xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าเบื้องหลัง “บิ๊กดีล” ดึง “NVIDIA” บุกไทย “SIAM AI-GULF-True” กับ “ซูเปอร์คอนเนกชัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัตนพล วงศ์นภาจันทร์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หนึ่งใน “บิ๊กดีล”  ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดใน พ.ศ.นี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้น การที่ “บิ๊กเทคเบอร์หนึ่งของโลก”  อย่าง  NVIDIA  ยักษ์ผู้ผลิตชิป AI ที่มีมูลค่าบริษัทสูงสุดราว 3.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 122.54 ล้านล้านบาท ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย

ภาพที่  “Jensen Huang”  ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง NVIDIA เข้าพบ  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร”  นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ตามต่อด้วยการจัดงานใหญ่ “AI Vision for Thailand” ภายใต้ธีม The First Step for Thailand Sovereign AI โดยมีบรรดาบิ๊กเนมจากหลากหลายแวดวงเข้าร่วมคับคั่ง เป็นที่กล่าวขานเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นว่า   “บริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (SIAM AI)” ผู้จัดงานนั้น มีความเป็นมาอย่างไร กระทั่งได้รับคำตอบว่า “บิ๊กบอส” ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ มิใช่ใครอื่นหากแต่คือ “ซัน - รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ลูกชายคนกลางของ เยาวเรศ ชินวัตร และวีระชัย วงศ์นภาจันทร์

 เปิดเส้นทาง “บิ๊กซัน” บอสใหญ่แห่ง SIAM AI”

สำหรับรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ หรือ “ซัน” นั้น เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจมานานพอสมควร โดยหลังจากจบปริญญาตรีด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มงานแรกเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่เอสเอ็มอีแบงก์

จากนั้นไปร่วมงานกับบริษัทเอกชนหลายแห่ง กระทั่งเมื่อปี 2555 เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง ใน  บริษัท พีเออี (ประเทศไทย) หรือ PAE  ที่ให้บริการด้านงานวิศวกรรมและก่อสร้างแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซฯ ก่อนที่จะปิดตัวไปด้วยมีผลประกอบการย่ำแย่

สำหรับ บริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด หรือ SIAM AI ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ NVIDIA เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ทุนจดทะเบียน 695 ล้านบาท โดยมีรัตนพลเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการฝ่ายบริหาร

นอกจาก SIAM AI รัตนพลยังถือหุ้นในบริษัทอีกหลายแห่ง ประกอบด้วย 1.ดิจิเวิร์ค (ไทยแลนด์) ขายซอฟแวร์ 2.มิเนอรัล อินฟินิตี้ เอเชีย โรงงานผลิต ปุ๋ยอาหารพืช 3.สยาม จีพีที พัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ใช้ AI 4.สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น ทำธุรกิจให้บริการการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

5.อินโนเวทีฟ ฟาร์มมิ่ง โซลูชั่นส์ ธุรกิจให้เช่า การขาย การซื้อและดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ 6.เอส บี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น ธุรกิจจัดนำเที่ยว 7.โอบีโอเอ็น คอร์เปอเรชั่น ธุรกิจขายส่งอุปกรณ์ iOT 8.ไลท์อัพ เอไอ โซลูชั่น ธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ ทั้ง 8 บริษัทยังดำเนินกิจการ ส่วน 9.ไอเอ็มเอ็ม ไพรเวท อีควิตี้ ทำธุรกิจซื้อ-จำหน่ายหุ้นตามตลาดหลักทรัพย์ สถานะเลิกกิจการ

ทั้งนี้ การกลับมาก่อร่างสร้างตัวใหม่ของ “รัตนพล” ภายใต้ฉากที่ “อุ๊งอิ๊งค์” - แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง (เยาวเรศ เป็นน้องสาว ทักษิณ ชินวัตร) พบปะหารือประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก NVIDIA ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นับว่าน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง เมื่อผู้นำทั้งสองประกาศร่วมเสริมสร้างความพร้อมและศักยภาพไทยในการเป็นผู้นำด้าน AI ระดับภูมิภาคและระดับโลก

“นายกฯอิ๊งค์” มีความหวังว่าการพบหารือครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมือ และแสวงหาความร่วมมือในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ขณะที่  Jensen Huang  ในลุคแจกเก็ตหนังสีดำ แห่ง NVIDIA ยักษ์ผู้ผลิตชิป AI รายใหญ่ของโลก ที่มีมูลค่าบริษัทสูงสุดอันดับหนึ่งของโลกราว 3.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 122.54 ล้านล้านบาท พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุน startup ในไทยกว่า 50 ราย และมหาวิทยาลัยไทยอีกกว่า 40 แห่ง โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยจุดประกายและเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนา AI ในไทยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนายกฯ และผู้ก่อตั้ง NVIDIA ต่างเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรด้าน AI ที่ถือเป็นหัวใจของอุตสาหกรรม AI การลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้าน AI จะช่วยให้ไทยพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะให้สามารถขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้

 กลุ่ม GULF – True ลุยต่อยอด 

ในงาน AI Vision for Thailand ทาง SIAM AI CLOUD ในฐานะสมาชิกโครงการ NVIDIA Cloud Partner ที่เป็นเจ้าของโดยคนไทย 100% เพียงรายเดียวในประเทศไทย ได้เปิดตัวคลัสเตอร์ NVIDIA H100 Tensor Core GPU ประสิทธิภาพสูงอย่างเป็นทางการ ซึ่งวางตำแหน่งประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มผู้นำด้านความสามารถในการประมวลผล AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงสร้างพื้นฐานนี้ ประกอบด้วย แพลตฟอร์ม NVIDIA AI แบบ Full-stack รวมถึงซอฟต์แวร์ NVIDIA AI Enterprise พร้อมแผนขยายไปสู่ NVIDIA H200 Tensor Core GPU รุ่นต่อไป และ NVIDIA GB 200 Grace Blackwell Superchips

ส่วนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพกับมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นด้านการค้นคว้ายา การจัดลำดับจีโนม และโซลูชัน AI ทางการแพทย์เฉพาะสำหรับประเทศไทย และร่วมมือกับมหาวิทยาลัย CMKL เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลประสิทธิภาพสูงและพัฒนาบุคลากร AI รุ่นต่อไป

SIAM AI CLOUD ยังจับมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ True Internet Data Center (True IDC) ในเครือซีพี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชัน AI

ทั้งนี้  บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรู ไอดีซี) บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ซึ่งเป็นผู้นำด้านบริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ ร่วมกับ บริษัท สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศ AI ของไทย ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การสร้างโมเดล AI และบริการ AI ออนไลน์ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับศักยภาพ AI ของประเทศสู่ระดับสากล เป็น TH-AI-LAND

 ศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบนิเวศ AI และAI ดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมศักยภาพของไทยบนเวทีโลก ซีพี มีเป้าหมายชัดเจนในการนำเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมาช่วยสร้างสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โดยความร่วมมือระหว่างทรูไอดีซี กับ สยาม เอไอ คลาวด์ พันธมิตรของ NVIDIA ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยสู่ยุค AI อย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นว่าด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เรามี ร่วมกับเทคโนโลยีระดับโลกของ NVIDIA จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาคในอนาคต

 รัตนพล วงศ์นภาจันทร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยาม เอไอ กล่าวว่า ในฐานะ NVIDIA Cloud Partner รายแรกในไทย การลงนาม MOU กับ ทรู ไอดีซี ยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาศักยภาพ AI ของประเทศไทย เราเชื่อว่าการผสานความเชี่ยวชาญด้าน AI และการสร้างโมเดลจะช่วยพัฒนาโซลูชันที่เปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ต่อภาคส่วนสำคัญของประเทศได้อย่างแท้จริง

นอกจากการลงนามบันทึกกับทรูแล้ว สยาม เอไอ ยังร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Gulf Edge เพื่อจัดหาทรัพยากรการประมวลผลที่เร่งความเร็ว ซึ่งจะช่วยพัฒนานวัตกรรม AI ในภาคพลังงาน ดิจิทัล และโทรคมนาคม อีกด้วย
 ยุพาพิน วังวิวัฒน์  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 บริษัท จีเอสเอ คาต้า เซนเตอร์ จำกัด (GSA DC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 40% ผ่านบริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด (Gulf Edge) ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการศูนย์ข้อมูล (Data Center) กับบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชัน จำกัด (Siam AI) ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่เป็นพันธมิตรกับ NVIDIA Corporation ภายใต้โครงการ NVIDIA Cloud Partner โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในไทยและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลผ่านโซลูชั่น AI บนระบบคลาวด์ (AI Cloud Solutions)

นอกจากนี้ Gulf Edge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MOU) กับ Siam AI เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชั่น AI ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่มบริษัท ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน บริการดิจิทัล และโทรคมนาคม
กัลฟ์ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การนำเสนอบริการเฉพาะบุคคลและการยกระดับการให้บริการลูกค้า ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทางด้าน Jensen Huang ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง NVIDIA ซึ่งมาเยือนไทยเพื่อลงนามความร่วมมือกับสยาม เอไอ คลาวด์ พาร์ทเนอร์ของ NVIDIA เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะการสร้าง Sovereign AI ในประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศในโลก ที่ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นวางรากฐานของอุตสาหกรรม AI

“ไม่มีอนาคตสำหรับประเทศใดก็ตามที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของ AI” ผู้ก่อตั้ง NVIDIA กล่าว และบอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องลงทุนด้าน AI ของชาติ ทุกประเทศต้องผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม และกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมพลังงาน

Jensen Huang มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะแทรกซึมอยู่ทุกที่ เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาจะไม่มีใครไม่เข้าใจ AI ขณะเดียวกันพวกเขาไม่ใช้การเสิร์ชอีกต่อไปแต่จะคุยกับ AI แทน คนรุ่นใหม่ในประเทศจำเป็นต้องพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน AI มากขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญของ AI คือ ข้อมูล องค์ความรู้ในทุกด้าน

Jensen Huang ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท NVIDIA
ทั้งนี้ NVIDIA ร่วมมือกับ 40 มหาวิทยาลัยของไทย เพื่อเปิดให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI รวมทั้งการร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้าน AI เกือบ 60 แห่ง เพื่อช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยีของ NVIDIA และสร้าง AI ของตัวเองขึ้นมาได้

“NVIDIA มาเพื่อช่วยประเทศไทยพัฒนา Thai AI และเปิดตัว ThaiGPT ผมเชื่อว่าไทยจะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตด้วยอุตสาหกรรมใหม่” ผู้ก่อตั้ง NVIDIA กล่าว

 NVIDIA ปลุกหุ้นเทค-พลังงาน-สื่อสาร คึก 

สำหรับการขยายลงทุนในไทยของ NVIDIA ครั้งนี้ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองเป็น sentiment บวก ไม่ใช่เพียงแค่กับ GULF แต่ยังรวมถึง ADVANC ที่จะได้ผลบวกด้วย ทั้งยังเป็นปัจจัยหนุนต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าของ GULF และโอกาสของการทำ Data center รวมถึง Cloud infrastructure และ Edge computing นอกเหนือจากเรื่องการใช้ 5G และโครงข่ายมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า การขยายลงทุนมาไทยของ NVIDIAจะหนุนให้ยอดส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอด BOI 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เสริมแรงผลการหลีกหนีความเสี่ยงสงครามการค้า 2.0 ซึ่งเมื่อครั้งสงครามการค้า 1.0 ระหว่างจีน-สหรัฐฯเมื่อปี 2561 หนุนยอดบีโอไอเร่งตัวขึ้นจากปี 2562 กว่า 116% จากปีก่อน

ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน หลังจาก NVIDIA จะเข้ามาลงทุนสร้าง Data Center จะสร้าง Sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่มนิคมฯ ที่ขายพื้นที่สร้างโรงงาน โดยทั้งนิคมฯอมตะ (AMATA) และ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) มีจุดเด่นทั้งเรื่องที่ดินและกลุ่มลูกค้า

ส่วนหุ้นกลุ่มอื่นที่รับกระแสบวกต้อนรับ CEO NVIDIA เยือนไทย ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า : GULF, BGRIM, GPSC, WHAUP กลุ่มสื่อสาร : ADVANC, TRUE, INTUCH และกลุ่มรับเหมาสื่อสาร : AIT, INSET, ICN, ITEL, INET, NETBAY เป็นต้น

นอกจาก NVIDIA ที่ขยายการลงทุนมายังไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 กลุ่มกัลฟ์ โดย บริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด (Gulf Edge) และกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) ทำข้อตกลงการให้บริการ Sovereign Cloud Services ในไทย ผ่านการลงทุนโครงสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 25 เมกะวัตต์ ในเฟสแรก เม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568 และเฟส 2 อีก 1 หมื่นล้านบาท 25 เมกะวัตต์ เช่นกัน

เมื่อเดือนกันยายน 2567 รูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน Alphabet และ Google พบปะหารือกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศสานต่อแผนลงทุนของกูเกิลในโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ที่กรุงเทพฯ และดาต้า เซ็นเตอร์ หรือศูนย์ข้อมูล ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) จังหวัดชลบุรี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว คาดจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ภายในปี 2572 พร้อมสร้างตำแหน่งงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

การเข้ามาลงทุนของกูเกิล ถือเป็นบริษัทยักษ์เทครายที่สอง ต่อจากอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทย 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 เมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มให้บริการ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในต้นปี 2568

ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เผยเม็ดเงินการลงทุนในโครงการ Data Center และ Cloud Service รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเลกทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ หรือ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเลกทรอนิกส์ขั้นสูง พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด ในการขับเคลื่อน โดยตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568 – 2572)

 นับเป็นฝันไกล ส่วนจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ ต้องวนกลับมาดูระบบการศึกษา การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง รื้อถอนหลักสูตรกันยกใหญ่ จ่ายผลตอบแทนที่จูงใจเสียก่อน 


กำลังโหลดความคิดเห็น