xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมล็ดกาแฟแพงทุบสถิติ 50 ปี ราคา “โกโก้” พุ่งนิวไฮไม่หยุด ปี 68 เตรียมควักกระเป๋าเพิ่มจุกๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในปี 2568 บรรดาคนที่ประกอบธุรกิจร้านขายเครื่องดื่ม รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภคที่นิยมชมชอบในรสชาติของ “กาแฟ” และ “โกโก้” คงต้องวางแผนเพื่อรับมือกับ “รายจ่าย” ที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยราคาของวัตถุดิบทั้งสองชนิดนั้น พุ่งสูงขึ้นทุบสถิติที่เคยมีมา โดยราคาของเมล็ดกาแฟดิบตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี ขณะที่ราคา “โกโก้” ก็ทำสถิติ “นิวไฮ” พุ่งไม่หยุดเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง 

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ราคาเมล็ดกาแฟอาราบิก้าซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟที่มีปริมาณการผลิตสูงสุดในโลกสูงขึ้น 3.44 ดอลลาร์ต่อปอนด์ พุ่งขึ้นมากกว่า 80% ในปี 2567 ในขณะเดียวกันราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน 2567 ส่งผลทำให้ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ 2 รายของโลกคือ “บราซิล” และ “เวียดนาม”  ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
อ้างอิงตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ผลผลิตกาแฟของบราซิลในปีการตลาด 2567/2568 คาดว่าจะลดลงแตะที่ 66.4 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ซึ่งรวมถึงเมล็ดกาแฟอาราบิก้า 45.4 ล้านกระสอบ และโรบัสต้า 21 ล้านกระสอบ

รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นการลดลงของผลผลิตราว 5.8% จากการประมาณการก่อนหน้า ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนที่ขัดขวางการพัฒนาพืชผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับต้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ส่งผลให้ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นอย่าง โดยเฉพาะสถานการณ์ในบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดในโลก มีแนวโน้มจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง เนื่องจากกำลังเผชิญภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ขณะที่ประเทศไทยเองมีการนำเข้ากาแฟดิบในปริมาณมาก เพื่อบริโภคในประเทศและแปรรูปส่งออกเป็นกาแฟสำเร็จรูป โดยการส่งออกกาแฟไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกกาแฟ 125.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.59% เมื่อเทียบกับปี 2565 (108.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็นกาแฟดิบ 2.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 255.18 ตัน กาแฟคั่ว 2.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 243.23 ตัน กาแฟสำเร็จรูป 120.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 24,517.72 ตัน

สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – มี.ค.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกกาแฟ 34.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น กาแฟดิบ 0.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กาแฟคั่ว 1.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กาแฟสำเร็จรูป 32.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้ถึงศักยภาพด้านการแปรรูปกาแฟของไทย โดยในปี 2566 ตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของไทยคือ กัมพูชา รองลงมา ได้แก่ สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ ส่วนด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากเวียดนามมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว

ตามรายงานของ Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก รายงานมูลค่าตลาดกาแฟไทย ระบุว่ากาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าตลาดกาแฟไทยเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.55% ต่อปี

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มวัยทำงาน ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกในการบริโภคเครื่องดื่มกาแฟในไทยที่เพิ่มขึ้น และความต้องการบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่หลากหลาย ประกอบกับสภาพอากาศร้อน ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ความต้องการกาแฟเย็นจากร้านสะดวกซื้อ กาแฟสำเร็จรูปแบบ RTD (Ready To Drink) และกาแฟบรรจุขวดพร้อมทานเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 นายพีรพันธ์ คอทอง  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปัจจุบันการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ต้องนำเข้าจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป

ขณะที่กรมวิชาการเกษตรเตรียมยกระดับมาตรฐานกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากลให้สอดคล้องเป็นไปตามแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนา เพิ่มคุณภาพ และมูลค่าอัตลักษณ์กาแฟไทยไปสู่ระดับสากล พร้อมเป็นผู้นำการผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพในระดับเอเชีย โดยประเทศไทยมีศักยภาพทั้งการปลูกและการแปรรูป ที่ผู้แปรรูปสามารถสื่อสารกับผู้ปลูกได้โดยตรง ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปในตลาดโลก ถือเป็นความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมกาแฟไทยในการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟไทย


แต่ต้องยอมรับว่า ข้อจำกัดของไทยคือพื้นที่การเพาะปลูก แค่ผลิตเพื่อความต้องการในประเทศยังไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันกับต่างชาติไม่อาจแข่งขันในเชิงปริมาณ ดังนั้น ต้องแข่งขันในแง่ของคุณภาพ เป็นต้นว่า การผลิตเมล็ดกาแฟพิเศษ Specialty Coffee ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของกาแฟจึงเป็นเรื่องน่าจับตา

และด้วยลักษณะภูมิประเทศไทยของไทยได้เปรียบเรื่องพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากมีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เหมาะสมสำหรับสายพันธุ์อาราบิก้า เท่ากับว่าผลิตผลเมล็ดกาแฟของไทยมีคุณภาพดีไม่แพ้แหล่งปลูกอื่นๆ ระดับชาติ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษ Specialty Coffee ของไทย ปี 2567 เติบโตสูงขึ้น โดย น.ส.ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย เปิดเผยทิศทางกาแฟแบบพิเศษมีการขยายตัวสูง สะท้อนได้จากแบรนด์ใหญ่ในตลาดมุ่งขยายสาขาใหม่ หรือทำมุมกาแฟพิเศษโดยเฉพาะ รวมถึงพฤติกรรมของกลุ่มนักดื่มกาแฟในประเทศไทยหันมาสนใจกาแฟที่มีรสชาติใหม่ ทำให้ตลาดรวมของกาแฟไทย มาจากกาแฟพิเศษเชิงมูลค่า สัดส่วน 20% และเชิงปริมาณ สัดส่วน 10% โดยภาพรวมปริมาณมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากช่วง 10 ปีก่อน มีสัดส่วนประมาณ 4%

“อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษ ประเมินว่าน่าจะขยายตัวได้ถึง 25% แต่เมื่อผู้ผลิตกาแฟและร้านกาแฟ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าที่อยู่ในระดับสูงมาก ทำให้ต้องปรับราคาก็ต้องให้สอดคล้องกับภาพรวมกำลังซื้อในประเทศไทยด้วย หากปรับราคาสูงมากไปก็จะทำให้ผู้บริโภคชะลอการเลือกซื้อสินค้าได้เช่นกัน แต่ก็ยังเติบโตระดับ 20%”

ผลผลิตกาแฟที่ประเทศไทยทำได้ คือ 16,575 ตัน แบ่งเป็นพันธุ์อาราบิก้า 48.2% และโรบัสต้า 51.8% แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคกาแฟของคนไทยที่ 300 แก้วต่อคนต่อปี ทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศ โดยในปี 2566 มีการนำเข้ากาแฟรวมมูลค่าประมาณ 338.42 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.90% เมื่อเทียบกับปี 2565

ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมกาแฟขยายตัวและมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยปัจจัยเรื่องของต้นทุนการนำเข้าเมล็ดกาแฟขยับราคาสูง ส่งผลให้ภาพรวมผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น บางส่วนต้องมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว

สำหรับตลาดกาแฟในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยคนไทยบริโภคกาแฟอยู่ที่ 90,000 ตันต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 1.5 แก้ว ขณะที่ ยุโรปเฉลี่ยวันละ 5 แก้ว และมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 30,000 เป็น 90,000 ตันต่อปี ภายในระยะเวลา 10 ปี สะท้อนว่าอุตสาหกรรมกาแฟในไทยยังไม่อิ่มตัว




ไม่เพียงแค่กาแฟเท่านั้น อีกหนึ่งวัตถุดิบที่สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจเครื่องดื่มไทยไม่แพ้กันก็คือ “โกโก้” 

 สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ตลาดโกโก้เผชิญกับความผันผวนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และการขาดแคลนอุปทานในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกโกโก้ส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของโลก 

โดยสัญญาโกโก้ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบในเดือนมีนาคม 2568 พุ่งสูงขึ้น 1% แตะที่ระดับ 11,938 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน ในวันอังคาร (17 ธ.ค.68) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 180% นับตั้งแต่ต้นปี 2567 แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเวลาต่อมาก็ตาม

ขณะที่รายงานการวิจัยของ Internationale Nederlanden Groep (ING) โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรโกโก้ระหว่างประเทศ (ICCO) ระบุว่า ราคาโกโก้ที่พุ่งสูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากภาวะขาดแคลนโกโก้ในตลาดโลกครั้งใหญ่ที่สุด ในรอบกว่า 60 ปี ในช่วงปีการตลาด 2566-2567 ซึ่งเกิดจากความล้มเหลวของพืชผลในผู้ผลิตหลัก เช่น ไอวอรีโคสต์และกานา

แม้ว่าการคาดการณ์สำหรับปีการตลาด 2567-2568 จะบ่งชี้ว่าการผลิตจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ

นักกลยุทธ์ของ ING เตือนว่า เงื่อนไขเหล่านี้เมื่อรวมเข้ากับภาวะตึงตัวอย่างต่อเนื่องของตลาด ยิ่งอาจทำให้ราคาผันผวนอย่างรุนแรงไปจนถึงปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าราคาโกโก้จะพุ่งสูงขึ้นในระดับสูงที่สุดประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องควบคุมอุปสงค์

และเมื่อราคาโกโก้แพงขึ้น ก็ส่งผลให้ผู้ผลิตขนมที่ใช้โกโก้เป็นวัตถุดิบหลัก อย่างเช่น เฮอร์ชีส์ (Heyshey Co.) บริษัทช็อกโกแลตรายใหญ่ที่สุดในโลก จำเป็นต้องขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญคือ มีการคาดการณ์ว่า โกโก้จะอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดนับจากนี้ไปจนถึงปี 2050 เพราะผู้คนในหลาย ๆ ภูมิภาคทั่วโลกมีฐานะการเงินดีขึ้น และคนที่มีฐานะดีขึ้นก็ต้องการลิ้มรสความอร่อยของช็อกโกแลต

สำหรับประเทศไทย * “นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์”  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าโกโก้และช็อกโกแลตของไทย พบว่า แม้ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าโกโก้และของปรุงแต่งไม่มาก แต่จากแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวดี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสให้สินค้าโกโก้ของไทยเติบโตอีกมาก เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปได้หลายประเภทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด

ทั้งนี้ ไทยควรหาแนวทางเจาะตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ และต้องส่งเสริมการผลิตเมล็ดโกโก้ในประเทศให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการแปรรูปโกโก้ให้เป็นสินค้าที่หลากหลาย และได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับปี 2566 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ มูลค่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,004 ล้านบาท) และช่วง 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ มูลค่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,630.7 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 16.4% ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 42.2% 2.จีน 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 40.3% 3.เมียนมา 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19.4% 4.มาเลเซีย 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 6.1% และ 5.อินเดีย 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 9.4% และยังมีตลาดศักยภาพอื่น ๆ ที่ขยายตัวดี ได้แก่ แคนาดา เพิ่ม 392% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 90.7% สหรัฐฯ เพิ่ม 46.3% อินโดนีเซีย เพิ่ม 33.8% และรัสเซีย เพิ่ม 20.2%

ส่วนการค้าเมล็ดโกโก้ของโลก ในปี 2566 ประเทศผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.โกตดิวัวร์ มูลค่า 3,329 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 33.7% ของมูลค่าการส่งออกของโลก 2.เอกวาดอร์ 1,172 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.9% 3.กานา 1,107 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.2% 4.แคเมอรูน 752 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.6% และ 5.เบลเยียม 692 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7% ส่วนไทย มูลค่า 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 68 ของโลก และประเทศผู้นำเข้าเมล็ดโกโก้ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1.เนเธอร์แลนด์ 2,184 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 20.1% 2.มาเลเซีย 1,494 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13.8% 3.เยอรมนี 1,338 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 12.3% 4.เบลเยียม 977 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 9% และ 5.สหรัฐฯ 804 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.4% สำหรับไทย มีมูลค่า 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 90 ของโลก

ทางด้านตลาดเมล็ดโกโก้ทั่วโลก ในปี 2566 มีมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเติบโตกว่า 22,000ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2571 หรือเพิ่มเฉลี่ย 7% ต่อปี และตลาดช็อกโกแลตทั่วโลก คาดว่าปี 2565-2573 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.4% ต่อปี ส่วนราคาโกโก้ในตลาดโลก เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือน ต.ค.2567 อยู่ที่ 6.6 เหรียญสหรัฐ/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 83.3% และประเทศผู้ผลิตโกโก้ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1.โกตติวัวร์ สัดส่วน 37.9% ของปริมาณผลผลิตโกโก้ของโลก 2.กานา สัดส่วน 18.8% 3.อินโดนีเซีย สัดส่วน 11.3% 4.เอกวาดอร์ สัดส่วน 5.7% และ 5.แคเมอรูน สัดส่วน 5.1% ส่วนไทยมีปริมาณการผลิต 1,256 ตัน สัดส่วน 0.02% โดยปี 2566 ไทยมีผลผลิตโกโก้ 3,360 ตัน เพิ่ม 167.6% เนื่องจากมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง และระนอง เป็นต้น

นอกจากนี้ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ได้มีคำสั่งให้เพิ่มรายการพืชจากเดิมที่คณะอนุกรรมการพืชสวนกำกับดูแล 5รายการ ได้แก่ เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ชา พริกไทย และลำไย เพิ่มอีก 1 รายการ คือ โกโก้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และยังไม่มีคณะกรรมการที่รับผิดชอบดูแลกำกับโดยตรง เพื่อให้สามารถพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบดูแลโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมการพัฒนาให้พืชโกโก้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

…เอาเป็นว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็คงต้องมีการเตรียมตัว ปรับตัวและพร้อมที่จะรับมือ ส่วนผู้บริโภคก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจ่ายเครื่องดื่มและสินค้าที่ตนเองนิยมชมชอบเพิ่มเช่นกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น