"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
วุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity) หมายถึงความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเอง เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น และตัดสินใจอย่างมีเหตุผลภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้ผู้นำการเมืองสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบทที่มีความซับซ้อนและกดดันสูง เช่น การรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่าง การเจรจาต่อรองในสถานการณ์ขัดแย้ง และการเผชิญกับคำถามที่แหลมคมของนักข่าว
ผู้นำการเมืองที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงสามารถสร้างความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจในประชาชนได้ พวกเขาจะมีความสงบภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด และสามารถตัดสินใจที่สะท้อนถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความพึงพอใจส่วนตัว ขณะที่ผู้นำที่ขาดวุฒิภาวะมักตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่สามารถนำพาองค์กรหรือประเทศไปในทิศทางที่ดีได้
ลักษณะของการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
1) การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ซึ่งหมายถึงการเข้าใจอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้อื่น
2) การควบคุมอารมณ์ (Emotional Regulation) อันหมายถึง ความสามารถในการจัดการกับความโกรธ ความวิตกกังวล หรือความผิดหวัง และไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ
3) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งสะท้อนลักษณะของการเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของผู้อื่น ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและลดความขัดแย้ง
4) การตัดสินใจที่มีเหตุผล (Rational Decision-Making) ไม่ปล่อยให้อารมณ์ชี้นำการตัดสินใจ แต่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
และ 5) การมีวุฒิภาวะในความสัมพันธ์ (Interpersonal Maturity) ซึ่งเป็นการสื่อสารอย่างเปิดเผยและให้เกียรติผู้อื่น แม้ในสถานการณ์ที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน
หากสังคมใดมีผู้นำทางการเมืองที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงย่อมส่งผลดีต่อบรรยากาศทางการเมือง ทำให้ความขัดแย้งต่าง ๆ บรรเทาเบาบางลงไป แต่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มักจะต้องประสบกับผู้นำทางการเมืองที่มีปมปัญหาการมีวุฒิภาวะทางการเมืองต่ำอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองยากที่จะสงบลงได้
สำหรับลักษณะของคนที่การขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มีดังนี้
1.การมีแนวโน้มการใช้คำพูดเชิงข่มขู่และลดทอนคุณค่าผู้อื่น นักการเมืองที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มักใช้ถ้อยคำที่แสดงออกถึงความข่มขู่และการลดคุณค่าผู้อื่นเพื่อแสดงความเป็นผู้นำของตนเอง ตัวอย่างเช่น การพูดว่า “ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่าย ๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่” หรือ “ถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย ง่ายดี”
คำพูดในลักษณะนี้สะท้อนถึงอารมณ์โกรธและความไม่อดทน ซึ่งเป็นการแสดงออกในรูปแบบการใช้อำนาจมากกว่าการสร้างความร่วมมือ
นอกจากนี้ การข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามอย่างเปิดเผย เช่น “ไอ้คนที่ร้องผม ร้องพรรค ร้องไม่สำเร็จ ก็เตรียมถูกเช็คบิลด้วยละกันนะ” ยังแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่พึ่งพาอำนาจและการกดดัน มากกว่าการสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาและหาทางออกอย่างสร้างสรรค์
2. ความไม่ยืดหยุ่นในการรับมือกับความขัดแย้ง แนวทางของผู้นำทางการเมืองที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการรับมือกับความขัดแย้ง มักจะมีลักษณะตอบโต้ในทันที โดยไม่ได้ยับยั้งชั่งใจ ตัวอย่างเช่น การกล่าวว่า “เมื่อก่อนเขาแรงมา เราแรงกลับ ตอนนี้ใจเย็นมาก แต่ถ้าเขาซัดมา เราก็ซัดกลับ” ชี้ให้เห็นถึงความโน้มเอียงไปสู่การตอบโต้แทนที่จะพยายามลดความตึงเครียด
หรือการวิพากษ์วิจารณ์พรรคร่วมรัฐบาลในที่สาธารณะ เช่น การพูดว่า “ได้ตำแหน่งแล้วไม่เอาแล้ว” ยังสะท้อนถึงความไม่ยืดหยุ่นและขาดความสามารถในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและลดทอนความไว้วางใจในระยะยาว
3. การใช้วาทกรรมเชิงรุนแรงและดูถูก ผู้นำทางการเมืองที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มีแนวโน้มที่จะใช้ถ้อยคำรุนแรงและเสียดสี เช่น การกล่าวถึงฝ่ายตรงข้ามว่า “เห่าหอน” หรือ “ไอ้คนเฮงซวย” วาทกรรมในลักษณะนี้แม้จะสามารถปลุกเร้าฐานเสียงของเขาได้ แต่ก็เสี่ยงต่อการทำให้เกิดความแตกแยกและลดความน่าเชื่อถือของเขาในสายตาของผู้ที่มองหาผู้นำที่มีความสุขุมเยือกเย็น
การใช้คำพูดในลักษณะนี้ยังสะท้อนถึงการขาดความสามารถในการสร้างพื้นที่สำหรับการถกเถียงหรือการนำเสนอเหตุผลที่สมเหตุสมผล ซึ่งอาจทำให้เขาดูเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากกว่าการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
4. การไม่สามารถยอมรับความเห็นต่างได้อย่างสร้างสรรค์ แม้ว่าบางโอกาส ผู้นำทางการเมืองอาจจะกล่าวถึงความสำคัญของการพูดคุยและแสดงความคิดเห็น เช่น การกล่าวว่า “พรรคร่วมรัฐบาลต้องตรงไปตรงมา มีอะไรไม่พอใจพูดกัน” แต่การแสดงออกของเขากลับสะท้อนถึงการขาดความสามารถในการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ตัวอย่างเช่น การข่มขู่พันธมิตรทางการเมืองในลักษณะว่า “ใครหาเรื่องเรา ก็ไม่รู้ว่าจะปล่อยไว้ทำไม” แสดงถึงความไม่พร้อมในการจัดการกับความเห็นต่างอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์
5. การแสดงความเป็นศูนย์กลางและยึดตนเองเป็นใหญ่ ผู้นำที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มักแสดงบทบาทของตนเองในฐานะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบาย โดยมักจะพูดถึงความสามารถและบทบาทของตนเอง มีความเชื่อมั่นในนตนเองแบบล้นเกิน มักจะอ้างผลงานที่เกินความเป็นจริง ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ขยายกระจายให้เป็นเรื่องใหญ่โต ส่วนความล้มเหลวหรือความผิดพลาด แม้จะใหญ่หลวงเพียงก็มักไม่กล่าวถึง หรือหามีคนถามก็มักจะโยนความผิดไปให้ผู้อื่น ผู้นำแบบนี้มีความเชื่ออย่างเชิงมายาคติที่ฝังลึกว่าตนเองคือศูนย์กลางของสรรพสิ่ง
6. การโจมตีส่วนตัวแทนการใช้เหตุผล ผู้นำที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มักวิจารณ์คู่แข่งในเชิงส่วนตัว เช่น การกล่าวว่าคู่แข่ง “พูดเก่งแต่ทำไม่ได้” หรือการเปรียบเทียบผู้ที่เคยสนับสนุนแต่ต่อมาหันกลับมาวิจารณ์ตนเองว่าเป็น “สุนัขที่เลี้ยงไม่เชื่อง พอไม่ให้อาหารก็เห่าหอนและกัด” คำพูดลักษณะนี้แสดงถึงการขาดความสามารถในการใช้เหตุผลเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง และมุ่งไปที่การลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม
ผู้นำการเมืองที่ทรงอิทธิพลของประเทศไทยในยามนี้มีการพูดและการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์ค่อนข้างมาก เช่น การขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การไม่ยอมรับความเห็นต่าง การขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล และมักสื่อสารเชิงบั่นทอนและทำลายมากกว่าสร้างสรรค์
ข้อบกพร่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ส่วนตัวของเขา ยิ่งกว่านั้นวาทกรรมที่รุนแรงและแบ่งแยกอาจเพิ่มความตึงเครียดและความแตกแยกในสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อความไว้วางใจในระบบการเมืองและความปรองดองในสังคม
สำหรับสาเหตุของขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มีหลายประการ
ประการแรก พื้นฐานการเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็ก การเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็กถือเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ในอนาคต คนที่เติบโตขึ้นในครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมที่ขาดการสนับสนุนด้านอารมณ์มักไม่ได้รับความอบอุ่น ความรักหรือการยอมรับอย่างเพียงพอ สิ่งนี้อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ซึ่งสะท้อนออกมาในพฤติกรรมของพวกเขาเมื่อโตขึ้น
นอกจากนี้ หากต้องเผชิญกับความขัดแย้งในครอบครัว เช่น การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง หรือการถูกละเลยทางจิตใจและอารมณ์ อาจเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อความขัดแย้งด้วยพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น การแสดงออกเชิงรุนแรงหรือการหลีกเลี่ยงปัญหา การขาดตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ในวัยเด็ก จึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้บุคคลเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยขาดวุฒิภาวะในการรับมือกับความขัดแย้งในชีวิตจริง
ในอีกด้านหนึ่ง เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจมากเกินไปมักมีแนวโน้มที่จะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ขาดขอบเขตและการควบคุมที่เหมาะสมสามารถส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กในหลายแง่มุม คนเหล่านี้มักจะมีมุมมองที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากพวกเขาเคยชินกับการที่ความต้องการของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งนี้อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าใจหรือคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น รวมทั้งมักจะขาดทักษะการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะผู้ปกครองมักเข้ามาแก้ไขหรือปกป้องพวกเขาจากความยากลำบากเสมอ เข้าข่าย “พ่อ” เลี้ยง นั่นเอง
ประการที่สอง ขาดการพัฒนาทักษะการจัดการอารมณ์ การจัดการอารมณ์เป็นทักษะที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในบางกรณี บุคคลอาจไม่ได้รับโอกาสหรือการฝึกฝนให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม การขาดทักษะนี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างมีเหตุผล และมักตอบสนองต่อปัญหาด้วยอารมณ์รุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีควบคุมความโกรธ อาจเลือกใช้คำพูดรุนแรงหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อรู้สึกไม่พอใจ พวกเขาอาจไม่เข้าใจว่าการตอบสนองดังกล่าวส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้ การขาดทักษะการเจรจาหรือการแก้ไขความขัดแย้งยังทำให้พวกเขาขาดความสามารถในการหาทางออกที่สร้างสรรค์ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน
ประการที่สาม แรงกดดันจากบทบาทผู้นำ สำหรับผู้นำทางการเมืองหรือบุคคลในตำแหน่งที่มีอำนาจ ความคาดหวังจากประชาชนและความจำเป็นในการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤตสามารถสร้างแรงกดดันทางอารมณ์อย่างมหาศาล ผู้นำต้องรับมือกับความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกองค์กร พร้อมทั้งแบกรับความคาดหวังที่จะนำพาประเทศหรือกลุ่มของตนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในบางกรณี ความกดดันเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ผู้นำแสดงพฤติกรรมที่ขาดความยั้งคิด เช่น การตำหนิผู้อื่นอย่างเปิดเผย การแสดงความโกรธ หรือการใช้คำพูดเชิงข่มขู่ ทั้งนี้เพราะความเครียดและความกลัวการสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองสามารถทำให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมเชิงอารมณ์มากกว่าที่จะตอบสนองด้วยเหตุผลและการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
ประการที่สี่ บุคลิกภาพส่วนตัว บุคลิกภาพส่วนตัวของแต่ละคนมีบทบาทสำคัญต่อวิธีการจัดการอารมณ์ของพวกเขา โดยเฉพาะในกรณีของผู้นำที่มีลักษณะนิสัยแบบยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Narcissism) บุคลิกภาพในลักษณะนี้ทำให้บุคคลมองเห็นความต้องการของตนเองสำคัญที่สุด และขาดความสามารถในการเห็นอกเห็นใจหรือเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
บุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้มักต้องการความชื่นชมและการยอมรับจากผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ พวกเขาอาจแสดงความโกรธ ความผิดหวัง หรือการโจมตีผู้อื่นในเชิงอารมณ์ ลักษณะนิสัยที่มุ่งเน้นการแข่งขันหรือการเอาชนะของพวกเขาอาจทำให้ขาดความสามารถในการประนีประนอม หรือยอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง สิ่งนี้ส่งผลต่อการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทาย
ผลกระทบของการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ผู้นำที่ขาดวุฒิภาวะมักตัดสินใจผิดพลาด หรือทำให้เกิดนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหรือมีผลกระทบในระยะยาว หรือไม่สามารถนำพาองค์กรหรือประเทศไปในทิศทางที่ดีได้ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทีมงานหรือในหมู่ประชาชน และหากผู้นำแสดงความไม่เหมาะสมในเวทีระหว่างประเทศ อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ
วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการบริหารงานและความไว้วางใจของประชาชน การพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ เช่น การตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมอารมณ์ และการแสดงความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้นำสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายและสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
แต่สำหรับประเทศไทยในระยะนี้การมีผู้นำที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะดูเหมือนว่าการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์อาจเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งไปแล้วสำหรับผู้นำทางการเมืองบางคน