ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่รับรู้กันโดยถ้วนทั่วแล้วว่า สถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในประเทศปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่เกิดจากบรรดา “รถยนต์ไฟฟ้า(EV) จีน” ที่ทำให้ “ระบบนิเวศน์ธุรกิจยานยนต์เสีย” และ “โครงสร้างราคาปั่นป่วน” ซ้ำด้วยเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มาถึง “ตลาดรถยนต์ใช้แล้ว” หรือ “ตลาดรถยนต์มือสอง” ด้วย
นายสุธี สมาธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT สรุปสถานการณ์ปี 2567 ว่า ตลาดรถยนต์ใช้แล้วปีนี้ทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยราคารถเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่ต้นปี หลังจากราคาปรับลดสูงสุดถึง 30% ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณรถเข้าลานประมูลจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากหนี้เสีย (NPL) ที่ทรงตัวในระดับสูง
สำหรับปีหน้า 2568 AUCT คาดการณ์ว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ ที่ 2.5 แสนคัน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น NPL ที่ยังทรงตัว หนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยราคารถยนต์ใช้แล้วน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%
“โดยสรุป AUCT เชื่อว่าปี 2568 ตลาดรถยนต์ใช้แล้วจะทรงตัว พร้อมการเติบโตในบางกลุ่ม ขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการซื้อ-ขายผ่านการประมูลที่คาดว่าจะมีอัตราจบประมูลเพิ่มขึ้นและราคารถปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ”นายสุธีกล่าว
ด้าน นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ ประธานกิตติมศักดิ์และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว มีความเห็นถึงภาพรวมตลาดรถยนต์ใช้แล้วในปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 ว่ายอดขายอาจลดลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคหันมาใช้เงินสดมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วคาดว่าจะหดตัวลงราว 5.5%-6% ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง หลังจากในปี 2566 มีการหดตัว 4% จากปี 2565 สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน แม้ยังคงเติบโต แต่พบว่าอัตราการเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 17% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 35% ในช่วงปี 2565-2566
ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วในปี 2568 ว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากขาดแรงกระตุ้นจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ โดยกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบางและจำกัด ส่งผลให้พฤติกรรมการครอบครองรถยนต์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ใช้งานรถยนต์เดิมนานขึ้น อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ใหม่ที่รุนแรงยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ทำให้ต้นทุนการขายและราคาตลาดลดลงในบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่มีคุณภาพดีหรือใช้งานน้อยยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากมีความคุ้มค่ากว่าการซื้อรถใหม่
แนวโน้มในอนาคต นายวิสุทธิ์มองว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการจะมีความสำคัญในช่วงเวลานี้ โดยการพัฒนากลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น การเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ การจัดโปรโมชั่นเฉพาะกลุ่ม และการเน้นให้ข้อมูลความคุ้มค่าของรถยนต์ใช้แล้ว เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย
นายสุวิทย์ ชอบประดู่ รองนายกสมาคม ฝ่ายสถาบันการเงินและพัฒนาวิชาชีพ สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดรถยนต์ใช้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนตามสภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม พร้อมปัจจัยสนับสนุน เช่น การรับประกันคุณภาพและการตรวจสอบจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีออนไลน์มีบทบาทสำคัญในพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ โดยการค้นหา เปรียบเทียบราคา และข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำได้สะดวกมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น พัฒนาการตลาดออนไลน์: สร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถค้นหา เปรียบเทียบ และซื้อขายรถยนต์ได้อย่างสะดวก รวมถึงยกระดับคุณภาพและความเชื่อมั่น: จัดให้มีระบบตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ พร้อมการรับประกันที่น่าเชื่อถือ และต้องเพิ่มบริการเสริมและสร้างความพึงพอใจ: เช่น การให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน การเสนอโปรโมชั่นที่ดึงดูด และบริการหลังการขายที่ดี
นายสุวิทย์เน้นย้ำว่า การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลและการยกระดับคุณภาพบริการถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งส่งเสริมให้ตลาดรถยนต์ใช้แล้วก้าวไปข้างหน้าในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการซื้อขาย
สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีคุณภาพ โดยการกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเสนอแนะนโยบายหรือความคิดเห็นต่อภาครัฐ เพื่อผลักดันธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ทีเอ็มบีธนชาต คาดการณ์ว่าในปี 2568 สถานการณ์ตลาดรถมือสองจะฟื้นตัว จากปัจจัยที่ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้เสีย โดยให้มีการปรับโครงสร้างหนี้จึงจะทำให้ประชาชนสามารถกู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์ได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นการลดซัพพลายรถยนต์มือสองที่เคยทำให้ราคาตกต่ำก่อนหน้านี้ ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลง อีกทั้งรัฐมีแนวทางจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
ดังนั้น จึงมั่นใจว่า ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2568 สถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั้งรถยนต์มือหนึ่งและมือสองฟื้นตัวตามลำดับ
...เอาเป็นว่า คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์เมืองไทยจะเป็นอย่างไรในปี 2568 เพราะแม้หลายฝ่ายจะมั่นใจว่า “น่าจะดีขึ้น” แต่ก็ไม่อาจมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรโฆษณาไว้
***********************************
ไม่ใช่แค่ “ฮอนด้า” ผนึก “นิสสัน” สู้ศึก “อีวีจีน”
แต่ยังมี มิตซูบุชิ-เรโนลต์” ทับซ้อนอยู่อีกชั้น
ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไร สำหรับข่าวใหญ่ในแวดวงยานยนต์โลกกรณี “ฮอนด้า มอเตอร์” และ “นิสสัน มอเตอร” สองค่ายรถยนต์รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น จะเข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ เพราะถ้าหากพิจารณาจากสถานการณ์โดยรวมตลอดปี 2567 ก็จะเห็นชัดว่า “ค่ายญี่ปุ่น” กำลังประสบปัญหาค่อนข้างหนัก
โดยเฉพาะการเพลี่ยงพล้ำต่อ “ค่ายรถยนต์จีน” ที่มี “รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นเรือธงในการทำลายระบบนิเวศน์ยานยนต์ของโลกโดยสิ้นเชิง
หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า บริษัททั้ง 2 กำลังหาทางดำเนินงานภายใต้บริษัท single holding company และจะลงนามในบันทึกความเข้าใจสำหรับนิติบุคคลใหม่เร็วๆ นี้ พร้อมทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่พิจารณาดึง “มิตซูบิชิ” ซึ่งมีนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เข้ามาร่วมชายคาโฮลดิ้ง คอมพานีแห่งนี้ด้วย เพื่อจัดตั้งกลุ่มยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ทั้ง ฮอนด้าและนิสสัน ออกถ้อยแถลงแทบเหมือนกันต่อรายงานข่าวดังกล่าว โดยบอกว่ารายละเอียดต่างๆ ในรายงานข่าวนั้นไม่ได้เป็นคำแถลงของทั้ง 2 บริษัท และบอกว่าพวกเขา “กำลังสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของกันและกัน” อย่างที่เคยแถลงก่อนหน้านี้
และสิ่งทั้ง 2 บริษัทแถลงร่วมกันก่อนหน้านี้ก็คือ การที่พวกเขาเห็นพ้องสำรวจความเป็นไปได้ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ “เรโนลต์ (Renault)” ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของนิสสัน กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
นักวิเคราะห์บอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อไล่ตามบรรดาคู่แข่งสัญชาติจีน อย่างเช่น “บีวายดี” ผู้ซึ่งชิงลงมือฉวยความได้เปรียบในธุรกิจยานยนต์อีวี ในขณะที่บรรดาบริษัทญี่ปุ่นสูญเสียฐานความนิยมจากการหันไปมุ่งเน้นยานยนต์ไฮบริดมากกว่า
จีนแซงหน้าญี่ปุ่น ในฐานะผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2023 โดยได้แรงหนุนจากการครองความเป็นเจ้าตลาดในรถยนต์ไฟฟ้า
กล่าวสำหรับฮอนด้านั้น มีการแถลงแผนในเดือนพฤษภาคมว่าจะเพิ่มการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเท่าตัวสู่ระดับ 65,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 ส่วนหนึ่งในเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่กำหนดไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในการบรรลุเป้าหมายขายรถยนต์อีวีแบบ 100% ภายในปี 2040
ส่วนนิสสันส่งสัญญาณแห่งความทะเยอทะยานแบบเดียวกัน โดยบอกเมื่อเดือนมีนาคมว่าในบรรดารถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมด 30 รุ่น ที่พวกเขามีแผนเปิดตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในนั้น 16 รุ่นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ฮอนด้าและนิสสันถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น ตามลำดับ รองจากโตโยต้า (Toyota) โดยฮอนด้ามีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 5.95 ล้านล้านเยน (1.32 ล้านล้านบาท) ในขณะที่นิสสันมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านเยน) หากทั้งสองบริษัทควบรวมกิจการกันจริง จะถือเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์นับตั้งแต่การควบรวมกิจการมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.77 ล้านล้านบาม) ระหว่าง Fiat Chrysler และ PSA ในปี 2021 เพื่อก่อตั้ง Stellantis
ทั้งสองบริษัทมียอดขายรถยนต์ทั่วโลกรวมกัน 7.4 ล้านคันในปี 2023
บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกกำลังให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากอุปสงค์ที่เติบโตขึ้นสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษน้อย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวในตลาดรถอีวี สืบเนื่องจากผู้บริโภควิตกกับราคาที่ค่อนข้างสูง ความน่าเชื่อถือ ระยะทางและขาดแคลนจุดชาร์จไฟ ดังนั้นรถยนต์ไฮบริดจึงพิสูจน์แล้วว่าได้รับความนิยมแบบยั่งยืนในญี่ปุ่น โดยมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 40% ในปี 2022
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็น “ข่าวใหญ่” ในแวดวงยานยนต์โลก เพราะมีแบรนด์ใหญ่เกี่ยวข้องถึง 4 รายด้วยกัน เพราะนอกจาก “ฮอนด้าและนิสสัน” ยังมีอีก 2 แบรนด์ที่ “ทับซ้อน” อยู่อีกชั้น นั่นก็คือ “มิตซูบิชิ” ที่มีนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่นิสสันเองก็มี “เรโนลดต์” ค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกทอด