ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ทุเรียนไทย” ระส่ำและสะเทือนรุนแรงอีกครั้งหลังเผชิญปัญหาการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่าสูงที่สุด เมื่อสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งตรวจพบสาร “Basic Yellow 2” หรือ “BY2” ในทุเรียนไทย ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็ง ส่งผลให้ทางการจีนบังคับใช้มาตรการคุมเข้ม “ตีกลับ - ระงับนำเข้า” ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการเอาไว้อย่างชัดเจนโดยกำหนดให้ “ทุเรียนส่งออกทุกลอตของไทยไปจีน” จะต้องแนบผลวิเคราะห์ Test Report สาร “BY2” และ “แคดเมียม” โดยจะมีการสุ่มตรวจซ้ำที่ด่านนำเข้าทั้งทางบก ทางอากาศและทางเรือ ซึ่งหากพบสารตกค้างดังกล่าวก็จะระงับการนำเข้าทันทีและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปก็คือ มีทุเรียนไทยประมาณ 100 กว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งผ่านด่านทางอากาศ ทางเรือและทางบกไปจีนเพื่อที่จะขายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 26 - 28 มกราคม 2568 ถูกตีกลับ โดยทางการจีนระบุเหตุผลว่าไม่มีใบรายงานผลการทดสอบ (Test Report) สารย้อม BY2 มาแสดง จึงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนไม่ยอมให้ทุเรียนไทยลอตนี้ผ่านด่าน
อย่างไรก็ตาม หากรอให้ทางการจีนนำทุเรียนไปตรวจหาสารย้อมสี BY2 ต้องใช้เวลารอผลประมาณ 7 - 9 วัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนว่า ผลแล็บจะออกมาทันช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนจะขายได้ราคาดีหรือไม่
เบื้องต้นคาดว่าทุเรียนที่ถูกตีกลับเหล่านี้จะเทขายในตลาดภายในประเทศ เพราะระหว่างถูกส่งกลับมาจะอยู่ในสภาพสุกแล้ว ซึ่งหากสุกมากไปกว่าจะต้องขายให้ห้องเย็นเพื่อนำไปแปรรูปในราคาถูกแทน
กล่าวสำหรับ “Basic Yellow 2” หรือ “BY2” เป็นสารย้อมสีลักษณะเป็นผงสีเหลืองใช้ในการย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารนี้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B ทว่า พบมีการนำมาใช้เป็น “สารชุบทุเรียนเพื่อให้สีเปลือกทุเรียนสวยงามขึ้น”
มีข้อมูลเปิดเผยว่าทางการไทยเคยตรวจพบสาร BY2 ชุบทุเรียนในกลุ่มล้งทุเรียนบางแห่งในจังหวัดชุมพร ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจพบและแจ้งเตือนให้เลิกใช้ แต่ล้งบางแห่งยังฝ่าฝืนใช้จนนำมาสู่การแจ้งเตือนจากทางการจีนดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
“สัญชัย ปุรณะชัยคีรี” นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผยว่าสาเหตุของปัญหามีแหล่งที่มาจากล้งเถื่อน ซึ่งภาครัฐต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการปราบปราม มิเช่นนั้น ตลาดทุเรียนไทยแสนล้านบาทจะได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะมีตลาดใหญ่สุดที่จีน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่มีอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพร เขตพื้นที่ อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน ซึ่งเป็นตลาดกลางศูนย์กลางรับซื้อส่งออกผลไม้ภาคใต้ การซื้อขายทุเรียนเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการล้งส่วนใหญ่ก็ปิดกิจการไม่รับซื้อชั่วคราว
“น.ส.นฐมล ฤทธิประดิษฐ์โชค" ผู้ประกอบการส่งออกล้ง LCY กล่าวว่า ทุเรียนที่กำลังออกสู่ตลาดช่วงนี้เป็นผลผลิตนอกฤดูกาลที่ชาวสวนหวังว่าจะขายในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ เพราะมีราคาสูงกิโลกรัมละกว่า 200 บาท แต่หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ทั้งผู้ประกอบการส่งออกและเจ้าของสวนทุเรียนเครียดกันทั้งหมด
ที่ผ่านมา ได้จองซื้อทุเรียนจากชาวสวนไว้แล้วพร้อมกับต้องวางเงินมัดจำสวนละ 15% รวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทุเรียนจะครบกำหนดตัดแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะถ้าตัดแล้วก็ต้องไปเข้าคิวรอการตรวจของด่านทางการจีนนานหลายวัน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง และราคาจะตกลงด้วย ยิ่งถ้าตรวจไม่ผ่านก็ต้องถูกตีกลับ ทำให้ขาดทุนตู้ละประมาณ 5 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถออกใบรับรองการตรวจสาร Basic Yellow 2 ที่ประเทศจีนเพิ่งจะกำหนดบังคับใช้ล่าสุดนี้ได้เลย
ดังนั้น จึงขอให้ทางรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบไปเจรจากับประเทศจีน หรือให้ประเทศจีนส่งเครื่องตรวจสารดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทยเพื่อเกิดความรวดเร็ว เพราะประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว
ด้าน “นายสันต์ ฉิมหาด” ผู้ประกอบการทุเรียนส่งออก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตนได้ส่งทุเรียนออกไปประเทศจีนจำนวน 7 ตู้ ตอนนี้ได้ตีกลับมาทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถรอคิวได้นานหลายวัน เพราะทางฝ่ายจีนจะไม่สุ่มตรวจ แต่จะตรวจทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออก ทำให้ล่าช้ามากใช้เวลารอนานหลายวัน จึงต้องตีกลับมาเพื่อแกะเนื้อขาย แม้จะขาดทุนก็ยอม ดีกว่ารอแล้วให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้ตนขาดทุนไปแล้วขณะนี้ตู้ละประมาณ 3 ล้านบาท รวม 7 ตู้ ประมาณ 21 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีทุเรียนต้องตีกลับจากมาตรการนี้ของประเทศจีนมากถึง 100-200 ตู้ ซึ่งแต่ละตู้จะบรรจุทุเรียนประมาณ 18,000 กิโลกรัม ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและชาวสวนจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายนับพันล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ทุเรียนที่ตนได้ไปจองและวางมัดจำไว้แล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั้งในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช ตอนนี้ได้เวลาตัดแล้ว ถ้าไม่ตัดจะสุกงอมและร่วง ตนจึงต้องไปพูดคุยเจรจากับเจ้าของสวนที่วางเงินมัดจำไว้ว่า ขอให้ลดราคาลงมาเพื่อพบกันครึ่งทาง เพราะมิฉะนั้นจะเจ็บด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
กล่าวคือจากที่วางมัดจำไว้และทำสัญญาจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 210 บาทลดลงมาเหลือ 160 บาท จากนั้นได้นำมาประกาศขายหน้าล้งในราคากิโลกรัมละ 80 บาทเท่านั้น
ด้าน “น.ส.พรเพ็ญ จินาห้อง” เจ้าของสวนทุเรียน บอกว่า มีสวนทุเรียนอยู่เกือบ 10 ไร่ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกได้วางเงินมัดจำรับซื้อไว้แล้วและทุเรียนครบกำหนดตัด แต่ผู้ประกอบการยังยืดเวลาออกไปอีก จึงทำให้ทุเรียนเริ่มจะสุกและร่วงหล่นแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ทำให้ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยเร็ว
สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทย แม้ดูเหมือนว่าจะเทกแอ็กชันพอสมควร โดยเฉพาะ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ดูเหมือนว่า จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น “เครื่องตรวจ Basic Yellow 2” ที่ยังไม่มีในประเทศไทย หรือที่หนักไปกว่านั้นคือ บรรดาผู้ประกอบการล้งและเกษตรกรให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันอีกต่างหากว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศสามารถออกใบรับรองการตรวจสาร Basic Yellow 2 ที่ประเทศจีนเพิ่งจะกำหนดบังคับใช้ล่าสุดนี้ได้เลย
กล่าวคือ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าได้ออกประกาศมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.2568 โดยกำหนดมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ เช่น BY2 ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และหากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ต้องใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง หรือตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
ส่วนกรณีที่มีการตรวจพบโรงคัดบรรจุ ใช้สารห้ามใช้หรือมีสารห้ามใช้ไว้ในครอบครองจะถูกระงับการส่งออกและนำไปสู่การยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่า ทุเรียนมีการใช้สารห้ามใช้ ให้มีอำนาจสั่งให้โรงคัดบรรจุนำผลทุเรียนนั้นไปตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืชหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตาม กรมวิชาการเกษตร จะปฏิเสธการออกใบรับรองต่อไป
โดยมาตรการเป็นไปตามพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำหนดให้ผลไม้ต้องไม่มียาฆ่าแมลงและสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามกฎหมาย และกฎระเบียบของสาธารณรัฐประชาชนจีน และในกรณีที่กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีค่ามาตรฐานกำหนดให้ใช้ค่ามาตรฐานกำหนดโดยองค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศเป็นมาตรฐานอ้างอิงหรือค่ามาตรฐานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ตกลงกัน
นอกจากนี้ ก็มีตความเคลื่อนไหวจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทว่า ก็ไม่รู้ว่า จะทันต่อสถานการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ส่งออกทุเรียนสู่จีน โดยครองตลาดทุเรียนในจีนด้วยคุณภาพสินค้าทุเรียนระดับพรีเมียม ทุเรียนไทยได้รับการอนุมัติให้นำเข้าจีนอย่างเป็นทางการจากกรมศุลกากรตั้งแต่ปี 2546 และครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน
ปี 2565 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทยจำนวน 784,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 95% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน โดยในปี 2566 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 929,000 ตันและมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เนื่องจากผลกระทบของทุเรียนเวียดนาม ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในตลาดจีนลดลงเหลือ 68% จนถึงปี 2567 โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ก.ย. ปี 2567 สัดส่วนทุเรียนที่นำเข้ามาจากไทยจะลดลงอีกเป็น 60%
สมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA : China Agriculture Wholesale Market) เปิดเผยภาพรวมล่าสุดของการนำเข้าทุเรียนสดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของจีน ระบุว่าปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก การบริโภคทุเรียนของจีนในปี 2566 คิดเป็น 91% ของการบริโภคทุเรียนทั้งหมดของโลก
สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations,FAO) ระบุว่า 95% ของการส่งออกทุเรียนทั่วโลกส่งออกไปยังประเทศจีน โดยตามรายงานดังกล่าวอ้างถึงข้อมูลศุลกากรว่าในปี 2566 จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดประมาณ 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 เท่าของปี 2560 โดยประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ได้หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทุเรียนอันมหาศาลของจีน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนจีนอย่างดุเดือดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนวิกฤตปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตรตลาดนำเข้าจากต่างประเทศ ทางการจีนตระหนักให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารอันกระต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ออกมาตรการคุมเข้มทุเรียนไทยของทางการจีน “ตีกลับ - ระงับนำเข้า” ทันที หลังพบสารย้อมสี BY2 ก่อมะเร็ง จนสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดทุเรียนส่งออกของไทยอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน เกิดประเด็นคำถามเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของทางการไทย ยกตัวอย่างกรณีองค์กรภาคประชาสังคมตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้นำเข้าจากประเทศจีน แต่ทางการไทยดำเนินการเพียงแจ้งเตือนประชาชนคนไทย เสมือนไร้อำนาจต่อรองไม่มีการแบล็กลิสต์ผักผลไม้นำเข้าที่พบสารเคมีตกค้างอันตรายอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศ
อีกทั้ง ยังเกิดสถานการณ์พืชผลทางการเกษตรจำพวกผักผลไม้จีนทะลักเข้าประเทศ กระทบกลไกตลาดผักผลไม้ไทยกระทบเกษตรกรไทยเพราะมีราคาถูกกว่าเท่าตัว ซึ่งมีแนวโน้มส่งเข้ามาจำหน่ายที่ไทยอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา เกิดคำถามว่าผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐานเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไรยกตัวอย่าง กรณี องุ่นไชน์มัสแคทนำเข้าจากประเทศจีนพบปนเปื้อนสารเคมีตกค้างปริมาณสูง สืบเนื่องจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-Pan ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการทดสอบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างองุ่นไชน์มัสแคท
โดยเก็บตัวอย่างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผลจากการสุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้าง 23 ตัวอย่าง พบว่า 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด มี 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบ เนื่องจากยกเลิก MRLs (Maximum Residue Limits ค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้) แล้ว อีกทั้ง 42% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทย และ 74% ของสารพิษตกค้างเป็นสารประเภทดูดซึม มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น
ทั้งนี้ องุ่นไชน์มัสแคทของจีนมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตของผลผลิต โดยได้รับการเปิดเผยจากนักวิจัยด้านความปลอดภัยอาหารในจีน ความว่ากระบวนการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทมีการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมศัตรูพืชและโรคต่างๆ ประมาณ 5 - 10 ครั้งในช่วงการเจริญเติบโตขององุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นองุ่นกำลังออกดอกและมีผลอ่อน ทั้งนี้ หากใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเว้นระยะห่างการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม จะทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยระยะห่างระหว่างการฉีดพ่นสารเคมีกับการเก็บเกี่ยวจะช่วยให้สารเคมีสลายตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยมาตรการกำกับดูแลผักผลไม้นำเข้าว่า ประเทศไทยนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศ อย. มีมาตรการในทุกด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้ผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีสูงเกินมาตรฐานหลุดรอดเข้ามาในประเทศ เนื่องจากระบบตรวจสอบของประเทศไทยไม่มีระบบเหมือนอย่างต่างประเทศ เป็นเพียงการสุ่มตรวจ หรือตรวจแลปสกรีนนิ่ง หรือเป็นเพียงชุดทดสอบธรรมดาที่ไม่ได้ครอบคลุมสารเคมีทุกตัว
ทั้งนี้ การพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานครั้งนี้นำสู่คำถามความปลอดภัยด้านอาหารของไทย รวมทั้ง สร้างแรงกระเพื่อมการรื้อระเบียบผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ นับเป็นประเด็นร้อนสร้างความตื่นตระหนกให้คนไทยทั้งประเทศ
กลับมาที่สถานการณ์ปัญหาตลาดส่งออกราชาผลไม้ “ทุเรียนไทย” ที่กำลังถูกตลาดยักษ์ใหญ่ “จีนแบล็กลิสต์” เพราะตรวจพบสารชุบทุเรียน BY2 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งนั้น นับเป็นโจทย์ท้าทายของทางการไทย ซ้ำเติมสถานการณ์ทุเรียนไทยที่กำลังเผชิญศึกรอบด้าน