xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นร. - นศ.” เป้าหมายใหญ่ “บุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่” ออกกฎสกัด “นักสูบหน้าใหม่” จะได้ผลจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  รื้อกฎกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุมความประพฤติของนักเรียน - นักศึกษาฉบับใหม่ คุมเข้มป้องกันสถานการณ์ยาเสพติดในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ “บุหรี่ไฟฟ้า – บารากู่” ตั้งเป้าเป็นการสกัดกั้น “นักสูบหน้าใหม่” ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี 

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ  “ร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. ....”  เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งสาระสำคัญของ ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

กล่าวคือจากเดิมกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดห้ามมิให้นักเรียน และนักศึกษา ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุราหรือสิ่งมึนเมา บุหรี่ หรือยาเสพติด หากแต่ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า หรือวัตถุออกฤทธิ์อื่นๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา และอารมณ์ของเด็กและเยาวชน

ศธ.จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดโดยเพิ่มเติมลักษณะของการกระทำที่ต้องห้าม เช่น แจกให้ส่งมอบ มีไว้เพื่อขาย สูบ ครอบครอง หรือการกระทำอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และเพิ่มเติมสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า วัตถุออกฤทธิ์อื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น อัลปราโซแลม (นำไปเสพร่วมกับยาน้ำแก้ไอ น้ำใบกระท่อมต้ม)

หากนักเรียนหรือนักศึกษาฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะมีบทลงโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งมี 4 สถาน ได้แก่ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โดยคาดว่าการกำหนดเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า หรือวัตถุออกฤทธิ์อื่นใดของนักเรียนและนักศึกษาลดน้อยลงซึ่งจะเกิดผลกระทบเชิงบวกต่องบประมาณด้านสาธารณสุข ลดภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงให้นักเรียนและนักศึกษาห่างไกลจากสิ่งเสพติดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หลังจาก ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ มีความเคลื่อนไหวของสภานักเรียนระดับประเทศ ได้นำเสนอประเด็นปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร สาระสำคัญเพื่อป้องกันให้ทุกคนห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าและรู้เท่าทันภัยออนไลน์ โดยขอรับการสนับสนุนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ผลิต ผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามและทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบข้อมูลออนไลน์พร้อมทั้งเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับออนไลน์อย่างจริงจัง

หากย้อนดูแนวทางป้องกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมาภาครัฐตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กไทยตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนออกกฎเกณฑ์กำหนดบทลงโทษเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติประพฤติตัวดี แต่ด้วยช่วงวัยอยากรู้อยากลองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ให้ห่างไกลยาเสพติดร้อยเปอร์เซ็นต์

 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งใหม่ๆ

อ้างอิงผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า/พอต ของเยาวชนไทย จำนวน 40,164 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 – 27 พฤษภาคม 2567 โดยกองสุขศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร พบว่าเยาวชนไทยอายุระหว่าง 6 - 30 ปี มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 18.60 เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เพศชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด ร้อยละ 21.49 รองลงมา LGBTQ+ ร้อยละ 19.73 และเพศหญิง ร้อยละ 16.22

 ผลสำรวจยังเปิดเผยให้เห็นว่าเยาวชนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า คือ เข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ ร้อยละ 61.23, เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย ร้อยละ 51.19, เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ร้อยละ 26.28, เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ร้อยละ 23.28, เข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ร้อยละ 12.53 และมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้า/พอต อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ร้อยละ 50.2 

“จากผลการสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเยาวชน ยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและยังมีความเชื่อที่ผิด เพราะในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่งผลเสียต่อระบบหายใจ ระบบหลอดเลือดสมอง ระบบประสาทและสมองและอื่นๆ” นพ.สุระ ระบุ




ขณะที่ งานวิจัยเรื่อง  “สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน หรือ Heated tobacco products (HTPs) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs สูงถึง 68% ซึ่งมากกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา”  โดย ศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้า HTPs ไม่ได้ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดาตามที่มีการกล่าวอ้างหรือมีความเชื่อต่อๆ กันมา แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์คนละประเภทแม้จะไม่มีการเผาไหม้ แต่ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยกว่า เพราะมีสารพิษที่แตกต่างกัน ซึ่งบุหรี่ HTPs มีสารพิษหลายชนิดที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา

ที่สำคัญองค์กรสุขภาพอย่างองค์การอาหารและยาสหรัฐ (US FDA) ก็ประกาศชัดเจนว่า ห้ามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้า HTPs เป็นผลิตภัณฑ์ลดอันตราย ซึ่งนอกจากเรื่องอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานด้านสุขภาพใดในโลกที่รับรองว่าบุหรี่ไฟฟ้า HTPs ช่วยทำให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้


ที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลจาก ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ เปิดเผยว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากบุหรี่มวน โดยใช้การตลาดการ์ตูน ปรับรูปร่างหน้าตาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 ‘toy pod’ หรือบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา ที่ผลิตเลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนฮิต อาร์ตทอย ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้ ไปจนถึงเครื่องเขียน ชนิดเลียนแบบได้เหมือนสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และสีสัน และมีขนาดเล็ก ซึ่ง toy pod ใช้นิโคตินปรับโครงสร้างหรือนิโคตินสังเคราะห์ทำให้สูบง่ายไม่ระคายคอ มีนิโคตินสูง 3-5% สูบได้นานถึง 8,000-15,000 พัฟฟ์

toy pod จะผลิตเลียนแบบตัวการ์ตูนตุ๊กตายอดฮิต โดราเอมอน Super Mario โปเกม่อน บางรุ่นเลียนแบบอาร์ตทอยชื่อดังอย่างตุ๊กตา Molly ตุ๊กตา plush หรือตัวการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ บางรุ่นสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาเองเป็น brand character เช่น การ์ตูนโจรสลัด โดยขายสินค้าผ่านการผจญภัยของตัวการ์ตูนและเหล่าสมุน บางรุ่นทำเหมือนของเล่นเลโก้ และผลิตออกมาเป็นคอลเลกชันคล้ายของสะสม แต่ละชุดมี 10-12 ตัว มีชื่อเรียกแต่ละชุด มีสีแตกต่างกันเพื่อบอกรสชาติ กลิ่นหอม รสชาติผสมผสานกันทั้งผลไม้ ความเย็น และลูกกวาด เช่น รสแตงโม พีช มิ้นท์

“เป็นที่น่าตกใจที่การตลาดล่าเหยื่อเด็กนี้ประสบความสำเร็จ จากการมีข่าวว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนระดับประถม ล่าสุดพบเด็ก ป.1 (6 ขวบ) พกบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นพ่อแม่ ครูและโรงเรียน ควรต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะ toy pod ออกแบบช่วงปากสูบให้กลมกลืนไปกับตัวตุ๊กตา จนอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า หากนำมาวางปนกันกับของเล่น อาจแยกไม่ออกว่าอันไหนคือของเล่นจริง อันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อ้างอิงผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยปี 2565 พบว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3% เป็น 17.6% หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จากปี 2558

นอกจากนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในมิติเศรษฐศาสตร์ พบว่าเด็กและเยาวชนสูญเสียเงินซื้อสูงปีละ 26,944 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท โดยแหล่งที่มาของเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากครอบครัว

โดยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนใน กทม. จำนวน 400 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 13-24 ปี ซึ่งเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 56.5% ได้รับเงินจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง 87.75% มีรายได้ระหว่าง 500-2,000 บาท/สัปดาห์

สำหรับเงินที่นำมาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 54.50% ได้จากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ยสูงถึงปีละ 26,944 บาท หรือเดือนละ 2,245 บาท 73% ใช้เงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้า 501-1,000 บาท/สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังพบว่าการที่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่กำกับกิจการภาพยนตร์หรือละครทางโทรทัศน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ปล่อยให้มีตัวละครในภาพยนตร์หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึงมากที่สุด 16.25% และปานกลาง 38.25% เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 54.50% ตอกย้ำได้ว่า สื่อบุคคลอย่างผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์หรือตัวละครในภาพยนตร์มีผลต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน

สำหรับความเคลื่อไหวของรัฐ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ดำเนินการปลูกฝังค่านิยม เปลี่ยนเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเงินออม ตามแนวคิด Happy New Life คือ มีความสุขในชีวิตทั้งมิติสุขภาพและมิติทางด้านการเงิน ด้วยการเปลี่ยนเงินที่ซื้อบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าและสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายมาเป็นเงินออมและลงทุนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของครอบครัวในอนาคต

 นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ  เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) เปิดเผยว่าเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษายังไม่ได้ประกอบอาชีพ รายได้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวหรือผู้ปกครอง การที่เด็กและเยาวชนสูญเสียเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท หากนำเงินจำนวนนี้มาออมหรือลงทุนทุกเดือน 30 ปี (360 เดือน) และมีอัตราผลตอบแทนการฝากเงินหรือลงทุนรวมกันประมาณ 5% ต่อปี จากการคำนวณผ่านโปรแกรมคำนวณเงินออมของธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำให้มีผลตอบแทนรวมกับเงินต้นที่ออมหรือลงทุนสูงถึง 1,879,355 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 808,200 บาท และดอกเบี้ยหรือผลกำไร 1,071,155 บาทเลยทีเดียว

ด้าน  ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้จริยธรรมนี้ นอกจากจะพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้เย้ายวนเด็กอายุเล็กลงเรื่อยๆ ยังพัฒนาสถานที่ และส่งเสริมการขาย ในสื่อโซเชียลที่ถูกใจและตรงกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ด้วย จากรายงานการเฝ้าระวังการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ช่วงม.ค.-ก.พ. ปี 2567 โดย น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมากถึง 309 บัญชีรายชื่อ มีการโพสต์ 605 ครั้ง ส่วนใหญ่ 66.7% เป็นผู้ขายรายเก่าที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนปี 2567 รองมาคือ 33% เป็นผู้ขายรายใหม่ที่ลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ปี 2567 โดยลักษณะการขายส่วนใหญ่ 54.4% เป็นผู้ขายย่อย 44.7 ขายส่ง/รับตัวแทนขาย และ 1% รับรีวิว ทั้งนี้ 29.1% ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) มากที่สุด รองมาคือ 26.9% เฟซบุ๊ก 17.5% อินสตาแกรม 15.2% เว็บไซต์ 7.4% ไลน์ 3.6% ติ๊กต๊อก และ 0.3% ยูทูบ

ทั้งนี้ กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่นออนไลน์ เน้นโพสต์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก แถม และลดราคา จนกระทั้งเกิดการซื้อขาย ส่งถึงบ้าน มีเก็บเงินปลายทาง โดยผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่นิยมโพสต์ขายมากที่สุด คือ 89.3% pod รองมาคือ 6.3% ชุดบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมสูบ และ 4% เครื่องเปล่า โดยแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ความชอบของคนรุ่นใหม่ เริ่มมีการรายงานพบตู้กดขายบุหรี่ไฟฟ้า

 คงต้องติดตามกันว่า กฎกระทรวงฯ คุมความประพฤติของนักเรียน – นักศึกษา ว่าด้วยเรื่องสารเสพติดจำพวก “บุหรี่ไฟฟ้า – บารากู่” จะสามารถสกัด “นักสูบหน้าใหม่” ที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องได้มากน้อยเพียงใด เพราะด้วยช่วงวัยอยากรู้อยากยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ นับเป็นโจทย์ท้าทายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง. 


กำลังโหลดความคิดเห็น