"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ในสมัยแรก (2017–2021) และครั้งที่สองที่เขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2025 นโยบายที่เขาได้ประกาศไว้สำหรับสมัยที่สอง มีทั้งความต่อเนื่องจากแนวคิดและนโยบายเดิม และการปรับเปลี่ยนต่อยอดเพื่อตอบสนองต่อบริบทโลกและสถานการณ์ภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว นโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์สมัยที่สองมีนัยแห่งการเพิ่มระดับความก้าวร้าวและเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น และทำให้การเมืองโลกมีความตึงเครียดมากขึ้นตามไปด้วย
กรอบคิดสำคัญที่เป็นทรัมป์ยังคงใช้เป็นแนวทางการบริหารอย่างต่อเนื่องในสมัยที่สอง คือ การใช้หลักคิด “อเมริกันต้องมาก่อน” (America First) ในการกำหนดนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก่อนทุกประเทศ เช่น การถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า และการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร เพื่อสร้างความพึ่งพาตนเองในด้านเศรษฐกิจและพลังงาน รวมถึงลดบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ
นโยบายหลักอื่น ๆ ที่ทรัมป์ยังคงดำเนินการในลักษณะต่อเนื่องจากเดิมคือ นโยบายการกีดกันทางการค้าและสงครามการค้า ซึ่งทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับจีนผ่านการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า และมุ่งลดขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า เช่น การเจรจาข้อตกลง USMCA ((United States-Mexico-Canada Agreement) แทน NAFTA
นโยบายการควบคุมผู้อพยพ ซึ่งทรัมป์ดำเนินนโยบายเข้มงวดตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก โดยการสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก การห้ามผู้เดินทางจากประเทศมุสลิมบางแห่งเข้าสหรัฐฯ และการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายครั้งใหญ่ นโยบายเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขา
และ นโยบายการลดกฎระเบียบและภาษี ในสมัยแรก เขาออกกฎหมาย "Tax Cuts and Jobs Act" เพื่อลดภาษีและผ่อนปรนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ สมัยที่สองยังคงเน้นลดภาษีเพิ่มเติม เช่น การลดภาษีรายได้จากทิป และยกเลิกภาษีการจ่ายประกันสังคม
สำหรับนโยบายบางอย่างของทรัมป์ในสมัยที่สองมีความแตกต่างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมีหลายประการ ทว่า ความแตกต่างเหล่านั้นไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือหลักการของนโยบาย หากแต่เป็นความแตกต่างเชิงระดับความเข้มข้นของความก้าวร้าวที่มีเพิ่มขึ้นจากนโยบายเดิม และบางนโยบายแตกต่างจากเดิมเพราะการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
ประการแรก การตอบสนองต่อสถานการณ์โลก สมัยแรก ทรัมป์มุ่งเน้นการถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีส และข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยอ้างว่าเป็นภาระต่อสหรัฐฯ โลกในสมัยที่สองของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งระดับโลก เช่น สงครามในยูเครนและการแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะกลายเป็นเวทีใหม่ที่เขาต้องเผชิญ
ทรัมป์ได้แสดงความมั่นใจว่าเขาสามารถยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ภายใน 24 ชั่วโมง” หากเขาได้รับเลือกอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่ชัดเจน แต่เขาชี้ว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขากับวลาดิเมียร์ ปูติน จะช่วยให้เขาเป็นตัวกลางที่สามารถเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งได้ การสัญญานี้สะท้อนถึงรูปแบบการทูตของทรัมป์ที่มักอาศัยการเจรจาโดยตรงกับผู้นำประเทศ มากกว่าการพึ่งพากลไกระหว่างประเทศ
ประการที่สอง การลดบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ โดนัลด์ ทรัมป์มีทัศนคติที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเขามองว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างแท้จริง และมักใช้งบประมาณจากสหรัฐฯ อย่างไม่สมเหตุสมผล แนวทางของเขาสะท้อนถึงการผลักดันนโยบาย “America First” ที่เน้นให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมกับการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรเหล่านี้เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสหรัฐฯ
ทรัมป์วิจารณ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ COVID-19 เขากล่าวหาว่า WHO บริหารจัดการล้มเหลวและมีความลำเอียงต่อจีน ในปี 2020 ทรัมป์ประกาศถอนตัวจาก WHO พร้อมตัดงบประมาณสนับสนุน โดยระบุว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้รับการตอบแทนที่เหมาะสม
ทรัมป์ยังวิจารณ์สมาชิกนาโต้ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ที่ใช้งบประมาณด้านการทหารต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ (2% ของ GDP) เขากดดันให้ประเทศสมาชิกเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ พร้อมขู่ว่าสหรัฐฯ อาจลดบทบาทในการสนับสนุนด้านการป้องกัน หรือถอนตัวจากนาโต้ หากประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม
และเขายังแสดงความไม่พอใจต่อ องค์การการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่ากฎของ WTO ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ และเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน เขาขู่ว่าสหรัฐฯ อาจถอนตัวจาก WTO หากไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ
ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่สองของทรัมป์ มีแนวโน้มสูงที่เขาจะเพิ่มความเข้มงวดในการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ลดงบประมาณสนับสนุนที่สหรัฐฯ จ่ายให้กับองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง เพื่อใช้เงินดังกล่าวสนับสนุนนโยบายภายในประเทศ และเน้นการทำงานร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะทวิภาคี (bilateral agreements) แทนการพึ่งพาองค์กรขนาดใหญ่
ทรัมป์อาจพิจารณาถอนตัวจากองค์กรที่เขามองว่าไม่ส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน เช่น องค์การนาโต้ (NATO) หากประเทศสมาชิกยังไม่เพิ่มงบประมาณทางการทหารตามที่เขากดดัน ทรัมป์อาจลดบทบาททางทหารของสหรัฐฯ ในยุโรป หรือแม้กระทั่งถอนตัวออกจากนาโต้ หรือองค์การการค้าโลก (WTO) หากไม่มีการปรับปรุงกฎการค้าตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ การถอนตัวจาก WTO อาจเป็นตัวเลือกที่เขานำมาใช้
และทรัมป์อาจผลักดันการสร้างองค์กรหรือกลไกใหม่ที่สหรัฐฯ มีบทบาทนำและควบคุมได้มากขึ้น เช่น การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางเศรษฐกิจหรือการค้า ที่มีข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ โดยตรง
การถอนตัวหรือการลดบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศอาจสร้างความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรเดิม เช่น ยุโรป และประเทศในเอเชียแปซิฟิก ความไม่แน่นอนในบทบาทของสหรัฐฯ อาจเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่ง เช่น จีน หรือรัสเซีย เข้ามามีอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศแทน
หากสหรัฐฯ ถอนตัวจากองค์กรสำคัญ เช่น WHO, WTO หรือ NATO ระบบความร่วมมือระหว่างประเทศอาจเปลี่ยนไปในลักษณะที่ไม่มีประเทศผู้นำที่ชัดเจน ทำให้การจัดการปัญหาโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือความมั่นคงระหว่างประเทศ เป็นไปได้ยากขึ้น และอาจส่งผลต่อระบบการค้าโลกและความมั่นคงในยุโรป รวมถึงการลดความไว้วางใจที่ประเทศพันธมิตรมีต่อสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดความร่วมมือในด้านอื่น ๆ
ประการที่สาม การปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรม สมัยแรก ทรัมป์เน้นแต่งตั้งผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยมเพื่อส่งเสริมแนวคิดอนุรักษนิยมในศาลสูง ขณะที่สมัยที่สอง ทรัมป์สัญญาว่าจะใช้อำนาจในการอภัยโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บุกสภาคองเกรสในปี 2021 โดยให้เหตุผลว่าผู้เข้าร่วมเหล่านี้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรมและถูก “ทำให้เป็นแพะรับบาป” ทางการเมือง
การอภัยโทษในกรณีนี้อาจทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำความผิดฐานกบฏหรือก่อความไม่สงบที่บั่นทอนระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ อาจส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรือความพยายามล้มล้างระบบประชาธิปไตยในอนาคต เนื่องจากขาดการลงโทษที่เข้มงวด
ความตั้งใจที่สำคัญของเขาอีกประการคือ การปลดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเขา ทรัมป์แสดงความตั้งใจที่จะปลดเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม (DOJ) และ FBI ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเขาในหลายกรณี เช่น การสอบสวนกรณีเอกสารลับที่พบในบ้านพักของเขา (Mar-a-Lago) ซึ่งระบุว่าการสอบสวนดังกล่าวเป็น “การล่าแม่มด” เพื่อโจมตีทางการเมือง หรือการสอบสวนกรณีการแทรกแซงผลการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสอบสวนนี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและมีแรงจูงใจทางการเมือง การปลดเจ้าหน้าที่ในกระบวนการสอบสวนและการใช้อำนาจอภัยโทษอย่างกว้างขวางในลักษณะนี้ อาจทำให้เกิดข้อกังวลว่าทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าการปกป้องระบบนิติธรรมของประเทศ
ประการที่สี่ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สมัยแรกทรัมป์เน้นดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ เมื่อก้าวเข้าสู่สมัยที่สอง ทรัมป์ไม่ได้เพียงพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เขาเสนอแผนการเก็บภาษีศุลกากรใหม่ที่สร้างความตื่นตระหนกและความคาดหวังในเวลาเดียวกัน ในการปราศรัยหลายครั้ง ทรัมป์ได้ยืนยันว่า ทุกสินค้านำเข้าที่เข้าสู่สหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีอย่างน้อย 10% เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ
นโยบายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตกลับมายังอเมริกา และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศต่าง ๆ และที่สำคัญทรัมป์จะยกระดับสงครามการค้ากับจีนด้วย การเสนอภาษีศุลกากรสูงถึง 60% สำหรับสินค้าจีน โดยกล่าวว่าจีนเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ นโยบายนี้มุ่งหวังที่จะลดความได้เปรียบทางการค้าของจีน และส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศแทน
อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรในระดับสูงทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เช่น จีน ยุโรป และแม็กซิโก เริ่มตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน ถึงกระนั้น ทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ สามารถอดทนต่อผลกระทบระยะสั้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ประการที่ห้า การใช้ประเด็นด้านวัฒนธรรมและสังคมในการสร้างความจงรักภักดีต่อค่านิยมอเมริกัน วัฒนธรรมและสังคมกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้สร้างความนิยมและส่งเสริมอุดมการณ์ของเขา ในสมัยแรก เขามุ่งเน้นปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของสหรัฐฯ และสร้างภาพลักษณ์ของ “อเมริกาแท้” ผ่านการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เขามองว่าเป็นภัยต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ ในขณะที่ในสมัยที่สอง แนวทางดังกล่าวพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้มงวดในระบบตรวจสอบผู้อพยพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาในประเทศยอมรับและปฏิบัติตามค่านิยมอเมริกัน
ในช่วงที่การเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติ เช่น Black Lives Matter ทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ มีการเรียกร้องให้ลบรูปปั้นและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับยุคการเหยียดผิวหรือสงครามกลางเมือง เช่น รูปปั้นของผู้นำฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederate Leaders) ทรัมป์ออกมาปกป้องสัญลักษณ์เหล่านี้ โดยกล่าวว่าการลบรูปปั้นเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และเป็นการโจมตีค่านิยมแบบดั้งเดิมของอเมริกา
เขายังออกคำสั่งบริหารเพื่อปกป้องอนุสาวรีย์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พร้อมระบุว่าผู้ที่ทำลายทรัพย์สินดังกล่าวต้องเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรง และทรัมป์ยังใช้ประเด็นทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อดึงดูดฐานเสียงอนุรักษนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นแรงงานและคนอเมริกันผิวขาวในชนบทที่มองว่าค่านิยมดั้งเดิมของพวกเขากำลังถูกคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม
เมื่อเขาก้าวขึ้นมามีอำนาจในสมัยที่สองก็จะผลักดัน นโยบายตรวจสอบ “ความจงรักภักดีต่อค่านิยมอเมริกัน” ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศว่าจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบอุดมการณ์และความเชื่อของผู้ที่ต้องการอพยพเข้าสหรัฐฯ โดยจะใช้ระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ (Identity Vetting System) เพื่อตรวจสอบว่าผู้ยื่นขอวีซ่าหรือสถานะพลเมืองมีความเข้าใจและยอมรับ “ค่านิยมอเมริกัน” หรือไม่
ระบบนี้มุ่งเน้นการตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคล การสนับสนุนประชาธิปไตย และการปฏิเสธแนวคิดสุดโต่ง เช่น การก่อการร้ายหรือความคิดที่ขัดแย้งกับค่านิยมของสหรัฐฯ และนโยบายนี้ยังมุ่งหวังที่จะลดการอพยพจากประเทศที่ถูกมองว่ามีแนวคิดหรือวัฒนธรรมที่อาจขัดแย้งกับเสรีภาพและประชาธิปไตยแบบอเมริกัน
ผลกระทบของนโยบายด้านวัฒนธรรมและสังคมของทรัมป์ โดยเฉพาะการปกป้องรูปปั้นและสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมที่ต้องการปกป้องประวัติศาสตร์ และกลุ่มเสรีนิยมที่มองว่าสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นตัวแทนของการกดขี่และความไม่เท่าเทียม และนโยบายตรวจสอบอุดมการณ์ของผู้อพยพอาจส่งผลให้จำนวนผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ ลดลง โดยเฉพาะจากประเทศที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างจากแนวคิดอเมริกัน การสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มงวดอาจกลายเป็นกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้คนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงโอกาสในสหรัฐฯ ได้
ประการที่หก ความสัมพันธ์กับพันธมิตรและศัตรู ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สะท้อนแนวทางการบริหารปกครองของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขานำแนวคิด “America First” มาใช้เพื่อกำหนดรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับทั้งพันธมิตรและศัตรูของสหรัฐฯ ทรัมป์ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองของเขา
ในสมัยแรก เขาใช้แนวทาง การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับศัตรูและกดดันพันธมิตร ทรัมป์มีแนวทางการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยเขาเน้นสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำประเทศที่ถูกมองว่าเป็น “ศัตรู” หรือมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในระดับประเทศ เช่น คิมจองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ซึ่งทรัมป์พบปะกับคิมจองอึนถึงสามครั้ง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เนื่องจากไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดเคยพบปะผู้นำเกาหลีเหนือมาก่อน ทรัมป์ใช้โอกาสนี้เพื่อผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จในเชิงปฏิบัติ
ผู้นำต่างชาติอีกคนหนึ่งที่ทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีคือ วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ทรัมป์มักแสดงออกถึงความชื่นชมต่อปูติน แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยรัสเซีย การพบปะระหว่างทรัมป์และปูตินในปี 2018 ที่เฮลซิงกิ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย เมื่อทรัมป์เลือกที่จะไม่ประณามรัสเซียในประเด็นการแทรกแซงดังกล่าวอย่างชัดเจน
ในทางกลับกัน ทรัมป์ไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรในยุโรปและแคนาดา โดยกล่าวหาว่าประเทศเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากเกินไป ตัวอย่างเช่น ทรัมป์กดดันให้สมาชิกนาโต้เพิ่มงบประมาณทางการทหาร โดยวิจารณ์ว่าประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ใช้จ่ายด้านการป้องกันต่ำเกินไปในขณะที่พึ่งพาการปกป้องจากสหรัฐฯ
ในสมัยที่สอง ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อพันธมิตรในนาโต้และภูมิภาคอื่น ๆ ให้รับผิดชอบต่อการป้องกันประเทศของตนเองมากขึ้น เช่น การเพิ่มเป้าหมายการใช้จ่ายทางการทหารในประเทศสมาชิกนาโต้เป็นมากกว่า 2% ของ GDP การลดการสนับสนุนทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ยุโรปและเอเชีย เพื่อบีบให้พันธมิตรรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเขามุ่งเน้นยุติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับจีนอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มภาษีศุลกากรสูงถึง 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อให้บริษัทอเมริกันหยุดพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีน และการออกกฎหมายและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ และการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่สำคัญ
ผลกระทบของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรของสหรัฐมีความเปราะบางมากขึ้น การกดดันพันธมิตร เช่น เยอรมนี แคนาดา และเม็กซิโก อาจทำให้ความไว้วางใจและความร่วมมือในระยะยาวลดลง โดยเฉพาะในด้านการป้องกันประเทศและการค้าระหว่างประเทศ
และนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนและรัสเซียอาจทำให้เกิดการแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายสนับสนุนสหรัฐฯ และฝ่ายที่ร่วมมือกับจีนหรือรัสเซีย ส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบการเมืองโลก รวมทั้งสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานโลก การลดการพึ่งพากันอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการลงทุนและการค้าอย่างมหาศาล
กล่าวโดยสรุป หลักคิดและนโยบายของทรัมป์ที่เหมือนเดิมคือ ยังคงเน้นนโยบายที่สะท้อนแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ การลดภาษี การกีดกันทางการค้า และการปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของสหรัฐฯ แนวคิด “America First” ยังคงเป็นแกนหลักของนโยบายทั้งสองสมัย
ส่วนที่แตกต่างคือ สมัยที่สองทรัมป์ได้เพิ่มความเข้มข้นของนโยบายที่มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นสงครามการค้า การควบคุมอพยพ และการเผชิญหน้ากับจีน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบราชการ และกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศก็เข้มข้นขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ในภาพรวม กล่าวได้ว่านโยบายในสมัยที่สองของทรัมป์สะท้อนถึงความพยายามที่จะสร้างอำนาจของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสถียรภาพในระดับโลก