ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่ “กรมที่ดิน” โดย “อธิบดีพรพจน์ เพ็ญพาส” มีหนังสือไปถึง “การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 257 ว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ” มีมติไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
ตามต่อด้วยการที่ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ รฟท.ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 พร้อมยืนยันเอกสารหลักฐานตามพิพากษาของศาลที่มีคำสั่งออกมาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.โดยชอบตามกฎหมาย
บอกตรงๆ ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า เรื่องนี้จะจบลงได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่า เรื่องทำท่าจะ “ลากยาว” ออกไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
โดยเฉพาะปฏิกิริยาจาก “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องนี้ “แก้ง่ายนิดเดียว” นั่นคือ “ยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล” จากนั้นก็นำที่ดินทั้งหมดเพื่อให้ผู้ครอบครองเดิม “เช่า” ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว แน่นอน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “ชาวบ้าน” ตามที่มีการกล่าวอ้างเรื่อง “ความเดือดร้อน” หากแต่อยู่ที่ตระกูล “ชิดชอบ” ซึ่งเข้าครอบครองที่ดิน และใช้เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาฟุตบอล สนามกีฬาแข่งรถ และทำประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
พวกเขาแสดงเจตจำนงชัดแจ้งว่า ไม่ได้ต้องการที่จะ “เช่า” หากแต่ต้องการเป็น “เจ้าของ” มากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นคงยินยอมและปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อแม้
“เสี่ยหนู-ภูมิใจไทย-กรมที่ดิน”
เงยหน้าก็อายฟ้า ก้มหน้าก็อายดิน
“อย่าทำให้น่าเกลียดเลย”
นั่นคือคำกล่าวของ “นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งนอกจากจะยืนยันว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท.แล้ว ยังบอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดินนั้น “มิชอบ”
“มาตรา 61 วรรคที่ 8 เป็นวรรคที่อธิบดีกรมที่ดินต้องอ่านมากๆ เพราะกฎหมายเขียนว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอย่างไร ให้อธิบดีกรมที่ดิน หรือเจ้าพนักงานปฏิบัติตามนั้น นั่นคือต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินของราษฎร หรือของใครก็ตามออก แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ต้องปฏิบัติตาม
“การที่ท่านตั้งกรรมการสอบสวนจึงไม่มีอำนาจ มีอำนาจแค่เพียงสั่งเพิกถอนตาม ม.61 วรรค 8 ผมถึงบอกว่าอธิบดีกรมที่ดินอาจจะกำลังปฏิบัติหน้าที่อาจจะโดยมิชอบก็ได้ คดีประเภทนี้ผมไม่อยากให้ดำเนินคดีกับใครทั้งสิ้น กว่าจะเป็นอธิบดีได้มันใช้เวลานาน และเมื่อพ้นจากอธิบดีหรือเกษียณแล้วไม่เกิน 5 ปี เขาสามารถกล่าวโทษให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีได้ อย่าจบไม่สวยเลย ทางที่ดีควรดำเนินการตามที่ศาลคำพิพากษาศาล”
นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาสนามอารีน่า หรือชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น รัฐบาลก็คุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รฟท.ยอมให้สนามอารีน่าเช่าแข่งรถ สนามกีฬา อย่าไปทุบ ไปทำลาย ไม่มีประโยชน์ ให้เช่าได้ เหมือนกับที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ เช่า รฟท. เอารายได้เป็นของรัฐ เจ้าของสนามก็ได้กำไรถึงจุดคุ้มทุนพอแล้ว เช่า 30 ปี ต่อสัญญาทุก30 ปี ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ความจริงคำแนะนะของ “อัยการปรเมศวร์” ไม่ต่างอะไรจากความเห็นของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่สำแดงเอาไว้ก่อนหน้านี้เลย เพราะเป็นทางที่ถูกต้อง แต่ปัญหาคือ “ความอหังการ์มะมังการ” ที่คับอกและมั่นใจในพลังอำนาจทางการเมืองของตนเองว่าสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไป มีหลักฐานยอมรับจาก “กำนันผู้พ่อ” ว่า ได้เช่าที่ดินผืนดังกล่าวของ รฟท.ออกมาให้เห็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ
ขณะที่เมื่อหันไปดูปฏิกิริยาล่าสุดจาก “ลูกพี่ใหญ่ของอธิบดีกรมที่ดิน” ซึ่งก็คือ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับหมวก “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ที่จำต้องเกรงใหญ่ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ผู้เป็นครอบครองที่ดินจำนวนมากบริเวณเขากระโดง ก็เห็นชัดว่า มีจุดยืนเดียวกับ “กรมที่ดิน” เป๊ะ
กล่าวคือยืนยันว่า กรมที่ดินกำลังปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง และการที่คณะกรรมการฯ ของกรมที่ดินมีมติไม่ให้เพิกถอน เพราะหลักฐานของ รฟท.ไม่เพียงพอและยังพิสูจน์สิทธิไม่ได้ จึงเป็นสิทธิของ รฟท.ที่จะอุทธรณ์ หากไม่สำเร็จ ก็มีสิทธิอุทธรณ์ไปยังหน่วยงานที่สูงกว่า รวมถึงมีช่องทางศาลยุติธรรม ซึ่ง รฟท.สามารถใช้สิทธิตรงนั้นได้
ขณะเดียวกันนายอนุทินยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า การรถไฟฯ น่าจะฟ้องเพื่อเพิกถอนสิทธิเป็น “รายแปลง” โดยบอกว่า “ขณะนี้เขาฟ้องร้องกันแค่ 35 ราย ที่ดินทั้งหมดมี 900 กว่าแปลง เอาให้ชัดก็ฟ้องร้องกันทีละแปลงเลย” ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว โอกาสที่จะออก “ลูกนี้” ก็มีความเป็นไปได้สูง
ยิ่งเมื่อฟังความจาก “ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดินและได้รับมอบหมายจาก “เสี่ยหนู” ให้ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมายิ่งเห็นได้ชัดว่ามีทิศทางตรงกัน
“แม้ว่าคำพิพากษานั้นถึงที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ คู่ความคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมด จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่”นายทรงศักดิ์ซึ่งมี “ศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง และเป็นคนสนิทของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” กล่าว
แน่นอน หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การยื่นฟ้องเป็นรายกรณี “ยังไง รฟท.ก็ชนะ” แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า นั่นเป็น “เทคนิคทางกฎหมาย” เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเป็นที่ยุติ
นอกจากนี้ ยังมีปฏิกริยาจาก “คารม พลพรกลาง” แห่งพรรคภูมิใจไทย และสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ออกมาให้ข้อมูลอีกต่างหากว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไม่ได้ชี้ว่าจะต้องมีการเพิกถอนที่ดินบริเวณดังกล่าว แต่ให้อธิบดีกรมที่ดินได้ดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดินและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งคืออธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือไม่ถอนเพิกถอนตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดิน หลังจากทราบผลการสอบสวนแล้ว
“กรมที่ดินมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน ที่สำคัญหากการออกโฉนดที่ดินไปแล้ว แต่มีการเพิกถอนได้ง่ายและไม่มีขบวนการสอบสวนขและพิสูจน์สิทธิอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ไม่มีความเชื่อถือในโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่สำคัญและเป็นเอกสารมหาชน” นายคารมกล่าวด้วยเหตุและผลที่ผู้คนถึงกับร้องออกมาดังๆ ว่า “โอ้โห”
ตรงนี้ ต้องขีดเส้นใต้ในความเห็นของนายอนุทินและนายทรงศักดิ์เอาไว้ เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่นักกฎหมายจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันคือศาลมีคำพิพากษาแล้วทั้ง ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลปกครองกลางว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 “กรมที่ดิน” เจ้าเดิมก็ได้ออกเอกสารชี้แจง “ย้ำอีกครั้ง” ว่า ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ตาม ม.61 ที่มีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง ทุกอย่างเป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลยุติธรรม โดยดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคำชี้แจงจะเห็นว่า การดำเนินการตามคำพิพากษา “ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3” เป็นไปอย่างครบถ้วนโดยได้มีการเพิกถอนโฉนดเป็นที่เรียบร้อย
แต่ปัญหาอยู่ที่ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของ “ศาลปกครอง” ในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหา “แนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3
กรมที่ดินแจกแจงยาวเหยียด แต่สรุปสั้นๆ ได้ว่า “ปัญหาอยู่ที่การรถไฟฯ ที่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้”
และบอกด้วยว่า “หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป”
เป็นคำชี้แจงรอบสองที่บังเอิญอย่างร้ายกาจว่า “ตรงเป๊ะกับสิ่งที่นายอนุทิน ชาญวีรกูลให้ความเห็นเอาไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนการหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 กรมที่ดินอธิบายว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ฟังความจากคำอธิบายของกรมที่ดินในประเด็นดังกล่าว มิอาจมองเป็นอื่นได้ นอกจากการใช้ “เทคนิคทางกฎหมาย” อธิบายความว่า ที่ไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ ได้เพราะ “เป็นคู่กรณี”
“นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “กรมที่ดินระบุไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง กรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหาร และกำกับที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้ที่สามารถอ้างอิงกับบุคคภายนอกได้ ดังนั้น พื้นที่กว่า 5 พันไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ทั้งหมด”
“รฟท.” เอาจริงหรือมีลับลมคมใน?
อย่างไรก็ดี ถ้าหากย้อนกลับไปดู “คำอุทธรณ์ของการรถไฟฯ” ถึง “กรมที่ดิน” ที่ลงนามโดย “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าฯ รฟท. ก็จะเห็นว่า แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และมีลักษณะเป็นการสร้าง ขั้นตอนโดยไม่จำเป็น รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
การรถไฟฯ แจกแจงเอาไว้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร์ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินบริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว
ขณะที่ศาลปกครองกลางก็มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ที่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจหรือดุลพินิจไปวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นซึ่งต่างไปจากคำพิพากษาของศาลได้อีก คงมีเพียงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น
ผู้ว่าฯ รฟท.ยังฟาดตรงไปที่ความชอบด้วยกฎหมายในการตั้ง “คณะกรรมการสอบสวน” ของกรมที่ดินด้วยว่า มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพราะกรรมการมีเพียง 4 คน และขาดกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่อาจใช้บังคับได้ อธิบดีกรมที่ดินจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อไป
ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากคำอุทธรณ์ของ “การรถไฟฯ” ในประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะแปลได้ว่า “กรมที่ดิน” ไม่ได้ทำตามประมวลกฎหมายที่ดินเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งในเรื่องนี้ “กรมที่ดิน” ไม่ได้ตอบ ทั้งๆ ที่หนังสืออุทธรณ์ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ปฏิกิริยาของการรถไฟฯ ที่ดูแปร่งปร่าอยู่ไม่น้อย เพราะจากการสืบสวนทวนความและข้อมูลที่ กมธ.ที่ดินฯ ให้สัมภาษณ์ ชักไม่แน่ใจว่า ดำเนินการอย่าง “ตรงไปตรงมาหรือไม่” โดยเฉพาะกรณีที่กรมที่ดินกล่าวอ้างเรื่อง “แผนที่” ซึ่งในทัศนะของวิญญูชนน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแต่ประการใด
แถมความเห็นของ “ผู้ว่าฯ วีริศ” ในเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ยังบังเอิญอย่างร้ายกาจอีกเช่นกันที่ตรงกับความเห็นของ “นายอนุทินและนายทรงศักดิ์” 2 รัฐมนตรีแห่งกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย
นี่คือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นและยังไม่รู้ว่าจะมีบทสรุปออกมาอย่างไรในขั้นตอนสุดท้าย เพราะดูเหมือนว่า บรรดาผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้จะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
คำถามก็คือ ใครจะเข้ามาจัดการสะสางปัญหานี้ นอกจากการ “รอ” ผลอุทธรณ์หลังจากการรถไฟฯ ยื่นอุทธรณ์ต่อกรมที่ดินไปแล้ว ซึ่งกินเวลารวมแล้ว 60 วัน
เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่า ไม่มีความหวังจากทั้งกระทรวงมหาดไทยที่มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมที่มี “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ และกระทรวงยุติธรรมที่มี “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” แห่งพรรคประชาชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ส่วน “แพทองธาร ชินวัตร” ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้คงไม่ต้องถามถึง เพราะน่าจะดำรงตนไม่แตกต่างกัน
หรือจะปล่อยให้ “สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เขากระโดง” เป็นไปอย่างที่เห็น และยอมรับสภาพว่า ประเทศไทยคือ “รัฐล้มเหลว(Failed state)” เพราะกฎหมายของประเทศนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ที่ “จังหวัดบุรีรัมย์”