xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรับโครงสร้างภาษีสูตร 15-15-15 เอื้อคนรวย ช่วยซ้ำคนจน “รัฐบาลอิ๊งค์” จะเอาจริงหรือแค่โยนหินถามทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การโยนหินถามทางปรับโครงสร้างภาษีใหม่ภายใต้สูตรเสมอ 15-15-15 อาจลงเอยเหมือนที่ผ่าน ๆ มา คือกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง เพราะรัฐบาลเพื่อไทย คงไม่มีความกล้าหาญทางการเมืองมากพอที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นจริง ยิ่งถูกตั้งคำถามเอื้อคนรวยช่วยซ้ำคนจน มีหวังคะแนนนิยมร่วงแน่ 
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างภาษีของประเทศไทย ถึงเวลาต้องปรับตามผลการศึกษาของหลาย ๆ สำนักที่มีมาตลอด แต่คำถามที่ว่าการปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐบาลเตรียมการไว้ ใครได้ ใครเสีย ก็ต้องว่ากันมาให้ชัด

รอบนี้  พิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดปากในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 สรุปความว่า เศรษฐกิจเติบโตช้า การลงทุนต่ำเกิน หนี้สาธารณะมีความเสี่ยงใกล้ชนเพดาน กระทรวงการคลัง จึงมีนโยบาย ดังนี้ 1.ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% มาอยู่ที่ 15% 2.ปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บแบบขั้นบันไดสูงสุดอยู่ที่ 35% ลงมาอยู่ที่ 15% เพื่อดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ

และ 3.ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10-15% โดย พิชัย มองว่า จะเป็นการช่วยคนรายได้ต่ำ ลดช่องว่างรายได้คนจนคนรวยให้แคบลง ลดความเหลื่อมล้ำได้ การขึ้น VAT จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีทั้งจากคนรายได้สูงและรายได้ต่ำได้มากขึ้น และนำรายได้ดังกล่าวมาคืนให้คนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ราว 65-66% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 12 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 18-19 ล้านล้านบาท จากเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพี สะท้อนว่าพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลมีอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยรัฐบาลยังเหลือความสามารถในการกู้เงินเพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มการลงทุนได้อีกราว 3-4% คิดเป็นวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยรัฐบาลสามารถกู้เพื่อชดเชยขาดดุลได้ปีละ 7.5 แสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%

สรุปว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี แต่วันนี้หนี้สาธารณะมาที่ 65-66% แล้ว โอกาสในการจะกู้เงินเพิ่มในอีก 4 ปีข้างหน้าก็เหลือน้อยลง คือรัฐจะมีหนี้เพิ่มได้อีก 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 15 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) อยู่ที่ 2,792,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,128 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 แต่สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 4.7

ทั้งหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นใกล้ชนเพดาน การจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า เศรษฐกิจยังเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างภาษีดังว่า แต่เหตุผลและความจำเป็น ที่ พิชัย ยกขึ้นมาสนับสนุนแผนการ ดูเหมือนเสียงตอบรับจะกลับตาลปัตร แม้แต่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลด้วยกันก็ยังไม่เอาด้วย

 ธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มองว่า การปรับโครงสร้างภาษีตามสูตร 15-15-15 รัฐบาลต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อการลงทุนภาครัฐ จัดสวัสดิการให้ประชาชน ลดภาระหนี้สาธารณะ แต่การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก อาจเกิดการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น

นอกจากนี้ การลดอัตราภาษี เหลือ 15% สำหรับทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะทำให้กลุ่มรายได้ต่ำต้องรับภาระภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ ขณะที่กลุ่มรายได้สูงจะได้รับประโยชน์มากกว่า

ส่วนการเพิ่มอัตราภาษี VAT จะเพิ่มรายได้ของรัฐอย่างมาก แต่จะกระทบต่อค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหารและพลังงาน กระทบผู้มีรายได้น้อย ลดกำลังซื้อของประชาชน การบริโภคในประเทศชะลอตัวลงส่งผลให้เศรษฐกิจชะงัก หากจะปรับขึ้นควรทำควบคู่กับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ค่าโดยสาร ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนขึ้นภาษีจะดีกว่า

ทางด้าน  ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ก็ฟาดกลับว่าเอาแค่ข้อเสนอภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะปรับเป็น 15% flat rate ไม่มีขั้นบันได ยกเลิกลดหย่อนทั้งหมด ฟังดูเหมือนจะดี แต่เอาเข้าจริงคนมีรายได้สูงจะได้ประโยชน์ได้ลดภาษี ส่วนคนรายได้น้อยจ่ายภาษีเพิ่ม แล้วยังกล้าพูดว่านี่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ยังไม่ต้องพูดว่ารายได้เข้ารัฐจะพอมั้ย ไม่ต้องพูดถึง VAT ขึ้นแล้วจะก้าวหน้าหรือถดถอย ไปศึกษาให้ดีให้เสร็จแล้วค่อยมาพูดดีกว่า

เช่นเดียวกันกับ  ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ที่มองว่าเป็นการปรับภาษีเพื่อคนรวยมากกว่าคนจน เพราะการขึ้น VAT จะกระทบคนจนอย่างกว้างขวาง ชักหน้าไม่ถึงหลังรุนแรงขึ้น และจะนำไปสู่เงินเฟ้อ ความหวังที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยเลือนราง เมื่อกำลังซื้อลดลง อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจก็จะแผ่วลง แนะนำว่าควรขึ้น VAT สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นขั้นบันไดสูงสุด 15%

ส่วนการปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อคนรวย เพราะหากหวังลดภาษีฯ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติคงช่วยได้ไม่มากเพราะต่างชาติมาลงทุนก็มียกเว้นภาษีตามบีโอไออยู่แล้ว มีแต่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่คนรวย และกลุ่มนายทุน รวมทั้งรายได้ของรัฐที่หายไป ก็จะก่อปัญหา ไม่มีเงินชำระคืนหนี้สาธารณะที่รัฐบาลนี้ก่อขึ้นด้วย รัฐมนตรีคลังควรขอความเห็นจากผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง อย่าไปเน้นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้แก่คนรวยหรือกลุ่มนายทุนของพรรคการเมือง

 ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นเช่นกันว่า การขึ้น VAT เมื่อหักลบกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สุดท้ายผลลัพธ์อาจพอๆ กัน อีกทั้งการขึ้น VAT อาจกระทบทำให้เกิดเงินเฟ้อแทน

อย่างไรก็ดี  บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด  วิเคราะห์ว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจพิจารณาปรับลดการจัดเก็บภาษีเหลือ 15% (เดิม 20%) มองเป็นบวกต่อภาคธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น และการจ้างงานอาจเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ทำให้รายได้ลดลง

ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาปรับลดการจัดเก็บภาษีเหลือ 15% (เดิมเป็นอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้สูงสุด 35%) มองเป็นบวกต่อกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ต้องแลกมาด้วยการจัดเก็บภาษีของผู้มีรายได้สูงลดลง อีกทั้งมีโอกาสกระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีกระแสข่าวว่าเบื้องต้นรัฐบาลวางแผนปรับขึ้นภาษีเป็น 8% (เดิม 7%) ขณะที่ทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% มองเป็นบวกต่อการเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ซึ่งจะลดขนาดการขาดดุล และลดความเสี่ยงต่อการถูกปรับลด Credit Rating แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งจะลดกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยการบริโภคน้อยลง

เมื่อพิจารณาแหล่งรายได้ของรัฐบาลในงบประมาณปี 2567 (ตุลาคม 66 – กันยายน 67) ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คิดเป็นสัดส่วน 28% และหากมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มาอยู่ที่ฐาน 15% เบื้องต้น ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้มากกว่าที่สูญเสียไป

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีหนุนกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับหุ้นไทย โดยวันรุ่งขึ้นหลังจากรัฐมนตรีคลังส่งสัญญาณปรับโครงสร้างภาษี กระแสเงินลงทุนต่างชาติที่กลับมาซื้อสุทธิในตลาดการเงินไทยทุกแห่ง คือ ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 3.17 พันล้านบาท ซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.4 พันล้านบาท และซื้อ SET50 FUTURES สูงถึง 36,951 สัญญา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับ SENTIMENT บวกจากการที่คลังจะปรับโครงสร้างภาษีแบบ 15 – 15 - 15 โดยเฉพาะประเด็นการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15%

ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินประเด็นการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15% ช่วยหนุนตลาด และแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นได้ ดังนี้ หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นราว 6.25% หรือเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 6 บาทต่อหุ้น เพิ่มอัพไซด์ให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นราว 100 จุด (อิง EPS 97 บาท/หุ้น และ PE 16.5 เท่า) จูงใจให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น

 ชั่งน้ำหนักได้-เสียให้รอบด้าน อีกไม่นานคงชัดเจนว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะพับแผนใส่ลิ้นชักไว้อีกครั้ง หรือไม่? 


กำลังโหลดความคิดเห็น