xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หมอบุญ” จะซ้ำรอย “ลูกกระทิงแดง” ไหม? “คิงส์ฟอร์ด” จะรอดบ่วงคดีโกง 2 หมื่นล้านไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.บุญ วนาสิน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่น่าเชื่อว่า “หมอบุญ” นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี ในวัย 86 ปี จะสร้างตำนานในบั้นปลายชีวิตให้สังคมจดจำว่าเป็นคนฉ้อโกง หลอกลวงต้มตุ๋นประชาชน 

ไม่เพียงหมอบุญ เท่านั้นที่เสียชื่อตอนแก่ ต้องหลบหนีหมายจับซึ่งตำรวจไทยขอให้ตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ตามล่า แต่ยังมีภาพน่าสะเทือนใจไม่น้อยที่ภรรยาคู่ชีวิตหมอบุญและลูกสาว ถูกหิ้วเข้ากรงขัง

ทว่า ที่น่าเอน็จอนาถยิ่งกว่า ก็คือ นักลงทุนและประชาชนที่ถูกหมอบุญฉ้อโกงนั้น หลายคนเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมรุ่น ที่สิ้นเนื้อประดาตัวยามแก่ชรา เพราะเอาเงินเก็บไว้กินมาลงทุนกับหมอบุญ ไม่นับนักลงทุนในตลาดหุ้น นักธุรกิจชื่อดังที่เชื่อมั่นในชื่อเสียงและเครดิตของหมอบุญที่สูญเงินหลักร้อยล้านพันล้าน

 กระทั่งชวนให้น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า หมอบุญในวัยชรา ทำไมถึงยังเพ้อฝันปั้น “โครงการลงทุนทิพย์” มาหลอกผู้คน จนกลายเป็นการสร้างความเสียหาย ทำลายตัวเอง ทำลายคนข้างเคียง และฉ้อโกงนักลงทุน ประชาชนทั่วไป ในวงกว้างได้ลงคอ 

คำถามนี้ ไม่เพียงแต่หมอบุญ ต้องมีคำตอบให้สังคม แต่ผู้ร่วมขบวนการสำคัญคือ  โบรกเกอร์ตัวตึงในวงการ  ต้องตอบสังคมให้ชัดเจนด้วยว่า มีส่วนช่วยเสกสรรปั้นแต่งโครงการขายฝันและชักชวนคนร่วมลงทุนเพื่อหวังค่านายหน้าใช่หรือไม่ใช่ เพราะลำพังแค่ตัวหมอบุญเอง เรื่องคงไม่มาไกลถึงเพียงนี้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในวันที่ตำรวจแถลงคดีรวบเครือข่ายหมอบุญและพวก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นับว่าเป็นข่าวคราวที่สุดช็อก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการแพทย์ที่รู้จักชื่อเสียงของหมอบุญในฐานะนายแพทย์นักธุรกิจระดับแถวหน้าของประเทศมายาวนาน

นอกเหนือจากหมอบุญ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5645/2567 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินแล้ว พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ระบุว่า ยังมีอีก 8 คน ที่ร่วมขบวนการและถูกหมายจับ ประกอบด้วย

 1. น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ อายุ 53 ปี เลขาส่วนตัว

2.น.ส.ศิวิมล จาดเมือง อายุ 38 ปี ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสาร สัญญาต่าง ๆ และจัดการด้านการเงิน ตามคำสั่ง น.ส.จิดาภา

3.นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี ภรรยาของหมอบุญ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่าง ๆ

4.น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของหมอบุญ-นางจารุวรรณ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่าง ๆ

5.นางอัจจิมา พาณิชเกรียงไกร อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คิงฟอร์ด เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน

6.นายภาคย์ วัฒนาพร อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์ คิงฟอร์ด ผู้ประสานงานให้คำปรึกษา ชักชวนลงทุน

7.นางภัทรานิษฐ์ ณ สงขลา อายุ 55 ปี เป็นนายหน้า และผู้ชักชวนแนะนำการลงทุน เป็นผู้จัดทำเอกสารเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน

และ 8.นายธนภูมิ ชนประเสริฐ อายุ 36 ปี เป็นตัวแทนติดต่อชักชวนผู้เสียหาย เป็นผู้จัดทำสัญญา ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน  

ทั้งนี้ ผู้เสียหายจำนวนมากที่มีทั้งนักธุรกิจ บุคลากรทางการแพทย์ และนักลงทุนในตลาดหุ้น ทยอยเข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง เริ่มจากเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 1 คดี ถัดมาในปี 2567 ห้วงเดือนพฤษภาคม 6 คดี, มิถุนายน 8 คดี, กรกฎาคม 49 คดี, สิงหาคม 75 คดี, กันยายน 84 คดี, ตุลาคม 60 คดี และพฤศจิกายน 60 คดี รวม 520 คดี รวมผู้เสียหาย 247 ราย มูลค่าความเสียหาย 7,564 ล้านบาท โดยผู้เสียหายมากที่สุดเป็นนักธุรกิจที่ร่วมลงทุนมากที่สุดถึง 600-700 ล้านบาท

นางจารุวรรณและนางสาวนลิน ภรรยาและลูกสาวของหมอบุญที่เข้ามอบตัวในคดีเดียวกัน
 ปั้น 5 โครงการทิพย์ หลอกนักลงทุน 

ในแวดวงนักลงทุน มักคุ้นเคยกับข่าวโปรโมทโครงการลงทุนต่าง ๆ ของหมอบุญ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พอมีข่าวออกมาทีราคาหุ้นโรงพยาบาลธนบุรีก็ตีฟู ตัวอย่างกรณี  “ว่าจะ” นำเข้าวัคซีน ช่วงโควิด-19 ระบาด กระทั่งเป็นเหตุให้หมอบุญ เจอ ก.ล.ต. ลงดาบ หลุดกระเด็นจากเก้าอี้ประธานกรรมการและบอร์ดบริหารของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

สำหรับคดีล่าสุดนี้ ชุดสืบสวน พบพฤติการณ์เครือข่ายหมอบุญและพวก มีการระดมทุนโดยการชักชวนให้ลงทุนจากตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เพื่อร่วมลงทุนใน 5 โครงการคือ

 1.โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า พื้นที่ 7 ไร่ ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างที่พักอาคารสูง 52 ชั้นรองรับผู้สูงอายุ 400 ห้อง มูลค่า 4-5 พันล้านบาท 3. สร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว ที่เวียงจันทน์ 2 แห่ง, จำปาสัก 1 แห่ง รวม 3 แห่ง 4. เข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม งบลงทุน 4-5 พันล้านบาท และ 5.การสร้างเมดิคอลอินเทลลิเจนท์ บางละมุง จังหวัดชลบุรี ทำหน้าที่ด้านไอที มูลค่า 100 ล้านบาท 

โครงการขายฝันข้างต้น มีการหลอกผู้เสียหายที่ร่วมลงทุนว่า ในปี 2566 จะได้กำไร 700 ล้านบาท และปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท เมื่อหลังระดมทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะให้บริษัทไทยเมดิคอลกรุ๊ป จำกัด หรือ TMG ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เข้ามาดูแลและบริหารโครงการทั้งหมด พร้อมแผนการนำเข้าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567

นอกจากนั้น ชุดสืบสวน ยังพบพฤติการณ์ของหมอบุญว่า พยายามจ่ายเช็คให้เจ้าหนี้โดยใช้เช็คที่ผู้เสียหายไม่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดฐานฟอกเงินที่มีอัตราโทษสูงและถูกยึดอายัดทรัพย์ โดยมีภรรยาและลูกสาว เป็นผู้ค้ำประกัน เซ็นสลักหลังในเช็คทุกฉบับมอบให้ผู้เสียหาย โดยช่วงแรกจ่ายดอกเบี้ยสูงให้กับบางคนบางส่วน ต่อมาไม่มีการจ่ายอีกเลย

จุดเชื่อมโยงมายังโบรกเกอร์ตามการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังพบว่า หลังจากได้เงินจากการระดมทุนกว่า 7,500 ล้านบาท มีการให้โบรกเกอร์ทยอยถอนเงินครั้งละร้อยล้าน โดยโบรกเกอร์ จะได้ค่าตอบแทนประมาณ 1 แสน ต่อ 10 ล้านบาท

กลุ่มหมอบุญและพวก หลอกนักลงทุนให้เชื่อสนิทใจว่าจะมีการลงทุนในโครงการทิพย์ ได้อย่างไร ชุดสืบสวน ได้สรุปพฤติกรรมการณ์ว่า พวกเขาทุ่มทำการตลาด ซื้อโฆษณา สื่อออนไลน์ สำนักพิมพ์หลายแห่ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยออกสื่อ ลงเว็บไซต์ ให้สัมภาษณ์ อ้างว่าตนมีบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความน่าเชื่อถือ และการระดมทุนได้ค่าตอบแทนสูงมากกว่าสถาบันการเงิน

ส่วนเงินที่ระดมทุนไป กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางเงินว่านำไปใช้จ่ายและอยู่ที่ไหน สำหรับรถยนต์ของหมอบุญ 19 คน พบว่าหายไป ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รวมโฉนดที่ดิน 21 แปลง มีการยักย้ายถ่ายเทไปยังคนในครอบครัว จะต้องตรวจสอบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาในช่วงปี 2567 หรือไม่

สำหรับผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งศาลอาญาออกหมายจับ 9 ราย แยกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ หมอบุญ-นางจารุวรรณ-น.ส.นลิน กลุ่มที่สอง คือ น.ส.ศิริวิมล ผู้จัดการเกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ และจัดการด้านการเงิน และกลุ่มที่สาม กลุ่มโบรกเกอร์ คือ น.ส.อัจจิมา - นายภาคย์ – นางภัทรานิษฐ์ และนายธนภูมิ ขณะนี้ตำรวจจับได้แล้ว 6 ราย นำตัวส่งศาลอาญาฝากขังเรียบร้อย

 ส่วนหมอบุญ พบว่า เดินทางออกจากไทย ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 14.25 น. เส้นทางกรุงเทพ-ฮ่องกง และเดินทางต่อจากฮ่องกงไปจีนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานตำรวจสากล เพื่อติดตามจับกุม 

ขณะที่ นางจารุวรรณ-น.ส.นลิน ภรรยา และ ลูกสาวของหมอบุญ ได้เข้ามอบตัวตามหมายจับ และศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนไว้ก่อน และไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาทั้งสอง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 โดยนายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความของทั้งสอง ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไม่ได้มีการเซ็นสลักหลังเช็คตามที่มีการกล่าวหา และอ้างถูกปลอมลายเซ็นด้วย

ระหว่างที่เริ่มปฏิบัติการล่าข้ามโลก เอาตัวหมอบุญมาดำเนินคดี ทาง  “อี้” - แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ออกมาปูดต่อว่า ให้รอดู EP.2 หลังจากวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จะมีผู้เสียหายออกมาแสดงตัวมากขึ้น เนื่องจากครบกำหนดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7% จากการให้กู้ยืม หากไม่ได้รับดอกเบี้ยจะมีการรวมตัวกันแจ้งความ คาดว่าจะมีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยหลักลงทุนสูงสุด 3,000 ล้านบาท เป็นคู่สามี-ภรรยาที่ตนได้ติดต่อไปแล้วพบว่าป่วยหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งมูลค่าความเสียหายของกลุ่มนี้ตกประมาณ 25,000 ล้านบาท

“อี้-แทนคุณ” บอกว่า ตอนนี้กลุ่มผู้เสียหายไม่ค่อยอยากให้ข้อมูล เพราะถูกข่มขู่จากโบรกเกอร์ หากใครเปิดเผยข้อมูลและเชื่อมโยงถึงโบรกเกอร์จะแจ้งให้กรมสรรพากร ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เพราะเป็นการลงทุนนอกตลาด แต่รูปแบบระดมทุนทำคล้ายลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี แต่ลงทุนนอกตลาดรายได้ต้องเสียภาษี

นายประจวบ ศิริรัตน์บุญขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด ขณะเซ็นสัญญากับหมอบุญเพื่อแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นำบริษัท ไทย เมดิคัล โกลฟ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

พญ.สลวย (สงวนนามสกุล) อายุ 86 ปี เพื่อนร่วมรุ่น 69 ของหมอบุญ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีหมอบุญชักชวนลงทุนหุ้นรพ. สูญเงินกว่า 25 ล้าน
 THG เคลียร์ปมไม่เกี่ยวกลุ่มหมอบุญ 

ความที่ภาพลักษณ์ของหมอบุญ แยกไม่ออกกับโรงพยาบาลธนบุรี ในฐานะผู้ก่อตั้ง แม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ แล้วก็ตาม ทำให้หลังจากที่มีข่าวคราวหมอบุญฉ้อโกงประชาชน หุ้นบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ทรุดลงต่อเนื่องนับจากผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ขาดทุนหนัก ก่อนดีดตัวขึ้นมาหลังซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว และ  “กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง” หรือ RAM  ซึ่งเป็นบอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน THG ออกมากอบกู้สถานการณ์อย่างทันท่วงที

THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ำอีกครั้งว่า นพ.บุญ วนาสิน เป็นอดีตประธานกรรมการ THG ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG แล้ว และชี้แจงข่าวที่ว่า นายแพทย์บุญ ได้นำเงินส่วนตัวเข้ามาร่วมลงทุนใน  โครงการ “จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้”  ว่าไม่เป็นความจริง การลงทุนนั้นเป็นการลงทุนของบริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

ส่วนธุรกิจทางการแพทย์ 5 โครงการตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนของนายแพทย์บุญ วนาสิน ในธุรกิจ เป็นการดำเนินการโดยนายแพทย์บุญ วนาสิน แต่เพียงผู้เดียว บริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ส่วนศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า และแผนการสร้างโรงพยาบาลในเวียดนาม เป็นโครงการที่บริษัทฯ เข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงแรกเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการลงทุนเท่านั้น การให้ข่าวโครงการทั้งสองเป็นส่วนตัวของหมอบุญเองบริษัทฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยหมอบุญลาออกจากกรรมการและประธานกรรมการบริษัทฯ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2565 และปัจจุบันไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง

สำหรับกรณีนางจารุวรรรณ และนางสาวนลิน ภรรยาและบุตรสาวของหมอบุญ ที่เข้ามอบตัวพร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหา บริษัทฯ ไม่ได้รับการติดต่อเพื่อชี้แจงใด ๆ จากบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นเพียงกรรมการใน 15 ท่าน และไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจตามหนังสือรับรองของบริษัทฯ ดังนั้น บุคคลทั้งสองจึงไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ ในนามของบริษัท กระนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ อาจนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสม

ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ และ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย  นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่าคดีนี้ ก.ล.ต.จะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้การสนับสนุนข้อมูล

สำหรับการออกใบหุ้นเพื่อชักชวนให้นักลงทุนมาลงทุนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องกำกับ แต่กรณีของ นพ.บุญ เป็นการออกใบหุ้นนอกตลาด และทำในนามส่วนตัว ซึ่งจากข้อมูลที่มีในตอนนี้ยังไม่เกี่ยวกับ THG และต้องชื่นชมคณะกรรมการ THG ที่ออกมาชี้แจง เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่มีปัญหาลักษณะแบบนี้ที่ต้องให้ข้อมูลกับนักลงทุน

ขณะเดียวกัน ทาง ก.ล.ต. ตรวจสอบกรณีของหมอบุญเบื้องต้น พบว่า หมอบุญได้กระทำในนามส่วนตัว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ THG จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งยังไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ที่มุ่งเน้นการทุจริตฉ้อโกงในบริษัทที่ออกเสนอขายหลักทรัพย์กับประชาชน แต่หากพบการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จะเร่งดำเนินการและประสานงานกับพนักงานสอบสวนต่อไป

สำหรับกรณีบริษัท THG ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยของ THG ในการทำรายการให้กู้ยืมเงินให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มครอบครัววนาสิน รวมทั้งการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้รับมอบสินค้าจริงนั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก แต่ ก.ล.ต. ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

 บล.คิงส์ฟอร์ด – หมอบุญ กลุ่มคนกันเอง 

อีกหนึ่งตัวการสำคัญในขบวนการหลอกนักลงทุนของกลุ่มหมอบุญและพวก นั่นคือ “บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด” ที่มีรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทรวมอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งหลังการแถลงคดีของตำรวจ ทางบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด ออกแถลงการณ์ด่วน ชี้แจงว่า ไม่เคยเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการกู้ยืมเงินและโครงการลงทุนทางการแพทย์ของหมอบุญ

รวมถึงไม่เคยทำสัญญาใดๆ หรือการเป็นที่ปรึกษาโครงการ และไม่เคยให้พนักงานของบริษัทแนะนำหรือชักชวนนักลงทุนมาร่วมลงทุนในโครงการ โดยบริษัทได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว และได้สั่งให้พนักงานของบริษัทยุติปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าข้อเท็จจริงต่างๆ จะปรากฏ

สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทสองคนที่ปรากฏตามหมายจับ นั่นคือ น.ส.อัจจิมา มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจบริหารความมั่นคง ส่วนนายภาคย์ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามข้อมูลคณะผู้บริหาร บริษัทฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 การที่บริษัทฯ ออกแถลงไม่เคยให้พนักงานของบริษัทแนะนำหรือชักชวนนักลงทุนมาร่วมลงทุนในโครงการ จึงคล้ายทำนองตัดหางปล่อยวัด ตัดไฟแต่ต้นลม

 อย่างไรก็ดี เมื่อมีการสืบค้นลึกลงไปของ หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ 360 พบว่า บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด รู้จักหมอบุญเป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายประจวบ ศิริรัตน์บุญขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ ได้เซ็นสัญญากับหมอบุญ เพื่อรับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ไทยเมดิคัล โกลฟ จำกัด ซึ่งหมอบุญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ในที่สุด คิงส์ฟอร์ด ไม่สามารถแต่งตัวบริษัทของหมอบุญเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ

ธุรกรรมรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้หมอบุญ ยืนยันชัดเจนว่าทั้งสองคุ้นเคยกันดี แต่จะมีส่วนร่วมในการชักชวนนักลงทุนในโครงการทิพย์ของหมอบุญ หรือไม่ ต้องรอการสอบขยายผลเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

เครือข่ายหมอบุญและพวก ที่ร่วมขบวนการฉ้อโกงอาจไม่ได้มีแค่ 9 ราย ตามหมายจับของศาลอาญา ส่วนจะบวกเพิ่มอีกราย และความเสียหายจะมากมายมหาศาลขนาดไหน ยังต้องรอติดตามกันต่อไป

ขณะที่มุมมองของ สนธิ ลิ้มทองกุล  ผู้เปิดโปงขบวนการหลอกลวงของหมอบุญ เห็นว่า พวกโบรกเกอร์ที่อยู่ตามตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเปอร์เซ็นต์จากค่านายหน้าโดยนำโครงการฝันเฟื่องของหมอบุญไปหลอกประชาชน สมควรโดนหนัก เพราะโบรกเกอร์พวกนี้เปรียบเสมือนแม่ข่ายแชร์ลูกโซ่ ที่ชักชวนคนมาลงทุน

 ต้องรอดูว่า พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ที่ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน จะจับ “ปลาใหญ่” และตามล่า “หมอบุญ” มาชดใช้ความเสียหายให้ประชาชนนักลงทุนที่ถูกหลอกได้หรือไม่

ด้วยเกรงว่า สุดท้ายแล้วจะซ้ำรอย “คดีบอส ลูกกระทิงแดง” ที่ลอยนวลอยู่ในต่างประเทศจนกระทั่งคดีหมดอายุความและมี “ขบวนการ” คอยให้ความช่วยเหลือเพื่อกลับผิดให้เป็นถูก

อีกไม่นานคงได้รู้กัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น