xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (22): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 Claes Fleming ประธานสภาฐานันดร (Marshal)
 
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน
 
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอการอธิบายการกำเนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ค.ศ. 1680 ในรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละย่างก้าวและขั้นตอนที่นำไปสู่การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน

ในปี ค.ศ. 1680 การประชุมสภาของสวีเดนขณะนั้นไม่ใช่เวทีที่เปิดที่ให้มีการอภิปราย แต่จะประชุมกันเพื่อถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ตามที่พระองค์ทรงต้องการตามวาระที่กำหนดไว้ นั่นคือการกราบบังคมทูลเสนอข้อเสนอต่างๆ (Propositions)โดยที่แต่ละฐานันดรจะอภิปรายในที่ประชุมฐานันดรของตนมาก่อนหน้าแล้ว และพยายามที่จะหาความเห็นพ้องร่วมกันกับฐานันดรอื่นๆ ซึ่งเมื่อได้รับการเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์ ข้อเสนอดังกล่าวก็จะกลายเป็นระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายตามมติเห็นชอบของสภาฐานันดร
 
 แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือ หากเมื่อสามฐานันดรเห็นพ้องตองกัน แต่ฐานันดรที่สี่ไม่เห็นด้วย มติของสามฐานันดรว่าจะถือเป็นมติของสภาที่มีผลผูกพันหรือไม่ ?

รวมถึงพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจพระราชสิทธิ์ในการริเริ่มในการจัดวาระการประชุมและมีช่องทางที่จะมีพระราชอำนาจในการตีกรอบการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาแค่ไหน ?  


และพระราชอำนาจที่ว่านี้คือ **พระราชอำนาจในการแต่งตั้งประธานสภาของฐานันดรอภิชน (Marshal of the Nobility) ที่จะนั่งเป็น ประธานที่ประชุมฐานันดรอภิชน (riddarhus)  และโดยตำแหน่งประธานสภาอภิชนก็เป็น  ประธานของคณะกรรมาธิการลับด้วย (the Secret Committee)  ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการลับเป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากสามฐานันดร โดยขณะนั้นยังไม่เปิดให้ฐานันดรชาวนาได้เข้าประชุมในคณะกรรมาธิการลับ คณะกรรมาธิการลับจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประชุมอภิปรายหารือเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศที่ถือว่าต้องปกปิดเป็นความลับ และตั้งแต่ ค.ศ. 1660 เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการลับทำหน้าที่พิจารณาเรื่องกิจการภายในประเทศด้วย และมีวาระที่ลงรายละเอียดมากขึ้น นั่นคือข้อเสนอที่เป็นความลับ (the Secret Propositions) และถือเป็นที่ประชุมหลักที่จะหลอมรวมให้ได้ซึ่งความเห็นพ้องต้องกัน ก่อนที่จะพิจารณาและยืนยันเป็นวาระที่ประชุมสภาฐานันดรที่รวมฐานันดรทั้งหมด

โดยปกติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกผู้แทนจากฐานันดรทั้งสามไปเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการลับนี้(the Secret Committee) และในปี ค.ศ. 1680 พระองค์ได้ทรงคัดเลือกประธานสภาฐานันดร (Marshal) และผู้แทนไว้ล่วงหน้า นั่นคือ **Claes Fleming** สมาชิกหนุ่มจากตระกูลอภิชนในสวีเดนซึ่งได้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาอย่างมั่นคงโดยตลอด

ขณะเดียวกัน  สภาบริหารแห่งแผ่นดิน (Council of State) จะเข้าร่วมฟังการประชุมของสภาฐานันดร และพร้อมที่จะให้คำปรึกษาต่อฐานันดรต่างๆ และเข้าไปมีส่วนอย่างแข็งขันในการวางกรอบข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น และสภาบริหารแห่งแผ่นดินเป็นศูนย์รวมของการระดมที่มีศักยภาพในการต่อต้านคัดค้านความเห็นของสภาฐานันดร แต่อาจจะมีความเห็นต่างเล็กน้อยต่อพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ที่มีการกำหนดไว้ในข้อเสนอต่างๆ ซึ่งขณะนั้น ข้อเสนอ (the Propositions) ต่อกิจการภายในประกอบด้วยสี่ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่

 ทำอย่างไรถึงจะรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรในอนาคตไว้ได้ ?

ทำอย่างไรถึงจะสร้างกองทัพเรือให้เข้มแข็ง ?

ทำอย่างไรถึงจะสร้างกองทัพบกให้เข้มแข็ง ?

ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาเรื่องเสบียง ? 


จะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญๆดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฎร่องรอยหรือเค้าลางที่จะนำไปสู่เปลี่ยนการปกครองแต่อย่างใด ซึ่งบ่งชี้ว่า สภาบริหารและสภาฐานันดรและพระมหากษัตริย์ขณะนั้นไม่ได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเด็นสำคัญ
อีกทั้งไม่ว่าในการสนทนาตามร้านเหล้า (salons) หรือโรงเตี๊ยม (taverns) ในกรุงสตอคโฮล์มจะดุเดือดรุนแรงแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ขณะเดียวกัน ในการปกครองของสวีเดนในปี ค.ศ. 1680 ไม่มีความชัดเจนว่า ใครหรือองค์กรใดคือผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารพระราโชบายของพระมหากษัตริย์ การบริหารงานของสภาฐานันดรอยู่ในความรับผิดชอบของเลขาธิการและเจ้าหน้าที่กระทรวง (chancery officials) แต่การตัดสินใจต้องกลับไปอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ โดยพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ปราสาทพระราชวังที่ใกล้กับบริเวณที่ประชุมต่างๆ ของฐานันดรทั้งสี่ โดยพระองค์อยู่ในสถานะที่สามารถเปิดให้เข้าเฝ้าได้ตลอดเวลา

และในสภาฐานันดรอภิชน (Riddarhus) นอกจากประธานสภาแล้ว ยังมีผู้นำอีกสองคนคือ  สองพี่น้องตระกูล Wachtmeister นั่นคือ  Hans กับ  Axe  ซึ่งเป็นคนสนิทของพระมหากษัตริย์

ดังที่ปรากฎในบันทึกลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1680 มีความว่า  “ฝ่าพระบาททรงประทับ ณ ปราสาทพระราชวังตลอดทั้งสัปดาห์ จนกระทั่งวันเสาร์เย็น เมื่อพระองค์ทรงเสด็จไปยัง Jakobdal และไม่มีผู้ใดตามเสด็จไปกับพระองค์นอกจาก Wachmeisters” 

ต่อข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งนั้น ไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด แต่ปัญหาคือการหางบประมาณขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิรูปกองทัพ และช่องทางที่จะหางบประมาณดังกล่าวนี้ ทุกฝ่ายได้เพ็งเล็งไปที่การเวนคืนและยึดทรัพย์สินจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่บริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่พระเจ้าชาร์ลที่สิบเอ็ดยังทรงพระเยาว์

โดยตลอดระยะเวลาที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาล และเมื่อพระเจ้าชาร์ลที่สิบเอ็ดเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1675 สภาฐานันดรได้เริ่มมีการตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพุ่งเป้าไปที่อภิชนจากตระกูลสำคัญ

และในปี ค.ศ. 1678 ได้มีการตั้งคณะตุลาการ (the tribunal) ขึ้นเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพุ่งเป้าไปที่อภิชนจากตระกูลสำคัญ และในการยึดทรัพย์สินคืนทำไห้สามารถนำมาเป็นงบประมาณมหาศาลในการปฏิรูปกองทัพได้ และหนทางที่ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษยึดทรัพย์และยุติบทบาททางการเมืองจะขอผ่อนปรนคือการกราบบังคมทูลฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ และนอกจากการยึดทรัพย์ดังกล่าวนี้แล้ว อีกช่องทางหนึ่งที่จะได้งบประมาณคือ การขยายขอบเขตการเวนคืน (reduction) ที่เคยกำหนดไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1655

 Reduktion  คือ กระบวนการทางกฎหมายที่อิงอยู่กับหลักการของการถือครองที่ดินและรายได้ภาษี (lands and revenues) ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นสิทธิ์ที่ไม่สามารถถ่ายโอนได้อย่างเด็ดขาด

ภายใต้หลักการดังกล่าวนี้ แม้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบที่ดินหรือรายได้จากที่ดินให้ผู้ใต้ปกครองอย่างถาวร พระองค์หรือทายาทสามารถเรียกกลับคืนเมื่อไรก็ได้ด้วยเหตุผลของความจำเป็นสาธารณะ มีการใช้หลักการดังกล่าวนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด เพื่อนำไปเป็นงบประมาณสำหรับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ นั่นคือ พระองค์ไม่ทรงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงในการเวนคืนทรัพย์สินดังกล่าวด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงอยู่วงนอกและทรงปล่อยให้สภาฐานันดรรับผิดชอบดำเนินการไปเอง

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า สภาฐานันดรได้กดดันให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (a Commission) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1675 ทำหน้าที่ตรวจสอบและจะต้องรายงานผลในปี ค.ศ. 1680 และภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองขณะนั้น ไม่มีผู้ใดจะออกมาปกป้องคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ปกครองสวีเดนแบบคณาธิปไตยในช่วงที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ที่ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมไปหมดสิ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
 


กำลังโหลดความคิดเห็น