ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดศักราชใหม่มาไม่ทันไร ก็เกิดข่าวร้อนในแวดวง “ตลาดหุ้นไทย” โผล่มาให้ต้องไขปริศนากันอีกแล้วว่า “เกิดอะไรขึ้น” นั่นก็คือ “หุ้นเฮียฮ้อ” หรือ “หุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)” ที่มีชื่อย่อว่า RS รูดติดฟลอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับหุ้นบริษัทในเครืออย่าง บริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 25677 หุ้น RS ราคาอยู่ที่ 5.50 บาท สู่ระดับ 2.62 บาทในวันที่ 8 มกราคม 2568 หรือลดลง 2.88 บาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 52.3% ส่วนหุ้น RSXYZ ที่ปิดตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่ 2.16 บาท ทำราคาต่ำสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ 0.82 บาท ลดลง 1.34 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 62%
รวมๆ ทำให้มูลค่าของหุ้น RS หายไปคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว และถ้ายังไม่หยุด ก็น่าจะทำให้บรรดาผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ตลอดรวมถึงกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แรงเทขาย “หุ้นเฮียฮ้อ” ทั้ง 2 ตัวมีที่มาที่ไปจากอะไรคือ คำถามสำคัญที่สังคมกระหายใคร่รู้
แน่นอน ถ้าพูดถึง RS ก็ย่อมต้องกล่าวถึงบุคคลสำคัญนั่นก็คือ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ซึ่งเป็นถือหุ้นใหญ่ของ RS สัดส่วน 22.32% หรือ 487 ล้านหุ้น และถือหุ้นใน RSXYZ สัดส่วน 16.35% หรือ 257 ล้านหุ้น
ข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วแวดวงคนเล่นหุ้นสำหรับแรงเทขาย “หุ้น RS” ก็คือ เป็นผลมาจาก ถูกบังคับขาย (Forced sell) จาก การจำนำหุ้นนอกตลาด ซึ่งหากย้อนดูข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร ก็พบรายงานการซื้อขายหุ้นอย่างต่อเนื่องและขายหุ้นออกมาจำนวนมาก “จริงอย่างที่ว่า”
โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนย้อนหลังที่มูลค่ารวมกว่า 175,432,500 บาท
นอกจากนี้ยังพบ RS มีหุ้นค้ำมาร์จิ้นรวม 222,101,798 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.18% ต่อจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์อีกด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบผลประกอบการของ RS ก็พบว่า ตัวเลข “กำไรสุทธิ” มีสัญญาณที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ที่บริษัทมีกำไรสุทธิเพียงแค่ 12.21 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขกำไรก่อนหน้านั้นสูงกว่าหลายเท่า กล่าวคือ ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 127.35 ล้านบาท ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 137.07 ล้านบาท และปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1395.23 ล้านบาท
น่าสนใจว่า จากผลกำไรกว่า 1 พันล้านในปี 2566 ทำไมกำไรถึงได้ลดฮวบฮาบอยู่แค่ “หลักสิบล้าน” ในช่วงปี 2567 ซึ่งคำตอบก็คงหนีไม่พ้น “ผลประกอบการมีปัญหา” อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า RS มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 1 ปีข้างหน้าอยู่ประมาณ 500 ล้านบาท แต่มี “กระแสเงินสด” อยู่ในมือราว 300 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนความเสี่ยงที่อาจมีเงินไม่พอในการชำระคืนหนี้ดังกล่าวในอนาคตได้
แต่กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งก็ยังมองว่า RS มีแนวทางดำเนินการได้หลายทาง เช่น รีไฟแนนซ์ หรือการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อมาชำระหนี้ดังกล่าว รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุน
หนักไปกว่านั้นคือ ถ้าพิจารณาผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงาน ออกมาในลักษณะชะลอตัวลงหรือถึงขั้นติดลบ ก็จะกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว
ทั้งนี้ โอกาสที่ผลประกอบการจะแย่ว่าที่นึกก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะในช่วงหลักธุรกิจของ RS ไม่สู้ดีหนัก ทั้งในฝั่งของทีวี และธุรกิจอาหารเสริม ส่งผลให้ธุรกิจทั้งกลุ่มอยู่ในสภาวะชะลอตัว
ทว่า หากผลประกอบการไตรมาส 4/67 ที่จะรายงานออกมาในช่วงเดือน กุมภาพันธ์นี้ ออกมาดี จะลดความเสี่ยงของประเด็นดังกล่าวลงได้
อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “กระแสข่าวลือ” เกี่ยวกับการนำหุ้นไปจำนำเป็น “เรื่องจริง” โดยได้รับการเปิดเผยจาก “นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ามีการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันมาร์จิ้นโลน จำนวน 222 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท
โดยในปัจจุบัน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทให้มีการชี้แจงแต่อย่างใด เนื่องจากการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันมาร์จิ้นโลนของผู้บริหาร RS นั้น ถือเรื่องของผู้ถือหุ้นเอง และหุ้นถือเป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลจะนำไปทำเช่นไรก็เป็นสิทธิส่วนเฉพาะบุคคลนั้นๆ โดยตลท. มีหน้าที่เพียงกำกับดูแลและการเปิดข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น
“เรื่องการถูกบังคับขายของ RS ขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รับทราบเรื่องแล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพียงแต่ว่าในรูปการครั้งนี้เป็นการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันมาร์จิ้นโลนของผู้ถือหุ้น RS ดังนั้นแล้วอำนาจในการกำกับดูแลจึงไม่ได้อยู่ในขอบเขตของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานก.ล.ต. มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ถึงมาตรการกำกับและดูแลแรื่องบัญชีมาร์จิ้น เบื้องต้นคาดว่าไม่เกินกลางก.พ.68 จะได้เห็นความเป็นรูปธรรม”โฆษก ตลท.กล่าว
ด้าน “นายวิทวัส เวชชบุษกร” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า กรณีราคาหุ้นของ RS ที่มีการปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากกลไกของตลาดและปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัท
สำหรับข่าวจากสื่อมวลชนบางสำนักที่ระบุว่าผู้บริหารของบริษัทฯ มีการขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข (Forced sell) บริษัทฯ ไม่ทราบถึงประเด็นดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยืนยันว่า ไม่มีปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินงานของบริษัทฯ ยังเดินหน้าไปตามวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ในปี 2568
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า นอกจากหุ้น RS แล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายบริษัทที่มีปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันคือ มีการนำหุ้นไปจำนำเพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM เป็นต้น
ในประเด็นดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะรวบรวมข้อมูลการจำนำหุ้นผ่านระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD มาเปิดเผยให้ผู้ลงทุนได้รับทราบ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับการรายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น (มาร์จิ้นโลน) ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดเผยแบบรายเดือน โดยคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในเดือนก.พ. 68 นี้
สำหรับข้อมูลเรื่องการจำนำหุ้น โฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ถือเป็นปัญหาที่ ตลท.และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือกันมาอย่างต่อเนื่อง แม้การเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เป็นการช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมากขึ้น
โดยความตั้งใจของทางตลาดหลักทรัพย์ คือ ต้องการให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาโฟกัสที่ธุรกิจของตัวเองมากกว่า เพราะการนำหุ้นไปจำนำไม่รู้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นไปโฟกัสที่ตรงไหน ดังนั้น ทั้งทางตลาดหลักทรัพย์ และสำนักลงาน ก.ล.ต. ก็ได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อสามารถทำหน้าที่กำกับดูแลและออกมาตรการมาช่วยเหลือเพิ่มเติม
ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษากรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ส่วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนควบคู่การเปิดข้อมูลต่างให้แก่นักลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ ร่วมด้วย
สำหรับ RS ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จำนวน 487,099,998หุ้น คิดเป็น 22.32% 2.นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ จำนวน 215,600,000 หุ้น คิดเป็น 9.88% 3.นายวีรพัฒน์ พูนศักดิ์อุดมสิน จำนวน 147,670,400 หุ้น คิดเป็น 6.77% 4.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 110,730,180 หุ้น คิดเป็น 5.07%
5.บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 105,000,000 หุ้น คิดเป็น 4.81% 6.น.ส.อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา จำนวน 104,500,000 หุ้น คิดเป็น 4.79% 7.น.ส.พัทธ์ธีรา ไพรัชเวทย์ โดย บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 84,920,786 หุ้น คิดเป็น 3.89% 8.นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา จำนวน 74,097,320 หุ้น คิดเป็น 3.40% 9.นายพงศา ไพรัชเวทย์ โดย บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 63,130,888 หุ้น คิดเป็น 2.89% และ 10.นายลิขิต ลือสกุลกิจไพศาล จำนวน 58,394,160 หุ้น คิดเป็น 2.68%