xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (20): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

การขาดดุลทางการคลังเป็นเงื่อนไขปัญหาใหญ่ของรัฐบาลคณะผู้สำเร็จราชการฯ เจ้ากระทรวงการคลังได้มีรายงานแก่สภาฐานันดร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำสงครามและกำหนดงบประมาณแต่ละปีอย่างจำกัด ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ไม่ควรสร้างภาระทางการเงินแก่ประชาชนในแผ่นดิน แต่ให้แต่ละฐานันดรดำเนินหน้าที่ของตนอย่างสอดประสานสมดุลกัน

สภาฐานันดรรับแนวนโยบายดังกล่าวและออกแผนงบประมาณสำหรับปี ค.ศ.1662 อย่างไรก็ดี ระหว่างปี ค.ศ.1664-1668 อภิชนระดับล่าง (ราชการ) แสดงความไม่พอใจอย่างกว้างขวางถึงการที่พวกเขาไม่ได้รับเงินเดือน ทำให้สภาฐานันดรต้องดำเนินจัดทำรายงานสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 รายงานดังกล่าวหรือ “Blue Book”  เผยให้เห็นถึงปัญหาการบริหารราชการของ รัฐมนตรีต่างประเทศและประธานสภาบริหาร (Chancellor) โดยพบว่าแผนงบประมาณที่ร่างไว้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เลย พร้อมแนะนำให้ลดทอนรายจ่ายและเสนอให้ใช้มีใช้นโยบายการเวนคืน (Reduktion) อย่างเต็มที่ 

อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมสงครามกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1667 เพื่อแลกกับเงินตอบแทนในการเข้าร่วมสงคราม ทำให้ปัญหาดังกล่าวผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปชั่วขณะ

ในปี ค.ศ.1672 ที่ประชุมสภาฐานันดรได้มีการปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 17 พรรษา ทำให้ฝ่ายต่าง ๆ พยายามเข้าจัดวางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในรัชกาลใหม่ อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวไม่สามารถกล่าวสรุปย่อลงมาได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอภิชนใหญ่กับกลุ่มอภิชนระดับล่างที่หันมานิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่นำโดย Johan Gyllenstierna  ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะผู้สำเร็จราชการฯ อยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น  de la Gardie เองก็ไม่ได้มีความประสงค์จะเพิ่มบทบาทของกลุ่มอภิชนระดับสูงในสภาบริหาร

แต่สาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มอภิชนระดับบนและระดับกลางกับกลุ่มอภิชนระดับล่าง ได้แก่
 1.การแต่งตั้งตำแหน่งราชการ  – อภิชนระดับล่างต้องการให้การเข้าดำรงตำแหน่งราชการไม่ถูกจำกัดโดยชาติกำเนิด และให้การจัดลำดับศักดิ์เป็นไปตามตำแหน่งหน้าที่ ท้ายที่สุด de la Gardie เข้ามาประนีประนอมให้ตำแหน่งระดับสูงในแผ่นดินมีลำดับศักดิ์ตามตำแหน่งหน้าที่ ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ให้พิจารณา  “สถานะ ชาติกำเนิด อายุ อายุราชการ และปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกัน” 

 2.การเพิ่มอำนาจทางวินัย (disciplinary power) แก่ฐานันดรอภิชนในการควบคุมชาวนาติดที่ดินของตนโดยผ่านสภาบริหา ซึ่งฐานันดรชาวนาได้ปฏิเสธและโจมตีอย่างรุนแรงและรวบรวมการสนับสนุนจากฐานันดรอื่น ๆ โดยแย้งว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฐานันดรต่าง ๆ ต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกฐานันดรเท่านั้น ท้ายที่สุด ได้มีการทูลเกล้าฯถวายเรื่องดังกล่าวต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยกเลิกกฎดังกล่าวไป อันแสดงให้เห็นว่า เหล่าสามัญชนได้ส่งสัญญาณพร้อมร่วมมือกับพระมหากษัตริย์ในการจำกัดอำนาจของกลุ่มอภิชน

 3.ประเด็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณในพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด  ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มอภิชนระดับบนและระดับกลางกับกลุ่มอภิชนระดับล่าง------นั่นคือ โดยปกติ คำถวายสัตย์ปฏิญาณในพิธีบรมราชาภิเษกจะมีข้อความที่ทั้งพระมหากษัตริย์ สภาบริหารและสภาฐานันดรจะต้องกล่าวสัตย์ปฏิญาณ เป็นข้อความที่ตีกรอบจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เป็นไปตามจารีตประเพณีการปกครองมาตั้งแต่ยุคโบราณและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสี่ที่มีการออกกฎหมายแห่งแผ่นดิน (the Land Law/ landslag) ที่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ไว้อย่างชัดเจน

แต่ในปี ค.ศ. 1672 สภาบริหารเลือกที่จะไม่เสนอร่างที่สภาบริหารร่างขึ้น ซึ่งแสดงว่า ประธานสภาบริหาร นาย de la Gardie ไม่ต้องการที่จะจำกัดพระราชอำนาจในรัชกาลใหม่ แต่คณะกรรมาธิการในสภาอภิชนมีข้อเสนอสิบประการในการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณในพระราชพิธีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน และประธานของอภิชนระดับล่างสุด (ที่เรียกว่า Class III) มีความเห็นที่รุนแรงต่อข้อเสนอสิบประการนั้นและกล่าวว่า  “ดูเหมือนว่า ถ้าจะให้มีการจำกัดพระราชอำนาจ ราวกับว่าเราต้องการมัดพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ไว้โดยข้อเสนอดังกล่าว”  ซึ่งในวาทกรรมการเมืองของสวีเดน คำกล่าวที่ว่า  “มัดพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์” เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะถือเป็นการปฏิเสธอำนาจอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับประทานจากพระผู้เป็นเจ้า ส่งผลให้แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นใจกลางของการถกเถียงที่เกิดขึ้นตามมา

ที่ประชุมสภาอภิชนได้ส่งร่างดังกล่าวไปให้สภาบริหารได้พิจารณาให้ความเห็น โดยมีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นในร่างดังกล่าวที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดพระราชอำนาจ ซึ่งประเด็นทั้งสองนี้สะท้อนถึงฝักฝ่ายในอภิชนที่มีความเห็นต่างกัน
 ประเด็นแรก  ฝ่ายอภิชนชั้นสูงเสนอให้ พระมหากษัตริย์จะต้องแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่ตามข้อแสนอแนะของสภาบริหารและของกระทรวงต่างๆ อันเป็นการยืนยันการจำกัดพระราชอำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้กับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาก่อน ส่วนฝ่ายอภิชนระดับล่าง (Class III) ไม่เห็นด้วย และในสภาบริหาร de la Gardie ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวด้วย แต่ประธานสภาของพวกอภิชนได้ปกป้อง  “การมัดพระหัตถ์พระมหากษัตริย์” โดยให้เหตุผลว่า  “พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามไม่ให้ใครคิดไปเช่นนั้น (คิดว่าการจำกัดพระราชอำนาจคือการมัดพระหัตถ์พระมหากษัตริย์/ผู้เขียน) แต่ข้อเสนอของเราไม่มีอะไรมากไปกว่าการแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์” และมีการเสริมด้วยว่า แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษาสภาบริหารในการแต่งตั้งข้าราชการ แต่กระนั้น อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่พระองค์

ประเด็นที่สอง ที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างยิ่งคือ ข้อเสนอที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์จะต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ (the Form of Government) และให้มีการเคารพรัฐธรรมนูญทั่วทั้งราชอาณาจักรตลอดเวลา” ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การนำการจำกัดอำนาจที่เคยกระทำต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยผ่านสภาบริหารและสภาฐานันดรมาปรับใช้ต่อรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวดและจะเป็นการเอื้อให้พวกอภิชนชั้นสูงในสภาบริหารและสภาฐานันดรมีอำนาจอย่างมาก

การจำกัดอำนาจคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1660 มีเหตุผลที่เข้าใจได้ เพราะไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ที่แท้จริง จึงจำเป็นต้องให้สภาบริหารและสภาฐานันดรจำกัดหรือตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้น การนำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้เมื่อมีพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงเท่ากับทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ลงไปเท่ากับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประธานสภาบริหารได้เสนอว่าควรจะทำหนังสือกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ สภาบริหารได้มีความเห็นขัดแย้งกันเองและเสนอให้ฐานันดรอภิชนนำข้อเสนอดังกล่าวไปประชุมหารือกับฐานันดรอื่นๆด้วย ซึ่งได้รับคำปฏิเสธจากฐานันดรอื่น ๆ ในทันที และเสนอให้ใช้ถ้อยคำสาบานตนของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ (Charles X Gustav) ในปี ค.ศ.1654 สภาบริหารพยายามเข้าโน้มน้าวพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฐานันดรยอมรับถ้อยคำสัตย์ปฏิญาณที่มีเนื้อหาตามประเพณี นั่นคือ พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชดำรัสสัตย์ปฏิญาณว่า  “เราจะปกครองและนำราชอาณาจักรในทุกๆด้านตามคำสัตย์ปฏิญาณ” 

และพระองค์จะแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ จาก  “อภิชนชาวสวีเดน” และปกครองด้วยคำแนะนำของสภาบริหาร และในการกำหนดนโยบายที่สำคัญ  “จะกระทำและดำเนินตามคำแนะนำของสภาบริหารแห่งแผ่นดินและด้วยความรู้และการยอมรับเห็นด้วยของฐานันดรต่างๆ” 
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า กลุ่มอภิชนระดับสูง--(นำโดยประธานฐานันดรอภิชน) แต่ไม่ใช่นำโดย de la Gardie ที่เป็นประธานสภาบริหาร---รู้สึกว่าฐานะของตนกำลังถูกคุกคามจากอภิชนระดับล่างและสามัญชน ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความแตกแยกในฐานันดรอภิชนเอง และในประเด็นปัญหาด้านการคลังที่ยังค้างคาอยู่นั้น กลุ่มอภิชนระดับล่างและสามัญชนก็ได้ปฏิเสธการเพิ่มภาษีและยืนยันให้ใช้การเวนคือ (Reduktion) ตามที่ตกลงไว้ในปี ค.ศ.1655 อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ในปี ค.ศ.1672 มีปัจจัยสำคัญที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน (unknown factor) นั่นคือ บุคลิกและทัศนะของพระองค์เองที่ไม่เป็นที่รับรู้ในสาธารณะ
 จากบันทึกต่าง ๆ พอสรุปได้ว่า พระองค์มีปัญหาด้านการอ่านเขียน พูดได้แต่เพียงภาษาสวีดิชและเยอรมันเท่านั้น แต่ทรงโปรดปรานกิจกรรมกลางแจ้ง ทรงโปรดการล่าสัตว์และการฝึกซ้อมทางทหาร โดยมักฝึกซ้อมด้วยกำลังอาวุธจริง (war games) จนมีทหารบาดเจ็บสาหัสบ่อยครั้ง พระองค์มีโลกส่วนตัวสูงและไม่ถนัดการเข้าสังคมหรือการสื่อสารด้วยถ้อยคำ พระองค์ไม่เคยมีพระบรมราโชวาทสาธารณะในราชพิธี 

ทูตฝรั่งเศสบันทึกว่าพระองค์ไม่เปิดรับการพูดคุย และในบันทึกส่วนตัวของพระองค์ “Almanack”  จะมีการจดบันทึกแต่เพียงวันเวลา สถานที่ และรายงานเหตุการณ์ข้อเท็จจริงสั้น ๆ เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างการรบชนะหรือพิธีอภิเษกสมรสของพระองค์ก็ตาม ซึ่งสะท้อนว่าพระองค์ไม่ถนัดในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึกของพระองค์ในทางคำพูดหรือข้อเขียน (self-expression)
มีอธิบายคำบอกเล่าที่ว่า เป็นไปได้ว่า พระองค์เคยทรงกริ้วถึงกับทำร้ายร่างกายเจ้ากระทรวงและที่ปรึกษา ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นศาสนิกชนที่เคร่งครัด พระองค์ปฏิบัติตามศาสนกิจอย่างสมบูรณ์และทรงมีทัศนะต่อบทบาทของพระองค์ผูกพันธ์กับความเชื่อแบบคริสต์นิกายลูเธอรัน พระองค์ทรงมองว่า การสืบสายโลหิตของราชวงศ์สวีเดนนั้นเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้พระองค์ช่วยปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพสกนิกร และการไถ่บาปของพระองค์นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอย่างสมบูรณ์เท่านั้น

ดังที่พระองค์ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ (Louis XIV) โดยยืนยันว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะมีพระราชอำนาจตามที่ได้รับประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

 “พระองค์เรียนรู้จากการศึกษาของพระองค์ถึงแก่นแท้ของระบอบพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการสืบราชสันตติวงศ์ นั่นคือ อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจและในการติดสินข้อขัดแย้งในราชอาณาจักรอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยพระมหาการุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งไม่อาจท้าทายได้” 

และหากเป็นเช่นนั้นจริง พระองค์คงไม่ได้รู้สึกว่าพระองค์จำต้องปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจในการปกครอง เพราะกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสวีเดนได้ให้อำนาจสมบูรณ์แก่องค์พระมหากษัตริย์อยู่ก่อนแล้ว การที่ที่ประชุมสภาฐานันดรปี ค.ศ.1672 ปฏิเสธการจำกัดพระราชอำนาจจึงสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนะไปในทางเดียวกับพระองค์และสะท้อนว่าความเห็นของสภาบริหารแห่งแผ่นดินเป็นเสียงข้างน้อยเท่านั้นและไม่ได้เป็นเสียงที่ได้การยอมรับเชื่อถือ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น