xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400บาท นายจ้างต้านเต็มสูบ “เพื่อไทย” จะทำสำเร็จกี่โมง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไทม์ไลน์ที่รัฐบาลเพื่อไทยสัญญาจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จากที่เคยรับปากมั่นเหมาะขึ้นแน่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จากนั้นก็ขยับเส้นสำเร็จแน่ในสิ้นปี 2567 ก็เห็นแล้วว่ามีแต่ราคาคุย มาถึงตอนนี้จะเร่งเคาะให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 บอกได้คำเดียวว่ายากยิ่ง

ที่ผ่านมา เห็น ๆ กันว่า เกมลากยาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ฝ่ายนายจ้างมีลูกล่อลูกชนจนฝ่ายรัฐบาลแก้เกมไม่ทัน

มาคราวนี้ก็เช่นกัน แม้ว่าคณะกรรมการไตรภาคี ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง จะครบสมบูรณ์ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง จำนวนทั้งหมด 15 คน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งกรรมการฝ่ายรัฐที่ว่างลง คือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และเรือเอกสาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน เป็นที่เรียบร้อย

แต่ก็ยังต้องลุ้นกันอีกไม่น้อย เพราะถึงฝ่ายรัฐบาลและลูกจ้างจะเห็นพ้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่เคยมีจุดยืนร่วมกันมาตลอด แต่สำหรับฝ่ายนายจ้าง ก็ย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนเช่นเดิมว่าไม่เห็นด้วย

กระนั้นก็ตาม  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ก็ยังมีท่าทีมั่นอกมั่นใจว่า มีข่าวดีแน่นอน น่าจะได้ปีหน้า หลังจากได้รับรายงานจาก  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ก่อนหน้าวันประชุมคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยดี เมื่อดูสัญญาณจากที่ผ่านมาปลัดกระทรวงแรงงาน พูดคุยนอกรอบกับผู้ประกอบการบ้างแล้ว ซึ่งแนวโน้มมีความเป็นไปได้

ตามไทม์ไลน์ หากฝ่าด่านแรกสำเร็จ ทุกฝ่ายเห็นด้วย จะมีการประชุมพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบ

 “ยืนยันว่าทันเป็นของขวัญปีใหม่แน่นอน เพราะได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจ 

ทั้งยังบอกว่า สำหรับผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตรถยนต์ที่จะได้รับผลกระทบหนัก กระทรวงแรงงาน กำลังหาทางออกที่ดีที่สุด โดยศึกษาแนวทางจากที่ใช้เมื่อปี 2555 ส่วนข้อกังวลจะมีการย้ายฐานการผลิต เขามีการย้ายอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีส่วนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นปกติทุกปี เราต้องเข้าใจ

ดูเหมือนว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่างมุ่งพุ่งชนเป้าหมาย  “ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล”  เพียงสถานเดียว เพื่อหวังผลทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยไปให้ถึงวันละ 600 บาท และค่าจ้างปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ในปีสุดท้ายของรัฐบาลเพื่อไทยที่เหลือเวลาอีกสองปีกว่า ๆ แต่ทว่าตอนนี้ก็ยังเดินไปไม่ถึงครึ่งทาง

ทั้งนี้ เมื่อถึงวันนัดหมายประชุมไตรภาคี วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือ บอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า การประชุมเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ 400 บาท ทั่วประเทศ ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีข้อมูลต้องพิจารณาจำนวนมาก จะนัดหารือกันใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567

“ที่ประชุมครั้งนี้ยังไม่ลงมติ ไม่ใช่เพราะองค์ประชุมไม่ครบ แต่เอกสารที่ให้พิจารณามีจำนวนมาก มีตัวเลขมาก จึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาให้รอบคอบและเป็นธรรม สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่” นายบุญสงค์ ระบุ

ในวันดังกล่าว กรรมการฝ่ายรัฐบาล 2 คน แจ้งลาประชุม

 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
 ปรับขึ้นค่าแรง น้ำตาลเคลือบยาพิษ? 

ต้องยอมรับกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ฯลฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานทั้งมวล แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

ไม่เพียงแต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าปรับขึ้นราคา วนกลับมายังค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ขั้นเลวร้ายสุดของผลกระทบตามมาที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีคือ การเลิกจ้าง ลดกำลังแรงงาน เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ดีขึ้นเพียงบางภาคส่วน โอกาสที่แรงงานจะตกงานกันระนาวก็มีมากขึ้น

เมื่อดูตัวเลขอัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2567 ที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เพิ่งเปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ก็เห็นแล้วว่า มียอดผู้ว่างงาน 410,000 คน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การว่างงานเกิดขึ้นทั้งกลุ่มที่เคยทำงานแล้ว และกลุ่มไม่เคยทำงานมาก่อน หรือเด็กจบใหม่ โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 แสนคน และ 2.3 แสนคน หรืออยู่ที่ 2.8% และ 3.5% ตามลำดับ

สาขาการจ้างงานหดตัวลง นอกจากขายส่ง/ขายปลีก การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ 440,000 คน ถือว่าอาการสาหัสสุด สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตที่ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมา โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ยอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.24 ล้านคัน หดตัวลง 19.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัปพลายเชน น่าเป็นห่วงสุดคือกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอยู่ถึง 70-80% ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หากสายป่านไม่ยาวอาจถึงขั้นต้องหยุดกิจการชั่วคราว

 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงคัดค้านจากฟากฝั่งของ “นายจ้าง” ต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศครั้งนี้ จะหนักหน่วง ดูจากการออกมาเคลื่อนไหวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่ออกแถลงการณ์และทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้ทบทวนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคราวนี้อย่างรอบด้าน 

แม้ กกร.จะเห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีความกังวลอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนและเปราะบางจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้ทั้งประเทศและภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน

กกร. เห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงานของทุกภาคส่วนที่ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคธุรกิจในทุกระดับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย

อีกทั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ มากกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และ 30% มีมติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามตัวแปรปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ หากคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีกลาง จะมีความเห็นต่าง ควรมีสูตรคำนวณและชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัด ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสีย

นอกจากนั้น กกร. ยังห่วงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างและลดการจ้างงาน ชะลอการจ้างงานใหม่ เพื่อลดต้นทุน หรือหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี เพื่อให้อยู่รอด และอาจมีการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติที่มาลงทุนในไทยและผู้ประกอบการชาวไทยเองเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยังส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นทันที

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
กกร.มีข้อเสนอแนะว่า คณะกรรมการไตรภาคี ควรพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งได้ศึกษาและพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ฯลฯ ตลอดจนความสามารถของกิจการ/อุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ และควรปรับไม่เกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการปรับค่าจ้างแบบจำเพาะ ควรมีการศึกษาความพร้อมและศักยภาพการแข่งขันของแต่ละประเภทกิจการหรืออุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน

กกร. ยังสนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill , Multi-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และขอให้เร่งรัดประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้ครบ 280 สาขา จากปัจจุบันที่ประกาศไว้เพียง 129 สาขา

 เกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีความกังวลว่าหากรัฐบาลยังยืนยันนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กลุ่มเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะใช้แรงงานคนแบบเข้มข้น เชื่อว่าจะมีบางแห่งปิดกิจการ บางแห่งทรุดตัวจนไม่สามารถฟื้นได้จากที่กำลังทยอยฟื้นตัว และอาจเห็นการย้ายฐานไปเวียดนาม อินโดนีเซีย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วงที่ไทยปรับขึ้นค่าแรงก่อนหน้า

 ประธาน ส.อ.ท. ยังยกข้อมูลสำนักงานประกันสังคม ว่ามีผู้ประกอบการ 60% หรือประมาณ 25,000 ราย จากทั้งหมด 500,000 ราย จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มภาคการผลิตทั้งอาหาร, สิ่งทอ, ยาง, อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เพราะยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน 

ขณะที่ เซีย จำปาทอง  สส.พรรคประชาชน ที่มาจากภาคแรงงาน ออกมาโต้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ปรับใหญ่ทั่วทั้งประเทศเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้นจนค่าแรงวิ่งตามไม่ทัน ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดน้อยลง การไม่ปรับขึ้นค่าแรงฯก็จะมีผลเสียย้อนกลับมา หากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย

เซีย มองว่า ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดแทบไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าสินค้าอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า น้ำประปา พลังงาน คำนวณเท่ากันทั้งประเทศ ยกเว้นพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีการปรับค่าแรงนำหน้าพื้นที่อื่นอยู่แล้ว ส่วนผลกระทบต่อการเลิกจ้างและลดการจ้าง เป็นไปตามเทรนด์ของเศรษฐกิจและการดีสทรัปชั่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์สันดาปกำลังถูกแทนที่ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เหตุผลของ กกร. เป็นการประวิงเวลาปรับขึ้นค่าแรงมากกว่า

ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 2 ครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยปรับขึ้น 2-16 บาท (ตั้งแต่ 330-370 บาท) ใน 17 กลุ่มจังหวัด

หลังจากนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2567 มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในกิจการโรงแรมระดับสี่ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ทั้งหมด 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่ 13 เมษายน 2567

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น หากย้อนไทม์ไลน์ จะเห็นว่าตั้งท่ามาตั้งแต่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง นัดประชุมเมื่อวัน 16 กันยายน 2567 เพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ให้มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป มีเหตุล่มเนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน ไม่เข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและภาครัฐเข้าร่วมครบทั้ง 10 คน

ต่อมา นัดหมายประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 มีเหตุล่มอีกครั้ง โดย  นายไพโรจน์ โชติเสถียร  ปลัดกระทรวงแรงงาน(ขณะนั้น) ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า มีตัวแทนราชการไม่เข้าร่วมประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้าร่วมประชุม 2 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุม 10 คนขึ้นไป

ส่วนนัดหมายการประชุมครั้งที่สาม วันที่ 24 กันยายน 2567 มีเหตุต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดย ประธานบอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า องค์ประชุมไม่ครบ โดย  นายเมธี สุภาพงษ์  ไม่ได้เป็นตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท.ส่งผู้แทนคนใหม่ และนายไพโรจน์ โชติเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นประธานบอร์ดค่าจ้าง เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2567

ต่อมา หลังจากแต่งตั้งบอร์ดฝ่ายรัฐบาลมาครบแล้วนัดประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ก็ยังไม่สามารถตัดจบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วไทยได้
  
 และยังไม่รู้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะทำสำเร็จกี่โมง?  


กำลังโหลดความคิดเห็น