ผูุ้จัดการสุดสัปดาห์ - “สังเกตไหมล่ะ”
นั่นคือคำกล่าวของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เมื่อถูกถามถึง “ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” ที่กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรง หลังอยู่ๆ ก็มีข้อมูลโผล่ออกมาว่า “ชาดา ไทยเศรษฐ์” เมื่อครั้งที่ดำรงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามเพิกถอนโฉนด “สนามกอล์ฟอัลไพน์” กลับไปเป็นที่ “ธรณีสงฆ์” ของ “วัดธรรมิการามวรวิหาร” ก่อนที่จะพ้นจากเก้าอี้เพียง 3 วัน
คำกล่าวสั้น ๆ ของนายกฯ อุ๊งอิงค์สะท้อนให้ถึงนัยซ่อนเร้นทางการเมือง ชนิดที่เรียกว่า “บันเทิง” กันตั้งแต่หัวปีทีเดียว ด้วยต้องไม่ลืมว่า ไม่เพียงแต่กรณี “อัลไพน์” เท่านั้น หากยังมี “ที่ดินเขากระโดง” อันเป็น 2 มหากาพย์ฮุบที่ดินซึ่งคาราคาซังมาเป็นเวลานาน
“ที่ดินเขากระโดง” จ.บุรีรัมย์ มีชื่อของ “ขาใหญ่” พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรง
ขณะที่อีกเรื่องกรณี “ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” ก็ถูกจุดพลุโดยพรรคภูมิใจไทย โดยผู้มีส่วนได้เสียเป็น “ตระกูลชินวัตร” เจ้าของปัจจุบัน หรือบางกระแสมองว่า อาจสะเทือนถึง “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร โดยตรงด้วยซ้ำ
ที่ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะหากเป็นเฉพาะเรื่องที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ที่ต้องติดตามผลตามคำพิพากษาศาล ก็ยังพอทำเนา เพราะมีการปูพรมถล่ม พรรคภูมิใจไทย ในเรื่องนี้มาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน อีกทั้งพรรคภูมิใจไทย ก็ยังดันมีโอกาสเข้าไปบริหาร 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างวาระ ทั้งกระทรวงคมนาคม ก่อนจะมาเป็นกระทรวงมหาดไทย ในตอนนี้ จนนับวันจะยิ่งปั่นป่วนชุลมุนจนยากจะสรุปยิ่งขึ้น จึงมีการติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่อง
แต่สำคัญที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งมีการเปิดประเด็นว่าเป็น “ที่ธรณีสงฆ์” หรือที่รู้จักกันในนาม “ที่ดินมรดกยายเนื่อม” เพื่อเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน โดยมีประเด็นถึง “นายกฯ อิ๊งค์” ที่เคยถือหุ้น บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด จะมีความผิดด้วยหรือไม่
ในกรณีหลังเพิ่งมีข่าวว่า “เฮียหลา” ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย เซ็นทิ้งทวนคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลับเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ตามที่ กรมที่ดิน เสนอ ก่อนพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2567 ไม่นาน
ก่อนที่ “พรพจน์ เพ็ญพาสน์” อธิบดีกรมที่ดิน จะออกมาปฏิเสธทันควันว่า นายชาดา ไม่ได้เซ็นเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์แต่อย่างใด เนื่องจากอำนาจในเรื่องนี้อยู่ที่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมที่ดิน (นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์) ส่วนกระแสข่าวที่ออกมา คาดว่า นายชาดา เพียงแค่ให้นโยบายไว้เท่านั้น
ทว่า ก็ยังไม่ทำให้สิ้นสงสัยกับท่าทีของ “รัฐมนตรีภูมิใจไทย” เพราะตัว “นายกฯ อิ๊งค์” ที่ถูกถามว่าทำไมกรณีที่ดินอัลไพน์ถึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันในตอนนี้อีก ทั้งๆ ที่เคยชี้แจงไปแล้ว “สังเกตไหมล่ะ” ซึ่งก็ตีความได้ว่าเรื่องนี้ “ไม่ปกติ”
ด้วยในรายงานข่าวของ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไม่เพียงแต่ระบุว่า “ชาดา” เซ็นคำสั่ง ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ก่อนพ้นตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในวันที่ 6 กันยายน 2567 เป็นบันทึกสั่งการให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการต่อ หลังพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า
1. เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า
ที่ดินตกเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องพิจารณาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ (ที่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ครั้งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และคดีถึงที่สุด) และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้คำสั่ง กรมที่ดิน กลับมามีผล
และ 2. ส่วนประเด็นการเสนอให้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ดำเนินการออกกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้แยกดำเนินการควบคู่ต่างหากจากการเพิกถอนคำสั่งตามข้อ 1.
เอาเข้าจริงคำสั่งทิ้งทวนที่ว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ชาดา” ลงนามคำสั่งที่เกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์ เพราะเดิมทีตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมช.มหาดไทย กำกับดูแล กรมที่ดิน ในรัฐบาลเศรษฐา 1 ก็เคยมีคำสั่งให้รื้อฟื้นกรณีที่ดินอัลไพน์มาหนหนึ่งแล้ว
คำสั่งครั้งแรกก็คล้ายคลึงกับคำสั่งล่าสุด เพราะผ่านไปหลายเดือนจึงค่อยๆ ปรากฎเป็นข่าว จนมีการมองกันว่า พรรคภูมิใจไทย เจตนาที่จะทิ่มหมัดค้ำคอ “แพทองธาร“ และตระกูลชินวัตร และชงเรื่องไว้แบบเงียบๆ เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองในรัฐบาลหรือไม่
โดยอาศัยที่มาที่ไปจากกรณีลูกบ้านโครงการอัลไพน์ 2 ได้ร้องขอให้ กระทรวงมหาดไทย เพิกถอนโฉนดที่ดินที่อยู่ในที่ธรณีสงฆ์ และจ่ายเงินเยียวยาแทน หลังเกิดปัญหาการทุจริตนาน 20 ปี แต่ไม่มีการเยียวยา เป็นที่มาของคำสั่งให้กรมที่ดินรายงานข้อมูลผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้รับโอนในลำดับต่อมาจนถึงปัจจุบันพร้อมประเมินค่าเสียหาย ทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์และราคาตลาด และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงมหาดไทยทราบเป็นประจำทุกเดือนเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม
ก่อนที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 กรมที่ดินจะมีหนังสือแจ้งให้ จ.ปทุมธานี จัดทำบัญชีรายชื่อ และที่อยู่ของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งให้บุคคลดังกล่าวไปใช้สิทธิทางศาล หากมีการเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่
น่าสนใจไม่น้อยว่า จากกระแสข่าวจะเห็นได้ว่า กระทรวงมหาดไทย ยุค “สิงห์น้ำเงิน” ขยับในเรื่องที่ดินอัลไพน์ ซึ่งตลอดเรื่องราวก็มีกรมที่ดิน เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ แต่ “อธิบดีกรมที่ดิน” กลับปฏิเสธถึงคำสั่ง “ชาดา” ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ทั้งยังด้อยค่าว่าเป็นเพียงนโยบายเท่านั้น ก่อนจะโยนให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่มีระดับที่ต่ำกว่ามีอำนาจในเรื่องนี้
และก็น่าแปลกใจอีกว่า คำสั่งหรือนโยบายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 เกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์นั้น จนป่านนี้ “อธิบดีกรมที่ดิน” ก็ยังไม่เห็นผ่านตา ขัดแย้งในตัวทั้งเรื่องห้วงเวลา และอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดิน ที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการสำคัญ
ยิ่งน่าสนใจกว่านั้นหากพิจารณาในแง่ห้วงเวลาช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ที่ “ชาดา” แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ใส่เกียร์เดินหน้าในเรื่องที่ดินอัลไพน์ ก็เป็นช่วงที่ “แพทองธาร”ได้รับมติเสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน แล้ว
โดยมีข้อมูลว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ “แพทองธาร” ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ร่วมกับ “พานทองแท้-พิณทองทา” พี่น้องร่วมสายเบือดที่ถือหุ้นคนละ 30% หรือจำนวน 22,410,000 หุ้น มูลค่าตามทุนจดทะเบียน 224.1 ล้านบาท
กระทั่งก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกฯ “ลูกอิ๊งค์” จะโอนหุ้นให้ “แม่อ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดาทั้งหมด โดยในทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 ระบุ มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 1.คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 7,470,000 หุ้น และ 22,410,000 หุ้น รวม 29,880,000 หุ้น (40%), 2.พานทองแท้ ชินวัตร 22,410,000 หุ้น ( 30%) และ 3.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 22,410,000 หุ้น (30%)
การที่ “ชาดา” แกนนำสำคัญของพรรคภูมิใจไทย หรือพูดให้ถูกว่า กระทรวงมหาดไทย ในกำกับของพรคคภูมิใจไทยขยับมาเล่นเรื่องที่ดินอัลไพน์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเกี่ยวพันกับ “นายกฯอิ๊งค์” และ “ตระกูลชินวัตร” จึฃมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า มีเจตนาแอบแฝง
แม้ว่าการได้มาซึ่งสนามกอล์ฟอัลไพน์ของตระกูลชินวัตร จะค่อนข้างห่างจากที่มาที่ไปที่ถูกศาลตัดสินว่ามีการทุจริตเอื้อเอกชน อันเป็นเหตุให้ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ถูกตัดสินจำคุก แต่หากมีการทวงคืนสิทธิในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์จริง ก็ย่อมสร้างความวุ่นวายให้กับตระกูลชินวัตรในฐานะเจ้าของไม่น้อย
แล้วอาจจะกลายเป็น “หัวเชื้อ” ให้ “นายกฯ อิ๊งค์” ถูกร้องผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย
ตรงนี้เองที่มองกันว่า หาก “เนวิน ชิดชอบ-อนุทิน ชาญวีรกูล” 2 หัวหอกพรรคภูมิใจไทย ที่รู้ทิศทางลมการเมืองเป็นที่สุด และยอมกราบกรานลงให้ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ดังภาพที่พยายามสร้างจริง ก็คงไม่ปล่อยให้มีการขยับเรื่องนี้แน่นอน
ไม่เพียงแต่ไม่หมกไว้ใต้พรมให้เรื่องเงียบตามสูตรการเมือง กลับซุกเป็น “ระเบิดเวลา” ไว้ก่อนจะเรื่องแดงออกมา
มองไม่ยากว่า ความเป็นไปของที่ดินอัลไพน์จะถูกหยิบยกมาเป็นข้อต่อรองทางการเมือง เพราะอีกด้าน “ค่ายสีน้ำเงิน” ก็สุ่มเสี่ยงจะเสียฐานที่มั่น “เขากระโดง” ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
อันเป็นทั้งที่ตั้งบ้านพัก สนามบอล สนามแข่งรถ และอื่นๆอีกมากมายของ “ตระกูลชิดชอบ” และรวมถึง “เสี่ยหนู-อนุทิน” ที่ย้ายสัมมะโนครัวไปเป็น “คนเขากระโดง” มาแล้วหลายปีด้วย
ตามข้อมูลว่ามีที่ดินอย่างน้อย 20 แปลง เนื้อที่รวมมากกว่า 288 ไร่ ในอาณาจักรเขากระโดง ที่เชื่อมโยง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์”
ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้ง บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด หลายแปลง และยังเป็นบ้านพักของ “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม, บ้านพักที่ถือครองโดย “มาดามต่าย” กรุณา ชิดชอบ ภรรยาของนายเนวิน, ที่ตั้งสนามฟุตบอลช้างอารีนา, สนามแข่งรถช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต, โรงแรม และตลาดนัด เป็นต้น
จึงเป็นเหตุให้กรณีพิพาทดินเขากระโดง 5,083 ไร่คาราคาซังอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ก่อนที่กรมที่ดินจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินเขากระโดง เพื่อส่งคืนให้ รฟท. ที่ทำเอาฮือฮาไปทั้งประเทศ
และเมื่อผู้ว่าการ รฟท.มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ กรมที่ดินก็ตีตกไปแบบไม่ใยดี
จับสังเกต “ธง” ของ พรรคภูมิใจไทย จะพยายามอ้างว่าที่ดินพิพาทและเป็นคดีความในชั้นศาลนั้นมีเพียง 35 ราย เนื้อที่ราว 200 ไร่เท่านั้น ไม่สามารถตีขลุมครอบคลุมทั้งหมด 5 พันกว่าไร่ได้ อีกทั้ง 35 รายที่ว่า ศาลก็ไม่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอน แต่ระบุว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเป็นที่ของ รฟท. จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ของ กรมที่ดิน
สิ่งที่น่ากลัวของ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” หาใช่แค่การที่ที่ดินจะตกกลับไปเป็นของ รฟท.เท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของการบังคับคดีที่มีคำพิพากษาศาลฎีกากรณีที่ดินแปลงหนึ่งราว 24 ไร่ในพื้นที่เขากระโดง ที่นอกจากคืนที่ดินหรือเจรจาเพื่อเช่าในอนาคคที่กับทาง รฟท.แล้ว ยังต้องให้ผู้ครอบครองชำระค่าเสียหายย้อนหลังจากการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินด้วย
ประเมินตามมูลค่ากิจการของ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์”ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโดยเฉพาะธุรกิจฟุตบอล-แข่งรถ ก็คงมหาศาลพอดู
ก็ต้องจับตาต่อไปว่า เมื่อ “ค่ายเซราะกราว” เล่นแรงถึงกล่องดวงใจอย่าง “ที่ดินอัลไพน์” ฟาก “ค่ายนายใหญ่” จะเอาคืนอย่างไรกับกรณี “ที่ดินเขากระโดง” ที่ต้องบอกว่า “สุกงอม” พอที่จะสอยลงมากินมากกว่าด้วยซ้ำ
เพราะที่ผ่านมาแม้กรมที่ดินจะทำหน้าที่องครักษ์มาโดยตลอด แต่ผู้เสียประโยชน์อย่าง รฟท. ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย ก็มีช่องทางในการทวงถามสิทธิเหนือที่ดินเขากระโดงมากมาย แต่ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะใส่ “เกียร์ว่าง” พิกล
และแทบไม่ต้องเดาประเด็นที่ดินเขากระโดงจะเป็นหนึ่ฃในไฮไลท์สำคัญของการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมาถึง ที่ “ตลกร้าย” คือคนที่มีข้อมูลมากที่สุดดันอยู่ในฟากฝั่งรัฐบาล อย่าง “เฮียวีไอพี” พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่เป็นขาประจำอภิปรายเรื่องนี้มาตลอดช่วงรัฐบาลที่แล้ว
น่าสนใจอีกว่าหากมีการยื่นอภิปรายเรื่องเขากระโดงเพ่งเล็งเป้าไปที่ “เสี่ยหนู-อนุทิน” จากการใช้อำนาจของกรมที่ดิน ที่ดูจะขัดคำพิพากษาศาล ทางพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ จะลงมติอย่างไร
หรือที่สุด มหากาพย์ “เขากระโดง-อัลไพน์” ก็จะกลายเป็นปาหี่การเมือง ที่หยิบขึ้นมาแยกเขี้ยวขู่กันไปมา สุดท้ายตัดจบยื่นหมูยื่นแมวแยกย้ายกันไป.