ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตีวงเข้าโค้งสุดท้ายในการก้าวพ้นจากแผนฟื้นฟูกิจการ และเตรียมกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในไตรมาส 2/2568 สำหรับ บมจ.การบินไทย (THAI) สายการบินแห่งชาติ ที่กำลังมุ่งทะยานสู่ขอบฟ้าใหม่ จากนี้ไปสังคมต้องจับตาฝ่ายการเมืองจะเข้ามาสูบขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าแห่งนี้จนเหือดแห้งอีกครั้งหรือไม่
ประเด็นใหญ่ข้ามปีที่จะมีผลต่อชะตาอนาคตของการบินไทย ในช่วงโค้งสุดท้ายและหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ก็คือ ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในวันที่ 21 มกราคม 2568 กรณีเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย 8 ราย ในกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์ ยื่นคัดค้านผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2567 ต่อศาลฯ
การประชุมในวันดังกล่าว ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯ มีมติเห็นชอบทั้ง 3 วาระ โดยวาระแรก ลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้น THAI เพื่อล้างขาดทุนสะสม เห็นชอบ 87% ต่อ 13% วาระที่ 2 ให้บริษัทจ่ายเงินปันผลได้ เห็นชอบ 86%
ส่วนวาระที่ 3 ซึ่งสำคัญสุด เพราะกระทรวงการคลัง ขอเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน คือ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
วาระนี้ คะแนนออกมาก้ำกึ่ง คือ เห็นชอบ 50.4% และไม่เห็นชอบ 49.6% โดยเจ้าหนี้หลายรายทักท้วงและขอตีความสถานะของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้แปลงหนี้ของ THAI เป็นทุนทั้ง 100% เท่ากับว่าไม่มีสิทธิออกเสียงในฐานะเจ้าหนี้แล้ว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ มองว่า หากวันที่ 21 มกราคม 2568 ศาลฯ ชี้ว่าการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้มติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นโมฆะ แต่หากศาลฯชี้ว่าเห็นชอบการประชุมเจ้าหนี้ก็เดินตามขั้นตอนต่อไป หรือศาลฯอาจจะชี้ในแต่ละวาระ
ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ กล่าวย้ำก่อนหน้าการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ว่า หากผลประชุมเจ้าหนี้ออกมาว่ามีผู้แทนภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก 2 คน อาจนำมาซึ่งความยุ่งยากแม้ว่าการบินไทยจะไม่อยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจก็ตาม การเป็นหรือไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ประเด็น แต่อยู่ที่หากปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน เป็นอันตรายมากกว่า
และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าว โหวตผ่านวาระ 3 นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติม กังวลว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งในการโรดโชว์เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน นักลงทุนส่วนใหญ่มีข้อกังวลต่อการแทรกแซงทางการเมือง หากมีผลกระทบจะทำให้การเพิ่มทุนไม่เป็นไปตามเป้า และไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้หมดภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 สัดส่วนหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายก็จะต้องถูกตัดทิ้ง ส่งผลทำให้เงินทุนใหม่น้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ขายหุ้นเพิ่มทุนวูบเกือบครึ่ง
แม้ว่าฝ่ายการเมือง คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่หารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการส่งคนไปนั่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จะยืนยันว่าการเมืองไม่ได้แทรกแซง เพียงแต่ต้องการดูให้ครอบคลุมทั้งระบบอุตสาหกรรมการบิน
ทว่า ข้อกังวลถึงประเด็นการเมืองเข้าแทรกแซงการบินไทย ที่มีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก็ปรากฏให้เห็นชัดแจ้ง เพราะการขายหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทยพลาดเป้าแบบครึ่งต่อครึ่งกันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ THAI ช่วงวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่าขายไม่หมด เหลือเกือบครึ่ง โดยระดมเม็ดเงินได้เพียง 2.3 หมื่นล้านบาท จากที่คาดว่าหากขายหุ้นเพิ่มทุนได้ทั้งหมด 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.48 บาท/หุ้น จะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามา 4.4 หมื่นล้านบาท เพราะผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนในวงจำกัด (PP) ขาดความเชื่อมั่น
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยถึงผลการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9,822,473,626 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (PP) ปรากฏว่า มีผู้ลงทุน PP เพียง 2 ราย ได้แ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) จำนวน 22,321,400 หุ้น และนายวิชัย กุลสมภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPI จำนวน 250,000 หุ้น คณะผู้บริหารแผนฯ จึงมีมติลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯ โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการ และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 5,379,168,598 หุ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI บอกเหตุที่ขายหุ้นเพิ่มทุนไม่หมด ในส่วนนักลงทุน PP ไม่ได้เข้าลงทุนมากอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากกังวลความไม่แน่นอนในการบริหาร และหุ้น THAI ต้องรออีก 6 เดือน กว่าจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น เงินที่ระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจึงไม่ได้ตามเป้าหมาย จากที่คาดว่าจะได้ 4.4 หมื่นล้าน ก็ได้เพียง 2.3 หมื่นล้าน แต่คาดว่าพอเพียงต่อการลงทุนในระยะข้างหน้า และเพียงเท่านี้ก็สามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้แล้ว
ภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้น THAI เป็นอันดับ 1. ในสัดส่วน 42.94% ลดลงจาก 49.99% โดยกระทรวงการคลัง ถือ 38.90% จาก 47.86% หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือ 4.04% จาก 2.13%
2.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง สัดส่วน 0.58% จาก 7.57%
3.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) สัดส่วน 8.51% จาก 0.43%
4.สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด สัดส่วน 5.43% จากเดิมไม่มี
5.ธนาคารกรุงไทย (KTB) สัดส่วน 4.69% จากเดิมไม่มี
6.เจ้าหนี้อื่น ๆ จากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ สัดส่วน 33.09%
7. ผู้ถือหุ้นเดิมอื่น ๆ ก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และ PP รวมถือสัดส่วน 4.76% จากเดิม 42.01%
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้แปลงหนี้เป็นทุน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)
แฉเอกสารหลุด การเมืองจ้องยึด
ประเด็นการเมืองเข้าแทรกการบินไทย อย่างที่เคยเป็นมาตลอดในอดีต กำลังย้อนกลับมาหลอนอีกครั้ง โดยในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 มีรายงานถึง “เอกสารหลุด” ที่กระทรวงการคลัง จะส่งคนเข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารแผนเพิ่ม จากปัจจุบัน THAI มีผู้บริหารแผน 3 ราย ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ปตท. และ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สสค.) ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง
รายงานของสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ระบุว่า ก่อนหน้าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 นายปิยสวัสดิ์ ได้ทำหนังสือถึงนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ขอให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของ THAI หลังการแปลงหนี้เป็นทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ
เบื้องหลังที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ทำตามที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯการบินไทยร้องขอ ปรากฏตามหนังสือที่ส่งมาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงวันที่ 28 พ.ย.67 มีใจความว่า “สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอเรียนว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ได้ทราบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนแปลงหนี้เป็นทุนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ซึ่งหากมีการแปลงหนี้เป็นทุนก่อนวันที่ 29 พ.ย. 67 จะมีผลให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้เสียสิทธิในการลงมติออกเสียงในการพิจารณาต่าง ๆ สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.67
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทรวงการคลัง เสียสิทธิ ในการลงมติออกเสียงสำหรับการประชุมเจ้าหนี้ที่จะมีขึ้นในวันดังกล่าว จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว จากการแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัทฯ ภายหลังการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 67 เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯต่อไป”
ขณะที่ผู้บริหารแผนฯ THAI ยืนยันว่าการแปลงหนี้เป็นทุนมีผลแล้วเมื่อผู้บริหารแผนฯ มีมติแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา และได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ จดทะเบียนทุนใหม่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
การที่ฝ่ายการเมือง ส่งตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เป็นสัญญาณว่าฝ่ายการเมืองคงไม่ปล่อยให้การบินไทยเป็นอิสระ และแม้กระทรวงการคลัง จะไม่ได้ถือหุ้นเกิน 51% แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง มีสิทธิส่งคนไปนั่งในคณะกรรมการบริหารชุดใหม่หลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ มากที่สุด
การที่ฝ่ายการเมืองส่งคนเข้าไปนั่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ที่ทำให้สัดส่วนตัวแทนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 5 คน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการกุมทิศทางของการบินไทยหลังจากนี้
หากมองย้อนกลับไปในช่วงปี 2564 ระหว่างที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 3 คน ดิ้นรนหาเงินมาเพื่อเติมสภาพคล่องให้การบินไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยขอให้กระทรวงการคลังช่วยเติมเงินให้ แต่ทางคลังปฏิเสธ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จึงหันไปกู้จากสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท และขายทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ หาทางเร่งลดค่าใช้เพิ่มรายได้สารพัด เพื่อให้การบินไทยยืนหยัดดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นมรสุมรุมเร้าธุรกิจสายการบินทั่วโลก
กระทั่งเมื่อการบินไทยฟื้นคืนชีพ มีผลประกอบการดีขึ้น และใกล้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในที่สุด ทางฝ่ายการเมือง ก็แสดงตัวเข้าแทรกแซงผ่านทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม
ก่อนหน้านี้ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทย ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลกระตือรือร้นที่จะเอาคนของรัฐเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯ เพิ่ม จะทำให้ผู้บริหารแผนจากภาครัฐ ใช้เสียงข้างมากลากกันไป ทั้งการกำหนดแผน การเปลี่ยนนโยบาย การแสวงหาประโยชน์ อาจทำให้การบินไทยกลับไปล้มละลายได้อีก
ย้อนไทม์ไลน์ออกจากแผนฟื้นฟูฯ พลิกฟื้นคืนชีพใหม่
การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่เคยเฟื่องฟูนับจากก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เกิน 51% ก่อนที่คลังจะขายหุ้นออกไปให้กองทุนวายุภักษ์ และล่าสุดภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุน ลดสัดส่วนเหลือ 38.90% จาก 47.86% ทำให้การบินไทย กลายเป็นสายการบินเอกชนเต็มตัว
การดำเนินธุรกิจของการบินไทยในยุคอุตสาหกรรมการบินแข่งขันกันเข้มข้น การมาของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ภูมิทัศน์ตลาดเปลี่ยน ส่งผลต่อการบินไทย ที่ไม่ค่อยมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจสู้คู่แข่งขันไม่ได้ บวกกับการเข้ามาแสวงประโยชน์ในการบินไทยของฝ่ายการเมืองที่มีมาตลอด ทำให้การบินไทย แบกหนี้สินสะสมกว่า 200,000 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงาน ขาดทุนต่อเนื่องสะสม โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625 ล้านบาท, ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042 ล้านบาท และในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทย ขาดทุนสุทธิมากถึง 141,170 ล้านบาท ทำให้การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563
ต่อมา ศาลฯ มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ การก่อหนี้ใหม่ การระดมทุน พร้อมกับตั้งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 3 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และ พรชัย ฐีระเวช โดยมีนายชาย เอี่ยมศิริ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
หลังจากนั้น คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ได้ยื่นแก้ไขแผนเพื่อปรับโครงสร้างทุน ประกอบด้วย การแปลงหนี้เป็นทุน การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ การเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ การปรับปรุงฝูงบิน ซึ่งศาลฯ เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูฯ ฉบับปัจจุบัน
การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ การบินไทยได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ลดพนักงานเหลือประมาณ 14,000 คน ยุบทิ้งสายการบินไทยสมายล์เพื่อลดความซ้ำซ้อน เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ขายทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ ปรับปรุงฝูงบินและเส้นทางบิน เพื่อเพิ่มรายได้และทำกำไรในทุกเส้นทางบิน
กระทั่งทำให้การบินไทย มีผลดำเนินงานดีขึ้น จากที่ขาดทุนถึง 141,170 ล้านบาท ในปี 2564 กลับมามีกำไรในปี 2565 ถึง 55,113 ล้านบาท ส่วนปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,100 ล้านบาท เติบโต 10,000% จากปี 2565 และเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 24,191 ล้านบาท EBITDA อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เพื่อกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 และปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวก โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ แถลงถึงความสำเร็จของแผนฯและการแปลงหนี้เป็นทุน รวมทั้งการเพิ่มทุน
อย่างไรก็ดี ในส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุน แม้จะได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ก็อยู่ในเงื่อนไขของแผนฯ กระทั่งกล่าวได้ว่าถึงเวลานี้นับเป็นโค้งสุดท้ายของการออกจากแผนฟื้นฟูฯ ที่การบินไทย ต้องทำให้สำเร็จรวม 4 เงื่อนไข นั่นคือ 1.จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งทำสำเร็จแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่การบินไทยจดทะเบียนเพิ่มทุนจำนวน 336,824 ล้านบาท
2.ไม่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี นับจากศาลฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งจนถึงบัดนี้การบินไทยไม่ผิดนัดแต่อย่างใด
3.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง โดยตั้งแต่ ต.ค. 2566 - ก.ย. 2567 การบินไทยมี EBIDA เท่ากับ 27,869 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข
ยังเหลือเพียงเงื่อนไขสุดท้ายคือ 4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
ความมีเรื่องแทรกจากการเมืองส่งคนเข้ามาเสียบคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ไม่รู้ว่ากระบวนการหลังปรับโครงสร้างทุนให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แล้วส่งงบการเงินของปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในต้นปี 2568 และจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ก่อนกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง ทั้งหลายทั้งปวงจะชุลมุนขนาดไหน
จับตาอนาคตของสายการบินแห่งชาติ “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” ของนักการเมือง จะรอดพ้นการถูกรุมทึ้งอีกครั้งหรือไม่?