ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิต ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย แหล่งเดินป่าค้างแรมระดับตำนานของเมืองไทย เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2567 สะท้อนปัญหาลุกลามเรื้อรังระหว่าง “คน” และ “ช้างป่า” ทั้งเรื่องการเพิ่มจำนวนของประชากรช้างป่า 8% ต่อปี การออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์บุกรุกทำลายพืชผลทางเกษตรทำร้ายชาวบ้าน ซึ่งภาพรวมตั้งแต่ปี 2558 เกิดกรณีช้างป่าเหยียบคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 200 ชีวิต
ขณะเดียวกัน ยังนับเป็นสถานการณ์ปัญหาใหม่ท้าทายหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วง “ไฮซีซัน” ของการท่องเที่ยว
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 เกิดเหตุนักท่องเที่ยวคนไทยถูกช้างป่าเหยียบเสียชีวิต 1 คน ระหว่างทางเดินจากองค์พระพุทธเมตตาไปน้ำตกเพ็ญพบ ซึ่งอยู่หลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย
ต่อมา ทราบว่าช้างป่าตัวที่ทำร้ายเป็นช้างเพศผู้ ชื่อ “พลายงาหวายถ่าง” พบลักษณะขมับเริ่มบวม ซึ่งแสดงถึงอาการตกมัน โดยเจ้าหน้าที่เผยว่า พลายงาหวายถ่างเป็นช้างที่ถูกขับออกจากโขลง เพราะเป็นช้างเกเร ชอบออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นช่วงเวลาที่ช้างป่าจะจับคู่และมีภาวะตกมันเป็นปกติ แต่ไม่ใช่ทุกตัวจะตกมันแล้วต้องเกรี้ยวกราด ความดุร้ายถือเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์ เปิดเผยว่าโดยปกติในพื้นที่น้ำตกเพ็ญพบใหม่ และเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมบนยอดภูกระดึง เช่น ผาหล่มสัก ผานกแอ่น จะไม่มีช้างเข้ามาในจุดนี้
ทั้งนี้ บนภูกระดึงจะมีช้างป่าอยู่ประมาณ 10 ตัว ซึ่งก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวทางเจ้าหน้าที่จะมีการลาดตระเวน และตรวจสอบความปลอดภัย และทุกเช้าๆ จะมีการลาดตระเวนว่าปลอดภัยจากสัตว์ป่าหรือไม่ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นนับเป็นเหตุสุดวิสัย
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่มีช้างป่าเข้ามาในจุดนี้ และทำอันตรายกับนักท่องเที่ยว เบื้องต้นดำเนินการดูแลและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่
หลังเกิดเหตุ กรมอุทยานฯ สั่งปิดเส้นทางการท่องเที่ยวบนภูกระดึงเป็นการชั่วคราวทันที เพื่อดำเนินการตรวจสอบกำกับดูแลเรื่องปลอดภัย ก่อนที่จะประกาศเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 2567 แต่เปิดเฉพาะเส้นทางเลียบหน้าผาที่ได้รับการประเมินว่า มีความปลอดภัย 100% ส่วนเส้นทางน้ำตกและผานกแอ่นจะยังคงปิดให้บริการ จนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยอีกครั้ง
นอกจากนี้ ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงยังมีการวางแผนรักษาความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุม ประกอบด้วย จัดชุดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและเฝ้าระวังประจำจุดต่างๆ จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วผลักดันและเฝ้าระวังช้างป่าพร้อมอุปกรณ์และยานพาหนะในการปฏิบัติภารกิจ ขยายรัศมีการผลักดันเป็น 2 กิโลเมตรจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง จัดทำโป่งดึงดูดช้างเพื่อป้องกันการเข้ามาในพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินกรณีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บหรือถูกสัตว์ป่าทำร้าย
ส่วนเรื่อง “ขยะ” ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็มีการจัดระเบียบใหม่ เช่น นำโดรนมาใช้ขนขยะ งดวางถังขยะตามเส้นทางเพื่อลดการดึงดูดช้างป่า รวมทั้งขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวและร้านค้าจะต้องรับผิดชอบการจัดการขยะของตนเอง เป็นต้น
กล่าวสำหรับ “ช้างป่า” นั้น จากการสำรวจพบประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี โดยในปี 2566 อยู่ที่ 4,013 - 4,422 ตัว กระจายตัวใน 16 กลุ่มป่า 93 พื้นป่าอนุรักษ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ 48 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า พบปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่าบ่อยขึ้น และเกิดความขัดแย้งของคนกับช้างป่า ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้ แต่จากการขยายพื้นที่เกษตรจนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลงเป็นสถานการณ์นำไปสู่ปัญหาคนกับช้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อที่มีความรุนแรงมากขึ้น
สถิติปี 2555 ถึง 8 มี.ค. 2567 พบคนถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต 221 คน บาดเจ็บ 194 คน ในจำนวนนี้กลุ่มป่าตะวันออก มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 115 คน รองลงมาเป็นดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 27 คน ภูเขียวน้ำหนาว 22 คน ตะวันตก 21 คน และแก่งกระจาน 21 คน ส่วนช้างป่าตายรวม 190 ตั
ความรุนแรงของปัญหาขัดแย้งคนกับช้างป่าลุกลามเรื้อรังนานนับ 12 ปี สืบเนื่องจากเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การจัดการป่าที่ผิดพลาดและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนส่งผลให้ช้างอยู่ในป่าไม่ได้ อีกทั้งช้างมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่ป่าลดลง อาหารในป่าไม่เพียงพอ และพืชเกษตรหากินง่ายกว่า รวมทั้งการปลูกป่าทดแทนสัมปทาน สวนป่าเศรษฐกิจ แต่ช้างป่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายพยายามดันการแก้ปัญหาช้างป่าเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทุ่มสรรพกำลังแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการทำคลอดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ.2567-2571
และปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิตสะเทือนภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
โดยปกติแล้ว ต้นเดือน ธ.ค. ของทุกปี อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย 10 กว่าองศาเซลเซียส ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทยอยเดินขึ้นสู่ยอดภูอย่างต่อเนื่อง โดยไฮไลท์สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือเส้นทางเดินป่าระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ที่พาผู้มาเยือนพิชิตความสูง 1,316 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใช้เวลาเดินประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง โดยทางกรมอุทยานฯ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 3,500 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมจำกัดไว้ที่ 2,000 คนต่อวัน ส่งผลให้อัตราการจองที่พักเต็นท์พักแรมเพิ่มขึ้นปี 2567 เพิ่มขึ้นปีก่อนในช่วงเดียวกัน 40 - 50 %
ทั้งนี้ เทรนด์การท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ “เดินป่า – ตั้งแคมป์” ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงรายงานจาก The Business Research Company คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวสไตล์แคมป์ปิ้งทั่วโลกจะเติบโตถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2569 โดยกลุ่มประชากรมิลเลนเนียล หรือ Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 18 – 42 ปี เป็นกลุ่มหลักชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวสำรวจธรรมชาติ
ส่วนในประเทศไทยอ้างอิงข้อมูลจาก Google Trends เปิดเผยแนวโน้มการเติบโตของตลาดแคมป์ปิ้งสูงขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจการท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์แคมปิ้งมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การเที่ยวป่าอย่างรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก เพื่อปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมถึงทำให้ธรรมชาติ สัตว์ป่า และมนุษย์ สามารถอยู่ร่วมกันได้
เช่นเดียวกับกรณีช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยว แม้เป็นเหตุอันน่าเศร้าสลด แต่ถือเป็นบทเรียนล้ำค่าของภาคการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือตัวนักท่องเที่ยวเองที่จำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าอย่างเคร่งครัด และเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดหากมีเหตุจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันไม่คาดคิด