ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่ชัดเจนแล้ว “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีทับซ้อนแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ยังคงยึดมั่นถือมั่นใน “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา หรือ MOU 2544” ว่า เป็นสิ่งจำเป็นในการเจรจา และไม่เห็นด้วยที่จะ “ยกเลิก” ตามที่ภาคประชาชนนำโดย “สนธิ ลิ้มทองกุล” และคณะ ที่ขอให้รัฐบาลดำเนินการ 6 ข้อ
คือ 1. ขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
2. ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อ ครม. พิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และJC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัด หรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
3. หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเจรจา ตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4. แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม. จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ”
5. ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
และ 6.ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชน เรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ “นายกฯ อิ๊งค์” ที่ยอมรับว่าได้เห็นข้อเรียกร้องของ “สนธิ และคณะ” แล้ว ก็แสดงท่าที “ไม่ยี่หระ” และดูเหมือนจะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องใดๆ เลย โดยพูดวนเวียนว่า ยังไม่เริ่มดำเนินการใดๆ เลย และพร่ำพรรณนาแต่เพียงว่า จะยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ โดยที่มิได้สำแดงหลักฐานอันน่าเชื่อถือให้ประชาชนคนไทยบังเกิดความมั่นใจใดๆ เลย
สำทับด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อที่ออกมาบอกว่า สามารถอธิบายเรื่อง MOU 2544 ที่เกิดขึ้นในสมัยตัวเองได้ และจะใช้เวทีงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยในการอธิบาย พร้อมๆ กับไฟเขียวให้บรรดา “ลิ่วล้อ” ออกมาสำแดงเดชตามวิสัยที่เคยเป็นมา
ยกตัวอย่างเช่น การส่ง “3 ตัวตึง” คือ “นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย “นายวรชัย เหมะ” อดีต สส. พรรคเพื่อไทย และ “นายอรรถชัย อนันตเมฆ หรือโด่ง” อดีตแกนนำ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ออกมาท้านายสนธิในการเปิดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับ MOU 2544 ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวเหลือกำลัง
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ “พ่อลูกชินวัตร” มีมุมมองต่อปัญหาดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อหันกลับไปพิจารณาท่าทีของ “ราชอาณาจักรกัมพูชา” โดยเฉพาะจากคำให้สัมภาษณ์สื่อกัมพูชาของ “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับพบว่า เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความสบายอกสบายใจของสองพ่อลูก “ตระกูลชิน”
เป็นการให้สัมภาษณ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหลังรัฐบาลฮุน มาเนตถูก “ฝ่ายค้านกัมพูชา” รุกหนัก ด้วยการปั่นกระแสว่า “เกาะกูด” นั้นเป็นดินแดนของกัมพูชา พร้อมสุมไฟร้อนเข้าใส่อีกต่างหากว่า “พ่อลูกตระกูลฮุนกำลังขายชาติ” ด้วยการยก “เกาะกูดให้ไทย”
ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลฮุน มาเนตฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ICJ) เพื่อทวงเกาะกูดจากไทย เพราะมั่นใจว่าจะชนะเหมือนตอนฟ้องศาลโลกเรื่องเขาพระวิหาร
ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะนายกฯ ฮุน มาเนต และสมเด็จฯ ฮุนเซน ผู้พ่อที่ปกครองประเทศด้วย “ระบอบทับซ้อน” ไม่ต่างจาก “เพื่อนรักทักษิณ” จึงหวาดผวากับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะทำท่าจะจุดติดอยู่ไม่น้อย กระทั่งต้องออกมาชี้แจงและแสดงท่าทีในเรื่องนี้
ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาชี้แจงว่า การเจรจาระหว่างกัมพูชาและไทยยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ดังนั้น การอ้างว่าเสียเกาะกูดให้ไทยนั้นไม่มีมูลความจริง และย้ำว่าการตอบสนองอย่างใจเย็นของรัฐบาลนั้นเป็นความตั้งใจ ด้วยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาผ่านช่องทางทางการทูต มากกว่าที่จะเพิ่มความตึงเครียด
“ขณะนี้ชายแดนกัมพูชา-ไทย บรรลุข้อตกลงเพียงพรมแดนทางบก ที่ครอบคลุมระยะทาง 805 กิโลเมตร และหลักเขต 73 หลัก รัฐบาลของทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงไปแล้ว 42 หลัก” ฮุน มาเนต กล่าว และว่าประเด็นเรื่องเกาะกูดยังอยู่ระหว่างเจรจา ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ดังนั้น เกาะนี้จึงยังไม่ถูกยกให้ใคร
นอกจากนั้น ยังมีบางช่วงบางตอนที่ฮุน มาเนตให้สัมภาษณ์และจำต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้เช่นกัน
กล่าวคือ ฮุน มาเนต บอกว่า “ในอดีต มีข้อมูลบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ของกัมพูชาอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเลขที่มีการระบุไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลนี้มาจากการวัดด้วยระบบ GPS ในปี 2012 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชายังคงยึดมั่นในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ”
แปลกัมพูชาเป็นไทยก็คือ นายกฯ ฮุน มาเนต มีการ “เคลมล่วงหน้า” แล้วว่า พื้นที่ของกัมพูชาอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเลขที่มีการระบุไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร
ขณะที่ “สมเด็จฯ ฮุนเซน” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาสูงกัมพูชา ก็ให้สัมภาษณ์ย้อนถึงเรื่องการเจรจาร่วมกันกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เรื่องการเจาะน้ำมันที่เกาะกูด ด้วยว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในแผนนี้ และในปี 2544 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ แต่ไม่มีการหารืออย่างละเอียดในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา
“รัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเจรจากันอย่างสันติเกี่ยวกับปัญหาเกาะกูด แต่ในไทย กลุ่มหัวรุนแรงเรียกร้องให้รัฐบาลอ้างสิทธิเกาะกูดจากกัมพูชา ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านหัวรุนแรงของกัมพูชาในต่างประเทศเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟ้องศาลระหว่างประเทศเพื่อเรียกร้องเกาะกูดคืน” ฮุนเซนกล่าว
จากท่าทีและคำให้สัมภาษณ์ของ “พ่อลูกตระกูลฮุน” ณ วันนี้เห็นได้ชัดว่า กัมพูชายังยืนยันว่า เกาะกูดครึ่งหนึ่งเป็นของเขา ขณะที่นายกฯ แพทองธารของไทยยังคงทำตัวสบายๆ แถมยังอ้างด้วยว่า กัมพูชาลากเส้นโดยเว้นเกาะกูดไว้อีกต่างหาก
เกาะกูดนั้น เป็นของไทยตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 (Treaty of 1907 between Siam and France) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ได้มีการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนที่ตกลงระหว่างสยามและฝรั่งเศสสนธิสัญญานี้กำหนดให้พื้นที่ปัจจุบันที่เป็นจังหวัดตราดรวมถึงเกาะกูดเป็นส่วนหนึ่งของสยาม (ไทย) เพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนบางส่วนที่เป็นพื้นที่ในปัจจุบันของกัมพูชา
อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า กัมพูชานั้นเก่งในเรื่อง “เคลม” เป็นอย่างมาก และที่ผ่านมาอะไรที่เป็นของไทยก็มักถูกเคลมว่าเป็นของกัมพูชาให้เห็นอยู่เสมอๆ
กรณี “เกาะกูด” ก็กำลังดำเนินไปในแนวทางนั้นเช่นกัน
ที่สำคัญคือ ถ้าหากย้อนกลับไปพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่า กัมพูชานั้นลาก “เส้นไหล่ทวีป” หรือ “เส้นน่านน้ำ” ชนิดที่ต้องใช้คำว่า “ตามใจชอบ”
ตัวอย่างอันเป็นที่ประจักษ์ก็คือ “เส้นที่ลากจากเกาะกูดมายังแหลมสารพัดพิษ” (หรือหลักเขตแดนที่73) ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี 1907 อันเป็นเส้นสมมติเพื่อกำหนดเขตแดนที่ชายฝั่งไม่ใช่การกำหนดน่านน้ำ เพราะในเวลานั้นไม่มีการทำสัญญาเขตแดนน่านน้ำกัน ไม่ว่าจะสยาม ฝรั่งเศส หรือชาติไหนแต่พอได้เอกราช กัมพธูชาก็โมเมเฉยว่าเส้นที่ลากจากเกาะกูดไปยังแผ่นดินใหญ่คือการกำหนดเขตแดนด้วย
หรือแปลความตามท้องเรื่องได้ว่า เกาะกูดเป็นของกัมพูชาอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ความคิดเรื่องแบ่งพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาฝั่งละ 50 % ของทักษิณที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องตลก ประหนึ่งไม่ยอมรับเขตแดนของตัวเองตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 แต่ยอมรับที่กัมพูชาประกาศกฤษฎีกา 439/72/PRK กำหนดเขตไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) โดยลากเส้นเขตไหล่ทวีปด้านทิศเหนือผ่ากลางเกาะกูดตรงมายังจุดกึ่งกลางอ่าวไทย
ทั้งที่พระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อปี 2516 อิงหลักการที่เรียกว่า “principle of equidistance” หรือ “หลักกึ่งกลาง” (Equidistance Principle)หรือเรียกว่า เส้นมัธยะ โดยหลักการนี้จะคำนวณเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลโดยยึดระยะที่เท่ากันจากชายฝั่งของสองประเทศตามหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea - UNCLOS) ปี 1982 แต่กัมพูชาไม่ได้ยึดหลักการที่สากลยึดถือกันเช่นนี้
ไม่ใช่แค่ไม่ยึด แต่กัมพูชาไม่ยอมให้สัตยาบันมาตรฐานการกำหนดน่านน้ำของโลก คือ UNCLOS เสียทีอีกด้วย
ขณะที่การยกเลิก MOU2544 นั้นถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะข้อ 2 ในบันทึกความเข้าใจฉบับนั้น ระบุว่า การเจรจาสำหรับทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและการตกลงแบ่งเขตสำหรับอาณาเขตทางทะเลนั้นให้จัดทำไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้
ดังนั้น การที่อ้างว่า เรื่องเขตแดนค่อยตกลงกันเอาทรัพยากรใต้ทะเลมาแบ่งกันคนละครึ่งก่อน จึงไม่สามารถทำได้
ดังนั้น การที่รัฐบาลแพทองธารไม่ยอมยกเลิก MOU 2544 จึงเท่ากับยอมรับ “พื้นที่ทับซ้อน” ของกัมพูชา ทั้งๆ ที่คือแดนแดนภายในอธิปไตยของไทย
“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต สรุปเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่า การที่ราชอาณาจักรไทย “ไม่ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาภายใต้ MOU 2544 ที่ได้กลายเป็นการรับรู้ “เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา” ที่ยกระดับสถานภาพ “เส้นเล็ง” ให้กลายเป็น “เส้นไหล่ทวีป”ของกัมพูชา และกลายเป็น “สิทธิแห่งประวัติศาสตร์” ที่ฝ่ายไทยไม่ปฏิเสธมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 23 ปีแล้ว ภายใต้ MOU 2544 และอาจทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่เพราะกฎหมายปิดปากซ้ำรอยการสูญเสียปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 มาแล้ว
นี่คือสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องตระหนัก และจะประมาทความเคลื่อนไหวและเล่ห์เหลี่ยมของกัมพูชาไม่ได้
ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “ตระกูลฮุน” กับ “ตระกูลชิน” นั้น แนบแน่นสนิทสนมกันเพียงใด ดังนั้น จึงไม่อาจไว้วางใจได้ด้วยประการทั้งปวง.
อ่านเพิ่มเติม “แผนที่เขมรที่เตรียมใช้สู้ที่ศาลโลกรอบใหม่” โดย “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์”