน 30% ถึง 56% ภายในปี 2575 เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษของรัฐบาลกลาง เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์คู่ขนานต่างๆนานา ที่ออกโดยกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ

ทรัมป์ระบุในคำสั่งที่ออกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ว่า เขาหาทางยกเลิกสิทธิพิเศษที่ทางสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อนุมัติให้แก่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนธันวาคม ที่เปิดทางให้รัฐแห่งนี้ยุติการขายรถยนต์เชื้อเพลิงเบนซินล้วนภายในปี 2578 ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวถูกรัฐอื่นๆอีก 11 แห่ง นำไปใช้เช่นกัน

“สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ควรยุติโครงการมอบสิทธิพิเศษด้านการปล่อยมลพิษ เนื่องจากอีกด้านหนึ่งมันมีส่วนสำคัญในการจำกัดยอดขายยานยนต์พลังงานเบนซิน”ทรัมป์ว่าไว้อย่างนั้น

ในคำสั่ง ทรัมป์บอกว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณายกเลิกมาตรการอุดหนุนที่ไม่ยุติธรรม และแนวคิดที่ไม่ดีอื่นๆที่้รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อบิดเบือนตลาดและเอื้ออำนวยรถอีวีเหนือเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับซื้อโดยปริยาย

ทรัมป์อ้างว่าการยกเลิกมาตรการต่างๆ นานา จะช่วยส่งเสริม “ทางเลือกที่แท้จริงของผู้บริโภค” และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าผู้สนับสนุนใช้รถอีกวี และพวกนักสิ่งแวดล้อมมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นการถอยหลังลงคลอง ในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตามที

เป็นที่จับตาว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจผลักให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากพวกผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ในขณะที่พวกบริษัทที่ยังคงมุ่งผลิตเครื่องยนต์สันดาปอาจได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบที่ผ่อนคลายลง

ทรัมป์เคยบอกก่อนหน้านี้ เขาอาจดำเนินการอื่นๆ กับรถอีวี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการหาทางยกเลิกโครงการเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์อีวี

ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์เคยให้สัญญาระหว่างหาเสียงว่าจะส่งเสริมกำลังผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ แม้ว่ามันแตะระดับสูงสุดตลอดกาลอยู่แล้ว และกลับลำความคิดริเริ่มเกี่ยวกับพลังงานสะอาดของไบเดน ซึ่งในนั้นรวมถึงการอุดหนุนพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฮโดรเจน

ด้านเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า บรรดากลุ่มนักวิเคราะห์มองว่า กรณีดังกล่าวอาจทำให้กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ในสหรัฐฯ เสียเปรียบหากต้องลดขนาดโครงการยานยนต์ไฟฟ้าของตนเอง ขณะกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ในเอเชียและยุโรปเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่า ปัจจุบันยอดจำหน่ายยานยนต์ในจีนราวร้อยละ 50 เป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน และบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ของจีนอย่างบีวายดี (BYD) กำลังจำหน่ายยานยนต์ทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งดึงลูกค้าจากบริษัทยานยนต์เก่าแก่ รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตในสหรัฐฯ

เชย์ นาทาราจัน หุ้นส่วนของโมบิลิตี อิมแพค พาร์ทเนอร์ส (Mobility Impact Partners) บริษัทหลักทรัพย์เอกชนที่ลงทุนด้านการขนส่งที่ยั่งยืน มองว่าผลกระทบจากสภาวะนี้จะมีนัยสำคัญอย่างมาก กล่าวคือหากความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าลดลงเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ อย่างเยอรมนีหลังจากตัดลดสิ่งจูงใจ เหล่าผู้ผลิตยานยนต์อาจเผชิญภาวะโรงงานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มีต้นทุนสูง ซึ่งทำให้ดำเนินงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ


 หากยังจำได้ได้ ก่อนหน้านี้ในปี 2567  อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา หนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของทรัมป์และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กล่าวว่า การยกเลิกเงินอุดหนุนอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของเทสลาเล็กน้อย แต่จะ “ทำลายล้าง” คู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าอย่าง General Motors 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเป้าหมายของมัสก์ก็คือ การขอให้หน่วยงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHTSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยระดับรัฐบาลกลางหลัก ชะลอการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ของ Tesla ที่เรียกว่า ‘Autopilot’ และ ‘Full Self-Driving'

ที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของทรัมป์ที่จะผลักดันอีกด้วย ซึ่งหากกระทรวงคมนาคมสหรัฐออกกฎใหม่อนุญาตให้ยานยนต์ไม่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ควบคุมจริง จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออีลอน มัสก์ ด้วยกฎหมายรัฐบาลกลางที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยกีดขวางไม่ให้บริษัทต่าง ๆ สามารถผลิตรถที่ปราศจากพวงมาลัยหรือแป้นเหยียบในปริมาณมากได้

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย  “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นเอาไว้ว่า โรงงานของคนไทยที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจจะถูกเหมาโหล และถูกกีดกันการค้า หรือถูกขึ้นภาษีสูงตามไปด้วย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสินค้ายางล้อรถยนต์ และแผงโซลาร์เซลล์

 ทั้งนี้ สินค้าที่มีความเสี่ยงอาจถูกจับตามองเวลานี้คือ รถยนต์ EV ที่ค่ายรถยนต์จีนเข้ามาลงทุนในไทยหลายค่าย 



กำลังโหลดความคิดเห็น