ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถ.บรรทัดทอง จากย่านเซียงกง สู่ย่าน Street Food ตอบโจทย์วิถีคนเมือง จนได้รับการขนานนามเป็น “เยาวราช 2” ยามค่ำคืนเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินเบียดเสียดกันแน่นฟุตบาต ร้านดังคนแห่เข้าคิวต่อแถวยาวเหยียด กลายเป็นหมุดหมายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาเช่าพื้นที่เปิดร้านอาหารกันเป็นจำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกร้านจะได้รับความนิยมจากนักชิมที่ตบเท้าเข้ามายังย่าน Street Food คนเมืองแห่งนี้
กล่าวสำหรับการพลิกโฉมของ ถ.บรรทัดทอง สู่ Food Destination จากอดีตเป็นย่านค้าอะไหล่รถยนต์มือสองและแหล่งขายเครื่องกีฬา สืบเนื่องมาจาก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เข้ามาดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ ยกระดับพื้นที่ “บรรทัดทอง-สามย่าน” ให้เป็นแหล่งรวม Street Food ยุคใหม่ จัดระเบียบพื้นที่ให้เข้าถึงง่าย ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย โดยมีจุดแข็ง คือ ทำเลทองที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ตอบโจทย์มีผู้บริโภคที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้ายันมื้อดึก
รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่กระชากกระแสย่านบรรทัดให้แรงมากขึ้นต้องยกให้โซเชียลมีเดีย เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์ มีนักท่องเที่ยวมาไลฟ์ทั้งทาง IG และ TikTok ทำให้ที่ตรงนี้เป็นอีก Destination ที่คนพูดถึงและต้องมา
แน่นอนว่า ร้านดังๆ คนแน่นๆ เป็นผลมาจากการรีวิวในโซเซียลมีเดีย บวกกับนักท่องเที่ยวแพลนไว้แล้วว่าต้องมาชิมร้านไหนบ้าง จึงส่งผลให้ร้านอาหารบางร้านค่อนข้างเงียบไม่มีลูกค้าเข้าร้าน แม้จำนวนนักเที่ยวจะแห่แหนมาเยือนย่านบรรทัดทองอย่างล้นหลามก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ TikTok บัญชี apolloporksatay หนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้าไปเปิดกิจการร้านอาหารในย่านบรรทัดทอง เปิดเผยข้อเท็จอันโหดร้ายของธุรกิจขายอาหารบนทำเลทองแห่งนี้ว่า พื้นเพทางครอบครัวเปิดร้านอาหารขายหมูสะเต๊ะเก่าแก่กว่า 70 ปีใน จ.ชลบุรี ทำให้พอมีประสบการณ์และตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทุ่มเทเปิดร้านอาหารที่ Food Destination แห่งนี้ หลังผ่านไป 4 เดือน เริ่มท้อใจ เพราะร้านไม่แมส ยอดขายไม่ปัง ร้านเงียบมาก บางวันขายได้พันกว่าบาท อีกทั้งยังมีปัญหาใหม่เข้ามาทุกวัน ทำให้ต้องกลับมาถามตัวเองว่าหรือควรพอแค่นี้ดีกว่า
อย่างไรก็ดี หลังจากแชร์เรื่องราวในเซียลฯ ร้านเริ่มเป็นที่รู้จักมีลูกแวะเวียนเข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน มีความคิดเห็นจากคนวงในว่าระยะเวลา 4 เดือน ไม่ได้การันตีว่าร้านจะอาหารจะไปรอดหรือไม่ ธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ตัวที่ 1 ปี ดังนั้น ต้องจ่ายเงินไปก่อน หากร้านแมสเมื่อไหร่ ก็จะได้คืนทุนรวดเดียว
ขณะที่ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ให้ความเห็นว่า ร้านทั่วไปจะอยู่ในสัญญา 3 ปี ถ้าปีแรกยังไม่มีผลตอบรับที่ดี ก็ยังมีโอกาสปรับกลยุทธ์ในปีต่อมา แต่ปกติจะรอดเพราะกว่าจะได้เช่า ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จะสัมภาษณ์ และค่อนข้างมั่นใจว่าร้านจะไปไหว สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มองผู้เช่าเป็นเพื่อนบ้าน ไม่ต้องการให้ล้มหายตายจากไปโดยเร็ว โดยอัตราค่าเช่าย่านบรรทัดทองเริ่มตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาทต่อเดือน แล้วแต่ขนาดและโซน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 2567 ธุรกิจร้านอาหารเติบโตจากปัจจัยจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารสูง มีร้านอาหารปิดตัวมากขึ้น และเปิดตัวใหม่ลดลง
ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร ติด 5 อันดับแรก การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ แต่การจดทะเบียนใหม่ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ธุรกิจกลุ่มดังกล่าว ติด 5 อันดับแรกที่มีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจ โดยจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 51.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยมูลค่าลงทุนในกิจการร้านอาหารจำแนกตามสัญชาติ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.-10 ต.ค. 2567 เป็นดังนี้ ไทย 7,745 ล้านบาท, จีน 416 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 219 ล้านบาท, อินเดีย 190 ล้านบาท, ฝรั่งเศส 190 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 101 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่านอกจากประเด็นการแข่งขันที่สูง ธุรกิจยังมีเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความท้าทายรออยู่ข้างหน้า
ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ อย่างไรก็ดี “อาหารริมทาง” หรือ “Street Food” นับเป็นสีสันทางวัฒนธรรมของนานาประเทศ ซึ่ง Street Food ของไทย ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ล่าสุดได้รับการจัดอันดับจาก ปี Time Out นิตยสารอันดับโลกด้านไลฟ์สไตล์ ประกาศว่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ครองอันดับ 6 ของโลก ในหมวดหมู่ The World’s 20 Best Cities for Food หรือ 20 เมืองที่ดีที่สุดในโลกในด้านอาหาร
นิตยสาร Time Out ระบุว่า การรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการทำความรู้จักแต่ละเมือง ส่วนที่ทำให้อาหารยอดเยี่ยม ไม่ใช่เพียงแค่คำชม และดาวมิชลิน (Michelin Star) แต่คือตัวเลือกของอาหาร คุณภาพ ราคา การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นการสอบถามไปยังหลายพันคนเพื่อกล่าวถึงการรับประทานอาหารนอกบ้านในบ้านเกิดของตัวเอง ให้คะแนน ด้านคุณภาพ ราคา จากนั้นทีมบรรณาธิการและนักเขียนทั่วโลกเป็นผู้สรุปผลการสำรวจ
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอับดับให้ครองที่ 6 ของโลก The World’s 20 Best Cities for Food ซึ่งในนิตยสารได้ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของ Street Food และมีราคาย่อมเยาที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีความหลากหลาย ทั้งรับประทานจากจานร้อนริมถนน หรือเสิร์ฟในเรือบริเวณตลาดน้ำ อาหารที่ต้องลองคือ ส้มตำ นอกจากนี้ กรุงเทพฯ มีร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ถึง 34 แห่ง และมีถึง 8 ร้าน ได้รับรางวัล Asia’s 50 Best Restaurants 2024
โดยภาครัฐให้ความสำคัญสนับสนุน Street Food มีการจัดระเบียบเพื่อยกระดับสู่สากล ยกตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้การบริหารของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำคลอดโครงการกรุงเทพอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย (Bangkok Safety Street Food) ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการยกระดับ Bangkok Street Food กับผู้แทนสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารสตรีทฟู้ดในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้าน โดยจัดกลุ่ม Street Food เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดในชุมชนคือตลาดในชุมชนที่อยู่มานานหลายสิบปี, ตลาดในเมืองสำหรับคนทำงานออฟฟิศ และตลาดนักท่องเที่ยว
“การพัฒนาสตรีทฟู้ดเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติด้วย แต่หัวใจหลักคือตลาดชุมชนกับตลาดคนทำงานออฟฟิศ ถือเป็นตลาดหลักต้องเริ่มทำ เมื่อเลิก Work from Home กลับมาทำงานปกติ ความต้องการอาหารสตรีทฟู้ดมากขึ้น โดยเฉพาะค่าครองชีพสูงขึ้น คนก็จะหาอาหารที่ถูกลง ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวเป็นประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่อาหาร แต่ต้องดูเรื่องหาบเร่ขายของที่ระลึกด้วย เริ่มเห็นกลับมาขายได้ สั่งการให้มีการดูแลเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย จุดสำคัญคือแต่ละพื้นที่ต้องมีกรรมการเข้ามาดูแลกันเอง ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ทั้งหมด แต่มาตรฐานความสะอาดสามารถใช้อันเดียวกันได้” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ
สุดท้าย Street Food เป็นสีสันทางวัฒนธรรมสะท้อนการกินแบบไทยๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เข้ามาสัมผัส Street Food ของไทย ดังเช่น ปรากฎการณ์ “ย่านบรรทัดทอง” ที่กำลังเป็น Food Destination ของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในห้วงเวลานี้