xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (18): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ตอนอายุ 5 ขวบ แต่งกายเป็นจักรพรรดิโรมัน ภาพวาดโดยเอเรนสตราล
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน 

ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไป

ต่อมาภายใต้รัชสมัยของ  พระเจ้าชาร์ลสที่สิบ (Charles X Gustav)  ฐานันดรสามัญชน (อันได้แก่ นักบวช พ่อค้าและชาวนา) ได้รับประโยชน์จากนโยบายเวนคืน (Reduktion) ที่มีการบังคับใช้ในระดับหนึ่ง โดยที่ฐานันดรอภิชนได้รับผลตอบแทนใหม่จากสงครามระหว่างประเทศที่ตามมา

เมื่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันในปี ค.ศ.1660 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) ---- ที่มีพระชนม์มายุเพียง 5 พรรษา---- สามารถถอนสวีเดนออกจากความขัดแย้งระหว่างประเทศได้อย่างราบรื่น แต่กระนั้น ประเด็นปัญหาอันสืบเนื่องมาจาก สงครามสามสิบปีและสนธิสัญญาเวสฟาเลีย (Treaties of Westphalia)  ก็ยังคงอยู่

ความเป็นมาก่อนที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจะเสด็จขึ้นครองราชย์ คือในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1660 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบทรงประชวรด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ แต่พระองค์ยังทรงฝืนที่จะออกไปตรวจการกองกำลังสวีเดนบริเวณใกล้โกเธนเบอร์ก (Gothenburg) อยู่เป็นประจำ สามสัปดาห์ต่อมา อาการพระองค์เริ่มทรุดลง จนกระทั่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พระองค์ได้ทรงทำพระราชพินัยกรรมเตรียมเงื่อนไขสำหรับการขึ้นครองราชย์ของพระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พระองค์ทรงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์และพระสหายสนิทที่มีตำแหน่งราชการระดับสูงของสวีเดนรวมทั้งสิ้นหกคน โดยหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ได้แก่  พระราชินีพระมารดาของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด  และทรงแต่งตั้ง  เจ้าชายอดอลฟุส (Adolphus)  พระอนุชาให้ดำรงตำแหน่ง  “the lord high constable of the realm” หรือผู้บัญชาการกองทัพ 

โดยผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ในการบังคับบัญชากองทัพในยามสงคราม เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาครั้งแรกในรัชสมัย  พระเจ้าแมกนัสที่สาม (Magnus III)  ในตอนกลางศตวรรษที่สิบสาม และพระองค์ได้ทรงให้ที่ประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1660 ลงมติรับรองพินัยกรรมดังกล่าว ต่อมา ทรงเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1660 ด้วยพระชนมายุ 37 พรรษา
แต่หลังจากพระเจ้าชาร์ลสที่สิบสวรรคต พวกอภิชนและสภาบริหารกลับไม่ยอมรับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่แต่งตั้งขึ้น และได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับพระราชพินัยกรรมดังกล่าวของ Charles X

จากการประชุมสภาฐานันดรสองครั้งในปี ค.ศ. 1660 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 สภาฐานันดรได้ลงมติยืนยันให้ยึดตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1634 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม(Additament) โดยกำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องบริหารราชการโดยรับคำปรึกษาจากสภาบริหารแห่งแผ่นดิน (the Council of State) และสภาฐานันดร และในการบริหารราชการตามคำแนะนำของสภาบริหารแห่งแผ่นดิน หากเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ก็จะต้องให้มีการลงคะแนนเสียงตัดสิน

 นั่นคือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องบริหารราชการตามคำแนะนำของสภาบริหารแห่งแผ่นดิน 

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการประชุมสภาฐานันดรขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย นั่นคือ จะต้องมีการประชุมสภาฐานันดรทุกๆ สามปี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1634

ในปี ค.ศ. 1660 นี้ทำให้รัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นที่รู้จักกันในนามของรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ค.ศ. 1660
 การกำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องรับคำปรึกษาจากสภาบริหารแห่งแผ่นดิน ส่งผลให้อำนาจอันแท้จริง (effective power) ไปอยู่ที่ตระกูลอภิชนชั้นสูงที่ดำรงตำแหน่งในสภาบริหาร ทำให้สภาฐานันดรต้องยืนยันที่จะกำหนดเงื่อนไขตีกรอบจำกัดไว้ 

นั่นคือ สภาฐานันดรได้กำหนดว่า การแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องได้รับการรับรองจากสภาฐานันดรเสียก่อน โดยสภาฐานันดรพยายามที่จะควบคุมการขยายตัวของระบบอุปถัมภ์ของพวกอภิชนชั้นสูงอันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการที่ทำหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินที่เป็นผลมาจากการปฏิรูปทางการเมืองการปกครองของ Oxenstierna โดยสภาฐานันดรได้กำหนดให้ตำแหน่งที่มีการเพิ่มเติมโดยเฉพาะในระดับล่างจะต้องรับจากสามัญชนที่มีความสามารถอย่างยิ่งที่ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และตำแหน่งในระดับล่างเหล่านี้จะไม่ได้แต่งตั้งอภิชนให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง และเมื่อข้าราชการระดับล่างที่มีความสามารถนี้ได้เลื่อนขั้นขึ้นมาถึงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคนเหล่านี้ให้เป็นอภิชน

กระบวนการแต่งตั้งดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสภาอภิชน (Riddarhus) นั่นคือ เกิดกลุ่มอภิชนใหม่ที่มาจากการเลื่อนตำแหน่งทางราชการ แต่มาจากสามัญชนและไม่ได้ครอบครองที่ดินหรือครอบครองเพียงเล็กน้อย

  การพัฒนาของจักรวรรดิสวีเดนในยุโรปยุคใหม่ตอนต้น (ค.ศ. 1560–1815) (ภาพ : วิกิพีเดีย)
กลุ่มอภิชนใหม่นี้จะมีค่านิยมและมีความคาดหวังที่แตกต่างไปจากอภิชนชั้นสูงดั้งเดิมที่เป็นอภิชนผ่านทางตระกูลและสายโลหิต

ที่ผ่านมาครอบครัวของอภิชนชั้นสูงดั้งเดิมนี้จะผูกขาดในตำแหน่งระดับสูง และได้รับพระราชทานอภิสิทธิ์และทรัพย์สินจากพระมหากษัตริย์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่แต่เดิม ที่ประชุมสภาฐานันดรอภิชนจะสามารถรวมตัวกันได้อย่างเป็นเอกภาพในการโต้แย้งกับฐานันดรสามัญชน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในพวกอภิชน กลุ่มอภิชนใหม่ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับฐานันดรสามัญชนได้ในบางประเด็น

และด้วยเหตุนี้ สภาฐานันดรจึงได้เพิ่มเติมแก้ไขลงไปในรัฐธรรมนูญ (the Instrument of Government) ไม่ให้สมาชิกของแต่ละครอบครัวอภิชนเข้าไปดำรงตำแหน่งทางราชการได้เกินกว่าที่กำหนดไว้ โดยบัญญัติว่า “ในการแต่งตั้งตำแหน่งราชการทั้งปวง จะต้องพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติความสามารถ และไม่มีใครถูกกีดกันด้วยเหตุผลของชาติตระกูลหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากสถานะทางสังคม”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น