xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เครื่องสำอางแบรนด์ไทย โกยกำไรทั่วหน้า คนเปย์ความงาม ดันตลาดโตแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เครื่องสำอางไทยถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถโกยกำไรฉ่ำๆ ด้วยมูลค่าแตะ 2.81 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มมีจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ “พร้อมเปย์” ในเรื่องความสวยความงาม  

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 2.81 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2566 ถึง 10.4%

ทั้งนี้ ตลาดเครื่องสำอางที่ผลิตภายในประเทศ คิดเป็น 85% ของธุรกิจเครื่องสำอางในไทย ที่เหลือ 15% เป็นเครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ตกแต่งใบหน้า (Makeup) มีส่วนแบ่งตลาด 13.5% แยกเป็น 4 หมวดหมู่ย่อยได้แก่ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผิวหน้า (56%) ผลิตภัณฑ์ตกแต่งริมฝีปาก (26%) ผลิตภัณฑ์ตกแต่งตา (17%) ผลิตภัณฑ์ตกแต่งเล็บ (1%) และ 5. น้ำหอม (Fragrance) มีส่วนแบ่งตลาด 5.1%

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าแบรนด์เครื่องสำอางไทยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เรื่องคุณภาพ และเรื่องราคา สร้างยอดขายถล่มทลายโกยกำไรทั่วหน้า

 อาทิ ศรีจันทร์ ผลประกอบการปี 2566 รายได้ 1,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 42.26% กำไร 80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211.24%, Cute Press ผลประกอบการปี 2566 รายได้ 3,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.91% กำไร 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 292.67%, Odbo ผลประกอบการปี 2566 รายได้ 270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.68% มีกำไร 9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 249.47%, Gala Camille ผลประกอบการปี 2566 รายได้ 47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,170.37% กำไร 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 359.72% เป็นต้น 

สะท้อนศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถส่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างโดนใจ

บทความเรื่อง เครื่องสำอางเมดอินไทยแลนด์ ธุรกิจนี้ยังสดใสท่ามกลาง “คู่แข่ง” โดย Krungsri GURU SME เปิดเผยว่ามีผู้ประกอบการหน้าเก่าหน้าใหม่รายเล็กรายใหญ่สนใจเข้ามาทำธุรกิจเครื่องสำอางและความงามนอกเหนือจากรายเดิม เพราะธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศมีเม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม ในแต่ละปีมียอดขายหลายหมื่นหลายแสนล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตทุกปี สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาของโลก ดังนั้น ธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่จะแข่งขันในเวทีนานาชาติ

โดยปัจจัยทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางมีอัตราการเจริญเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะผู้คนในยุคปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศที่สามทั้งหลายในทุกๆ ช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวต่างให้ความสนใจใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ความงาม และผิวพรรณรวมทั้งการดูแลตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ความงามในท้องตลาดไม่ว่าจะเป็นเมดอินไทยแลนด์หรือนำเข้าจากต่างประเทศ และที่ร่วมทุนกัน ขายดิบขายดี ทำเงินก้อนโตให้กับผู้ประกอบการของไทยและต่างชาติ รวมถึงการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดของสถานเสริมความงามต่างๆ

นอกจากจากนี้ ยังมีผลสำรวจ Health & Wellness Survey ปี 2023 ของธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า 11% ของคน Gen Z (อายุ 12–27 ปี) และ 9% ของ Gen Y (อายุ 28–43 ปี) ให้ความสำคัญกับการทำหัตถการความงาม ก็คือ การเสริมความงามด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การเลเซอร์, การฉีดวิตามินสู่ผิว, โบท็อกซ์, ฟิลเลอร์, ร้อยไหม เป็นต้น

ดร.ดอนน่า โรบินสัน ผู้ก่อตั้ง Medconsult Clinic ดำเปิดเผยว่าคนเอเชียเป็น top spender จ่ายหนัก จ่ายสุดในเรื่องของการเสริมความงาม อย่างลูกค้าของคลินิก 70% เป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะฮ่องกง, จีน, ไต้หวัน และ ออสเตรเลีย ขณะที่ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเสริมความงามแบบหัตถการมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการผลิตเครื่องสำอางในอาเซียน เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในเรื่องผลิต และปัจจุบันหลายแห่งก็รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ดัง ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของผู้ประกอบการไทย คือ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีแบรนด์ในระดับนานาชาติที่เข้มแข็ง และบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เน้นเพียงการผลิตป้อนให้กับแบรนด์ของต่างชาติเป็นหลัก มีบางรายเท่านั้นที่ริเริ่มจะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจหลังการเปิดเออีซี

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้ คือ เทรนด์ของลูกค้าทั่วโลก ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโดยเฉพาะพืชและสมุนไพร อาทิ สารสกัดจากสาหร่ายทะเล และสารสกัดจากสมุนไพรนานาชนิด และถ้าจะให้ดีต้องเป็นพวกที่มีผลงานการวิจัยรองรับและเป็นที่รับทราบกันทั่วไป นอกจากนี้ จะต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะตอนนี้หลายประเทศในยุโรปก็ได้ใช้มาตรการดังกล่าวเป็นกลไกหนึ่งในการคัดเลือกสินค้านำเข้า

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยว่าสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมตลาดความงามของไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.40 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน

ขณะที่ปัจจุบันสมาคมฯ มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเครือข่ายประมาณ 1,000 ราย ส่วนผู้ประกอบการความงามและเครื่องสำอางทั่วประเทศมีจำนวนหลายหมื่นราย ตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ซึ่งกว่า 97% เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และอีก 3% เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานเพื่อการขยายให้เครื่องสำอางไทยไปสู่เวทีโลก

ทั้งนี้ การเติบโตในตลาดความงามที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการขายในช่องทางอีคอมเมิร์ซในสัดส่วนถึง 28% โดยปี 2567 คาดว่ายอดขายจากช่องทางดังกล่าวยังเติบโตได้ถึง 13%

สำหรับความท้าทายในธุรกิจเครื่องสำอางในส่วนของผู้ประกอบการ คือเรื่องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายกระดับผลิตภัณฑ์และการให้บริการ รวมถึงการสร้างความโดดเด่นของแบรนด์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเหมาะกับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ชูจุดเด่นเรื่องการไม่มีกำแพงภาษี ทำให้คู่แข่งในตลาดล้น เช่น ประเทศอินโดนีเชีย หลังเปิดเออีซี มีการประกาศมาตรฐานฮาลาลขึ้นมาเป็นจุดเด่นที่สามารถส่งสินค้าจำหน่ายได้กว้างขวางมากขึ้น

ประเด็นสำคัญ ตลาดเครื่องสำอางไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยเพิ่ม ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เครื่องสำอางไทยมีจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบที่ดีมาจากธรรมชาติ 100% ผสมผสานกับความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย อีกทั้ง ตลาดเครื่องสำอางของไทยมี SMEs จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา SMEs ที่จำหน่ายเครื่องสำอางไม่มีพื้นที่ขาย ไม่มีตลาดชัดเจนในต่างประเทศและจะเป็นขายออนไลน์

ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสร้าง Soft Power ทลายกำแพงของต้นทุนของ SMEs โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่จัดแสดงสินค้า อยากให้รัฐเข้ามาเพิ่มพื้นที่จัดแสดงสินค้าภายใต้รัฐบาลเองมากกว่าเอกชน

อีกประเด็นที่ต้องจับตา สถานการณ์ของเครื่องสำอางปลอมเครื่องสำอางเถื่อน ที่มีการวางจำหน่าเกลื่อนทั้งตลาดออนไลน์หรือตามตลาดนัดทั่วเมืองไทยก็ดี แม้มีข่าวเจ้าหน้าที่บุกจับทลายโกดังเครื่องสำอางเถื่อนดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง หรือมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคออกมาประชาสัมพันธ์ แต่ยังมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากเครื่องสำอางปลอม

อันตรายของเครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐานมีส่วนผสมของสารอันตราย อาทิ 1. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารประกอบของปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

2. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสเตียรอยด์ อาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว

3.ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารไฮโดรควิโนน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง อักเสบหน้าแดง อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับสารนี้เกินขนาด สารนี้จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

และ 4. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมกรดเรทิโนอิก อาจทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เป็นต้น

ดังนั้น เรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคต้องต้องตระหนักรู้

สุดท้าย อุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตอย่างโดดเด่น แบรนด์เครื่องสำอางไทยเข้าถึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างโดนใจ ส่วนเรื่องของการผลักดันเครื่องสำอางไทยเป็น Soft Power นับเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น