ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่าได้แปลกใจที่คนไทยหนี้ท่วมหัว ดูจากกรณีที่ OPPO (ออปโป้) และ realme (เรียลมี) แอบติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อนมาพร้อมตัวเครื่อง ที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเอาผิดไม่ได้ ไร้น้ำยาควบคุม ทำให้การก่อหนี้ที่เข้าถึงง่ายจ่ายดอกสุดโหดกัดกินชีวิตลูกหนี้หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์
เรื่องที่เกิดขึ้นหากสภาผู้บริโภค ไม่ออกมาเคลื่อนไหวให้ผู้ที่ใช้มือถือ OPPO และ realme ตรวจสอบว่าระบบแอบติดตั้งแอปเงินกู้นอกระบบ “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” มาหรือไม่ คงไม่กลายเป็นประเด็นร้อน และลูกหนี้ที่ตกหลุมพรางไปใช้บริการแอปฯ กู้เงินเถื่อนดังกล่าว คงต้องเผชิญชะตากรรมถูกรีดดอกโหดโดยไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
ข้อเรียกร้องของสภาผู้บริโภค นอกจากจะให้ OPPO และ realme ถอนการติดตั้งแอปฯ ออกจากเครื่องโดยทันทีแล้ว ยังขอให้หน่วยงานกำกับดูแลทุกภาคส่วนให้การคุ้มครองผู้บริโภค และมีบทลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดและเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเข้มงวด
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยออกมาตรการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม และย้ำว่าการติดตั้งแอปพลิเคชันโดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในมาตรา 4 (2) ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ผู้บริโภคต้องมีสิทธิเลือกใช้สินค้าและบริการโดยไม่ถูกบังคับ และต้องได้รับปลอดภัย โปร่งใส ที่สำคัญผู้บริโภคไม่ควรต้องตกเป็นเหยื่อการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ แอปเงินกู้เถื่อนที่ติดตั้งมาให้นั้น ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงการปล่อยกู้ออนไลน์ที่ไม่ได้มีการส่งมอบคู่สัญญา เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ทางสภาผู้บริโภค คาดหวังว่าภาครัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และลงโทษบริษัทที่กระทำผิด
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ขอให้ 5 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยด่วนกับกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค เผยว่า ช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแอปฯ กู้เงินเถื่อน อย่างสินเชื่อความสุข แล้วกว่า 1,800 ราย โดยพบว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทั้งยังเกิดความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ส่งรายชื่อแอปพลิเคชันต้องสงสัยให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไปแล้ว
แรงกดดันของกระแสสังคม ทำให้ OPPO และ realme ออกมาชี้แจงว่า บริษัทฯ จะเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหา โดยแอปฯ Fineasy ได้ลบข้อมูลการกู้ยืมเงินออกแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ผู้ใช้งานสามารถถอนการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวได้โดยง่าย และจะยุติการติดตั้งล่วงหน้าในสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ รวมทั้งหยุดแสดงผลแอปสินเชื่อใน APP Market ต่อไป โดยผู้บริโภคสามารถติดต่อศูนย์บริการทั่วประเทศเพื่อลบได้ทันที
ขณะที่สภาผู้บริโภค ขอให้บริษัทฯ อัพเดทระบบปฏิบัติการ ให้ผู้บริโภคถอนการติดตั้งแอปฯได้ด้วยตัวเอง อย่าผลักภาระให้ต้องเสียเวลาไปศูนย์บริการ และให้นำแอปฯกู้เงินที่เป็นปัญหาออกทันที พร้อมข้อเสนอ 6 แนวทาง เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนตัว ความปลอดภัยของมือถือ หรือปัญหาสินเชื่อออนไลน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภค
ทั้ง 6 แนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด โดย สคส. ต้องตรวจสอบทั้งสองบริษัทเข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือไม่ และต้องมีการเปรียบเทียบปรับทางปกครองกับบริษัท และให้ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
ส่วน กสทช. ที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของมือถือ ต้องตรวจสอบการแอบติดตั้งแอปกู้เงินเถื่อนโดยไม่ได้ยินยอมและอาจมีการดูดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เข้าข่ายเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมฯ
สินเชื่อออนไลน์ “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” ไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. แต่ยังไม่มีคำตอบว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง หรือไม่ หากไม่ได้รับอนุญาตกระทรวงการคลัง และมีการเรียกดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย โดยการปล่อยกู้ออนไลน์ที่ไม่ได้ให้สัญญากู้เงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องสั่งปรับตามกฎหมาย กรณีละ 2 แสนบาท ตามกฎหมาย
อีกทั้งการกระทำของแอปกู้เงินเถื่อนสินเชื่อความสุข - Fineasy น่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทวงหนี้ฯ ที่ผิดกฎหมาย เพราะติดตามหนี้คนรอบข้าง ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย สภาผู้บริโภค เรียกร้องกระทรวงมหาดไทย ต้องเข้ามาจัดการตามกฎหมาย
สำหรับผู้บริโภค แนะนำให้คืนเพียงเงินต้นแล้วปิดหนี้ ส่วนผู้บริโภคที่จ่ายดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น มีผู้ร้องเรียนกู้เงิน 80,000 บาท แต่จ่ายเงินไป 700,000 บาท สามารถฟ้องร้องเรียกเงินคืนตามกฎหมาย ซึ่งสภาผู้บริโภค พร้อมฟ้องคดีกลุ่มให้คืนเงินกับผู้เสียหายทุกราย โทรสายด่วน 1502 และขอให้บริษัท OPPO และ Realme เปิดเผยบริษัทที่ให้บริการเงินกู้โดยด่วนเพื่อรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น
กสทช. - หน่วยงานรัฐไร้น้ำยาเอาผิด
หนึ่งในหน่วยงานผู้คุมกฎที่ประชาชนฝากความหวังให้เข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กสทช. แต่เอาเข้าจริง กสทช.กลับออกมายอมรับว่าไม่มีอำนาจที่จะไปคุมบริษัทผู้ขายมือถือฝังแอปฯเงินกู้เถื่อน ชวนให้วังเวงอย่างยิ่ง
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณี OPPO และ Realme ติดตั้งแอปฯ กู้เงินเถื่อนมากับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ว่า กสทช.มีหน้าที่เพียงตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ตามมาตรฐาน เช่น ความปลอดภัย ไม่มีอันตรายต่อผู้ใช้งาน และการส่งสัญญาณที่ไม่รบกวนกัน ส่วนแอปฯที่ติดตั้งมาพร้อมตัวเครื่อง อยู่นอกเหนืออำนาจของ กสทช. ซึ่งจะต้องศึกษาแก้ไขประกาศเพื่อเพิ่มขอบเขตอำนาจในการจัดการปัญหานี้ในอนาคต
ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. ซึ่งหารือร่วมกับ กสทช. และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในกรณีที่เกิดขึ้น ทำได้เพียงขอให้บริษัทฯ งดจำหน่ายโทรศัพท์ที่มีการติดตั้งแอปฯ เงินกู้เถื่อนดังกล่าวจนกว่าจะแก้ไขหรือถอนการติดตั้งออกไป ส่วนโทรศัพท์ที่จำหน่ายไปแล้วกำหนดช่องทางให้ลูกค้าสามารถถอนการติดตั้งแอปฯ ออกไป อย่างช้าให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
พร้อมกันนี้ ได้ขอให้บริษัทฯ จัดส่งเอกสารหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในไทย ขั้นตอนก่อนจำหน่ายมือถือและติดตั้งแอปฯ มีการขอความยินยอมหรือไม่ และรายละเอียดการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เกี่ยวกับแอปฯ “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” ตลอดจนมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลสรุปเบื้องต้นออกมาแบบเหลือเชื่อว่าหน่วยงานรัฐของไทยไม่มีอำนาจไปจัดการ ตามที่ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการตรวจสอบ OPPO และ realme ติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่สามารถบังคับให้บริษัทฯ ถอนแอปฯออกไปได้ เป็นเพียงขอความร่วมมือ
ส่วนการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นางสาวจิราพร แจกแจงว่า แม้แต่ กสทช. ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่จะไปตรวจสอบแอปฯ ที่ติดตั้งมากับมือถือ อำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้เพียงฮาร์ดแวร์ และหน่วยงานอื่น ๆ ไม่มีกฎหมายที่สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้ แบงก์ชาติ ก็จะไปดูว่ามีกลไกอะไรมาควบคุม จึงพูดคุยกันว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดูว่าใครจะสามารถเป็นเจ้าภาพอุดช่องโหว่ เพื่อเป็นการป้องกันเชิงรุกได้
ส่วนการเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมี 2 ส่วน คือ สคบ. จะดูคดีแพ่งและสิทธิให้กับประชาชน โดยประสานกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ซึ่งจะรับเรื่องร้องเรียนจากสภาผู้บริโภค เพื่อดูว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบต่อ ซึ่งแอปฯดังกล่าว ติดตั้งโดยผู้บริโภคไม่ยินยอม และหากตรวจสอบพบคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ถือว่าผิดกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้จะถือว่าบริษัทมือถือมีส่วนสนับสนุนให้กระทำความผิด ทั้งบริษัทแอปฯ ออปโป้ และ เรียลมี จะต้องรับผิดชอบ
“...ต้องมีคนรับผิดชอบในประเด็นนี้ ซึ่งโทษจะมีทั้งจำและปรับตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย หากจำไม่ผิดมีการปรับหลักล้าน...” นางสาวจิราพร กล่าว และบอกว่า มีผู้มาร้องเรียนต่อ สคบ.แล้วประมาณ 20 ราย และมีผู้ร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่ง
เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานรัฐยังคงมะงุมมะงาหรากับปัญหาที่เกิดขึ้น
OPPO – Realme - Fineasy เบื้องหลังกลุ่มเดียวกัน
เมื่อแอปกู้เงินเถื่อน “Fineasy” ถูกติดตั้งมากับเครื่องมือถือ OPPO ผู้คนในสังคมไทยจึงสนใจใคร่รู้ว่า ทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ใครเป็นผู้พัฒนาแอปฯ ใครเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเงินกู้ ฯลฯ
ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า เครื่องหมายการค้า Fineasy จดทะเบียนโดย บริษัท กว่างตง ออปโป โมบาย เทเลคอมมิวนิเคชั่น คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ออปโป้ ประเทศไทย
ขณะที่ เพจ Blognone ค้นพบเบาะแสว่า เจ้าของแอป Fineasy จดโดเมนโดยใช้ใบรับรองร่วมกับเว็บไซต์ OppoMobile.com และ QponMobile.com ซึ่งเป็นธุรกิจคูปองออนไลน์ของ OPPOพูดง่าย ๆ คือ ทั้งหมดนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังโดเมน..เป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ส่วน “สินเชื่อความสุข” ที่พุ่งเป้าเจาะตลาดคนไทยนั้น ตอนนี้แอปฯ ถูกลบออกไปจาก Google Play Store แล้ว ตัวแพ็กเกจใช้ชื่อว่า com.cosyzone.finance ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า CosyZone ผู้พัฒนาแอพตัวนี้คือใครกันแน่ โดยแอปฯ มีเว็บไซต์ใช้โดเมน hizonetech.com ถูกจดเมื่อปี 2021 และใช้ name server เป็น alidns.com ซึ่งเป็นบริการของ Alibaba Cloud
สำหรับสมาร์ทโฟนทั้ง Oppo และ Realme มีบริษัทแม่เดียวกัน คือ “BBK Electronics” บริษัทเอกชนสัญชาติจีนระดับโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 1995 ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยผู้ก่อตั้ง คือ Duan Yong Ping และมี Tony Chen เป็นซีอีโอ ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในเขตฟูเทียน เมืองเซินเจิ้น
BBK Electronics เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เครื่องเล่น Blu-ray กล้องดิจิทัล อุปกรณ์เครื่องเสียง และสมาร์ทวอช โดยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก มีหลายแบรนด์ในสังกัด ทั้ง Oppo, Vivo, Realme, iQOO, และ OnePlus
ในปี 2024 ในตลาดประเทศไทย Oppo มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 14.33% เป็นอันดับที่ 3 ตามหลัง Apple และ Samsung ส่วน Realme คือหนึ่งในแบรนด์ลูกของ Oppo มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 4.67% ติดอันดับที่ 6 เป็นรองจาก Apple, Samsung, Oppo, Vivo และ Xiaom
ไม่ใช่แค่แอปฯ “สินเชื่อความสุข” ที่ทะลวงปล่อยกู้ลูกค้าคนไทย เพจ Blognone ยังขุดค้นพบแอปฯ เงินกู้จำนวนมากใน Google Play ใช้ Backend API เหมือนกับ “สินเชื่อความสุข” และมีให้ดาวน์ โหลดบน Google Play Store แอปเหล่านี้มีพฤติกรรมเหมือนกันแทบทุกประการ จนเชื่อได้ว่ามีโอกาสสูงที่จะมาจากต้นตอเดียวกัน โดยทุกแอปฯอ้างว่าเป็น แพลตฟอร์ม เพื่อเลี่ยงเป็นบริการเงินกู้โดยตรง และหลายแอปฯใช้ชื่อบริษัท publisher จดทะเบียนในไทย ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ตรงกัน และใช้เซิร์ฟเวอร์ Alibaba Cloud เหมือนกัน
หากเริ่มต้นจากแอป “สินเชื่อความสุข” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวครั้งนี้ จากการตรวจสอบของ Blognone พบแอปฯ ที่มีความเชื่อมโยงกัน 3 ตัว ได้แก่ สินเชื่อ KK (1 ล้าน+ ดาวน์โหลด, 4.3 ดาว, 310,000 รีวิว) ชื่อบริษัท publisher: LUSTROUS PEARL COMPANY LIMITED ชื่อแพ็กเกจ com.instantingot.finance.loan,
สินเชื่อฉับไว – ยืมสบาย (5 ล้าน+ ดาวน์โหลด, 4.4 ดาว, 334,000 รีวิว) ชื่อบริษัท publisher : Magastar Speed Company Limited (ชื่อบริษัทเหมือนชื่อโดเมนของสินเชื่อ KK) ชื่อแพ็กเกจ com.bull.cherry
และ สินเชื่อมงคล (1 ล้าน+ ดาวน์โหลด, 4.4 ดาว, 211,00 รีวิว) ชื่อบริษัท publisher : STELLAR HORIZON CO., LTD. ชื่อแพ็กเกจ : com.wattuk.cash.app เป็นต้น
เป็นที่สังเกตว่า Backend API ของแอปทั้งสามตัว ล้วนมีพาทเป็น cosyzone/system/start ซึ่งชื่อ Cosyzone คือบริษัทที่ระบุว่าเป็นผู้พัฒนาแอปสินเชื่อความสุขนั่นเอง
เมื่อนำชื่อบริษัทจดทะเบียนไปค้นหาในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าที่อยู่ของบริษัท Magastar Speed ผู้พัฒนาแอป “สินเชื่อฉับไว” และบริษัท Stellar Horizon ผู้พัฒนาแอป “สินเชื่อมงคล” เป็นที่อยู่เดียวกัน คือ 81/6 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ทั้งสามบริษัทยังใช้ชื่อกรรมการเพียงคนเดียวเหมือนกัน และเป็นไปได้สูงว่าอาจเป็นนอมินี
**แอปฯกู้เงินเถื่อนเกลื่อนโลกออนไลน์พัฒนาไปไกลกันขนาดนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานรัฐไทยทั้งหลายทั้งปวง จะมีน้ำยาคุ้มครองผู้บริโภคประชาชนคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้สักกี่มากน้อย **