xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร่างกฎหมายประมงใหม่ ทำทะเลเดือด จุดชนวนหายนะ เปิดทางฆ่าล้างโคตร “สัตว์น้ำ”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ที่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) โหวตผ่านส่งท้ายปี จุดชนวนความหายนะท้องทะเลไทย เพราะการอนุญาตให้ปั่นไฟแล้วล้อมจับปลาด้วยอวนตาถี่ในเวลากลางคืน เท่ากับการเปิดทางฆ่าล้างโคตร เนื่องจากปลาทุกชนิดทุกขนาดไม่ว่าอยู่นอกหรือในเขตสิบสองไมล์ทะเล จะตามแสงไฟเข้ามายังอวนสังหาร 
 
นับเป็นความน่าวิตกกังวลขั้นสุด โดยเฉพาะ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย  ที่ออกแถลงการณ์นัดแนะเคลื่อนไหวกันครั้งใหญ่หลังเปิดศักราชใหม่ 2568 พร้อมข้อเรียกร้องต่อวุฒิสภา โดยขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 69 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....

 ประเด็นสำคัญของมาตรา 69 กฎหมายเดิม “มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมง ในเวลากลางคืน” ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่แก้ไขเป็น “มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมง ในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน เว้นแต่ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” 


 ประมงพื้นบ้าน นัดรวมพลต้าน 


สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่ามีข้อท้วงติงจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กรณี มาตรา 69 อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ ๓ มิลลิเมตร ล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนได้เป็นครั้งแรกในระบบกฎหมายไทย จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทะเล กระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมากที่อาศัยระบบนิเวศทางทะเลในการเลี้ยงดูตัวอ่อนสืบเผ่าพันธุ์

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงจะเกิดแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ทุกประเภท ที่ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของฝูงปลาในการทำประมง แต่จะลุกลามไปยังกลุ่มนันทนาการทางทะเล ทั้งการดำน้ำ ธุรกิจนำเที่ยวตกปลา และกระทบต่ออาหารในจานของทุกคน

ทั้งนี้ หลังสภาฯ การผ่านร่างกฎหมายประมง มาตรา 69 กระแสสังคมที่เพิ่งรับทราบพยายามส่งเสียงขอให้ทบทวนกฎหมายมาตราดังกล่าวใหม่ ในขั้นตอนการกลั่นกรองของวุฒิสภา ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 60 วัน หากไม่แล้วเสร็จขยายเพิ่มได้อีก 30 วัน กรณีวุฒิสภาไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มบางส่วน จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่วมกัน หากผลเป็นประการใด ให้สภาผู้แทนราษฎร ย้อนกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดกระบวนการทบทวนมาตรา 69 ของร่างกฎหมายประมงใหม่

สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ และเครือข่าย ประกาศปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันแรกที่วุฒิสภาประชุมพิจารณากฎหมายดังกล่าว เพื่อขอให้วุฒิสภาพิจารณาทบทวนมาตรา 69 และตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา

**นายปิยะ เทศแย้ม** นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญ ชี้ว่า กฎหมายนี้ไม่ได้แก้เพื่อชาวประมงพื้นบ้าน ยกเว้นข้อเดียวที่พวกเราเรียกร้องมานาน คือ ขอให้ยกเลิกการกักขังพี่น้องประมงพื้นบ้าน ต้องทำการประมงได้แค่ 3 ไมล์ทะเล เราจึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประมงใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 69 ที่เปิดให้ใช้อวนตาถี่เท่ามุ้งจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนด้วยวิธีการปั่นไฟแล้วล้อม จะส่งผลให้สัตว์ทะเลขนาดเล็กตามแสงไฟเข้ามาติดอวน โดยเฉพาะบริเวณ 12 ไมล์ทะเลจากเขตชายฝั่งที่เป็นเส้นทางอพยพขึ้นเหนือของฝูงลูกปลาวัยอ่อน นั่นคือหายนะระบบนิเวศทางทะเล ทำสัตว์น้ำสูญพันธุ์ได้ภายใน 3-5 ปี เพราะสัตว์น้ำเศรษฐกิจโตไม่ทัน และทำลายท่องเที่ยวทางทะเลทางอ้อม วาฬโลมา จะอพยพหนีหมด

 อย่างไรก็ดี ในวันที่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ต่างขึ้นข้อความในเพจของพรรค อวดผลงานความสำเร็จ โดย เพจพรรคเพื่อไทย บอกว่า “เราทำตามที่สัญญาเอาไว้ พ.ร.บ.ประมงใหม่ ผ่านสภา วาระ 3 คืนชีวิต อาชีพประมงตัวจริง”

ส่วนพรรคประชาชน ระบุ “ผ่านแล้ว แก้กฎหมายยุค คสช. คืนชีวิตชาวประมง ผลักดันต่อกระจายอำนาจประมงให้ท้องถิ่น ส่งเสริมประมงไทยเจาะตลาดโลก”


ขณะที่ เพจ “คนอนุรักษ์” ออกมาสวนกลับให้สองพรรคการเมืองใหญ่ “ฟังเสียงทะเล หยุดใช้อวนตาถี่ ไฟล่อจับปลากลางคืน”  

 นายสมบูรณ์ คำแหง 
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โพสต์ว่า พรรคประชาชนเสียงแตก การลงมติของสมาชิกพรรคเป็นไป 3 ทาง คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง การโหวตเห็นด้วยของสส. พรรคประชาชนบางคน สะท้อนถึงความไร้เดียงสาในกลเกมของกลุ่มทุนประมง และความกังวลต่อฐานเสียง 3 สมุทร (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ) ที่พรรคฯได้ผู้แทนฯ แบบเขตมาหลายคน

โดยสรุปภาพรวม สส.เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ที่แก้ไขมาตรา 69 ซึ่งหากอ่านแบบผิวเผิน อาจทำให้เข้าใจว่ามาตราดังกล่าวไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่ซ่อนเร้น คือการอนุญาตให้ทำประมงอวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อที่สามารถใช้ตาอวนที่เล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ซึ่งหมายถึง “อวนตามุ้ง”  ที่มีขนาดตาอวน 3 – 6 มิลลิเมตร อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

สำหรับการใช้อวนตาเล็ก ที่ยอมรับกันได้มากที่สุดคือ ให้ใช้จับปลากระตักที่ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโรงงานผลิตน้ำปลา และทำปลาตากแห้ง โดยวิธีการจับให้ทำได้เฉพาะตอนกลางวัน ถ้าจะทำกลางคืนต้องใช้วิธีการช้อน ครอบ ยก เท่านั้น ห้ามล้อมจับโดยเด็ดขาด และการห้ามล้อมจับด้วยแสงไฟล่อมีกันมายาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งกำหนดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนการออกกฎหมายลูกมาควบคุม เพื่อให้มาตรา 69 ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปได้ยาก เพราะความยากที่สุดของการบังคับใช้กฎหมายประมงแทบทุกฉบับคือการกำกับและควบคุมผู้ทำการประมง ไม่มีใครเฝ้าน่านน้ำไม่ให้มีการลักลอบทำผิดได้จริง ดังนั้น การห้ามทำประมงล้อมจับในเวลากลางคืนโดยใช้แสงไฟล่อในเขต 12 ไมล์ทะเลนั้น จึงไม่สามารถควบคุมได้จริง

อย่างไรก็ดี เพจพรรคประชาชน (ปชน.) อธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก.ประมง 2558 ฉบับ กมธ. มีการแก้ไขสำคัญๆ อาทิ ปรับลดอัตราโทษที่เอาผิดชาวประมงทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ให้ได้สัดส่วน จากเดิมโทษปรับสูงได้ถึง 30 ล้านบาท ปรับเป็นโทษสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และยกเลิกโทษประหารชีวิตชาวประมง จากกฎหมายเดิมเมื่อเรือทำผิดหนึ่งลำ อีก 10 ลำ ก็ต้องห้ามทำประมงไปด้วย และเพิ่มการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและขยายสิทธิประมงพื้นบ้าน ทำการประมงได้ไกลกว่า 3 ไมล์ทะเล

ส่วนประเด็นที่สส.แต่ละพรรคมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย คือ มาตรา 69 ซึ่งกฎหมายเดิมห้ามใช้อวนล้อมจับที่มีความถี่เล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร หรืออวนตาถี่ ทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งในเวลากลางคืน ซึ่งสาระสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรืออวนล้อมจับปลากะตักที่เป็นปลาขนาดเล็ก ซึ่งในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายประมง ปี 2558 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การจับปลากะตักน้อยกว่าโควตาจับปลา (MSY) ที่กรมประมงกำหนด จึงมีการนำเข้าปลากะตักจากต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้โรงงานน้ำปลาในภาคตะวันออกต้องปิดตัว






เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ชาวประมงพาณิชย์และกรมประมง เสนอปลดล็อกให้ทำการประมงในเวลากลางคืนได้ แต่ต้องนอกเขต 12 ไมล์ทะเลเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบเขตประมงชายฝั่ง จึงแก้ไขมาตรานี้โดยผ่อนปรนให้ทำประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด มีกฎหมายลูกมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสงไฟล่อปลา, ตาอวน, จำนวนเรือ และการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อย เพื่อไม่ให้กระทบความยั่งยืนของการทำประมง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ตาอวนที่ทำการประมงปลากะตักในเวลากลางวัน ปัจจุบันคือ 6 มิลลิเมตร อวนที่ขนาดเล็กกว่านั้นผิดกฎหมายทั้งสิ้น
ส่วนข้อกังวลว่าการใช้อวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืน จะทำให้เกิดการจับลูกปลามากขึ้นหรือไม่ ในร่างฉบับ กมธ. มีการแก้ไขให้จำกัดหรือห้ามเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนเกินเกณฑ์ที่กำหนด คุ้มครองไว้ด้วย

ด้านพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อธิบายว่า สมัยรัฐบาล คสช. ได้ตรา พ.ร.ก.ประมง ตามแรงกดดันของต่างประเทศ ซึ่งมีกฎเกณฑ์และลงโทษรุนแรงจนเกิดผลเสียหายต่อผู้ทำอาชีพประมง เป็นช่องทางทุจริตคอร์รัปชั่น ทำลายเศรษฐกิจประมงพื้นบ้าน อุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยที่เคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมง สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี พังพินาศ ชาวประมงตกงาน เรือถูกยึด บางรายทิ้งเรือร้าง และไทยต้องนำเข้าปลามาบริโภค จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา กรรมาธิการฯ และประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ประมงไทยอยู่ในยุคถดถอย หากมีการแก้ไขกฎหมายนี้จะทำให้สามารถจับปลากะตักซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจได้มากขึ้น และไม่ได้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนเนื่องจากกำหนดไว้แล้วว่าให้ทำนอกเขต 12 ไมล์ทะเล

 เตือนเสี่ยงถอยหลัง เจอใบเหลือง IUU Fishing 

ไม่เพียงแต่มาตรา 69 เท่านั้นที่จะจุดชนวนกลายเป็นประเด็นเดือดหลังศักราชใหม่ แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ฉบับล่าสุด ยังมีความเสี่ยงต่อการถอยหลังลงคลองหรือไม่

หลังจากที่ประเทศไทยมีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) กระทั่งกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทย เมื่อปี 2558 ทำให้รัฐบาล คสช. ต้องออกพระราชกำหนด ยกระดับมาตฐานการทำให้ประมงให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยใช้เวลา 3 ปี 8 เดือน 9 วัน อียูจึงปลดใบเหลือง IUU Fishing เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 แก่ไทย

ประเด็นที่เป็นความสุ่มเสี่ยงจะเจอใบเหลืองอีกหรือไม่ นอกจากความเสี่ยงจากการทำประมงแบบทำลายล้างตามมาตรา 69 แล้ว ยังมีเสียงทักท้วงจากมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ที่มองว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ยกเลิกมาตรการคุ้มครองแรงงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเล (มาตรา 10/1, 11, 11/1) ตามที่คณะกรรมาธิการ ลงมติด้วยเหตุผลที่ว่าบทบัญญัตินี้เป็นการซ้ำซ้อน เนื่องจากมีข้อบังคับอื่น ๆ ที่ดูแลธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำอยู่แล้ว

การยกเลิกดังกล่าว ทำให้เสี่ยงต่อการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในโรงงานแปรรูปกุ้ง ขณะที่ก่อนหน้านี้ไทยเพิ่งมีข่าวดี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 สหรัฐฯ ได้ถอดถอนสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวัง ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ มาตรา 10/1, 11 และ 11/1 ของ พ.ร.ก. ประมง 2558 วางมาตรฐานให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงาน โดยมาตรา 10/1 กำหนดให้ออกใบอนุญาตและกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเล

มาตรา 11 ห้ามผู้ประกอบการโรงงานจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกพักกิจการและได้รับโทษเพิ่มขึ้น รวมถึงถูกสั่งปิดโรงงานในกรณีที่กระทำความผิดซ้ำ

และ มาตรา 11/1 กำหนดบทลงโทษสำหรับการละเมิดการคุ้มครองแรงงานเด็ก โดยเฉพาะการละเมิดข้อกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานและการเรียกเก็บเงินประกันที่ผิดกฎหมาย โดยสามารถสั่งระงับหรือปิดกิจการในกรณีที่กระทำผิดซ้ำ

อีกประเด็นสำคัญ คือ อนุญาตการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมงได้อีกครั้ง (มาตรา 85/1) โดยคณะกรรมาธิการ ลงมติให้มีการผ่อนคลายข้อห้ามเกี่ยวกับการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง โดยให้สิทธิอำนาจแก่อธิบดีกรมประมง ในการกำหนดเกณฑ์และขั้นตอนสำหรับการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมเรือที่ลงทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงเรือประมงทั่วไปที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีด้วย

ประเด็นดังกล่าว กรมประมงชี้แจงว่า การขนถ่ายสัตว์น้ำปัจจุบันจำกัดเฉพาะเรือที่ลงทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ การแก้ไขใหม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ชาวประมง โดยอนุญาตให้เรือประมงทั่วไปเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำได้

นับตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาล คสช. สั่งห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล เนื่องจากเสี่ยงอาจทำให้สัตว์น้ำที่ถูกจับผิดกฎหมายปะปนกับสัตว์น้ำที่จับจากแหล่งถูกกฎหมาย ยากต่อการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทาน

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เคยตอบข้อกังวลของ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม ว่าร่างกฎหมายใหม่ เป็นการแก้ไขเพื่อให้เรือประมงไทยที่ทำประมงภายในน่านน้ำไทย (ไม่เกี่ยวกับเรือประมงนอกน่านน้ำที่เคยมีปัญหาการขนถ่ายสัตว์น้ำโดยไม่มีการควบคุม) สามารถขนถ่ายสัตว์น้ำได้ แต่ต้องจดทะเบียนขนถ่ายกับกรมประมง ก่อนขนถ่ายต้องแจ้งก่อนทุกครั้งและต้องแนบเอกสารระบุจำนวนสัตว์น้ำมากับเรือขนถ่าย เมื่อมาถึงท่าเทียบเรือ เจ้าหน้าที่จะตรวจเข้มข้นมากกว่าเรือประมงที่เข้ามาปกติ

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ข้อกังวลว่าการร่างแก้ไขกฎหมายประมง จะทำให้ปัญหา IUU กลับมา ถอยหลังลงไปอีก ซึ่งไม่เป็นความจริง

 ข้อห่วงกังวลว่าจะถอยหลังลงคลองหรือไม่ กับสภาพความเป็นจริงของประมงพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมประมงที่ดำรงอยู่แบบถดถอยสุดกู่ ต้องรอดูว่าจะจบลงเช่นใด รวมทั้งจะมีการทบทวนและหาทางออกให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่ อย่างไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น