คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไป
บทบัญญัติเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1660 ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการประชุมสภาฐานันดรเป็นครั้งแรกด้วย นั่นคือ สภาฐานันดรได้กำหนดให้มีการประชุมสภาานันดรทุกๆ สามปีและคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสภาบริหารแห่งแผ่นดินจะต้องรายงานผลการบริหารราชการที่ดำเนินแล้วต่อสภาฐานันดรด้วย
อีกทั้ง “การตัดสินใจในเรื่องสำคัญจะต้องผ่านการอภิปรายหารือและได้รับการลงมติยอมรับจากสภาฐานันดร” และในกรณีของ “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะทำหน้าที่บริหารราชการ”ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าในการเมืองการปกครองขณะนั้น ข้อความในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมได้กล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้อง “ตอบคำถามต่อพระผู้เป็นเจ้า และต่อพระมหากษัตริย์ และฐานันดรทั้งหลายของราชราชอาณาจักร”
จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนข้อกำหนดสมัยการประชุมสภาฐานันดร และการกำหนดให้ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต้องรายงานผลปฏิบัติงานต่อสภาฐานันดร และเรื่องที่มีความสำคัญจะต้องผ่านกระบวนการและความเห็นชอบของสภาฐานันดร ถือเป็นการเพิ่มอำนาจและบทบาทให้สภาฐานันดร แต่บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่เพิ่มอำนาจและบทบาทสภาฐานันดรนี้ไม่ได้กำหนดไว้อย่างถาวร แต่กำหนดเฉพาะในช่วงที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น เพราะหลังจากที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์และทรงบริหารราชการแผ่นดิน ก็จะกลับมาใช้บทบัญญัติทั่วไปในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนเสด็จสวรรคต พระเจ้าชาร์ลสที่สิบ (Charles Xทรงพยายามที่จะให้อำนาจแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ผ่านพระราชพินัยกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้ ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงสามารถมีอิทธิพลต่อสภาฐานันดรในการทำให้สภาฐานันดรรับรองพระราชพินัยกรรมดังกล่าว ซึ่งความพยายามดังกล่าวนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1634
แต่หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต สภาฐานันดรได้ลงมติใหม่ไม่ยอมรับพระราชพินัยกรรมดังกล่าว และกลับไปยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1634 แต่แก้ไขเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1661 ให้อำนาจแก่สภาบริหารและสภาฐานันดรในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยกำหนดให้อำนาจตัดสินสุดท้ายอยู่ที่สภาฐานันดร แต่บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจแก่สภาฐานันดรนั้นใช้เฉพาะช่วงที่ยังต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น
กล่าวได้ว่า ภายใต้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจของสภาฐานันดรในช่วงที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1660 สภาฐานันดรในสวีเดนมีอำนาจและบทบาทในการปกครองมากไม่ต่างจากรัฐสภาของอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกัน สภาฐานันดรจะทำการอภิปรายนโยบายการบริหารประเทศ และมีอำนาจในการเรียกข้าราชการและผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีให้มาชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งสภาฐานันดรยังมีอำนาจที่จะปฏิเสธการให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแผ่นดินด้วย
ขณะเดียวกัน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เริ่มทำหน้าที่ในปี ค.ศ. 1660 ที่อาจจะดูว่ามีความคล้ายคลึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ. 1632 ในขณะที่ พระราชินีคริสตินา (Christina) ยังไม่ทรงพระชันษา เพราะหลังจากที่ พระเจ้ากุสตาฟที่สอง (Gustav II Adolf) เสด็จสวรรคต และภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1634 ได้กำหนดให้สภาบริหารแห่งแผ่นดินทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่สมเด็จพระราชินีคริสตินายังทรงพระเยาว์ โดยให้ Axel Oxenstierna ผู้ที่เป็นประธานสภาบริหารทำหน้าที่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย เพราะในปี ค.ศ. 1660 เคาท์ (Count) Magnus Gabriel de la Gardie ในฐานะประธานสภาบริหารก็เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เช่นเดียวกัน
และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ. 1660 อาจจะดูเหมือนกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. 1634 ตรงที่ประกอบไปด้วยอภิชนที่มาจากตระกูลอภิชนที่มั่งคั่งที่สุดในสวีเดน แต่ข้อแตกต่างคือ เคาท์ Magnus Gabriel de la Gardie ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่สามารถและได้รับการยกย่องให้เกียรติเหมือน Oxenstierna แม้ว่า de la Gardie จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีรสนิยมและการศึกษาดี แต่เขาเป็นผู้กระหายอำนาจ (power-hungry) และจุดอ่อนของเขาปรากฎให้เห็นจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้ง
และแม้ว่าเขาจะมาจากตระกูลอภิชนที่ร่ำรวย แต่รากเหง้าไม่ได้เป็นตระกูลอภิชนที่สูงส่ง ทำให้เขาได้รับการดูถูกจากอภิชนชั้นสูงอื่นๆ แต่กระนั้นจุดแข็งของเขาคือ การเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารและวาทศิลป์
ในปี ค.ศ.1660 สถานะระหว่างประเทศของสวีเดนอยู่ในสภาวะเปราะบาง การที่สวีเดนมีดินแดนในปกครองจำนวนมากกระจายอยู่ในพื้นที่ทะเลบอลติก ทำให้สวีเดนถูกล้อมรอบด้วยประเทศรอบข้างที่รอคอยจังหวะในการแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียที่ถูกยึดพื้นที่ติดทะเลทางทะเลบอลติก และราชวงศ์แฮบสเบิร์ก (Habsburg) ที่จำต้องอนุญาตให้พระมหากษัตริย์สวีเดนในฐานะเจ้าปกครองแคว้นเยอรมันเข้าร่วมในการประชุมสภาจักรวรรดิ (Imperial Diet) ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเดนมาร์กที่รู้สึกไม่ปลอดภัยจากการที่สวีเดนถือครองพื้นที่บริเวณ Bremen-Verden เป็นต้น
เงื่อนไขปัจจัยข้างต้นทำให้สวีเดนจำเป็นต้องมีป้อมปราการและกองทหารรักษาการตามพื้นที่ต่าง ๆ มีกองทัพบกในบ้านพร้อมกับกองทัพเรือที่สามารถเดินทางไปปกป้องดินแดนในปกครองได้ทันการณ์ รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เสริมสร้างมิตรและกีดกันศัตรู และอาจรวมถึงการหาเงินสนับสนุนจากต่างชาติด้วย ภาระที่เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมดนี้นำมาซึ่งภาระทางการเงินที่มากเกินกว่าความสามารถของสวีเดนเองในขณะนั้น
การปกครองของสวีเดนในช่วงดังกล่าวจึงดำเนินภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่แต่เดิม พระเจ้าชาร์ลสที่สิบได้ทรงทำพระราชพินัยกรรม (Testament of 1660) ให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในการควบคุมของราชวงศ์และข้าราชการคนสนิท อย่างไรก็ดี อย่างที่กล่าวไปแล้ว ที่ประชุมสภาฐานันดรได้ปรับเปลี่ยนองค์คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขั้นแรก ที่ประชุมสภาฐานันดรได้แก้ไขเพิ่มเติม (Additament) รัฐธรรมนูญ โดยระบุให้ พระราชินีพันปีหลวง (พระราชมารดาของ Charles XI) และ เจ้ากระทรวงใหญ่ห้ากระทรวง (great officers of state) บริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความคำแนะนำของสภาบริหารแห่งแผ่นดิน (Council of State) อันเป็นการเพิ่มอำนาจแก่อภิชนระดับบนที่มีอิทธิพลทางการเมืองสอดคล้องไปกับโครงสร้างทางการเมืองของ Axel Oxenstierna
จากข้างต้น ส่งผลให้กลุ่มอภิชนระดับล่างหรืออภิชนราชการที่ไม่มีที่ดินไปเข้ากับฐานันดรสามัญชนในแก้ไขขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้ตระกูลอภิชนใดตระกูลหนึ่งมีบทบาทมากเกินไป และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าสู่ตำแหน่งราชการได้ตามความรู้ความสามารถ บทส่วนขยายรัฐธรรมนูญดึงกล่าวจึงเพิ่มบทบาทให้แก่ฐานันดรต่าง ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการ
จนกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานั้น “ที่ประชุมฐานันดรดูจะอ้างบทบาทในการปกครองแผ่นดินเทียบได้กับรัฐสภาอังกฤษ” นั่นคือ สามารถอภิปรายนโยบาย ตรวจสอบเจ้ากระทรวงและข้าราชการ และระงับงบประมาณได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ยังคงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น