xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (15): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


หลังจากได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” ไปบ้างแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงกรอบแนวคิดเรื่อง  dominium regale และ dominium politicum et regale  และแนวคิดเรื่อง  regimen politicum และ regimen regale  เพื่อช่วยให้เข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” ได้ดียิ่งขึ้น

dominium politicum et regale  เป็นกรอบแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เกิดและพัฒนาขึ้นจากลักษณะต่างๆ ของการปกครองในประเทศในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าจนถึงศตวรรษที่สิบแปด กรอบแนวคิดดังกล่าวนี้ส่งผลให้ระบอบราชาธิปไตยไม่สามารถเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เลย แต่จะเป็น  ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy)  นั่นคือ เป็นการปกครองที่ผสมผสานกันระหว่างอำนาจของพระมหากษัตริย์กับอำนาจส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอำนาจของฝ่ายรัฐสภา

dominium politicum et regale จะแตกต่างจาก dominium regale ตรงที่ dominium regale สื่อถึงระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจมากนำเหนือสภาตัวแทนประชาชน แต่ไม่ได้มีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของ dominium regale ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากนำเหนือสภาตัวแทนประชาชน เช่น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจในบางเรื่อง นั่นคือ มีพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจในการเก็บภาษีสามัญชนได้ ในขณะที่ยกเว้นไม่เก็บพวกอภิชนชั้นสูง หรือเก็บภาษีได้ตามพระราชประสงค์

ส่วนในกรณีที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีภายใต้ dominium politicum et regale พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงมีพระราชสิทธิ์และพะราชอำนาจในการเก็บภาษีตามพระราชประสงค์ที่ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ซึ่งหากใช้กรอบแนวคิด dominium regale และ dominium politicum et regale ในการทำความเข้าใจพระราชอำนาจในการเก็บภาษีภายใต้ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ พระเจ้าชารล์สที่สิบเอ็ดของสวีเดน (Charles XI) จะช่วยให้เกิดความเข้าใจ “ขอบเขตของพระราชอำนาจ” ที่แท้จริงของพระมหากษัตริย์ได้ถูกต้องแม่นยำมากกว่าลำพังกรอบแนวคิด “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่กล่าวถึงพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ล้นพ้นและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
 
ในความเป็นจริง การปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรปส่วนใหญ่ที่จะเป็นระบอบที่พระราชอำนาจจำกัดหรือเป็นระบอบผสม ซึ่งการปกครองแบบผสมที่มีการดุลอำนาจกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสภาตัวแทนประชาชนถือเป็นตัวแบบหรืออุดมคติสำหรับสภาต่างๆ ที่เป็นสภาตัวแทนและราชาธิปไตยหรือการปกครองโดยเอกบุคคลในการประสานร่วมมือกับสภาต่างๆ นี้เพื่อความดีและประโยชน์ร่วมกัน (common good) ซึ่งอภิสิทธิ์ของฝ่ายต่างๆ จะต้องได้รับการยอมรับและปกป้องคุ้มครอง เพื่อเป็นหนทางที่จะธำรงไว้ซึ่งการสมดุลระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง

แต่สัมพันธภาพทางอำนาจในระบอบการปกครองแบบผสมที่มีการดุลอำนาจกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสภาตัวแทนประชาชนและตัวประชาชนเลยนั้นไม่ได้ดำเนินไปโดยไม่มีการแข่งขันท้าทายกันและกันในการพยายามที่จะเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง

เช่น ถ้าพระมหากษัตริย์ (the One) มีพระราชอำนาจมากและเข้มแข็งและทรงสามารถใช้กำลังพิชิตและควบคุมแว่นแคว้นได้ สิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น หรือในทำนองกลับกัน หากกลุ่มอภิชน (the Few) มีอำนาจมาก พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็จะลดน้อยถอยลง หรือหากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ (the Many) โดยเฉพาะในกรณีของสวีเดนคือชาวนา มีอำนาจมากพอที่จะรักษาความเป็นอิสระในมิติต่างๆได้ ก็จะทำให้พระมหากษัตริย์และกลุ่มอภิชนไม่สามารถใช้อำนาจเข้าควบคุมกิจการต่างๆในท้องถิ่นของตนได้

และภายใต้สัมพันธภาพขององค์ประกอบทั้งสามนี้ จะเห็นพลวัตรในการเข้าเป็นพันธมิตรหรือเป็นปฏิปักษ์ในการจับคู่กันระหว่างส่วนใดส่วนหนึ่งกับอีกส่วนหนึ่งในการทัดทานส่วนที่สาม

ส่วนในการประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด regimen politicum และ regimen regale จะลดทอนน้ำหนักการตีความของสำนักประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เน้นให้ความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้านเดียว ขณะ เดียวกัน การเขียนประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนในแนว regimen politicum และ regimen regale จะไม่สนับสนุนฝ่ายอภิชนในประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนอย่างเต็มที่เหมือนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักที่เน้นความสำคัญของพวกอภิชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักที่เน้นแต่สถาบันกษัตริย์หรือที่เน้นพวกอภิชน ล้วนเป็นการเขียนประวัติศาสตร์สวีเดนในแบบสุดโต่งเลือกข้างโดยไม่ให้ความสำคัญกับภาวะที่เป็นจริงในสัมพันธภาพทางอำนาจที่มีลักษณะทั้งผสมผสานและประชันขันแข่งกัน

ประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนภายใต้กรอบ regimen politicum และ regimen regale จะเน้นไปที่ปรากฏการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุโรป โดยชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองในสวีเดนขณะนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ที่สนับสนุน regimen regale กับผู้สนับสนุน regimen politicum ที่เกิดมาตั้งแต่สหภาพคาลมาร์ (Kalmar Union) ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1397 แล้ว ซึ่งปรากฎในหลักฐานที่เป็นเอกสารที่เก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

โดยเอกสารที่ว่านี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือ เอกสารพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นเอกสารสั้นๆที่ เป็นหลักฐานใน  พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอริค (Erik of Pomerania) ที่ปกครองสหภาพคาลมาร์ในฐานะพระมหากษัตริย์ของทั้งสามอาณาจักรอันได้แก่เดนมาร์ก-นอรเวย์และสวีเดน โดยเอกสารดังกล่าวนี้บันทึกไว้ในภาษาและรูปแบบการเขียนที่เป็นราชาศัพท์
ส่วนเอกสารอีกชิ้นหนึ่งเป็นร่างที่มีความยาวมากกว่าชิ้นแรก ที่ข้อความมีลักษณะในแนวข้อปฏิบัติ และสนับสนุนส่งเสริมการปกครองภายใต้กฎหมายแห่งแผ่นดินที่เน้นการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์และสถาบันดั้งเดิมตามจารีตประเพณีที่อยู่ภายในอาณาจักรที่แยกจากกัน

เอกสารฉบับนี้มักถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็น  หนังสือเอกสารของสหภาพ (the Union Letter)  และไม่ปรากฏว่าได้มีการลงสัตยาบรรณรับรองแต่อย่างใด กระนั้นก็ตาม ได้มีการผลิตสำเนาเอกสารนี้ออกมาในปี ค.ศ. 1436 เพื่อรับรองและให้ความชอบธรรมต่อการร้องเรียนของสวีเดนในการต่อต้านการปกครองของพระเจ้าเอริคและการถอดถอนพระองค์ในเวลาต่อมา

อีกหนึ่งทศวรรษหลังสวีเดนถอดถอนพระเจ้าเอริคในปี ค.ศ. 1430 พวกที่มุ่งพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือพวกที่อ้างเอกสารฉบับที่สองได้ขึ้นมามีอำนาจในสวีเดน และแม้ว่าจะมีความพยายามจากฝ่ายพระมหากษัตริย์  ----นั่นคือ พระเจ้าคาร์ล คนุตสัน (Karl Knutsson) ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1433-1440---  ในอันที่จะสร้างความเข้มแข็งมั่นคงต่อสถาบันกษัตริย์ที่มาจากการเลือก (elective monarchy) แต่พวกพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เป็นผู้นำสวีเดนอยู่ในช่วงนั้น ยืนยันในกฎบัตรพื้นฐานหรือเอกสารฉบับที่สอง ที่รวมเอาการพิทักษ์รักษาสิทธิ์และอำนาจในการออกกฎหมายที่เป็นของชาวสวีเดนแต่ดั้งเดิม ทำให้สภาของฝ่ายอภิชนมีสถานะของการเป็นสถาบันที่สถาวร และมีอำนาจการควบคุมทางการทหารและงบประมาณแผ่นดินสวีเดนได้เต็มที่ รวมทั้งการห้ามการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินพระมหากษัตริย์ออกจากอาณาจักร
 
อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ กรณีที่พระเจ้าคาร์ล คนุตสันได้รับการเลือกตั้งจากสภาในสวีเดนให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนระหว่าง ค.ศ. 1448-1457 และแม้ว่าพระองค์จะทรงสามารถรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในการขึ้นครองบัลลังก์ได้ในสวีเดนไว้ได้ ขณะเดียวกัน สภาอภิชนในนอรเวย์ก็ยอมรับพระองค์ในฐานะของพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ด้วย และพระองค์ได้ทรงถือโอกาสดังกล่าวนี้จัดการกับฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (constitutionalists) ในสวีเดนที่โอนเอียงไปทางให้มีการเลือกพระมหากษัตริย์ร่วมกันกับทางเดนมาร์กภายใต้สหภาพคาลมาร์

จากปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ภายใต้กรอบ regimen politicum จะถือเป็นชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการพิทักษ์กฎกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเมืองสวีเดนอยู่ภายใต้ regimen politicum เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวยืนยันว่า สภาอภิชนสวีเดนมีสิทธิ์อำนาจสูงสุด (the Swedish noble council’s sovereign right) ในการเลือกพระมหากษัตริย์ที่มาจากอภิชนที่เป็นชาวสวีเดนแท้ๆ แทนที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวเดนมาร์ก

ขณะเดียวกัน แม้ว่าพระเจ้าคาร์ล คนุตสันและผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อๆ มาจะพยายามรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ในมือของพระมหากษัตริย์ แต่ก็อยู่ภายใต้การแข่งขันระหว่าง regimen politicum และ regimen regale อีกยาวนาน

ทั้งกรอบแนวคิด “regimen regale และ regimen politicum” และ “dominium regale และ dominium politicum et regale” ต่างปฏิเสธ  “กรอบแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

และจะเห็นได้ว่า หากพิจารณาฐานคิดของทั้งสองกรอบแนวคิดนี้ จะพบว่า ทั้งสองกรอบแนวคิดมีฐานคิดอยู่ภายใต้ทฤษฎีการปกครองแบบผสม (the theory of mixed constitution) ที่ยืนยันความเป็นจริงของส่วนประกอบทางการเมืองทั้งสามส่วนอันได้แก่ เอกบุคคล คณะบุคคลและคนส่วนใหญ่ และชี้ให้เห็นถึงสหสัมพันธ์ทางอำนาจทางการเมืองของทั้งสามองค์ประกอบ และเปิดพื้นที่ให้เห็นถึงพลวัตรการต่อสู้แข่งขันและการสร้างพันธมิตรทางการเมืองขององค์ประกอบทั้งสามนี้ และส่วนประกอบแต่ละส่วนนี้จะมีบทบาทมากน้อยและสัมพันธ์กันในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบททางการเมืองในแต่ละช่วง หรือในแต่ละยุคสมัย


กำลังโหลดความคิดเห็น