ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กล่าวสำหรับความคืบหน้าคดีสังหารโหด “นายลิม กึมยา” อดีต สส.พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) นั้น ปรากฏชื่อ “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องกับการ “ปฏิบัติการฆ่าข้ามชาติ” จำนวน 4 คนด้วยกัน
2 คนแรกเป็นตัวละครฝ่ายไทย ได้แก่ “จ่าเอ็ม” หรือ “นายเอกลักษณ์ แพน้อย” อดีตนาวิกโยธิน ผู้ซึ่งเป็นมือลั่นไกสังหาร โดยหลังจากปลิดชีพนายลิม กึมยา “จ่าเอ็ม” ก็ได้หลบหนีข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชาผ่านช่องทางธรรมชาติ ก่อนจะถูกจับกุมขณะที่แวะพักทานอาหารใน ต.ปเรยสวย อ.โมงรึไทร จ.พระตะบอง ก่อนที่จะจับถูกจับกุมได้ และส่งตัวกลับเข้ามาดำเนินคดีในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายเอกลักษณ์ให้การรับสารภาพว่าทำตามคำสั่งของผู้มีพระคุณ
คนไทยคนที่สองก็คือ “นายชาคิต บัวปลี หรือ “ชำนาญ” ซึ่งเป็นคนขับรถพา “จ่าเอ็ม” หลบหนีออกไปยังจุดข้ามแดนทางช่องทางธรรมชาติชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณด่านเขาดิน ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เมื่อกลางดึกวันที่ 7 มกราคม 2568
เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์นายชาคิต พบการติดต่อสื่อสารกับจ่าเอ็มในวันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 13.54 น. เป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุ ขณะที่เจ้าตัวให้การภาคเสธและไม่ทราบว่าจ่าเอ็มไปก่อเหตุยิงคนเสียชีวิต พร้อมบอกด้วยว่า เป็นการขับไปส่งด้วยเข้าใจว่าจ่าเอ็มไปรับตำแหน่งใหม่ และนัดดื่มสุรากับเพื่อน
ทั้งนี้ ทั้งสองคนรู้จักและสนิทสนมกันเป็นอย่างดีด้วยทำการค้าขายตามแนวชายแดนเหมือนกัน
ส่วนอีก 2 คนเป็นตัวละครฝ่ายกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ศาลไทยได้อนุมัติหมายจับทั้งสองคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำตัวมาดำเนินคดีได้เนื่องจากอยู่ในต่างประเทศ
ชาวกัมพูชาคนแรกเป็น “คนชี้เป้า” มีชื่อว่า “นายพิช กิมสริน (Pich Kimsrin)” ซึ่งเดินทางมากับรถบัสท่องเที่ยวข้ามประเทศคันเดียวกับ “ลิม กึมยา” จากด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยหลังจากทำหน้าเสร็จเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยสายการบินสกายอังกอร์ ปลายทางที่กรุงพนมเปญทันที
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ จากการตรวจสอบประวัติและภูมิหลังจากนายพิช กิมสรินพบว่า เขามีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการตลาดกลางซาร์กันดาล ในกรุงพนมเปญ แถมยังเป็นทายาทของ “นายควนสเริง (Khuon Sreng)” ผู้ว่าการกรุงพนมเปญ อีกต่างหาก
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (RFA) รายงานด้วยว่า นายพิช กิมสริน เป็นน้องชายของ พิช สรส นักการเมืองที่เป็นผู้ริเริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านและนำไปสู่การยุบพรรคในปี 2560 และมีตำแหน่งในรัฐบาล
พร้อมรายงานด้วยว่า ชาวกัมพูชาทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างแสดงความโกรธแค้นทั้งต่อเหตุฆาตกรรม และสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลไม่สนใจที่จะสอบสวนคดีนี้
ขณะที่ “เส็ง สารี” นักวิเคราะห์การเมืองที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผู้ต้องสงสัยไม่ใช่บุคคลนิรนาม เขาเป็นน้องชายของพิช สรส การมอบความยุติธรรมให้ ลิม กึมยา จะช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของกัมพูชา เราไม่ควรปล่อยให้เขาหลบหนี”
สำหรับชาวกัมพูชาที่ถูกออกหมายจับอีกคนก็คือ “นายลี รัตนรัศมี (Ratanakraksmey Ly )” หรือชื่อในประเทศไทย คือ “นายสมหวัง บำรุงกิจ” อายุ 43 ปี ชาวกัมพูชา ซึ่งปรากฏว่านายลีผู้นี้มีตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาของสมเด็จฯ ฮุนเซ็น” อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ตั้ง 3 ข้อหาหนักคือ
1.เป็นผู้ใช้ ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐาน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ไม่ว่าด้วย การใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยง ส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด
2.พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
และ 3.ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดซึ่งใช่เหตุในเมือง
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ นายลี รัตนรัศมีนั้นเป็น “ผู้มีพระคุณ” ที่จ้างวานให้ “จ่าเอ็ม” ไปฆ่านายลิม กึมยาตามแนวทางการสอบสวนของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย โดยมีหลักฐานการสั่งการและหลักฐานการโอนเงินค่าจ้างวานมาถึงผู้ต้องหา
เรียกว่า ทั้งคนสั่งฆ่าและคนชี้เป้าล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลระดับไม่ธรรมดาในกัมพูชาเลยทีเดียว
ทั้งนี้ สำนักข่าว VOD สื่ออิสระของกัมพูชาที่รายงานข่าววันที่ 13 มกราคมว่า กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนกัมพูชาหรือ Cambodian Advocates ( CAT) ที่ออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนสองคนซึ่งเกี่ยวข้องกับนายลิมมาให้กับทางประเทศไทย เพื่อที่ทางการไทยจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอ่างเต็มที่ เนื่องจาก CAT ไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมที่กัมพูชา
CAT ระบุว่าภายใต้การขาดความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการกัมพูชา ทาง CAT จึงขอยืนกรานว่าจะให้ส่งตัวชาวกัมพูชาสองคนได้แก่ 1.นายพิช กิมสริน (Pich Kimsrin) และ 2.นายลี รัตนรัศมี ที่ปรากฏว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารนายลิมมายังประเทศไทย เพื่อให้ไทยได้สืบสวนหาข้อเท็จจริง
แถลงการณ์ของ CAT ยังมีการระบุอีกว่านายลีส่งเงินเกือบ 2 พันดอลลาร์สหรัฐฯ (69,520 บาท) มาให้กับนายเอกลักษณ์
ทางด้านของนายฮงลิม (Hong Lim) ผู้นำกลุ่ม CAT กล่าวว่าขณะที่ทางกัมพูชายังเงียบเฉยกับเรื่องนี้ ขณะที่ฝ่ายไทย ทั้งสื่อไทย นักการเมือง เจ้าหน้าที่ตํารวจ ตุลาการ ฯลฯ ดูเหมือนจะให้ความสนใจกับคดีฆาตกรรมครั้งนี้ และกล่าวอีกว่าถ้าหากไม่มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยก็จะเป็นเหมือนกับตะปูอีกอันที่ตอกฝาโลงพรรค CCP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของ พล.อ.ฮุน มาเนต ณ เวลานี้
กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า “ปมสังหารนายลิม กึมยา” จะถูกตัดจบโดย “จ่าเอ็ม” ค่อนข้างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่เห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ว่า รัฐบาลกัมพูชาจะส่ง “ผู้ต้องหา 2 คน” ที่เป็นคนกัมพูชามาให้ทางการไทย นั่นก็คือ“นายพิช กิมสริน” และ “นายลี รัตนรัศมี”
ดังนั้น โดยรูปการณ์แล้วข้อมูลเกี่ยวกับคดีทั้งหมดน่าจะออกมาจากปากของ “นายเอกลักษณ์ แพน้อย” หรือ “จ่าเอ็ม” ผู้เป็นมือลั่นไกสังหารเพียงคนเดียว
“จ่าเอ็ม” น่าจะไม่ได้ซัดทอดใคร แต่การที่โยงไปถึง “นายลี รัตนรัศมี” กระทั่งออกหมายจับได้ เพราะมีเส้นเงินการว่าจ้างปรากฏชัดเจน ซึ่งข้อมูลที่ออกมาจากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกไปในแนว “นายลีซึ่งเป็นผู้มีพระคุณของจ่าเอ็มมีสาเหตุโกรธแค้นในเรื่องส่วนตัวกับคนตายและขอให้จ่าเอ็มจัดการให้”
ทว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า นายลีหรือนายสมหวังขัดแย้งอะไรกับนายลิม กึมยาจนถึงขนาดต้องสั่งฆ่า
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากตำรวจพบว่า นายลีนั้นเดินทางเข้าออกประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 100 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเข้าประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม และอยู่ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ก่อนที่จะเกิดเหตุสังหารนายลิม กึมยาในวันที่ 7 มกราคม และเดินทางออกนอกประเทศไทยกลับกัมพูชาในเช้าวันที่ 8 มกราคม
นอกจากนั้น เมื่อสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นายลีมักถ่ายภาพคู่กับเจ้าหน้าที่ไทย ทั้งตำรวจและสำนักงานจัดหางาน รวมทั้งมักโพสต์ภาพเกี่ยวกับบริษัทที่ให้บริการจัดหางานส่งแรงงานไปมาเลเซียและไทย พร้อมกับรูปภาพพาสปอร์ตจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็พบด้วยว่า เมื่อปี 2565 นายลีเคยถ่ายภาพในห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ทำท่าว่าคดีจะจบลงไปแบบดื้อ แต่เชื่อเหลือเกินว่า สังคมมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ “คนสั่งฆ่า” ที่หลักฐานโยงไปถึงคือ “นายลี รัตนรัศมี” และ “คนชี้เป้า” คือ “นายพิช กิมสริน” ซึ่งมีปูมหลังไม่ธรรมดา
ทำไมปฏิบัติการสังหารนายลิม กึมยาจึงต้องเกิดในประเทศไทย แถมคนยิงก็มิได้สวมหมวกหรืออุปกรณ์อำพรางใบหน้าแต่อย่างใด
ทำไมผู้สั่งการจึงมีฐานะเป็น “ที่ปรึกษาของสมเด็จฯ ฮุนเซ็น”
ทำไมคนชี้เป้าจึงต้องเป็น “นายพิช กิมสริน” ซึ่งเป็นถึงลูกชายของผู้ว่ากรุงพนมเปญ
และทำไมรัฐบาลกัมพูชาจึงยอมส่งตัว “จ่าเอ็ม” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยแบบง่ายๆ