ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การรอดพ้นจากเงื้อมมือขบวนการค้ามนุษย์ของนักแสดงชาวจีน “ซิงซิง” ที่ทางการไทยประสานกับกองกำลังชาติพันธุ์ช่วยเหลือออกมาได้จาก “ดงจีนเทา” พร้อมตีปี๊บอวดผลงานครึกโครม เป็นการกลบเกลื่อนปัญหาที่ทั้งรัฐไทย รัฐพม่า และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำเพิกเฉยปล่อยกลุ่มจีนเทาเหิมเกริมเติบใหญ่มาโดยตลอด
คำถาม (อีกครั้ง) คือรัฐบาลเพื่อไทย จะปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ได้อย่างไรในเมื่อไม่ลงมือขุดรากถอนโคนแก้ปัญหาที่ต้นตอ เพราะแก๊งค้ามนุษย์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นของคู่กัน ยังไม่นับคำคุยโวของ “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ป่าวประกาศว่าปีนี้จะจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เกลี้ยง ที่ดูทรงแล้วคงเป็นการพูดเอามันในการหาเสียงช่วยผู้สมัคร อบจ. เชียงใหม่ เท่านั้น
ต้องไม่ลืมว่า ความปลอดภัยในการเดินทางมาไทย ยังเป็นประเด็นที่โลกออนไลน์ของจีนให้ความสนใจมาตลอด และเมื่อเกิดกรณีของ “ซิงซิง” ยิ่งทำให้คนจีนเกิดความไม่มั่นใจ หากไม่ใช่ดาราหรือคนดังจะมีโอกาสได้กลับบ้านอีกครั้งหรือไม่ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย และขอให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาจริงจัง ไม่ใช่เพียงให้คำมั่นว่ามีความปลอดภัย แต่ยังมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจลดลง
โลกออนไลน์ของจีน ยังตั้งคำถามสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม คือ แม้ผู้ก่อเหตุอาจไม่ใช่คนไทย แต่ทำไมอาชญากรเหล่านี้ถึงเลือกไทยเป็นจุดลงมือ เพราะประเทศไทยมีช่องโหว่ให้เชื่อว่าเป็นพื้นที่เหมาะแก่การหลอกลวงหรือก่อเหตุ ใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถึงกรณีที่“กองกำลังป้องกันชายแดน (BGF)” ว่าเป็นผู้พบตัวซิงซิงแล้วนำตัวมาส่งให้ไทยนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้นำของ BGF ก็คือ “ซอ ชิ ตู” ซึ่งเคยสวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมา พร้อมกับได้รับอำนาจปกครองระดับหนึ่ง พ่วงด้วยการแบ่งผลประโยชน์กันจากธุรกิจสีเทา
โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ “ซอ ชิ ตู” มีกับ “บริษัทย่าไท่อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นของ “เสอจื้อเจียง” บอสใหญ่ของวงการจีนเทา รวมทั้ง “กลุ่มบริษัทตงเหม่ย”ซึ่งนำโดย “อิ่นกั๋วจวี” อดีตหัวหน้าแก๊ง 14K ที่มีอิทธิพลอย่างมากในแถบเอเชีย
ศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งทำวิจัยและเขียนหนังสือเรื่องทุนนิยมคาสิโน บอกเล่าผ่าน “สำนักข่าวชายขอบ” ว่า มีข้อมูลในพื้นที่ว่าอาคารแห่งหนึ่งในเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นศูนย์กลางคล้ายกับตลาดค้ามนุษย์ เพราะมีเหยื่อชาวจีนหลบหนีออกมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เป็นข่าว กรณีที่เกิดขึ้นกับดาราจีน ซิงซิง เข้าใจว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพล่อลวงคนมากักขังไว้ตึกแห่งนี้ เพื่อรอให้กลุ่มอาชญากรรม เช่น สแกมเมอร์ พนันออนไลน์ มาซื้อตัวเอาไป
เส้นทางขบวนการค้ามนุษย์ บางคนถูกหลอกไปทำงานที่เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย บางคนถูกหลอกไปสามเหลี่ยมทองคำ และถูกขายเป็นทอดๆ ส่วนฝั่งเมียวดี ตรงข้ามแม่สอด เป็นฮับค้ามนุษย์ใหญ่มีคนหลายชาติถูกบังคับให้ทำงาน บางตึกมีแต่เหยื่อชาวจีน บางตึกมีคนหลายชาติ เป็นเรื่องใหญ่ที่ฮับค้ามนุษย์เมืองเมียวดีใช้ไทยเป็นทางผ่าน
ศ.ปิ่นแก้ว ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งศูนย์ค้ามนุษย์ในเมืองเมียวดีได้ ต้องมีการรู้เห็นเป็นใจของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (Karen Border Guard Force – BGF) ที่ดูแลพื้นที่นี้ และเป็นไปไม่ได้ที่ฝั่งไทยจะไม่มีผลประโยชน์ร่วม ต้องมีการจ่ายส่วยแน่ ๆ แบบ “จ่ายรอบวง” คือ จ่ายทั้งสองฝั่ง เพราะมีข่าวมาตลอดว่ามีการขนคนจีนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ข้ามไปฝั่งพม่าผ่านช่องทางต่าง ๆ
ในการขจัดขบวนการค้ามนุษย์ ศ.ปิ่นแก้ว เสนอว่า กองทัพไทย ต้องใช้ความสัมพันธ์กับกลุ่มกองกำลังฯ ตั้งวงหารือกัน และมีกลไกในการจัดการปัญหานี้ ถ้าหากต้องการปราบจริงจังต้องกล้าขุดไปให้ถึงรากว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ หากรัฐบาลจริงจังเหมือนที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ประกาศจะปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ก่อน หากไม่มีแรงงานกลุ่มนี้ไปป้อนให้ พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ทำงานไม่ได้ ธุรกิจค้ามนุษย์กับคอลเซ็นเตอร์จึงอยู่คู่กัน
“ที่ผ่านมารัฐไทยยังไม่เคยตั้งตัวแทนหารือกับกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนเหล่านี้เลย แล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมืองเมียวดีไปสู่ทิศการพัฒนาได้อย่างไร” ศ.ปิ่นแก้ว ตั้งคำถาม และมองว่า นอกจากชาวต่างชาติที่ถูกหลอกไปทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมน้ำเมยแล้ว คนไทยก็ถูกหลอกเช่นกัน ประเทศไทยเป็นเหยื่อของขบวนการนี้ด้วย เพราะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่ทุกวัน ไม่ใช่แค่เมืองผ่าน
“อยากเห็นนายกฯแพทองธาร(ชินวัตร) ตอบสนองการแก้ปัญหานี้ อยากเห็นแนวทางในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่นำเอาเหยื่อไปเป็นแรงงานของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์... ที่ผ่านมาไม่เคยมีแผนในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเลย พูดแต่นโยบายกว้าง ๆ ที่ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาทางปฏิบัติ” ศ.ปิ่นแก้ว กล่าว
รายงาน “ทางแพร่งความสัมพันธ์เมียนมากับไทย ข้อเสนอแนะนโยบายเชิงยุทธศาสตร์” (Myanmar and Thailand Relations at the Crossroads : A Strategic Policy Recommendation) โดย ศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ศูนย์กลางการฉ้อโกงใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาร์ มีการเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยกระจุกตัวในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉาน เป็นจุดฮอตสปอตสำคัญ รวมถึงเมืองอย่าง ชเวก๊กโก ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ และกิจกรรมผิดกฎหมายอื่น ๆ เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการค้าอาวุธ
ปฏิบัติการเหล่านี้ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรที่นำโดยชาวจีน โดยมีการคุ้มครองจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา (ทัตมาดอ) โดยเหยื่อจะถูกล่อลวงมาจากหลายประเทศ และถูกบังคับให้ทำงานภายใต้สภาพที่เลวร้าย
อีกศูนย์กลางหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน คื KK Park ในเมืองเมียวดี ซึ่งคล้ายกับชเวก๊กโกในฐานะศูนย์กลางของการหลอกลวงออนไลน์ เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานที่เลวร้ายเช่นกัน
ส่วนศูนย์กลางใหม่ที่เริ่มได้รับความสนใจในช่วงปีที่ผ่านมา คือเมืองที่รู้จักในหลายชื่อ เช่น ช่องแคบ (Chong Khaep), ไท่ชาง (Tai Chang), และ ท่าช้าง (Tha Chang) เมืองนี้ควบคุมโดยผู้บัญชาการ BGF อีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเมียวดี ประมาณ 50 กิโลเมตร ตรงข้ามกับ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ลักษณะของเมืองนี้เป็นศูนย์กลางหลอกลวงออนไลน์คล้ายกับชเวก๊กโก และ KK Park
ศูนย์นโยบายยุทธศาสตร์ มีข้อเสนอการจัดการความมั่นคงและชายแดน ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตในเมียนมาว่า ต้องเสริมความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังและโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โดรน ระบบตรวจสอบด้วย AI และเครื่องมือชีวมาตร เพื่อรักษาความปลอดภัยที่จุดผ่านแดน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชายแดนในจุดสำคัญ เช่น อำเภอแม่สอด เพื่อควบคุมการค้าถูกกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และป้องกันกิจกรรมผิดกฎหมาย
นอกจากนั้น ยังต้องมุ่งเป้ากำจัดเศรษฐกิจใต้ดิน โดยเน้นการรื้อถอนเครือข่ายทางการเงินและโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ เสริมความเข้มแข็งของหน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์ ส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการจัดการอาชญากรรมข้ามชาติ และเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทสเพื่อนบ้าน โดยขยายการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและลาดตระเวนร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGFs) ของเมียนมา รวมทั้งจีน และลาว เพื่อลดความเสี่ยงข้ามพรมแดน
ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เผยแพร่เอกสารข้อมูลระบุว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กว่า 6,000 คน จาก 21 ประเทศ ถูกกักขังในเมียนมา ที่ทนทุกข์กับการถูกทารุณกรรม การเรียกค่าไถ่ และถูกตัดขาดความช่วยเหลือจากทั่วโลก ผู้เสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่งประมาณ 3,900 คน เป็นชาวจีน
ข้อมูลของเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยังชี้ว่า อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย กลายเป็นทางผ่านสำคัญที่กลุ่มอาชญกรข้ามชาติของจีนใช้ขนส่งเหยื่อค้ามนุษย์เข้าสู่เมียนมาที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย ภายใต้การควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ คือ BGF และกองกำลังกระเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ทำให้การช่วยเหลือผู้เสียหายมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ประสานกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกองกำลังชาติพันธุ์ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เพื่อขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในบริษัท Zhongfa, Hexin, Yougqian และ Tai Chang ที่มีรายงานการใช้ความรุนแรง การฆาตกรรม และการทารุณกรรมที่โหดเหี้ยม ถูกช็อตไฟฟ้า น้ำร้อนราด ฯลฯ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับดาราจีน ซิงซิง สะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายขององค์กรอาชญากรรม
ภาสกร จำลองราช ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวชายขอบ เล่าเรื่องของ “บัวคำ” (นามสมมุติ) เหยื่อสาวชาวลาวที่ยังถูกกักขังอยู่ในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมืองเมียวดี พื้นที่แหล่งค้ามนุษย์ที่อยู่ไม่ไกลนักจากจุดที่ดาราจีนซิงซิง ถูกนำตัวไปกักขัง
บัวคำ ไม่ได้เป็นดาราหรือโด่งดัง จึงไม่โชคดีอย่างซิงซิง แม้เธอและเพื่อน ๆ ลาวอีก 18 คน ได้ทำหนังสืออ้อนวอนนายกรัฐมนตรีของไทย รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน คำอ้อนวอนของบัวคำ ไม่เคยได้รับการตอบสนองใด ๆ จากรัฐบาลไทย
บัวคำ เป็นหญิงสาวชาวลาวจากนครหลวงเวียงจันทน์ หนีความยากจนเข้ามาทำงานร้านอาหารแห่งหนึ่ง กทม. หลังจากนั้นเธอเห็นโพสต์ชวนไปทำงานโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง รายได้เดือนละ 15,000 บาท เธอสนใจและเดินทางไปกับนายหน้า แต่กลับถูกพาไปส่งที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนไปยังชายแดนและข้ามแม่น้ำเมยในตอนกลางคืนพาไปส่งในแหล่งที่กักขังอยู่ปัจจุบัน
เมื่อรู้ว่าถูกหลอก บัวคำ จึงติดต่อญาติพี่น้องในประเทศลาวตั้งแต่เดือนแรก และได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังสถานทูตลาวประจำพม่า แต่คำตอบที่ได้คือ “ให้อดทน เราช่วยเหลือไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่นั้น รัฐบาลพม่าพม่าเข้าไม่ถึง”
แหล่งอาชญากรรมที่บัวคำและเพื่อน ๆ ชาวลาวถูกกักขังอยู่ติดแม่น้ำเมย โดยมีชาวต่างชาติกว่า 10 ชาติ ถูกหลอกมาทำงานในบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นอื่น ๆ ในอาคารเดียวกัน โดยบัวคำ รวมทั้งเพื่อน ๆ และชาวต่างชาติ ถูกบังคับให้ทำงานต้มตุ๋นออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ
บัวคำ ถูกจับได้ว่าพยายามติดต่อหาคนมาช่วยเหลือ จึงถูกนำไปขังในคุกมืด เอาเชือกผูกแขนและตีหรือช็อตด้วยไฟฟ้า วันนี้บัวคำและเพื่อน ๆ ชาวลาว 18 ชีวิต รวมทั้งชาวต่างชาติอีกหลายพันคน ยังถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ โดยที่ไทยมีส่วนสำคัญในการเอื้อให้มาเฟียจีนหลอกลวงเหยื่อสำเร็จ
นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเร่งขจัดมาเฟียกลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้แนวพรมแดนไทยทำมาหากินและหลอกลวงคนทั่วโลก ที่ผ่านมา กมธ.ฯ ใช้กลไกสภาผู้แทนฯ จี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
ขณะที่ “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ป่าวประกาศบนเวทีหาเสียงช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ว่า จะจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และบัญชีม้าในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เขมรอยู่ตึก 25 ชั้น 2 แถวปอยเปต มีบ่อนคนไทยเป็นบัญชีม้า แจ้งเขมรไปแล้วช่วยจัดการให้หน่อย ถ้าจัดการไม่ได้ตนจะขออนุญาตส่งคนไปจัดการเอง
ส่วนทางพม่าก็เหมือนกัน นายทักษิณ บอกพูดกับกลุ่มกะเหรี่ยง KNU และบอกไปทางรัฐบาลพม่าให้ช่วยจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในเมืองเมียวดี ถ้าไม่มีกำลังเดี๋ยวจะส่งกำลังไปจัดการให้ ภายในปีหน้า (2568) จะจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เกลี้ยง เศรษฐกิจใต้ดินจะเอาขึ้นมาบนดินให้ถูกต้องให้หมด
หลังประกาศิต “พ่อนายกฯ” นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญด้านความมั่นคงใน ปี 2568 คือ การป้องกันอาชญากรรมอย่างรอบด้านและปราบปรามเชิงรุก ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าในปี 2568 อาชญากรรมไซเบอร์และภัยการหลอกลวงออนไลน์จะต้องหมดไป
แต่ทว่า เมื่อหันมาดูตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยสถิติของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีออนไลน์กว่า 739,000 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท อายัดเงินป้องกันความเสียหายได้ประมาณ 8.6 พันล้านบาทเศษ หรือแค่ประมาณ 11%
เป้าหมายปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ลุยล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้สิ้นซาก หากยังเป็นเพียงนโยบายกว้าง ๆ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนออกมา สุดท้ายก็คงเป็นได้แค่การคุยเขื่องคำโตของสองพ่อลูกนายกฯ เท่านั้น.