ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่คาดหมายกันว่า ในปี 2568 นี้นั้น จะเป็นปีที่สถานการณ์การเมืองจะเดินหน้าสู่ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ โดยมี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็น “ศูนย์กลาง” ของทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทั้งใน “ทางดี” และใน “ทางร้าย”
จากที่เคย “เหนียมอายอยู่บ้าง” เพราะเกรงว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของ “นายกฯ ตามกฎหมาย” ผู้เป็นลูกสาวคือ “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ปรับเข้าสู่โหมด “นายกฯ ตัวจริง”
ดังที่พูดกันแซ่ดในรัฐบาลว่า อำนาจสิทธิ์ขาดตามกฎหมายอยู่ที่ “ลูกอิ๊งค์” แต่ความเป็นไปของรัฐบาลอยู่ในกำมือของ “พ่อทักษิณ”
2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 กับก้าวย่างของ “ทักษิณ” ที่เปิดหน้าลงมาคลุกวงในเกมการเมืองด้วยตัวเองอย่างเมามัน น่าจะเป็น “ทีเซอร์” หรือหนังตัวอย่างที่ฉายภาพให้เห็นความเป็นไปของการเมืองไทยในปีมะเส็ง 2568 ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2568 ที่จะเป็นช่วงที่ครบ “ครึ่งเทอม” ของรัฐบาล ซึ่งในทางการเมืองจะถือเป็นเวลาที่เหมาะเสียงเรียกร้องให้ “ยุบสภา” ยิ่งหากมีประเด็นเป็นตัวเร่ง อย่างเรื่อง “เอ็มโอยู 2544” ที่ยังติดคอรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ อายุรัฐบาลก็อาจสั้นกว่าที่คิด
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ “ทักษิณ” จะมีคำสั่งปฏิบัติการทางการเมืองอะไรออกมา เขามี “ภารกิจทางการเมืองสำคัญ” รออยู่เบื้องหน้าอย่างน้อยๆ ก็ 3 ภารกิจด้วยกัน
สำหรับภารกิจแรกก็คือ “ศึกเลือกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ.)” ทั่วประเทศ ที่ “ทักษิณ” และ “พรรคเพื่อไทย” จะต้องแสดงแสนยานุภาพให้เป็นประจักษ์ ด้วยคือการวางฐานสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที แม้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรจะเหลือเวลาในการบริหารประเทศอีก 2 ปีก็ตาม
“ทักษิณ” ประกาศเป้าหมายที่นั่งสส.รอบหน้า จะต้องทะยานไปถึง 200 คนขึ้นไป เฉพาะภาคอีสานต้องได้ 100 คนขึ้นไป แต่การที่จะเดินไปสู่ฝั่งฝันได้นั้น จำต้องละเอียดในทุกเวทีเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจตรวจสอบสมรภูมิเลือกตั้งนายกอบจ.ตั้งแต่ปี 2565-2567 ที่ทยอยลาออกก่อนครบวาระ และมีการเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด พบว่าพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยคว้าไปคนละ 10 จังหวัด ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐ 3 จังหวัด พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 จังหวัด และพรรคกล้าธรรม 1 จังหวัด
อย่างไรก็ดี หากขีดวงเฉพาะพื้นที่ “ภาคอีสาน” ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย พบว่าเพื่อไทยชนะไป 6 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ขณะที่พรรคภูมิใจไทยชนะไป 3 จังหวัด ประกอบด้วย เลย ชัยภูมิ และสุรินทร์
สำหรับกำหนดการเลือกตั้ง “นายกอบจ.และสมาชิกอบจ.รอบใหม่” จะเกิดขึ้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น ภาคกลาง จ.นครนายก นครปฐม นนทบุรี พิจิตร ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ภาคเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ภาคใต้ กระบี่ ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออก จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง ภาคตะวันตก ประจวบคีรีขันธ์
“ทักษิณ” ที่เดินสายช่วยหาเสียงมาตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา มีกำหนดการลงพื้นที่ประเดิมรับศักราชใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ จ.นครพนม ในวันที่ 12 มกราคม ตามต่อด้วยบึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร เรื่อยมาจนถึงศรีสะเกษ
ทั้งนี้ ใน 47 จังหวัดมีอย่างน้อย 18 จังหวัดที่เป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่าง “พรรคประชาชน” กับ “พรรคเพื่อไทย” ส่วนจังหวัดที่เหลือต้องฟาดฟันกันหนักกับ “พรรคภูมิใจไทย” โดยเฉพาะในทั้งพื้นที่ภาคอีสานที่ไม่อาจประมาท “ค่ายสีน้ำเงิน” ได้ เพราะพวกเขาก็ต้องรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมเอาไว้ชนิด “แพ้ไม่ได้” เช่นกัน แถมยังต้องขยายฐานเพื่อรองรับการเลือกตั้ง สส.ที่จะเกิดขึ้นด้วย
สำหรับจังหวัดที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็อย่างเช่น “เชียงใหม่ ซึ่ง “ทักษิณ” ลงพื้นที่ปราศรัยด้วยตัวเองในฐานะผู้ช่วยหาเสียง หนุน “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ลงชิงในนามพรรคเพื่อไทย กับผู้สมัครจากพรรคประชาชนคือ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ
เชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ “ทักษิณ” เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งจึงมีเพียงประการเดียวคือ เพื่อไทยต้องชนะ
จังหวัดถัดมาคือ “ศรีสะเกษ” ด้วยเป็นพื้นที่ของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี “บ้านใหญ่ไตรสรณกุล” เจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่ง “วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ” อดีต สส.ศรีสะเกษ เขต 3 แข่งกับ “วิชิต ไตรสรณกุล”
ไม่ง่ายที่เพื่อไทยจะโค่นภูมิใจไทยได้เพราะ “วิชิต” นั่งก้าอี้นายก อบจ.มากว่า 2 ทศวรรษ
อีกจังหวัดที่น่าสนใจคือ “ปราจีนบุรี” ที่ยังไม่ทันได้เริ่มก็เกิดคดีฆาตกรรมโหด นั่นก็คือกรณีของ “สจ.โต้ง” จนทำให้วุ่นวายอยู่พอสมควร ก่อนี่พรรคเพื่อไทยจะสามารถเกลี้ยกล่อม “สจ.จอย -ณภาภัช อัญชสาณิชมน” ภรรยา สจ.โต้งลงสนามสำเร็จ
แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะมี “บ้านใหญ่วิลาวัลย์” ขวางทางอยู่
นอกเหนือจากเรื่องนายกอบจ.แล้ว ภารกิจการพา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลับบ้านแบบเท่ๆ ก็คือเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตา เพราะ “ทักษิณ” ประกาศด้วยความมั่นใจล่วงหน้าเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2567 ว่า น้องสาวจะกลับบ้านก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสังคมเชื่อว่า “ทักษิณ” สามารถทำได้
ส่วนจะ “เท่ระดับไหน” ขึ้นอยู่กับ “ดีลพิเศษ” ที่จะต้องมีการเจรจาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ที่แน่ๆ น่าจะดีกว่าในช่วงที่ทักษิณกลับไทย เพราะเพิ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ไม่นานนัก
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มีความพยายามที่จะแก้ “ระเบียบ-กฎเกณฑ์และกฎหมาย” ของ “กรมราชทัณฑ์” มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ร่างประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 พ.ศ. ….” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ”
เป็นระเบียบที่เตรียมออกตั้งแต่ยุค “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระรววยุติธรรม ซึ่งตอนนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ทำเพื่อรองรับการกลับมาของ “ทักษิณ ชินวัตร” แต่ยังไม่เสร็จตอนที่ “ทักษิณ” กลับมา เลยไม่ได้ใช้
“ร่างระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือนอกคุก” เพิ่งครบกำหนดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567
ประเด็นสำคัญของร่างระเบียบนี้ก็คือ ผู้ที่จะเข้าข่ายสามารถรับการคุมขังนอกเรือนจำได้จะต้องมีอัตราโทษมี “อัตราโทษไม่เกิน 4 ปี”
แน่นอน ณ เวลานี้ ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่ในข่ายดังกล่าวเนื่องจากต้องคำพิพากษาจำคุก 5 ปี
ทว่า เมื่อจับอากัปกริยาของ “กรมราชทัณฑ์” ในยุค “อธิบดีสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” หรือผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปอย่าง “กระทรวงยุติธรรม” ที่มี “ทวี สอดส่อง” เป็นรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี วิญญูชนสามารถรับรู้ได้ว่า โอกาสของยิ่งลักษณ์ใช่ว่าจะหมดไป เพราะหวยสามารถออกได้หลายหน้า
ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็คือ การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการลดโทษให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่จะออกมาเป็นเพียงแค่ “ระเบียบ” ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของ “กรมราชทัณฑ์” ดังนั้น จึงสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา และมีการแบะท่าออกมาแล้วว่า “กรรมการเรือนจำ และกรรมการระดับกรมราชทัณฑ์” มีอำนาจในการพิจารณาอีกต่างหาก
และภารกิจที่ 3 ของ “ทักษิณ” ก็คือ การพิฆาตคู่แข่งทางการเมืองที่จะดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านในทุกมิติ ชนิดที่ว่า “ใครไม่สยบยอม” ก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ขั้นสุด ดังที่ “ทักษิณ” ประกาศกร้าวเอาไว้ในช่วงปลายปี 2567
แน่นอน ศัตรูทางการเมืองหมายเลข 1 ย่อมหนีไม่พ้น “พรรคส้ม” หรือ “พรรคประชาชน” ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแพ้ในศึกเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมาจนต้องกลายเป็นพรรคอันดับ 2 ก่อนที่จะหักหลังด้วยข้ออ้างสารพัดและไปร่วมกับ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” นำโดย “พรรค 2 ลุง” ประกาศจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
“ทักษิณ” จำต้องฟื้นศรัทธาของ “คนเสื้อแดง” ที่ตีจากให้กลับมาอยู่ในสภาพ “ติ่ง” ให้สำเร็จ ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่ใช่น้อยที่ย้ายไปให้กับสนับสนุนพรรคประชาชนแทน และนับเป็นโจทย์ยาก
ทั้งนี้ ถ้าหากพิจารณาจาก “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ของ “ทักษิณ” ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า การเจาะ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ให้เป็น “ติ่งเพื่อไทย” ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาลออกมาจึงบ่ายหน้าไปที่ “กลุ่มคนรุ่นเก่า” ซึ่งมีโอกาสมากว่า
แถมตัว “นายกฯ ตามกฎหมาย” อย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” ก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ขายไม่ออก
ไม่ต้องอื่นไกลผลการสำรวจ “นิด้าโพล” ที่วัดเรตติ้งความนิยมทางการเมืองล่าสุด “นายกฯอิ๊งค์” ที่เพิ่งเป็นที่ 1 เมื่อโพลหนก่อน ถูกเขี่ยตกมาเป็นอันดับ 2 ตามหวัง “ตี๋เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งที่ “หัวหน้าเท้ง” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ยังห่างชั้น “ตี๋เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2 อดีตผู้นำค่ายส้ม แบบไม่เห็นฝุ่น
ส่วน “พรรค 2 ลุง” ที่ร่วมรัฐบาลกันอยู่ในเวลานี้นั้น สถานการณ์ตกอยู่ในสภาพวิกฤตทั้ง 2 พรรค ที่ “พังไปก่อน” ตั้งแต่ปี 2567 คือ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่ถูกเฉดหัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหลังการตีจากของ “กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แบบไม่ใยดีต่อบารมีของ “ลุงป้อม” ที่เคยมีบุญคุณต่อกัน
หนักไปกว่านั้นคือ มีการขุดข้อมูลของคนใกล้ตัวลุงกรณี “ไร่ภูนับดาวและนางสาว ช.” มาโจมตี และใช้เป็นเงื่อนไขการต่อรอง จน “ลุงป้อม” ต้องจำยอมอัปเปหิออกจากพรรคพลังประชารัฐอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา
กรณีพรรคพลังประชารัฐคือกรณีศึกษาเรื่อง “แค้นสั่งฟ้า” ของชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เป็นอย่างดี
สำหรับอีกหนึ่งพรรคคือ “พรรคร่วมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็น “พรรคดีเอ็นเอ” ของ “ลุงตู่” นั้น คาดว่า สถานการณ์กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหลังเกิดกระแสข่าว “ทุนพรรครายใหญ่” ตีจาก และการถือกำเนิดอย่างผิดปกติของ “พรรคโอกาสใหม่” ที่เป็นการรวมตัวของ “อดีตบิ๊ก” จาก “กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
มีกระแสข่าวที่ได้รับข้อมูลยืนยันตรงกันว่า พรรคโอกาสใหม่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมรองรับ สส.จากพรรครวมไทยสร้างชาติที่เตรียมตัวโบกมือลาหลังนายทุนใหญ่ไม่ให้การสนับสนุนอีกต่อไป รวมถึงเพื่อต้องการช่วงชิงฐานคะแนนจากสายปกครองที่มี “พรรคภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” นั่งกุมบังเหียนอยู่ในขณะนี้
มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2568 นี้ ถ้า “ทักษิณ” คิด วิเคราะห์และแยกแยะแล้วว่า “แต้มต่อทางการเมืองมีพอ” โอกาสที่จะแตกหักกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ก็มีสูงยิ่ง
ส่วนถามว่าสำหรับ “พรรคภูมิใจไทย” จะยังอยู่ในสมการการเมืองของ “ทักษิณ” อีกหรือไม่ คำตอบในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะหวยสามารถออกได้หลายหน้าขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งจริงว่าจะออกมาอย่างไร แต่ ณ เวลานี้ เสถียรภาพของรัฐบาลเริ่มมีเครื่องหมายคำถามด้วยมีมีประเด็นขัดแย้งและขบเหลี่ยมกับพรรคภูมิใจไทยหลายเรื่อง
และที่ผ่านมาก็เป็นที่รับรู้ว่า “ทักษิณ” ออกอาการไม่พอใจ “พรรคเสี่ยหนูเสี่ยเน” ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนต้องอาศัย “คนกลาง” มาไกล่เกลี่ย อย่างน้อยก็ปรากฏให้เห็นผ่านการตีกอล์ฟอยู่ 2 ครั้ง
ขณะที่การปะทะกันในสมรภูมิการเลือกตั้งนายกอบจ.ก็อาจจะเป็นตัวเร่งให้ความสัมพันธ์เปราะบางขึ้นไปอีก ไม่นับรวมประเด็น “เขากระโดง” ที่มีความอ่อนไหว และมีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะถูกนำมาเป็นหัวข้อสำคัญในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นนี้จริง ซึ่งน่าสนใจว่า พรรคเพื่อไทย จะลงมติอย่างไร
อย่างไรก็ดี ถ้าพรรคภูมิใจไทยจะยังคงอยู่ในสมการการเมืองของ “ทักษิณ” ต่อไป ก็อาจเป็นพรรคที่ถูกใช้เป็น “หมาก” สำหรับ “พื้นที่ภาคใต้” เพราะเห็นได้ชัดว่า “พรรคประชาธิปัตย์” ย่ำแย่เต็มที และ “พรรคเพื่อไทย” ก็ไม่มีคะแนนเสียงในภูมิภาคนี้ ขณะที่พรรคพันธมิตรอย่าง “พรรคประชาชาติ” ของ “จารย์วันนอร์” ก็ขีดวงอยู่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ต้องไม่ลืมว่า “ทักษิณ” นั้นมีประเด็นอ่อนไหวที่เข้าคิวรอ ทั้งกฎหมายนิรโทษกรรม, กฎหมายประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนไปถึงความสัมพันธ์กับ “กองทัพ” ที่เป็นจุดสลบของ “ทักษิณ” มาโดยตลอด
ส่วนตัวของ “ทักษิณ” เองที่แม้จะตั้งตัวเป็น “นายกฯตัวจริง” ก็ยังเดินไม่สะดวก มีพันธนาการทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ที่จะเริ่มสืบพยานในเดือนกรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป หรือคดีชั้น 14 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งองค์คณะไต่สวน 12 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ แม้จะไม่มีผลถึงตัว “ทักษิณ” แต่หากผู้เกี่ยวข้องถูกตัดสินว่าผิด ก็ย่อมกระทบถึงรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอน ทุกประเด็นที่ว่าไปล้วนแล้วแต่เป็น “หัวเชื้อ” ให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล อันอาจนำมาซึ่ง “ม็อบลงถนน” ได้ ทว่า “ทักษิณ” ก็แสดงออกให้เห็นว่า เขามีความมั่นใจและไม่หวั่นไหวกับความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้น ปี 2568 จะเป็นปีที่ “ทักษิณ” สำแดงตนเป็น “ศูนย์กลางจักรวาลการเมืองไทย” อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยถึงเวลาที่ “นายกฯ ตัวจริง” จะสำแดงฝีมือเพื่อฟื้นศรัทธาให้เกิดขึ้นกับตัวเอง พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแพทองธารที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้