xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2568 วัดฝีมือ “แม้ว” คุยโวฟื้นเศรษฐกิจ “รัฐบาลแพทองธาร” ถ้าไม่ “รุ่ง” ก็ “ร่วง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 แพทองธาร ชินวัตร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เปิดศักราชใหม่ปี 2568 ออกมา เสียงบ่นของประชาชนและบรรดาพ่อค้าแม่ขายยังคงย่ำอยู่กับประโยคเดิมๆ ไม่ต่างจากปี 2567 ที่ผ่านมาคือ “เศรษฐกิจย่ำแย่ หนี้สินรุงรังและอะไรๆ ก็แพงไปหมด”

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ “นายกฯ ตัวจริง” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ได้ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า “เศรษฐกิจโตแน่ ผมเชื่อว่าจีดีพีปีหน้า(ปี68) 3.5 % ไม่น่ามีปัญหา ปี 69 จีดีพี 4.0 ไม่น่ามีปัญหา แต่ตรงนี้เรายังไม่พอใจ เพราะถ้าจีดีพีไม่ถึง 5 % ประเทศไทยเราจะด้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน” ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า จะมีโอกาสเป็นไปตามนั้น มากน้อยเพียงใด

ส่วน “นายกฯ ตามกฎหมาย” อย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” แม้จะอ้อมแอ้มตอบไม่เต็มปากว่าจะทำอย่างที่ผู้เป็นพ่อว่าไว้หรือไม่ แต่ก็ยืนยันว่า “ปี2568 เศรษฐกิจจะฟื้น”

เพราะเมื่อพิจารณานโยบายการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่ “เศรษฐา ทวีสิน” ต่อเนื่องมาถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ยังไม่มีนโยบายอะไรที่เข้าเป้าจนเห็นผลเป็น “รูปธรรม” ประการใด
ว่ากันว่า ผลงานที่เข้าตาประชาชนในยุคที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประทับใจใน พ.ศ.นี้เลยแม้แต่น้อย

ขณะที่เมื่อไปหันไปดูการวิเคราะห์ของกูรูและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “มีความไม่แน่นอนสูง” โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารงานของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสงครามที่เกิดขึ้นในหลายสมรภูมิ

ไม่มีรายใดเห็นว่า จีดีพีปี 2568 จะถึง 3.5% อย่างที่ทักษิณว่าไว้ หรือแค่ 3% ตามที่รัฐบาลแพทองธารประกาศออกมาก็ยังแทบไม่มี

ยกตัวอย่างเช่น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัว 2.4% ต่ำกว่าในปี 67 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลหลักๆ คือการกลับมาเดือดอีกครั้งของ สงครามการค้า หลังจากนโยบายทรัมป์ 2.0 มีมาตรการกีดกันการค้า จ่อขึ้นภาษีนำเข้าอีกครั้ง และยังมีปัจจัยในประเทศทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และต้องลุ้นการปรับโครงสร้างภาษีของไทยว่าจะเก็บเพิ่มภาษีตัวไหนบ้าง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวตที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 7%

หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำกว่าศักยภาพเดิมในอดีต

ประชาชนขนข้าวขนของจากต่างจังหวัดกลับมาสู้ชีวิตต่อในเมืองกรุงหลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจาก 1) การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด 2) แรงส่งที่มาจากภาคท่องเที่ยวและบริการลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น และ 3) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงอานิสงส์จากการหันไปส่งออกเพื่อเลี่ยงเส้นทางการค้าของผู้ผลิตจีนไปยังสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง

ด้าน “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปี 2568 ปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งที่มีอยู่ในหลายภูมิภาคเป็นปัจจัยที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องให้ความสนใจเนื่องจากถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 สมรภูมิ และคู่ขัดแย้งที่ต้องจับตา ดังนี้

1.ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย นายบาชาร์อัล-อัสซาดถูกโค่นล้มจากตำแหน่งประธานาธิบดีของซีเรียและหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดว่าประเทดศซีเรียในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการวางระบบใหม่ภายในซึ่งส่งผลในแง่การเป็นพันธมิตรระหว่างซีเรีย และอิสาราเอล ทำให้ความขัดแย้งของสองประเทศนี้ในอิสราเอลนั้นลดลงได้ซึ่งส่งผลดีต่อความสงบในตะวันออกกลางและส่งผลดีต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ตะวันออกกลางมีความซับซ้อนและยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบกันได้ ซึ่งหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะกระทบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก และส่งผลกระทบมายังราคาพลังงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันบริเวณช่องแคบฮอร์มุช

2.ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวัน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น และถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ในพื้นที่บริเวณนี้ กรณีที่เกิดปัญหาระหว่างกันและเกิดความตรึงเครียดมากขึ้น ก็จะกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก

อาจเกิดการขาดแคลนชิปเนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญของโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิปและกระทบกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรถยนต์ที่ปัจจุบันต้องใช้ชิปมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตด้วย

 พิชัย ชุณหวชิร
ขณะที่  ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ  ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 แม้จะฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวจะอยู่ในภาวะ “กระท่อนกระแท่น” โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเครื่องมือและงบประมาณที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กล่าวสำหรับมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2568 ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรเท่าที่เห็นมีอยู่ 3 มาตรการหลักๆ ด้วยกันที่จะดันเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

หนึ่ง - 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงิน 10,000 บาท หรือโครงการแจกเงินหมื่นเฟสที่ 2 ซึ่งได้มีการผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้จะแจกเงิน 10,000 บาทให้กับคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอพทางรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการนี้ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยจะแจกเงินก่อนวันที่ 29 ม.ค.2568 คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากโครงการนี้ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้

สอง - โครงการ Easy E-Receipt โครงการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้เสียภาษี โดยซื้อสินค้าตามรายการและร้านค่าที่ร่วมรายการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย โดยจะเริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. – 28 ก.พ.2568 รวม 45 วัน โดยโครงการในปีนี้กระทรวงการคลังได้เพิ่มเงื่อนไขในการใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1)การใช้จ่ายสินค้าทั่วไปและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ทัวร์ เช่ารถ โรงแรม และร้านอาหาร กำหนดวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท

2)การใช้จ่ายร้านวิสาหกิจชุมชน SME และร้านค้า OTOP ลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ 20,000 - 50,000 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการและเข้าระบบเพิ่มขึ้น 20% โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

และสาม - การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง โดยในปี 2568 รัฐบาลมีแผนจะอัดฉีดเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการสนับสนุนเสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคงที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน เห็นชอบเสนอ ครม.ขออนุมัติงบประมาณวงเงิน 11,900 ล้านบาท จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยจะเสนอ เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือน ก.พ.นี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ในปี 2568 การจัดทำงบประมาณของไทยมี “ตัวเลขขาดดุลงบประมาณสูงถึง 8.67 แสนล้านบาท” หรือประมาณ 4.5% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าที่ IMF ระบุว่าไม่ควรเกิน 3% เพื่อรองรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ และโครงการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ฐานะทางการคลังของไทยไม่ได้อยู่ในจุดที่จะขาดดุลงบประมาณในระดับสูงเหมือนที่ผ่านมาได้อีกต่อไป

ส่วน “หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ใกล้เคียงกับระดับ 12 ล้านล้านบาท” คิดเป็นประมาณ 66% ของจีดีพี ถ้าบวกการขาดดุลปี 2568 ไปด้วย เท่ากับ “พื้นที่การคลัง” (Fascial Space) ของไทยเหลือเพียง 3-4% ดังนั้น หากประเทศไทยจะดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณในระดับ 7-8 แสนล้านอีกก็มีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 70% โดยกรอบการคลังระยะปานกลาง (2569 - 2572) ระบุว่า ณ สิ้นแผนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 69.3% ต่อจีดีพี ใกล้จะชนเพดาน 70%

นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกจับตามองเช่นกัน เนื่องจากถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดต้นทุนทางการเงินในการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยเกณฑ์ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 9% ซึ่งถือว่าสูงมาก และหากเพิ่มขึ้นไปถึงระดับที่มากกว่า 12% พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือ Junk Bondได้

ดังนั้น การใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่จำต้องอาศัย “นโยบายทางการเงิน” มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น “การลดดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งรัฐบาลจำต้องพูดคุยกับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” และไม่อาจชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ได้ เพราะทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ

ขณะที่การส่ง “คน” เข้าไปนั่งในเก้าอี้ “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย” ก็ยังไม่เรียบร้อย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า “เดอะโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติและต้องสรรหาคนใหม่แทนอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นใจให้กับระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2568

“นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นถึงเรื่องที่นายกฯ แพทองธารบอกว่า ปี 2568 เศรษฐกิจจะฟื้นและจะเป็นปีทองว่า หากความเชื่อมั่นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ และสถาบันการเงินเห็นภาพเดียวกับรัฐบาล คงเป็นโอกาสให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งนโยบายด้านการเงินเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา หากเศรษฐกิจฟื้นช้าคงต้องลดดอกเบี้ย แต่หากฟื้นเร็วก็อีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้ หลังปีใหม่จะสรุปภาพรวมทั้งหมด และพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร รวมถึงในส่วนของงบประมาณว่าจะเป็นอย่างไร

...ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า “นายกฯ ตัวจริง” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ถือธงนำในการบริหารประเทศให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จะสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติอย่างที่คุยโวโอ้อวดไว้หรือไม่ อย่างไร เพราะปลายทางของเรื่องนี้มีเพียงคำตอบเดียวคือ ถ้าไม่ “รุ่ง” ก็ “ร่วง”


กำลังโหลดความคิดเห็น