xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (21): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รูปปั้น Charles XI ในเมืองคาร์ลสโครนา (ภาพ : วิกิพีเดีย)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละย่างก้าวและขั้นตอนที่นำไปสู่การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ในปี ค.ศ. 1680

กล่าวคือ เมื่อ  พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI)  ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1672 พระองค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการบริหารปกครองใด ๆ และ  de la Gardie  ผู้ดำรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีการต่างประเทศและประธานสภาบริหาร (Chancellor) ก็ยังคงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

นอกจากนั้น ก็มีเพียงแต่การปรากฎตัวของตัวแสดงใหม่ ๆ ที่จะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองต่อไปในอนาคต อาทิ  Bengt Oxenstierna, Carl Sparre, Erik Lindschöld ฯลฯ อันสะท้อนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างรัชสมัยเป็นผลจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่สวีเดนเข้าร่วมสงคราม ไม่ได้เป็นแผนที่วางไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มขึ้นครองราชย์ เพราะจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การเข้าร่วมสงครามกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1675 ที่เผยให้เห็นถึงความเสื่อมสมรรถนะของกองทัพสวีเดน ทำให้ประเทศศัตรูอย่างเดนมาร์กหรือเนเธอร์แลนด์สามารถรุกคืบเข้ายึดดินแดนนอกภาคพื้นทวีปของสวีเดนได้

กล่าวได้ว่า  “ความหายนะทางการทหารในปี ค.ศ.1675 มีอิทธิพลในการหล่อหลอมระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด” พระองค์เสด็จออกจากกรุงสต๊อกโฮล์มไปบัญชาการกองทัพสวีเดนที่เมือง Ljungby ทางตอนใต้ และนำกองทัพสวีเดนได้รับชัยชนะในสมรภูมิแห่งลุนด์ (Battle of Lund) ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1676 ทำให้พระองค์กลายเป็นพระมหากษัตริย์วีรบุรุษและเป็นผู้มาโปรด (savior) ในสายตาของพสกนิกรในช่วงระหว่างสงคราม เมือง Ljungby เริ่มกลายเป็นศูนย์ราชการที่มีอิทธิพลและมีบทบาทเหนือกรุงสต๊อกโฮล์ม มีการถกเถียงทางวิชาการเป็นอย่างมากว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์เฉพาะหน้าหรือเพราะมีแผนรวบอำนาจอยู่เบื้องหลัง

ที่ประชุมสภาฐานันดร(Riksdag) ในปี ค.ศ. 1675 พยายามกล่าวหา de la Gardie และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีการสอบสวนคณะผู้สำเร็จราชการในประเด็นการบริหารการคลัง แม้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ทรงโปรดให้เหล่าฐานันดรเข้าถึงบันทึกของสภาบริหาร(Council) แต่พระองค์ทรงหันมาสนับสนุนและจัดตั้งคณะกรรมธิการสอบสวนขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1675 อันเป็นการส่งสัญญาณว่า พระองค์ทรงเห็นพ้องให้อภิชนระดับสูงรับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้น

ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะความไม่พอใจที่พระองค์มีต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ตกต่ำของ de la Gardie และอีกด้านหนึ่งความแตกแยกระส่ำระสายภายในสภาบริหารเอง
 
จากนั้น พระองค์ได้ทรงเรียก  Johan Gyllenstierna ผู้ได้วิพากษ์วิจารณ์คณะผู้สำเร็จราชการเรื่อยมา ให้มาช่วยราชการที่เมือง Ljungby ซึ่ง Gyllenstierna ได้กลายเป็นที่ปรึกษาหลักที่มีบทบาทในกิจการต่าง ๆ ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างองค์พระมหากษัตริย์และสภาบริหารขยายกว้างมากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ.1677 สภาบริหารพยายามยืนยันอำนาจของตน โดยยืนยันว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ปกครองตามคำแนะนำของสภาบริหาร พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงรับคำแนะนำของสภาบริหารที่ให้มีการเรียกประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ.1678 แต่กลับกลายเป็นว่าที่ประชุมสภาฐานันดรต้องการใช้ นโยบายเวนคืน (Reduktion)  และต้องการผลการสอบสวนคณะผู้สำเร็จราชการอย่างเร่งด่วน อันสะท้อนว่า หากพระองค์ทรงดำเนินนโยบายเวนคืน เหล่าสามัญชนและกลุ่มอภิชนระดับล่างก็พร้อมที่จะสนับสนุนพระองค์อย่างเต็มที่

สงครามที่เกิดขึ้นทำให้สวีเดนสูญเสียดินแดนไปเป็นจำนวนมากและทำให้อำนาจทางทะเลของสวีเดนพังทลายลง อย่างไรก็ตาม พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้สวีเดนยังคงไว้ซึ่งดินแดนในปกครองจำนวนหนึ่งได้ กระนั้น ความพยายามในการเป็นคนกลางของฝรั่งเศสกลับเป็นการลดทอนสถานะและเกียรติภูมิของสวีเดน ทำให้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีความระคายเคืองต่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ และทรงมุ่งพัฒนาความสามารถของสวีเดนให้ไม่ต้องพึ่งพามหาอำนาจต่างชาติ
 
ประเด็นทางการเมืองภายหลังสงครามอยู่ที่บทบาทและแนวนโยบายของ Gyllenstierna ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดอย่างเต็มที่ จนกระทั่งการเสียชีวิตของเขาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1680

เป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่า Gyllenstierna มีเป้าหมายอะไร บางบันทึกอ้างว่าเขาพยายามที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนแน่ชัด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การตั้งคณะตุลาการเพื่อทำการสอบสวนอภิชนชั้นสูงในคณะผู้สำเร็จราชการและการขยายนโยบายเวนคืน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของกองทัพสวีเดน และความพยายามในการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศเข้าหาเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์

ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ.1680 สภาบริหารมีหนังสือถึง พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดต่อประเด็นสนธิสัญญาการอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับเจ้าหญิง Ulrika Eleonora แห่งเดนมาร์ก ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบโต้คัดค้านการแทรกแซงของสภาบริหาร กระนั้น สภาบริหารก็ได้ยืนยันว่าการทักท้วงดังกล่าวสอดคล้องไปกับการถวายสัตย์ปฏิญาณการเข้าสู่ตำแหน่งของสมาชิกสภาบริหารและสอดคล้องกับคำสัตย์ปฏิญาณขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย

การยืนยันดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าสภาบริหารมีความพยายามที่จะยืนยันถึงขอบเขตอำนาจของตนที่สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังละเมิด กระนั้น สภาบริหารก็ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับพระมหากษัตริย์ในการยืนยันสิทธิอำนาจของตน อันทำให้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มอภิชนระดับสูง และเมื่อ Gyllenstierna เสียชีวิตลง พระองค์ก็ทรงเข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการติดสินใจทางนโยบายทั้งหมดด้วยพระองค์เอง

การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันฉับพลันจากการใช้กำลังความรุนแรงแต่อย่างใด แต่เริ่มมาจากการเตรียมการณ์สำหรับการประชุมสภาฐานันดรตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1680 และหลักฐานชิ้นแรกที่ชัดเจนปรากฏให้เห็นในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1680 เมื่อมีการตั้งคำถามต่อสภาบริหารว่า จะให้มีการเรียกประชุมสภาฐานันดรในฤดูใบไม้ร่วงหรือเลื่อนออกไป ด้วยขณะนั้น  สภาแห่งแผ่นดิน (Council of State) เป็นองค์กรเดียวที่มีศักยภาพในการคัดค้านต่อต้านการเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งสภาบริหารนี้อาจต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อจังหวะเวลาที่จะให้มีการประชุมและรวมถึงวาระการประชุมด้วย

การตั้งคำถามดังกล่าวต่อสภาบริหารถือว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมาก แต่สภาบริหารก็ไม่ได้แสดงความต้องการที่จะฉวยโอกาสในการเป็นผู้ริเริ่มที่จะเป็นผู้กำหนดการประชุมสภาฐานันดร

และ  Ralamb  หนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ที่คงเส้นคงวามากที่สุดได้แนะนำว่า ให้นำประเด็นการเปิดประชุมสภา (Riksdag) นี้กลับไปที่องค์พระมหากษัตริย์ โดยเขาได้ให้เหตุผลว่า “ไม่มีผู้ใดจะรู้ดีไปกว่าองค์พระมหากษัตริย์เองว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่จะสามารถชะลอการประชุมออกไปได้หรือไม่”  และสภาบริหารก็ยอมรับว่า สถานการณ์ทางการเงินขณะนั้นวิกฤตมาก และในที่สุด สภาบริหารได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์แนะนำให้มีการเปิดประชุมสภาฐานันดร ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1680

แต่ก่อนหน้านั้น ในในช่วงฤดูร้อน มีข่าวลือเกิดขึ้นในสตอคโฮล์มว่า อาจจะมีการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist coup) และเมื่อมีการประชุมสภาฐานันดร บรรดาทูตทั้งหลายต่างหยิบยกข่าวลือนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นจนทำให้เกิดสงครามข้อมูลข่าวลือขึ้น

 มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่ดูจะเป็นบทสนทนาระหว่างชาวต่างชาติและคนสวีเดนที่มีใจความว่า “พระมหากษัตริย์ของท่านจะไม่ต้องการมีอำนาจอันสมบูรณ์หรือ ? มันอาจจะเกิดขึ้นได้ หากพระองค์ทรงครองราชย์นาน---มันยากสำหรับพระองค์ที่จะควบคุมจัดการภารกิจนี้---คนสวีเดนที่จงรักภักดีจะสนับสนุนพระองค์”  

 Juel  ทูตเดนมาร์กได้รายงานกลับไปยังเดนมาร์กว่า ฐานันดรสามัญ (commoner)  “ตั้งใจที่จะเสนอในที่ประชุมสภาฐานันดรที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยให้พระมหากษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์ผู้มีอำนาจสูงสุด”   
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการวางแผนยึดอำนาจ และไม่มีหลักฐานแน่ชัดของการเคลื่อนกำลังพลใดๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในปลายปี ค.ศ. 1679 คือ ได้มีการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลสามคนที่มีศักยภาพที่จะต่อต้านแผนการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ไปดำรงตำแหน่งในต่างประเทศ

 บุคคลทั้งสามที่ว่านี้คือ Ralamb, L. Sperling และ H. Falkenberg  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวนี้ก็เป็นการแต่งตั้งที่มีเหตุมีผล ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมือง Feuquieres ทูตฝรั่งเศสได้ลงความเห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีแผนการยึดอำนาจใดๆ ในสวีเดน เขาได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ว่าพวกเขาจะต้องคอยดูต่อไป และตั้งข้อสังเกตว่า   “พายุได้ถาโถมต่อบรรดาคนที่กล่าวว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง” 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น