xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (17): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ภาพเหมือนพระเจ้ากุสตาฟที่สอง (Gustav II Adolf)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไป 
 
 ภายใต้รัชสมัย พระเจ้ากุสตาฟที่สอง (Gustav II Adolf)  ความร่วมมือระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับฐานันดรอภิชนได้นำไปสู่การขยายดินแดน และการสร้างกองทัพประจำการที่ดำเนินควบคู่ไปกับแนวคิดที่ว่าการทำสงครามต้องคุ้มทุน

 นั่นคือ การทำสงครามจะต้องเกิดรายได้ไม่ว่าจะจากการแสวงหาทรัพยากรในดินแดนศัตรูหรือการได้รับเงินสนับสนุนจากพันธมิตร 

สวีเดนเริ่มขยายดินแดนเรื่อยมา สามารถยึดครองพื้นที่จากรัสเซียในปี ค.ศ. 1617, พื้นที่ทางบอลติกตะวันออกในปี ค.ศ.1629, และเข้าแทรกแซงการเมืองในพื้นที่เยอรมนีนับแต่ปี ค.ศ.1629 การตัดสินใจร่วมสงครามสามสิบปีทำให้สวีเดนเป็นผู้ร่วมให้หลักประกัน (co-guarantor) ในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Westphalia treaties) ในปี ค.ศ.1648 พร้อมกับได้ดินแดนต่าง ๆ และได้รับการพิจารณาให้เป็นมหาอำนาจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทะเลบอลติก

ส่วนกิจการภายในประเทศ ในปี ค.ศ.1634 ผู้นำอภิชนที่ชื่อ  Axel Oxenstierna  ได้ตรารัฐธรรมนูญ ( the Instrument/Form of Government) ขึ้น โดย Oxenstierna อ้างว่าเป็นเนื้อหาตามพระราชประสงค์ของพระเจ้ากุสตาฟที่สองก่อนเสด็จฯ สวรรคต

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาระบบราชการส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีระบบศาลและระบบกระทรวงอย่างชัดเจน และแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัดภายใต้การบริหารของผู้ว่าการจังหวัด และพัฒนาสภาที่ปรึกษาให้กลายเป็นสภาบริหารแห่งแผ่นดิน (Council of State) ที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นอภิชน อันเป็นองค์กรที่ปกครองบริหารโครงสร้างการปกครองทั้งหมด

 กล่าวได้ว่า สวีเดนมีกลไกทางการปกครอง (“government machine”) ที่เป็นระบบมากที่สุดเหนือประเทศคู่แข่ง แม้ว่าจะไม่ได้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ก็ตาม 

อนึ่ง รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1634 ยังระบุให้ที่ประชุมสภาฐานันดรทั้งสี่ - กับองค์พระมหากษัตริย์ - เป็นศูนย์กลางของอำนาจอธิปไตยด้วย หากถือว่าสภาฐานันดรสวีเดนเป็นรัฐสภา จะพบว่า รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1634 ได้ให้กำเนิดการปกครองที่เรียกว่า  “King and Parliament” หรือ “King-in-Parliament” ขึ้นเป็นครั้งแรก
 
กรอบการปกครองที่ว่านี้เกิดขึ้นในอังกฤษในตอนกลางศตวรรษที่สิบห้า อันสื่อว่า อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์โดยลำพัง และก็ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ “กษัตริย์และรัฐสภา” หรือ “กษัตริย์ในรัฐสภา”  โดยมีการตีความ “กษัตริย์และรัฐสภา” หรือ “กษัตริย์ในรัฐสภา) สองแบบ

แบบแรกเป็นแบบที่ให้น้ำหนักกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นคือ กษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามการยินยอมของสภาขุนนางและสภาสามัญ แต่ในที่สุดแล้ว กษัตริย์มีพระราชอำนาจสุดท้ายและเป็นอำนาจสูงสุด

ส่วนอีกแบบหนึ่งให้น้ำหนักกับรัฐสภา โดยยืนยันว่า กษัตริย์ในรัฐสภาใช้อำนาจสูงสุดร่วมกันในการตรากฎหมาย โดยคำว่า กษัตริย์และรัฐสภา และ กษัตริย์ในรัฐสภา ต้องมีองค์ประกอบสามองค์ประกอบสำคัญที่ใช้อำนาจร่วมกัน คือ สถาบันพระมหากษัตริย์, สภาขุนนางและสภาสามัญ

 คำถามที่เกิดขึ้นคือ ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินสุดท้าย “กษัตริย์” โดยลำพัง หรือ จะต้องเป็น “กษัตริย์และสภาขุนนางและสภาสามัญ” เท่านั้น ?   ข้อถกเถียงระหว่างการตีความสองแบบนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับขอบเขตพระราชอำนาจของกษัตริย์ อันที่จริง กรอบการปกครองที่ว่านี้เป็นการจำกัดพระราชอำนาจอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าแบบไหน กษัตริย์จะใช้พระราชอำนาจโดยลำพังไม่ได้ ความแตกต่างอยู่ที่ท้ายที่สุดแล้ว กษัตริย์จะทรงมีพระราชอำนาจตัดสินสุดท้ายหรือไม่

ข้อถกเถียงที่ว่านี้เริ่มขึ้นทันทีตั้งแต่เริ่มมีกรอบการปกครองนี้ในกลางศตวรรษที่สิบห้า และถกเถียงกันตลอดศตวรรษที่สิบหกจนถึงราวกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด และเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่าง ค.ศ 1642-1651 รวมทั้งการตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1649 และการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
 
 พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อถกเถียงดังกล่าวนี้ยุติด้วยกำลังของผู้ชนะในสงครามกลางเมือง นั่นคือ ฝ่ายรัฐสภา และการตีความ “King and Parliament” หรือ “King in Parliament” ในแบบที่สอง 

แม้ว่าจะมีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาใน ค.ศ. 1660 การตีความกรอบการปกครองดังกล่าวโดยให้น้ำหนักกับรัฐสภาก็ยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) ในช่วง ค.ศ. 1688-1689 ที่เป็นการเสด็จน้ำให้เห็นชัดเจนถึงชัยชนะของการตีความในแบบที่สอง เพราะในปี ค.ศ. 1689 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (the Bill of Rights) ที่จำกัดการใช้พระราชอำนาจตามปกติของกษัตริย์ รวมทั้งการยกเลิกพระราชอำนาจพิเศษ (prerogative powers) ในการชะลอหรือยกเว้นกฎหมาย
ส่วนในกรณีของสวีเดนจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้โปรดอ่านต่อไป !

นอกจากนี้ Oxenstierna ยังได้ปฏิรูประบบภาษีสมัยใหม่แบบเงินตรา (จากเดิมที่มีการเก็บภาษีเป็นสิ่งของหรือแรงงาน) เพื่อตอบสนองต่อการสนับสนุนการทำสงคราม เพราะปัญหาสำคัญของสวีเดนภายหลังสงครามสามสิบปีคือ สถานะทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานะทางการคลังขึ้นอยู่กับการทำสงครามที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นปัญหาทางการคลังนี้เป็นเงื่อนไขหลักที่ผลักดันให้พระมหากษัตริย์ต้องออก นโยบายเวนคืนทรัพย์สิน (Reduktion)  และปัญหาทางการคลังดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฐานันดรชาวนากับฐานันดรอภิชน โดยฐานันดรชาวนาได้มีเอกสารที่เรียกว่า  “Supplication”  อันเป็นคำร้องถึงภาระในการทำสงครามที่ตกต่อชาวนา ขณะที่มีบุคคลจำนวนน้อยเท่านั้นที่กอบโกยผลประโยชน์จากสงครามดังกล่าว

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายโจมตีหรือกดดันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นคือ สมเด็จพระราชินีคริสตินา (Christina)  พระราชธิดาของพระเจ้ากุสตาฟที่สองแต่อย่างใด แต่คำร้องดังกล่าวเป็นการเริ่มส่งสัญญาณว่าเหล่าชาวนาพร้อมจะสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ หากพระองค์จะทรงดำเนินนโยบายเวนคืน  “Reduktion”  หรือการเรียกคืนที่ดินพระมหากษัตริย์ที่มอบให้แก่อภิชนด้วยเหตุความจำเป็นของรัฐ

 Axel Oxenstierna

 สมเด็จพระราชินีคริสตินา (Christina) วาดโดยจาค็อบ ไฮน์ริช เอลบ์ฟาส
ในทางตรงกันข้าม ฐานันดรอภิชนได้ตอบโต้ด้วยข้อเขียนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการถือครองที่ดินของกลุ่มตนที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก และเน้นย้ำถึงพันธะหน้าที่ของชาวคริสต์ที่ดีที่จะต้องเชื่อฟังพระมหากษัตริย์ (duty of obedience) ตามแนวคิดเทวสิทธิ์

กระนั้น ข้อถกเถียงดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1650 สะท้อนให้เห็นว่า ทางออกต่อปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องเป็นฉันทามติร่วมของทุกฐานันดรในสภาฐานันดร และสะท้อนว่าชาวสวีเดนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ไม่ได้มองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หากแต่เป็นทางออกของปัญหาทางการเมือง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น