xs
xsm
sm
md
lg

หรือประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย 1981

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


จิมมี คาร์เตอร์—โรนัลด์ เรแกน
ในพิธีสถาปนาประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ ในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของปธน.โรนัลด์ เรแกน อดีตนักแสดงผู้มากความสามารถในการแสดงตีบทแตก (แบบ ปธน.เซเลนสกี้แห่งยูเครน) เพื่อปลุกเร้าด้วยวาทศิลป์ที่เจนจัด ให้ประเทศสหรัฐฯ เดินหน้าไปสู่ความรุ่งเรืองสดใสภายใต้การนำของเขา

นาทีนั้น รัฐบาลที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ภายใต้การนำของผู้นำจิตวิญญาณโคมัยนี ได้ทำการปล่อยตัวประกัน (เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอเมริกันที่กรุงเตหะรานจำนวน 52 คน ที่ถูกจับเป็นตัวประกันถึง 444 วัน) เพิ่งขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับสหรัฐฯ...แต่การปล่อยตัวประกันนี้ ถูกกลบด้วยการถ่ายทอดสดพิธีสาบานตนของปธน.เรแกน...จนถึงเวลาบ่ายแก่ๆ (หลังพิธีรับประทานอาหารกลางวันระหว่างปธน.คนใหม่...ที่จะเริ่มมีอำนาจเต็มหลัง 12.00 น.เที่ยงของวันที่ 20 มกราคม 1981...ร่วมกับสมาชิกสภาและแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีสาบานตน) ปธน.คนใหม่ได้แถลงกับนักข่าวว่า ตัวประกันทั้ง 52 คนกำลังเดินทางมาสหรัฐฯ...ท่ามกลางเสียงปรบมือก้องจากเหล่าสมาชิกสภา...กลายเป็นความยินดี 2 โอกาสซ้อนกันคือ ยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของปธน.คนใหม่ และการรับตัวประกันกลับบ้าน หลังจากรอคอยมาเป็นเวลาเกือบ 15 เดือน...เป็นข่าวที่ประชาชนอเมริกันมอบความยินดีแก่ปธน.เรแกน และตีขลุมว่าตัวประกันถูกปล่อยออกมาจากฝีมือของปธน.เรแกนนั่นเอง ทั้งๆ ที่เรแกนเพิ่งเข้ารับหน้าที่ยังไม่ถึง 24 ชม.ด้วยซ้ำ

ถ้าการปล่อยตัวประกันนี้เกิดขึ้นก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งปธน. ในต้นเดือนพฤศจิกายนของปี 1980...โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นในช่วงใกล้วันลงคะแนนเช่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่เรียกกันว่า October Surprice คือปัจจัยพลิกคาดในเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีผลต่อการเทคะแนนให้กับปธน.คาร์เตอร์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะคาร์เตอร์ได้ทำการต่อรองเพื่อให้อิหร่านส่งตัวประกันออกมา ด้วยข้อเสนอหลายอย่าง และทีมเจรจาของคาร์เตอร์ก็ได้ติดต่อตรงกับผู้นำ (นายกฯ ขณะนั้น) ซึ่งเริ่มคล้อยตามข้อเสนอของคาร์เตอร์

สิ่งที่ต่อรองเพื่อปล่อยตัวประกันขณะนั้นมีตั้งแต่อิหร่าน ภายใต้การนำของคณะบริหารใหม่ ต้องการให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาห์ให้มาดำเนินคดีในอิหร่านด้วยข้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ที่ทำกับผู้เห็นต่างในการดำเนินนโยบายของพระเจ้าชาห์เช่น การมีตำรวจลับ SAVAK (ซาวัค) ที่คอยสอดแนมฝ่ายตรงข้ามพระเจ้าชาห์...การอุ้มหายของเหล่าสื่อมวลชน, นักการเมืองและนักศึกษา ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่กษัตริย์ชาห์ได้ยกสัมปทานน้ำมันไปให้กับบริษัทน้ำมันจากสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อแลกกับหลักประกันความมั่นคงของราชวงศ์ของตน รวมทั้งรายได้จากการขายน้ำมันของอิหร่าน ก็ใช้สร้างความมั่งคั่งให้แก่กษัตริย์ชาห์ รวมทั้งสมุนบริวารที่อยู่อย่างฟู่ฟ่า ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ยากจนสาหัส และปราศจากสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง, มีการจับประชาชนที่เห็นต่างไปเข้าคุก, มีการทรมาน และการหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย

รายได้มหาศาลของพระเจ้าชาห์และรัฐบาลของพระองค์ นอกจากมาสร้างความเป็นอยู่ที่หรูหรามั่งคั่งแล้ว ยังมีการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ และยุโรป เพื่อสร้างงานให้แก่ประเทศตะวันตกซึ่งอาวุธเหล่านี้ก็จะถูกนำมาใช้ในการปราบปรามประชาชนอีกด้วย

กลุ่มนักศึกษาอิหร่านที่บุกเข้ายึดสถานทูตอเมริกันในกรุงเตหะราน ได้ทำการจับเจ้าหน้าที่สถานทูตทั้งสิ้น 66 คน ด้วยต้องการให้ตัวประกันเหล่านี้ ได้กดดันรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับมาอิหร่าน เพราะสถานทูตสหรัฐฯ ได้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้พระเจ้าชาห์หนีออกจากอิหร่าน ภายหลังจากอิหม่ามโคมัยนีได้เดินทาง (จากการลี้ภัยหนีการจับกุมของรัฐบาลของพระเจ้าชาห์ ไปพำนักที่ปารีส) กลับมาเตหะราน ท่ามกลางการต้อนรับจากประชาชนมหาศาลที่ต้องการโค่นล้มชาห์

อีก 2 ข้อเรียกร้องที่รัฐบาลภายใต้โคมัยนีต้องการจากรัฐบาลคาร์เตอร์คือ ต้องการให้สหรัฐฯ คืนเงินจำนวนมากเป็นแสนล้านที่สหรัฐฯ ได้อายัดไว้ ทันทีที่โคมัยนีโค่นรัฐบาลของพระเจ้าชาห์ลงซึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลพระเจ้าชาห์ได้มีการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ และเงินฝากตามธนาคารต่างๆ เพื่อเตรียมซื้อสินค้าต่างๆ จากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน, สินค้าเกษตร, เวชภัณฑ์ และอาวุธต่างๆ

และข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ก็คือ เหล่าอาวุธหรืออุปกรณ์ด้านยุทธภัณฑ์ที่รัฐบาลของชาห์ได้ทำสัญญาจัดซื้อและจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว เพื่อรอการส่งมอบให้แก่อิหร่าน ซึ่งรัฐบาลโดยผ่านสภาฯ สหรัฐฯ ได้มีการ Freeze หรือระงับการส่งมอบทันทีที่เกิดการปฏิวัติอิสลามที่อิหร่าน

ในช่วงการจับตัวประกันที่ยาวนานนี้ ได้มีการเจรจาต่อรองกันหลายรอบ ซึ่งช่วงแรกๆ ปธน.คาร์เตอร์ได้ผ่านสภาฯ สหรัฐฯ ที่ให้คว่ำบาตรอิหร่าน โดยไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านซึ่งยิ่งซ้ำเติมระดับราคาน้ำมันดิบโลก ให้ทะยานสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งๆ ที่ระดับราคาก็สูงมากอยู่ก่อนแล้ว เมื่อโคมัยนีลดระดับการขายน้ำมันออกมาสู่ตลาดโลก เพื่อใช้น้ำมันเป็นอาวุธ

ผลคือ ระดับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งพรวดพราดจนเป็นเลข 2 หลัก และคาร์เตอร์ต้องตั้งผู้ว่า Fed ชื่อ Paul Volker เป็นมือปราบเงินเฟ้อที่ขึ้นดอกเบี้ยเป็นเลข 2 หลักจนเงินเฟ้ออยู่หมัด แต่คาร์เตอร์ก็เสียคะแนนนิยมจากข้าวของแพงด้วย

ความลี้ลับของการปล่อยตัวประกันในวินาทีสาบานตนของเรแกน ค่อยๆ ทยอยถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อปธน.คาร์เตอร์อายุครบ 100 ปี โดยมีบุคคลที่ร่วมอยู่ในสายงาน (ลับ) ของเรแกนบางคนออกมาเล่าถึงการที่เขาได้อยู่ในคณะที่ได้เข้าพบกับตัวแทนของโคมัยนี เพื่อเจรจา (ลับ) ต่อรองว่า เรแกนกำลังนำในคะแนนนิยม (ก่อนวันเลือกตั้ง) และขอให้รัฐบาลอิหร่านอย่าเพิ่งยอมตามข้อตกลงของคาร์เตอร์ โดยเมื่อเรแกนได้ขึ้นมาเป็นปธน. จะมอบข้อแลกเปลี่ยนให้แก่อิหร่านที่ดีกว่าที่คาร์เตอร์เสนอมา...โดยขอให้ดึงการปล่อยตัวประกันไว้ จนหลังเลือกตั้งปธน.เพื่อไม่ให้คาร์เตอร์ได้คะแนนนิยมกลับมา

นี่เป็นเรื่องที่แม้แต่ปธน.คาร์เตอร์เอง ก็ได้มีคนวิเคราะห์ให้เขาฟัง และด้วยความซื่อๆ ของคาร์เตอร์ เขาไม่ยอมเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่อำมหิตมากสำหรับส่งตัวประกัน และครอบครัวที่ทนทุกข์ทรมานกับการถูกคุมตัวนานถึงเกือบ 15 เดือน

เรื่องตัวประกันที่กาซาที่ถูกฮามาสจับไปตั้งแต่ 7 ตุลาคมนับเป็นเวลาแสนทุกข์ทรมานของตัวประกันและครอบครัวของเขา ซึ่งขณะนี้ก็ครบ 15 เดือนเต็ม พอๆ กับตัวประกันที่สถานทูตอเมริกันที่เตหะราน ซึ่งการเจรจาก็ดูทำท่าจะถูกปล่อยออกมาทั้งหมด แต่ดูเหมือนกำลังละม้ายกับปี 1981 เข้าไปทุกที ยิ่งทรัมป์ออกมาขู่ว่า ในวันที่เขาสาบานตน เขาขู่ฮามาสว่าจะต้องปล่อยออกมาทั้งหมดทั้งๆ ที่ไบเดนเป็นฝ่ายเจรจามาตลอด

แต่ถูกนายกฯ เนทันยาฮูบิดพลิ้วหลอกมาว่าพร้อมจะหยุดยิง แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ

บางทีประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอย่างไม่น่าเชื่อก็เป็นไปได้ทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น