xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (16): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” ไปแล้ว ในตอนนี้จะได้นำเข้าสู่เส้นทางของพัฒนาการทางการเมืองสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน โดยจะกล่าวถึง  เค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” ของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

ความน่าสนใจประการหนึ่งของสวีเดนในบริบทประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ตอนต้น คือการมีกฎหมายพื้นฐานหรือ “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเรียกว่า  “กฎหมายแผ่นดิน” (Land Law)  ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของ พระเจ้าแมกนัส เอริกสัน (Magnus Eriksson)  ในปี ค.ศ.1352 
 
ตัวบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ราชราชอาณาจักรสวีเดนเป็นรัฐเดี่ยวที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวอันเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์โดยความไว้วางใจของประชาชนใต้ปกครอง ซึ่งทำให้การขึ้นครองราชย์ขององค์พระมหากษัตริย์เป็นไปโดยผ่านการเลือกตั้ง (elective) และโดยการทำสัญญา (contractual) ผ่านพิธีบรมราชาภิเษกที่มีการให้สัตย์ปฏิญาณขององค์พระมหากษัตริย์

พร้อมกันนี้ พระมหากษัตริย์สวีเดนยังมีพระราชอำนาจจำกัด นั่นคือ การมีเงินรายรับที่จำกัดและมีพันธะหน้าที่ในการปกป้องรักษากฎหมายของสวีเดน หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระองค์จะต้องทรงเคารพกฎหมายของแผ่นดินด้วยขณะเดียวกันนี้ พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนจะต้องปกครองด้วยคำแนะนำของสภาที่ปรึกษา—ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นสภาบริหาร---(Council) ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากฐานันดรอภิชนและนักบวช สภาที่ปรึกษายังทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ (guarantor of the constitution) ถวายคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการปกครองต่อพระมหากษัตริย์ และช่วยเหลือองค์พระมหากษัตริย์ในการรักษาสัตย์ปฏิญาณของพระองค์

 ฉะนั้น กล่าวได้ว่าสวีเดนเป็น “ชุมชนที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจบริหารและได้รับความจงรักภักดีจากพสกนิกร...แต่ก็ถูกควบคุมภายใต้หลักนิติธรรมที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน และใช้กระบวนการปรึกษาหารือระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนในการตัดสินใจนโยบายที่สำคัญ” 

ตัวบทกฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law) ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ทั่วไปในปี ค.ศ.1608 อันเป็นการส่งเสริมให้เอกสารทางการปกครองนี้มีอิทธิพลกว้างขวาง 
สำหรับภูมิหลังทางสังคม จะพบว่า สังคมสวีเดนประกอบไปด้วยฐานันดรทั้งสี่ ที่มีบทบาททางการเมือง โดยร้อยละ 95 ของประชากรเป็นชาวนาที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายอย่างกว้างขวางตามพื้นที่ของราชอาณาจักร

 กลุ่มชาวนาแบ่งได้เป็นสามประเภทคือ 1. ชาวนาภาษี (tax-peasant – มีรายได้พอที่จะจัดการตนเองได้อย่างอิสระ) 2. ชาวนาติดที่ดินพระมหากษัตริย์ (crown-peasant) และ 3. ชาวนาติดที่ดินอภิชน (noble peasant) 

ชาวนาภาษี (tax peasant) เป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำทางสังคมการเมืองและมีสัดส่วนประชากรประมาณหนึ่งส่วนสาม ประชากรชาวนาเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองสูง ทั้งด้วยเหตุผลที่ว่าชาวนาเป็นเสรีชน (free peasant) ตามกฎหมาย และเนื่องจากการขาดแรงงานในสวีเดน จึงเป็นเงื่อนไขที่ช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของกำลังผลิตที่มีอยู่

สามัญชนเหล่านี้เข้าถึงอำนาจการปกครองได้ผ่านสถาบันหลักสามสถาบัน ได้แก่ 
1.ศาลเขต (District Court – häradsting) ซึ่งทำหน้าที่ในด้านยุติธรรมและทางการบริหารส่วนของท้องถิ่น 
2.คณะสงฆ์เขต (Parish Council – sockenstämma) ซึ่งมีบทบาททั้งทางด้านการหล่อหลอมและการขัดเกลาทางสังคม รวมถึงกิจการด้านการกุศลและกิจการสงฆ์ 
3.ฐานันดรชาวนา (Peasant Estate) อันเป็นหนึ่งในสี่ฐานันดรแห่งราชราชอาณาจักร ฐานันดรชาวนาดำเนินบทบาทปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชาวนา แต่มักเลี่ยงที่จะข้องเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระดับสูง (high politics) นอกจากนี้ กลไกสำคัญสำหรับฐานันดรชาวนาคือ สิทธิในการร้องทุกข์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีเอกสารตอบอย่างเป็นทางการ

กลุ่มชนชั้นปกครองของสวีเดนประกอบไปด้วย  ฐานันดรนักบวช (clergy)  ซึ่งได้พัฒนาบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของตนเรื่อยมา,  ฐานันดรพ่อค้าชาวเมือง (burgher)  ที่เป็นคนต่างชาติที่อยู่ในสังคมสวีเดน ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีวิถีเศรษฐกิจแบบพอดำรงชีวิตได้ (subsistence economics) ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าข้าวของกันไม่มากนัก แต่ด้วยความแตกต่างในสถานะทางเศรษฐกิจสังคม จึงถูกจัดให้เป็นฐานันดรเฉพาะขึ้น และเป็นฐานันดรที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญและส่งเสริมเพื่อหวังจะให้ฐานันดรนี้เป็นพลังในการขยายความเป็นเมืองและภาคส่วนการค้าในสังคม

สุดท้ายคือ  ฐานันดรอภิชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน  ซึ่งมีสถานะของการเป็นเสรีชน (frälse) จากการได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งคนและอุปกรณ์เข้าร่วมเป็นกองทหารม้า แต่เดิมนั้น ผู้ใดก็ตามที่มีลักษณะองค์ประกอบครบตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ก็สามารถอ้างสิทธิความเป็นอภิชนได้
ต่อไป จะขอกล่าวถึงพัฒนาการของรูปแบบการปกครองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหา กษัตริย์กับฐานันดรอภิชน

รูปแบบการปกครองที่ระบุอยู่ในกฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law) ได้เริ่มพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังจากที่สวีเดนเป็นเอกราชจากอิทธิพลของเดนมาร์กภายใต้สหภาพคาลมาร์ (the Kalmar Union หรือ the Scandinavian Union)

นั่นคือ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1523 ที่   พระเจ้ากุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa)  ได้รับเลือกตั้งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและนำพาสวีเดนให้เอาชนะสงครามต่อเดนมาร์กได้ ต่อมาพระเจ้ากุสตาฟ วาซาได้ดึงอำนาจเข้าสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งขึ้นด้วยการสถาปนาระบบพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์โดยการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้น ในปี ค.ศ.1544 ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ( Charles XI) ที่สวีเดนเข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้าราชบริพารคนสนิทของพระองค์มักนำกฎมณเฑียรบาลนี้มาอ้างถึงอยู่เนือง ๆ

แม้ว่าในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟ วาซา สถาบันพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และมีการรวมอำนาจเข้าสู่พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีการสถาปนากฎมณเฑียรบาลดังกล่าวข้างต้น

 แต่หลังจากรัชสมัยของพระองค์ สถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนกลับอ่อนแอลงด้วยเหตุความขัดแย้งภายในราชวงศ์เมื่อ เจ้าชายซิกิสมันด์ (Sigismund) เสกสมรสกับเจ้าหญิงโปแลนด์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก และเจ้าชายซิกิสมันด์ได้หันไปฝักใฝ่ในคาธอลิก 

แต่ต่อมาจาก  “คำสารภาพแห่งเมืองออกสบูร์ก” (Augsburg Confession  คือ คำสารภาพพื้นฐาน 28 ประการของคริสตจักรลูเทอรัน) ที่สวีเดนรับมาในปี ค.ศ.1593 ได้ระบุให้ พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอรัน  เท่านั้น

จากเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้ตัดเจ้าชายซิกิสมันด์ออกจากลำดับสืบสันตติวงศ์ของสวีเดน และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งภายในราชวงศ์วาซา (Vasa) ระหว่างผู้ครองราชย์ในสวีเดนและเจ้าชายซิกิสมันด์ที่ยังเป็นกษัตริย์ของโปแลนด์
 
ขณะเดียวกัน ฐานันดรอภิชนเริ่มมีอิทธิพลบทบาทเข็มแข็งมากขึ้นนับตั้งแต่การปฏิรูปให้อภิชนเป็นตำแหน่งสืบสายโลหิตที่แต่งตั้งโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น พร้อมๆ กับการสถาปนาตำแหน่งเคาท์และบารอน (count and baron) ที่ถือครองที่ดินสำหรับอภิชนระดับสูง แรงตึงเครียดที่เคยปะทุขึ้นและปะทะกันภายใต้รัชสมัย  พระเจ้าชาร์ลสที่เก้า (Charles IX)  ได้บรรเทาลงในรัชสมัย  พระเจ้ากุสตาฟที่สอง อดอล์ฟ (Gustav II Adolf)  ด้วยพระองค์ได้ร่วมมือกับอภิชนคนสำคัญ นั่นคือ  Axel Oxenstierna  (ออกเสียงในภาษาสวีดีชยากมากๆ/ผู้เขียน)

ในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟที่สอง ได้มีการมอบอภิสิทธิแก่ชนชั้นอภิชนและมีการสถาปนาฐานันดรอภิชน (Riddarhus) อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี ภายในฐานันดรอภิชนเอง ก็มีความตึงเครียดระหว่างอภิชนระดับบนที่มีสมาชิกอยู่ในสภาที่ปรึกษา (ของพระมหากษัตริย์/Royal Privy Council) กับอภิชนระดับล่างที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งอภิชนระดับล่างนี้บางทีก็หันไปเข้าร่วมกับฐานันดรชาวนา

ลักษณะดังกล่าวได้สะท้อนสภาพการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยของสวีเดน ดังก่อนหน้าที่พระเจ้าชาร์ลสที่เก้าจะเสด็จขึ้นครองราชย์ของ สวีเดนอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองการปกครองของอภิชน 9 ตระกูลหลัก และรายล้อมไปด้วยตระกูลที่เกี่ยวดองกันอีก 23 ตระกูล
 
 อิทธิพลทางการเมืองการปกครองของตระกูลอภิชนในสวีเดนในช่วงนั้นทำให้นึกถึงตระกูลอำมาตย์เสนาบดีที่ทรงอิทธิพลยิ่งตั้งแต่รัชกาลที่สามจนถึงรัชกาลที่ห้าเป็นอย่างน้อย และหนึ่งในนั้นคือ ตระกูลบุนนาค 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 


กำลังโหลดความคิดเห็น