ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้และต่อเนื่องไปในอนาคต คือเรื่องของ ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นวิกฤติอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ทุกหน่วยงานองค์กรจึงมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กร Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
กองบรรณาธิการ ibusiness เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนาใหญ่แห่งปี ibusiness Forum “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ภายในงาน นอกจากนายกรัฐมนตรี “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” จะให้เกียรติในการกล่าวเปิดงาน และ “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาแล้ว ยังมีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ นักวิชาการ และผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน ท่ามกลางประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่งทั้งในสถานที่จัดงาน และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่” ระบุว่า งานสัมมนาในครั้งนี้สะท้อนให้ความตั้งใจของประเทศไทยในการพร้อมให้ร่วมมือกับนานาประเทศในเวทีโลกเพื่อก้าวไปสู่อนาคต Net Zero อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 พร้อมเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเป็น 50% ยกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิตเทียบเท่ามาตรฐานโลกมากยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการหนุนอาเซียนให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน
“ความสำเร็จของเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐภาคธุรกิจและประชาชน ดิฉันเชื่อมั่นว่า หากทุกคนมีส่วนร่วมในเป้าหมาย Net Zero ประเทศไทยจะสามารถเป็นตัวอย่างที่สำคัญของประเทศที่สร้างความเจริญก้าวหน้า โดยไม่ละเลยความรับผิดชอบต่อโลก และอนาคตของลูกหลาน” น.ส.แพทองธาร กล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา iIbusiness Forum ระบุถึง Net Zero ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และตระหนักว่า คำว่า Zero เกี่ยวข้องอะไรกับเราบ้าง ส่วนที่ได้ทำสนธิสัญญากันแล้ว ต้องทำให้ชัดว่า จะปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ ลดลงได้เท่าไร และจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ระดับการปล่อยคาร์บอนเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero มากที่สุด หรือถ้าทำไม่ได้ จะทำอย่างไร
สำหรับภาครัฐ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยได้ให้พันธสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี 2030
ขณะที่การดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเมืองไทย นายพิชัย เผยว่า มีการเชิญให้ต่างชาติเข้ามาบ้างแล้ว แต่จะเชิญในส่วนของอุตสาหกรรมที่เป็น Free-Carbon หรือ No-Carbon และตอนนี้ในส่วนของบีโอไอ (BOI) ก็ได้มีคนขอเข้ามาขอมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในช่วงเวลา 9 เดือนของปี 2567 ได้ทำลายสถิติรอบ 10 ปี สูงสุดอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7 แสนกว่าล้านบาท
ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติแสดงความต้องการ 3 เรื่องจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ 1.อยากได้ที่ดินที่มีการพัฒนาแล้ว และราคาไม่แพง 2.อยากได้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และ 3.อยากได้แรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่ายินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบถ้วนโดยเร็ววัน