ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เผลอประเดี๋ยวเดียว ประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร ผ่าน 90 วันหรือ 3 เดือนไปแล้ว ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมทางการเมืองที่ต้องมีการตีปิ๊บนัดแถลงผลงานกันซักรอบนึง
ในการโหมประโคมครั้งนี้ รัฐบาลเปิดที่สตูดิโอ 4 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ที่เพิ่งรีโนเวทระบบแสงสีเสียงใหม่เอี่ยมเป็นฟลอร์ให้ “นายกฯอิ๊งค์” แถลงผลงานในโอกาสครบรอบ 90 วันที่รัฐบาลเข้าปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบนโยบายให้ส่วนราชการตามแคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ไปอย่างอลังการเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67
จากหัวข้อและเนื้อหาที่กล่าวในวันนั้น ดูจะหลุดกรอบการแถลงผลงานไปพอสมควร เพราะให้น้ำหนักไปกับการพูดถึงนโยบายในปีหน้ามากกว่า เพราะต้องยอมรับว่า ผลงานตลอด 3 เดือนเต็มของ “รัฐบาลแพทองธาร” แทบไม่ได้มีความคืบหน้าแตกต่างไปจากผลงานช่วงเกือบ 1 ปีของ “รัฐบาลเศรษฐา” เลย
อาจจะมีเพียงนโยบายเรือธง “แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท”ที่ต้องปะผุจนสามารถแจก “เงินสด” ได้แค่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-คนพิการ 14,407,375 รายเม็ดเงิน 144,073.57 ล้านบาท ยังห่างไกลเป้าหมาย 55 ล้านคน
แถมถ้าจะว่าไปการนำเสนอแนวคิดในการแก้กฎหมายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังทำให้คะแนนนิยมติดลบหนักไปกว่าเก่าอีก ทั้ง “การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 15%” ที่เป็นการ “ขึ้นภาษีคนจน แต่ลดภาษีคนรวย” และ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. …” ที่สั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จนนายใหญ่ต้องสั่งให้ถอยแทบไม่ทัน
แถมทำไปทำมา จะเป็นภาพจำของสังคมด้วยซ้ำไปว่า นั่นคือ ผลงาน “ชิ้นโบดำ” ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ขณะที่เมื่อหันมาดูในส่วนของเเคมเปญ “โอกาสไทย ทำได้จริง” ซึ่งเป็นนโยบายที่จะผลักดันในอนาคต ก็มีการหยิบยกมาพูดถึง 12 นโยบาย แบ่งเป็นนโยบายระยะยาว 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง, การแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5, การแก้ปัญหายาเสพติด, การทลายการผูกขาด, การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ และการลงทุนครั้งใหญ่
อีก 6 นโยบายเป็นเรื่องที่จะผลักดันในปีหน้า 2568 คือ การแก้หนี้ครัวเรือน, ODOS หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา, โครงการ SML, แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต, รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และบ้านเพื่อคนไทย
ก็ต้องยอมรับว่าการแถลงผลงานพ่วงนโยบายที่กินเวลาราว 1 ชั่วโมงเต็มของ “นายกฯอิ๊งค์” ในครั้งนี้ “ไม่ว้าว” เพราะส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว
ส่วนที่เป็นเรือธง แต่ต้อง “ลุ้น” กันวันต่อวัน คือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 และเฟสถัดๆไป ที่ “นายกฯอิ๊งค์” ประกาศว่าในเฟส 2 กลุ้มผู้สูงอายุราว 4 ล้านราย จะได้รับเป็นเงินสด ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2568 หรือตรงกับช่วงสิ้นเดือน ม.ค.68 ขณะที่กลุ่มบุคคลทั่วไปที่เหลือราว 37 ล้ายรายตามเป้าหมาย จะได้รับเป็นดิจิทัลวอลเลต ถายในปี 2568
ส่วนนโยบายที่ “ใหม่” เพิ่งประกาศเป็นกิจลักษณะครั้งแรกก็เป็นในส่วนของ “บ้านเพื่อคนไทย” (Public Housing) ที่จะเป็นการเปิดให้ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมคุณภาพดี พร้อมเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ เริ่มต้นประมาณ 30 ตารางเมตร ผ่อนเดือนละประมาณ 4,000 บาท เป็นเวลาประมาณ 30 ปี และให้สิทธิอยู่อาศัย 99 ปี
ที่ว่าไปเป็นภาพที่รัฐบาลอยากให้เห็นว่า 90 วันทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรในอนาคต ซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่า 3 เดือนที่ผ่านมาของ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์” แทบไม่มีผลงานผลงานจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันก็ไม่ผิดนัก และนโยบายในอนาคตก็ดูจะไม่ให้ความหวังอะไรเท่าที่ควร
กลับกันภาพที่คนภายนอกมองความโดดเด่นตลอด 3 เดือนของ “นายกฯ อิ๊งค์” ที่ยังสลัดไม่พ้นครหา “นายกฯ ฟันน้ำนม” ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยวีรกรรมไม่ถูกไม่ควร จนกลายเป็นดรามาหลายต่อหลายครั้ง
ตั้งแต่การถ่ายรูปหมู่ด้วยชุดปกติขาว ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อันเป็นธรรมเนียมของคณะรัฐมนตรีก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง “คุณหนูอิ๊งค์” ดันหลงลืม “กาลเทศะ” เรียกชวนรัฐมนตรีหลายคนทำสัญลักษณ์ “มินิฮาร์ท” ทำให้เจ้าหน้าที่ และรัฐมนตรีที่รู้งานต้องทักเตือนว่า ในเครื่องแบบชุดปกติขาวทำไม่ได้ เจ้าตัวถึงกับชะงักและรีบเอามือลงแทบไม่ทัน ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีเรื่องร้องจริยธรรมค้างอยู่
หรือภาพลักษณ์ “นายกฯ ไอแพด” ที่ติดตัวมาจากการก้มหน้าอ่านข้อมูลในไอแพด บนเวทีประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue : ACD) ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ช่วงต้นเดือน ต.ค.67 ที่เป็นการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ครั้งนั้น “มาดามอิ๊งค์” ก้มหน้าอ่านสคริปต์ในไอแพด ระหว่างเจรจาหารือทวิภาคีกับ ประธานาธิบดีมัสอูด เปเซชกียาน แห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดยกล่าวสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ไม่มีการใช้ล่าม
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองเชิงติติง มองว่า การใช้ไอแพดเจรจาทางการทูต ไม่เหมาะสม ไม่มีความสง่างาม กระทบภาพลักษณ์ สะท้อนถึงความไม่พร้อมของผู้นำประเทศ อีกด้านก็แนะนำให้ใช้ล่ามในการเจรจาทางการทูตดีกว่า
ตัว “นายกฯ อิ๊งค์” ก็ไม่สะทกสะท้านยังแอบ “แขวะ” คนที่วิจารณ์ด้วยโพสต์ภาพคู่กับไอแพดคู่ใจในวันต่อมา ไม่เท่านั้นยังได้ไปตอบคอมเมนต์พร้อม “แขวน” ผู้ใช้บัญชีอินสตราแกรมรายหนึ่ง ซึ่งก็มีคำถามถึง “วุฒิภาวะ” ของคนเป็นผู้นำประเทศ
จนเวลาต่อมาการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษที่ “นายกฯ อิ๊งค์” พยายาม “แสดง” ว่าสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องพึ่งล่ามก็ “โป๊ะ” รัวๆ ทั้งในการพบปะหารือกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่ สปป.ลาว เมื่อเดือน ต.ค.67
ที่บันทึกถอดคำสนทนาอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในช่วงของ “นายกฯ ไทย” กลับถูกกำกับไว้ว่า (inaudible) ที่แปลว่า “จับความไม่ได้” หลายช่วง
หรือจะเป็นครั้งให้สัมภาษณ์เวที Forbes Global CEO เมื่อไม่นานมานี้ ที่ “ถามช้าง ตอบม้า” ตอบไม่ตรงคำถามที่ทางผู้จัดส่งให้เตรียมตัวล่วงหน้า จนพลาดโอกาส แสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงความเชื่อมั่นในหมู่นักธุรกิจใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ร่วมงานในวันนั้น
กระทั่งประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กับการที่ถูกมองว่าละเลยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย โดยที่ “คุณแม่อิ๊งค์” ยืนยันว่า ยืนยันว่าไม่ได้ละเลย และมีสามีเป็นคนใต้ ที่ยิ่งทำให้เสียงวิจารณ์กระหึ่มขึ้นไปอีก
แต่ไม่เท่านั้นในขณะที่ชี้แจงเจ้าตัวอยู่ระหว่างเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งแรกของรัฐบาลที่ จ.เชียงใหม่ ต่อด้วยการลงพื้นที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่งได้หอบเอาครอบครัวไปด้วย และมีภาพไปเดินถนนคนเดิน ไปสวนสัตว์ เหมือนทุกข์ร้อนอะไรกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้
ซึ่งก็มีคำชี้แจงจาก “นายแบก-นางแบก” ว่า เหตุที่ “นายก์ฯ อิ๊งค์” ไม่เดินทางไปเยี่ยมเยือนพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ เพราะไม่ต้องการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน้างาน แต่ก็มีคำถามสวนกลับว่า แล้วเมื่อครั้งน้ำท่วม จ.เชียงราย เหตุใด “นายกฯ อิ๊งค์” ถึงเดินทางไปได้
จนแล้วจนรอดผ่านไปเกินสัปดาห์ จนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้คลี่คลาย “นายกฯ อิ๊งค์” ที่เคยกำหนดกำหนดการจะเดินไปก็ยังไม่ได้ไปเสียที แต่ก็ปรากฎว่าภาพว่า ใช้เวลาช่วงวันหยุดควงสามี พร้อมแก๊งเพื่อนสนิท ไปร่วมชมดนตรีในสวน-เดินตลาดนัดอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามด้วยการไปล่องเรือชมงานแสงสีเสียง “วิจิตรเจ้าพระยา 2024”
ไม่แปลกที่ชาวปักษ์ใต้จะรู้สึกว่าเป็น “ลูกเมียน้อย” ในรัฐบาลเพื่อไทยที่ยังไม่เคยปักธง สส.ในพื้นที่ด้ามขวานได้ คลับคล้ายคลับคลากับที่เมื่อครั้ง “นายกฯ คนพ่อ” ทักษิณ ชินวัตร เคยประกาศขณะเป็นผู้นำประเทศว่า จะเลือกพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน ซึ่งถือเป็นคำประกาศทอดทิ้งคนใต้อย่างไรอย่างนั้น
ท่าทีต่อคนใต้ของ “ลูกอิ๊งค์” ที่เหมือนถ่ายทอดดีเอ็นเอมาเต็มๆ จาก “พ่อทักษิณ” ก็ดูจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักคำครหา “นายกฯ ทับซ้อน” ที่มีหลักคิด-บทบาทของ “พ่อ” ที่ใช้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นเสมือนทำเนียบรัฐบาลแห่งที่ 2 ในขณะนี้
ที่ต้องขีดใต้ก็คือ ปัญหา “นายกฯ ทับซ้อน” ก็น่ากลัวจะส่งผลร้ายแรงไปถึงกรณีคอขาดบาดตายสุ่มเสี่ยงสูญเสียดินแดนอย่าง MOU 2544 ด้วย
ตามคิวที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาขนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมแนวร่วม ไปยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหยุดดำเนินการตาม MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น กับนายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง
แต่ก็ดูเหมือนว่า ทั้ง “พ่อและลูก” ก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่มีการเปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา ที่พูดถึงข้อพิพาทชายแดนเกาะกูดกับไทย ในลักษณะว่า จะไม่ยอมเสียอธิปไตย และปัญหาเกาะกูดต้องได้รับการแก้ไขอย่างมีวุฒิภาวะ
ตรงนี้เองที่ยิ่งทำให้คนไทยไม่วางใจในเรื่อง MOU 2544 เพราะรู้ดีว่า “ทักษิณ” มีสัมพันธ์แนบแน่นขนาดไหนกับผู้มีอำนาจในฝั่งกัมพูชา
ด้วยท่าทีของรัฐบาล ไล่เรื่อยไปถึง “นายกฯในตำแหน่ง-นายกฯทับซ้อน” ก็น่ากลัวเหลือเกินกับข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังจะมีการกระทำที่เป็นการยกอธิปไตยรอบเกาะกูดให้กัมพูชาอย่างไม่ถูกต้อง
และขืนทะเล่อทะล่าปล่อยให้ไทยเสียเปรียบ หรือเสียดินแดนจาก MOU 2544 ทั้งที่ถูกร้องทักดักคอกระหึ่มขนาดนี้ ก็เตรียมตัวนับถอยหลังสวดมาติกาบังสุกุล เคลื่อนศพ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์” ขึ้นสู่เมรุเตรียมเผาได้เลย.