ขณะที่สหรัฐอเมริกายังไม่พร้อมและยังไม่มีผู้นำฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เป็นหญิงในรอบเกือบ 250 ปี, สหราชอาณาจักรมีนายกฯ หญิงมาแล้วถึง 3 คน
ที่ยุโรปเหนือ เกือบทุกประเทศมีผู้หญิงเป็นผู้นำรัฐบาลมาแล้ว ส่วนยุโรปใต้ก็มีอิตาลีที่มีนายกฯ เป็นหญิงคนแรกขณะนี้
สำหรับเอเชียมีนายกฯ หญิงหลายสมัยที่อินเดีย; ที่ศรีลังกาก็เช่นกัน รวมทั้งที่ปากีสถานและบังกลาเทศ แม้แต่พม่าก็มีหญิงแกร่งอย่างอองซาน ซูจี เป็นระดับเท่านายกฯ ถึงเกือบ 2 สมัย; และที่เกาหลีใต้ก็มีเช่นกัน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีผู้นำที่ฟิลิปปินส์ที่มีปธน.หญิงมาแล้ว 2 คน; ที่อินโดนีเซียก็มีแล้ว 1 คน และที่ไทยก็มีถึง 2 คนทีเดียว
ที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีหญิงเป็นผู้นำรัฐบาล ที่อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี และเม็กซิโกก็ได้ ดร.คลอเดีย เชนบาม เป็นปธน.หญิงคนแรกขณะนี้
ที่ Down Under ก็มีผู้หญิงเป็นผู้นำแล้วทั้งที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ผู้หญิงที่เป็นผู้นำรัฐบาลเหล่านี้ ไม่มีคุณพ่อมาใช้อิทธิพลกดดันในการจัดตั้งรัฐบาล และยัดเยียดบังคับให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องให้ลูกสาวหรือน้องสาวของตนขึ้นเป็นผู้นำ (นอกจากประเทศไทยเท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์กดดันให้ลูกสาวของตนนั่งว่าราชการอยู่หน้าม่าน แบบนกแก้วนกขุนทองพูดตามเจ้านายสั่ง)
ผู้นำที่เป็นผู้นำรัฐบาลของแทบทุกประเทศ (นอกจากประเทศไทย) เหล่านี้ ผ่านการศึกษาอย่างเป็นทางการที่ทำให้รอบรู้ความสัมพันธ์และความซับซ้อนของโลกของเราเป็นอย่างดี โดยไม่ต้องมีพ่อมาคอยบอกบทผ่านไอแพด และบางทีก็ท่องบทผิดๆ ถูกๆ ปล่อยไก่มามากมาย แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้จักอายเสียด้วยซ้ำ
ที่ประเทศเยอรมนี มีหญิงหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนด้วยคะแนนท่วมท้นให้เป็นนายกฯ อยู่ถึง 4 สมัย และได้เป็นผู้นำของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรปได้ฟันฝ่าคลื่นลมพายุทั้งวิกฤตเศรษฐกิจหลักการรวม 2 เยอรมนีเข้าด้วยกัน วิกฤตเงินยูโรที่ประเทศกรีซเป็นตัวเจ้าปัญหา, วิกฤตไอซิส รวมทั้งคลื่นมนุษย์ที่หนีสงครามซีเรียมาขึ้นฝั่งที่ยุโรปโดยเฉพาะที่เยอรมนี
หญิงหนึ่งเดียวคนนี้ ไม่ได้เรียนแบบขอไปทีเช่น จนด้านบริหารโรงแรมเพียงเพื่อได้ใบปริญญาตรีมาประดับตัว แต่เธอเรียนจบปริญญาเอกด้านควอนตัมเคมีที่ยากแสนยาก; เรียนที่ประเทศเยอรมนีตะวันออกที่ม.ไลพ์ซิกที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้เธอเป็นคนมีเหตุผลที่ต้องมีการพิสูจน์ไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ
เธอเพิ่งเขียน memoir ออกมาเมื่อ 26 พ.ย.ชื่อ Freedom (อิสรภาพ) โดยเล่าถึงประวัติชีวิต, ความคิดและเบื้องหลังการตัดสินใจในการบริหารประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เธอเกิดเมื่อ 70 ปีที่แล้ว (ปี 1954) ถึงปีที่หมดวาระเป็นนายกฯ ของเยอรมนีในปี 2021 (พ.ศ. 2564)
ขณะนี้เวลาผ่านมา 3 ปีกว่า หลังเธออำลาตำแหน่งนายกฯ ประเทศเยอรมนีภายใต้การนำของนายกฯ โอลาฟ ชอลซ์ ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับสงครามยูเครนที่นายกฯ ชอลซ์ให้การสนับสนุนรัฐบาลยูเครนอย่างหัวปักหัวปำ ทำให้เยอรมนีต้องจ่ายเงินช่วยเหลือรัฐบาลยูเครนของปธน.เซเลนสกี้ ที่เอาไปถลุงแบบถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม พร้อมๆ กับอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลที่นายกฯ ชอลซ์ มอบให้ยูเครนไปสู้กับรัสเซีย ขณะที่ชาวยูเครนที่อพยพหนีสงครามยูเครนก็บ่ายหน้าเข้ามาพึ่งเยอรมนี ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนียิ่งหนักแอ้ยิ่งขึ้น...พร้อมๆ กับพลังงานทั้งน้ำมัน และแก๊สที่ซื้อได้ด้วยราคาถูกมากจากรัสเซีย (ค่าขนส่งต่ำมากเพราะส่งผ่านมาทางท่อ-ด้วยระยะทางที่ใกล้มากด้วย) ก็ถูกสหรัฐฯ บังคับไม่ให้ซื้อจากรัสเซีย และถึงกับท่อส่งแก๊สสำคัญคือ นอร์ดสตรีมก็ถูกลอบวางระเบิด (โดยฝีมือซีโอเอร่วมกับบางประเทศสมาชิกนาโต) และเยอรมนีต้องจำใจซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ หรือจากตะวันออกกลาง หรือจากนอร์เวย์ ที่ราคาพลังงานสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว...ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่เป็นกระดูกสันหลังสำคัญของเยอรมนีมีต้นทุนสูงขึ้นฉับพลัน จนขณะนี้บริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่ๆ ของเยอรมนีถึงกับต้องทยอยปิดตัวโรงงานผลิตไม่น่าเชื่อ
รัฐบาลของโอลาฟ ชอลซ์ เพิ่งอับปางลงเมื่อสองวันมานี้เอง เพราะ รมต.คลังที่มาจากพรรคร่วม (พรรคโปรธุรกิจ) มีนโยบายเศรษฐกิจแตกต่างจากชอลซ์ โดยรมต.คลังไม่ต้องการให้มีการขาดดุลงบประมาณมหาศาล ขณะที่นายกฯ ชอลซ์บอกว่า ไม่มีทางเลือกในยามเศรษฐกิจคับขันเช่นนี้ นายกฯ ชอลซ์ตัดสินใจปลัด รมต.คลังก็เลยทำให้รัฐบาลของเขาแพ้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ
ดร.อังเกลา แมร์เคิล ได้เขียนในหนังสือประวัติของเธอว่า เธอยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่เยอรมนีลงทุนร่วมกับรัสเซีย เพื่อสร้างท่อส่งแก๊สยักษ์ที่จะนำเอาแก๊สราคาถูกจากรัสเซียมาส่งถึงหน้าโรงงานต่างๆ ของเยอรมนี ทำให้ต้นทุนพลังงานของเยอรมนีมีราคาต่ำมาก และเพิ่มขีดแข่งขันสินค้าเยอรมนีที่นำออกไปจำหน่ายทั่วโลก
แม้ว่า ปธน.โอบามาได้เตือนแล้วเตือนอีกว่า เยอรมนีไม่ควรยอมลงทุนสร้างท่อแก๊สกับรัสเซีย เพราะจะทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาแก๊สจากรัสเซีย เหมือนอาศัยจมูกรัสเซียหายใจ... แต่เธอมองว่า เมื่อเพื่อนบ้านมีพลังงานราคาถูกและระยะทางใกล้ขนาดนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีที่อาศัยพึ่งพากันด้วยซ้ำ
เธอมีสัมพันธ์ที่ดีกับปูตินมาตลอด และเธอก็ได้ชั่งใจแล้วว่า เธอต้องคัดค้านเมื่อปี 2008 ที่ยูเครนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต โดยเธอยังยืนยันแม้จนขณะนี้ (2024) ว่า เธอสามารถขัดขวางสงครามที่รัสเซียน่าจะบุกยูเครนในปี 2008 ถ้าเธอ (ในฐานะเยอรมนีเป็นสมาชิกสำคัญของนาโต) ไม่ขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนในตอนนั้น…ซึ่งต่อมาในปี 2022 เมื่อยูเครนสมัครเข้านาโต โดยรัสเซียได้ออกมาขัดขวาง (เนื่องจากเป็นการคุกคามความอยู่รอดของรัสเซีย) ก็ทำให้ปูตินเคลื่อนทัพมาปฏิบัติการพิเศษบุกเข้ายูเครน และคาราคาซังมาจนปัจจุบันนี้
นั่นหมายความว่า สงครามยูเครนไม่น่าเกิดขึ้นถ้านาโตไม่กวักมือเรียกยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และเยอรมนีก็คงไม่มีปัญหาเศรษฐกิจหนักหนาขณะนี้
เธอยอมรับว่า เมื่อเริ่มเข้ามาทำงานการเมือง โดยการชักชวนของอดีตนายกฯ เฮลมุต โคห์ล เธอต้องฟันฝ่าความคิดเห็นดูถูกดูแคลนจากนักการเมืองของเยอรมนีตะวันตก ว่าเธอเป็นประเภท “ข้าวนอกนา” ที่คล้ายกับเป็นบ้านนอก (จากเยอรมนีตะวันออกที่ล้าหลังทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบคอมมิวนิสต์-ไม่ใช่เป็นแบบทุนนิยมเช่นเยอรมนีตะวันตก) เข้ากรุงนั่นเอง
เธอไม่มีพ่อคอยอุ้มพยุงให้เธอทำงานในฐานะนักการเมือง แต่ด้วยลำแข้งของตนเองที่พิสูจน์ด้วยความรู้ ความสามารถ และความจริงใจจนได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ ชอลซ์ให้เป็น รมต.หลายๆ กระทรวง ทั้งสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จนในที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคหญิงคนแรก และเป็นนายกฯ หญิงคนแรกและคนเดียวของเยอรมนี
เธอเล่าว่า ด้วยภูมิหลังเป็นนักวิทยาศาสตร์ เธอจะเป็นคนพูดน้อย และพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จึงเป็นคนที่พูดจาหนักแน่นน่าเชื่อถือ...เธอบอกว่า จนเดี๋ยวนี้เธอก็ยังไม่ชินกับคำพูดแบบน้ำไหลไฟดับของบรรดาเหล่านักการเมือง ที่พูด “พล่าม” แบบขยายความมากมายพรั่งพรูพูดทั้งจริงและโกหกตลอดเวลา ซึ่งเธอจะประหยัดคำพูด โดยพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ขณะนี้ เธอมีชีวิตที่ติดดินอยู่กับสามีนักวิทยาศาสตร์ (อาจารย์สอนควอนตัมเคมีเช่นเดียวกับเธอ) โดยเธอจ่ายตลาดเอง, ซักผ้าเอง, ชีวิตเรียบง่าย และปล่อยวางงานการเมืองเพราะได้เสร็จสิ้นภารกิจต่อประเทศชาติแล้ว